โกลเด้นบอย โบราณวัตถุ‘นอกโพยทวงคืน’ ย้อนวิวาทะก่อนสบตา‘ของแท้’

วันนี้ 20 พฤษภาคม พุทธศักราช 2567 ดีเดย์ 2 โบราณวัตถุชิ้นงามได้ ‘กลับบ้าน’

ประติมากรรมสำริด ‘โกลเด้นบอย’ ที่กรมศิลปากรเลือกที่จะเรียกตาม พิพิธภัณฑ์ศิลปะเมโทรโพลิทัน หรือ ‘เดอะ เมท’ (The Metropolitan Museum of Art หรือ The Met) สหรัฐอเมริกา ว่า ‘พระศิวะ’ (The Standing Shiva)

และประติมากรรมรูป ‘สตรีพนมมือ’ (The Kneeling Female) นั่งคุกเข่า เหินฟ้าจากสหรัฐ ถึงราชอาณาจักรไทย

เตรียมแถลงข่าวปังๆ พรุ่งนี้ 21 พฤษภาคม โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม คนใหม่ๆ หมาดๆ สุดาวรรณ หวังศุภกิจโกศล

Advertisement

พนมบุตร จันทรโชติ อธิบดีกรมศิลปากร เตรียมความพร้อมในส่วนของกระบวนการด้านศุลกากร จัดทีมผู้เชี่ยวชาญร่วมทีมรับมอบ และตรวจสอบความเรียบร้อยร่วมกับพิพิธภัณฑ์ศิลปะเมโทรโพลิทัน ก่อนนำมาเก็บรักษาที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร กรุงเทพฯ

สำหรับมูลเหตุการได้รับคืนตาม ‘ข่าวแจก’ ของภาครัฐ ระบุชัดว่า มาจากการที่ ‘เดอะ เมท’ ตรวจสอบรายการโบราณวัตถุที่มีประวัติการได้มาเกี่ยวข้องกับนายหน้าค้าโบราณวัตถุ ซึ่งถูกสำนักงานอัยการเขตนิวยอร์กใต้แจ้งดำเนินคดีค้าโบราณวัตถุโดยผิดกฎหมายเมื่อปี 2562 และปี 2564 คณะกรรมการบริหารพิพิธภัณฑ์ฯ จึงมีมติถอดโบราณวัตถุทั้ง 2 รายการ ออกจากบัญชีทะเบียนโบราณวัตถุของมิวเซียม และประสานแจ้งการส่งคืนแก่ไทยตามข้อตกลงกับสำนักงานอัยการเขตนิวยอร์กใต้ ผ่านสถานกงสุลใหญ่ไทย ณ นครนิวยอร์ก

พูดง่ายๆ คือ ไม่ได้ทวงเอง ทั้งยังอยู่นอกโพยเอกสารโบราณวัตถุไทยในต่างแดนที่รัฐบาลไทยเดินหน้าหาช่องทางทวงคืน

Advertisement

ว่าแล้ว มาย้อนดูเบื้องหลังที่ไม่ได้ลึกลับซับซ้อนซ่อนเงื่อนของการได้คืนมาซึ่งโบราณวัตถุล้ำค่า ที่ได้คืนกลับมาพร้อมหลากวิวาทะข้อถกเถียงเชิงสร้างสรรค์ กลายเป็นดีเบตสุดมันส์ชวนจับตา

อานิสงส์ ‘กัมพูชา’ เปิดดีลเจรจา
ไทยยังไม่ทันทวง

เริ่มตั้งแต่ที่มาของการตรวจสอบโบราณวัตถุโดย เดอะ เมท ที่ไม่ใช่จู่ๆ
จะร้องเอ๊ะ! ลุกขึ้นมาเช็กคิวซี หากแต่มีความเป็นมาเป็นไปลึกกว่านั้น

ดร.ทนงศักดิ์ หาญวงษ์ หนึ่งในคณะกรรมการติดตามโบราณวัตถุของไทยในต่างประเทศกลับคืนสู่ประเทศไทย ผู้ประกาศตัวลงสมัครชิงที่นั่ง ส.ว.นครราชสีมา โดยเชื่อว่าประชาธิปไตยต้องตั้งมั่น โบราณคดีจึงฉลุย เคยเผยว่า สาเหตุที่ไทยได้โบราณวัตถุทั้ง 2 ชิ้นนี้คืน เกิดจากการที่รัฐบาลกัมพูชาได้ดำเนินการติดตามคืนโบราณวัตถุกลุ่มที่เกี่ยวข้องกับวัฒนธรรมเขมรทั้งหมด โดยเข้าไปเปิดเจรจาและถือโอกาสคุยแลกเปลี่ยนความเห็นว่ารัฐบาลไทยกับรัฐบาลกัมพูชาควรจะร่วมกันทวงโบราณวัตถุเพื่อได้โบราณวัตถุชิ้นสำคัญในคราวเดียว

