พงส.ต้องยืนยันออกหมายเรียก ‘บิ๊กโจ๊ก’ ที่สุดศาลชี้ออกหมายจับหรือไม่

นายวัชรินทร์ ภาณุรัตน์ รองอธิบดีอัยการ สำนักงานการสอบสวน

อัยการวัชรินทร์ ระบุพงส.ต้องยืนยันมีอำนาจออกหมายเรียก ‘บิ๊กโจ๊ก’ ข้อหาฟอกเงินเว็บ BNK Master ครั้งที่1-3 ตามป.วิอาญา ที่สุดศาลชี้ออกหมายจับหรือไม่

นายวัชรินทร์ ภาณุรัตน์ รองอธิบดีอัยการสำนักงานการสอบสวน กล่าวว่า กรณีพนักงานสอบสวนชุดทำคดีเว็บพนันออนไลน์ BNK Master ออกหมายเรียกครั้งที่ 2 พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล รองผู้บัญชาการสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ซึ่งครบกำหนดเมื่อวันที่ 26 มีนาคมที่ผ่านมานั้น ก่อนอื่นต้องเข้าใจกฎหมายโดยผู้ที่มีอำนาจออกหมายเรียกนั้น ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาอาญาตาม มาตรา 52 ก็คือ สามารถออกหมายเรียกได้ทั้งพนักงานสอบสวน, พนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจชั้นผู้ใหญ่และศาล อยู่ที่ว่าใครเรียกแล้วเรียกมาทำอะไร กรณีที่เป็นการออกเรียกมาเพื่อสอบสวนเพื่อดำเนินการเข้าสู่กระบวนการทางคดีอาญา ดังนั้นการออกหมายเรียกตามข่าวที่พนักงานสอบสวนออกไปครั้งแรกและครั้งที่สองนั้น ซึ่งคนทั่วไปคิดว่าส่งหมายเรียกแล้ว แต่การรับหมายเรียกในฐานะที่เป็นผู้ต้องหาจะแตกต่างจากหมายเรียกในฐานะที่เป็นพยาน การรับหมายเรียกที่เป็นผู้ต้องหานั้นผู้ส่งจะต้องส่งให้กับผู้ต้องหาเองหรือสามีภรรยาหรือญาติ, ผู้ปกครองเป็นผู้รับหมาย ไม่เหมือนกับส่งหมายเรียกพยาน ใช้กฎหมายพิจารณาความแพ่ง คือส่งให้กับบุคคลที่ทำงานอยู่ในบ้านที่อายุเกิน 20 ปี ดังนั้นเรื่องเป็นการส่งหมายเรียกในฐานะผู้ต้องหา

นายวัชรินทร์กล่าวว่า คนทั่วไปก็จะเข้าใจผิดว่าการออกหมายเรียกต้อง 2 ครั้งแล้วถึงจะขอหมายจับได้ เนื่องจากกฎหมายวิธีพิจารณาอาญาถูกแก้ไขใหม่และตนเป็นกรรมาธิการร่วมร่างแก้ไขกฎหมายนี้ ซึ่งร่างให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญ 2540 แต่กว่าจะใช้บังคับจริงก็คือปี 2547 เพราะฉะนั้นการออกหมายในกรณีเดิมที่ต้องออกหมายเรียก 2 ครั้งแล้วถึงจะต้องไปขอหมายจับได้ในกฎหมายปัจจุบันไม่มีความจำเป็น

ซึ่งคู่คดีของรอง ผบ.ตร.ที่เป็นตำรวจอีกท่านหนึ่งก็ไม่ได้มีการออกหมายเรียก ไปขอศาลออกหมายจับเลย จนศาลอนุมัติหมายจับเพราะฉะนั้น เหตุในการออกหมายจับศาลจะพิจารณาอยู่สองประเด็นคือ 1.เมื่อมีหลักฐานตามสมควรและเชื่อว่าบุคคลคนนั้นนั้นกระทำความผิดตามอาญาโทษจำคุกเกิน3 ปี หรือ 2.กรณีที่เป็นพฤติการณ์ ที่น่าเชื่อว่าบุคคลที่ได้ทำผิดอาญานั้นจะหลบหนี ยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐานและก่อเหตุอันตรายประการอื่น และมีบทสันนิษฐานว่าไม่มีที่ อยู่เป็นหลักแหล่งหรือไม่มาตามหมายเรียกโดยไม่มีข้อเเก้ตัว

Advertisement

ตนเทียบเคียงกับคดีในอดีตที่ผ่านมาของ ส.ว.ท่านหนึ่งก็จะมีการไปขอหมายจับแต่ศาลให้ออกหมายเรียกแทน อันนี้ก็แล้วแต่ดุลพินิจของศาลที่เห็นแล้วแต่สมควรว่าจะออกหมายอะไร ฉะนั้นเรื่องนี้พนักงานสอบสวนเองจะไปขอหมายจับได้ไหม คำตอบคือได้เพราะพนักงานสอบสวนเชื่อว่าคดีนี้อยู่ในอำนาจของพนักงานสอบสวน เมื่อมีอำนาจก็สามารถไปขอศาลออกหมายจับได้ โดยอาจจะอ้างเหตุว่าการออกหมายเรียกทั้งสองครั้งนั้น แต่ไม่สามารถนำผู้ที่ถูกหมายเรียกมาสอบสวนได้

ซึ่งเคยมีข้าราชการในอดีตที่ถูกออกหมายจับแต่บอกว่าจับไม่ได้เพราะว่าอุทธรณ์อยู่ปรากฏว่าศาลตัดสินว่ากรณีการออกหมายจับเป็นการนำตัวมาเพื่อสอบสวนมีกระบวนการวิธีอีกหลายอย่างในการพิจารณาว่าผู้ถูกออกหมายจับนั้นมีความผิดหรือไม่อย่างไร เพราะฉะนั้น การออกหมายเรียกนี้เป็นเพียงการเริ่มต้นกระบวนการสอบสวน และหมายจับไม่สามารถให้ศาลอุทธรณ์เพิกถอนได้

แต่ถ้าเกิดได้มีการเพิกถอนหมายจับขึ้นมาอย่างเช่นพนักงานสอบสวนนำหมายจับไปจับผู้ต้องหาคดีฆ่าคนตายและผู้ต้องหามีทนายความและเมื่อตำรวจไปจับผู้ต้องหาฆ่าคนตาย ผู้ต้องหาหรือทนายความอาจบอกว่ายังอุทธรณ์หมายจับนี้อยู่ แล้วถ้าอ้างแบบนี้ตำรวจจะจับผู้ต้องหาได้อย่างไร ซึ่งความเป็นจริงแล้วการออกหมายจับเพื่อนำตัวมาเข้าสู่กระบวนการสอบสวนเท่านั้นยังไม่ได้ตัดสินว่าผิดหรือถูก

Advertisement

นายวัชรินทร์กล่าวว่า การปฏิเสธเรื่องการสอบสวนโดยมิชอบนั้น ต้องถามว่าใครเป็นผู้ปฏิเสธ เป็นผู้ถูกออกหมายก็มักจะปฏิเสธว่าผู้ที่นำหมายมานั้นว่าไม่มีอำนาจการสอบสวน แต่เรื่องของการมีอำนาจสอบสวนหรือไม่นั้นมันก็เป็นเรื่องที่เถียงกันระหว่างพนักงานสอบสวนที่คิดว่ามีอำนาจ เพราะไม่ได้แจ้งข้อหาความผิดต่อเจ้าพนักงานแต่แจ้งข้อหาฟอกเงิน ต่างจากคดีแรกที่มีข้อหาความผิดต่อเจ้าพนักงานอันนั้นคดีไปคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ทีนี้คดีที่สองนั้นเมื่อไม่ได้มีการแจ้งข้อหา พนักงานสอบสวนก็มั่นใจคิดว่าตนมีอำนาจในการสอบสวนได้ก็เลยออกหมายเรียกเพื่อมาแจ้งข้อหา

“ฉะนั้นกระบวนการทำอย่างไร หากเกิดเหตุแบบนี้ขึ้น พนักงานสอบสวนก็ต้องพิจารณาตัดสินใจว่า1.ออกหมายเรียกอีกรอบหนึ่งหรือไม่ หรือ 2.ให้ศาลพิจารณาชี้ขาดเลยว่าพนักงานสอบสวนนั้น มีอำนาจหรือไม่ หากศาลออกหมายจับให้นั้นก็จะหมดข้อสงสัยว่าพนักงานสอบสวนมีอำนาจหรือไม่ แต่หากเกิดว่าศาลบอกว่าไม่อนุมัติ ก็เป็นเรื่องของดุลพินิจศาลที่จะเห็นสมควร

หากเช่นนี้พนักงานสอบสวนก็ยังคงทำสำนวนไม่ได้หากศาลตัดสินว่าคดีนี้เป็นอำนาจสอบสวนของ ป.ป.ช. แต่ความเป็นจริงเเล้วพนักงานสอบสวนมีอำนาจสอบสวนเบื้องต้นได้ โดยให้การสอบมีระยะเวลา 1 เดือนหลังจากนั้นจะส่งให้ ป.ป.ช. ส่วน ป.ป.ช.จะคืนมาให้พนักงานสอบสวนทำต่อหรือรับไว้ทำเอง เป็นดุลพินิจของ ป.ป.ช. แต่ไม่ได้หมายความว่า การสอบสวนหมดสิทธิในการสอบสวนเลย ซึ่งพนักงานสอบสวนมีสิทธิในการรวบรวมพยานหลักฐานเบื้องต้น นี่หมายถึงคดีที่อยู่ในอำนาจของ ป.ป.ช. แต่เรื่องนั้นพนักงานสอบสวนก็ต้องยืนกระต่ายขาเดียวว่าเรื่องดังกล่าวอยู่ในอำนาจของพนักงานสอบสวน ต้องบอกว่าเรื่องนี้จะต้องไปจบในกระบวนการสุดท้ายคือ ให้ศาลตัดสินว่าการออกหมายจับหรือไม่ หรือเช่นเดียวกันหากรอง ผบ.ตร.จะไปฟ้องพนักงานสอบสวนว่าไม่มีอำนาจสอบสวนก็ย่อมทำได้แล้วให้ศาลเป็นผู้ตัดสิน ทุกสิ่งเชื่อว่าต้องจบตรงกับกระบวนการสุดท้ายคือศาลเป็นผู้พิจารณาพิพากษาถึงจะเป็นที่ยอมรับของทุกฝ่ายได้” นายวัชรินทร์กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image