“นี่เป็นเหตุผลที่ว่า ทำไมกัมพูชาติดตามโบราณวัตถุได้มากกว่าของไทย เพราะรัฐบาลดำเนินการต่อเนื่องมาตลอด เมื่อทางพิพิธภัณฑ์ศิลปะเมโทรโพลิทันพบหลักฐานว่าเป็นการซื้อขายจากนายดักลาส แลตช์
ฟอร์ด เหมือนกับชิ้นอื่นๆ ที่รัฐบาลกัมพูชาติดตาม โดยโบราณวัตถุไทยทั้ง 2 ชิ้นนี้มีการตรวจสอบพบว่าผิดกฎหมายจริง เลยยินดีคืนให้พร้อมๆ กับโบราณวัตถุกลุ่มที่รัฐบาลกัมพูชาติดตาม

สำหรับโกลเด้นบอยเคยถูกพิจารณาในอนุกรรมการวิชาการฯ เพื่อพิจารณาว่าสมควรที่จะทำหนังสือทวงหรือไม่ เราศึกษามาเป็นเวลากว่า 3 ปี ซึ่งที่ประชุมสรุปว่าให้ทำหนังสือที่จะเสนอคณะกรรมการชุดใหญ่ แต่ระหว่างรอการเสนอกลับไม่สามารถเรียก หรือนัดประชุมกรรมการชุดใหญ่ได้ด้วยเหตุผลที่ว่ายังไม่มีรัฐบาลชุดใหม่ หรืออะไรต่อมิอะไร ทำให้ยังไม่ได้อยู่ในรายชื่อโบราณวัตถุที่จะติดตามคืน” ดร.ทนงศักดิ์เล่า

ดร.ทนงศักดิ์ หาญวงษ์ (แฟ้มภาพ)

นักค้าของเก่าประเมิน 100 ล้าน
ย้อนความทรงจำชาวบ้าน ‘ขุดขายฝรั่งล้านเดียว’

ส่วนประเด็นเรื่องมูลค่าของประติมากรรมดังกล่าวที่ถูกระบุถึง 100 ล้านบาท ซึ่งเป็นที่ฮือฮาในโลกออนไลน์อยู่พักหนึ่ง ดร.ทนงศักดิ์ไขปริศนาว่า นั่นคือราคาซื้อขายจากนักค้าโบราณวัตถุ ส่วนราคาขายที่ชาวบ้านจำหน่ายแก่พ่อค้าเมื่อ พ.ศ.2518 จนถูกนำออกนอกประเทศไทยอยู่ที่ 1 ล้านบาทเศษ

“1 ล้านบาทคือราคาจริงที่ออกจากประเทศไทย ปี 2518 โบราณวัตถุชิ้นนี้ถูกขุดพบที่ปราสาทบ้านยางโป่งสะเดา อำเภอละหานทราย จังหวัดบุรีรัมย์ ชาวบ้านทุกคนให้ข้อมูลตรงกันหมดว่าหลังจากขายโบราณวัตถุได้มีการจัดมหรสพคบงัน 3 วัน 3 คืน นี่คือสิ่งที่เราทราบและมีข้อมูลแน่ชัด

ปัจจุบันผู้ที่ขุดขึ้นมาขายเสียชีวิตแล้ว แต่ภรรยาและลูกยังอยู่ 2 คนนี้มีส่วนเกี่ยวข้องมากในการล้างทำความสะอาด ยกและเคลื่อนย้ายโบราณวัตถุ โดยเฉพาะลูกสาวให้ข้อมูลแม่นยำมาก เขาจำได้เลยว่าตอนที่นำขึ้นมา ชายพกที่เป็นชายสมอด้านหน้าหักไป พ่อเขาเอาลวดมัดไว้ เมื่อเอาไปจำหน่ายก็ต่อชิ้นงานขึ้นมา โดยยังเห็นรอยแตกหักบริเวณชายสมอ” ดร.ทนงศักดิ์เล่ายิบ ไม่หลุดดีเทล

ของจริง ของแทร่
หรือแค่ ‘ก๊อปสระกำแพงใหญ่’?

อีกประเด็นไม่เอ่ยถึงไม่ได้ นั่นคือ ข้อสงสัยว่า โกลเด้นบอย คือ ‘ของปลอม’ หรือไม่?

ดร.ทนงศักดิ์มองว่า ที่มาของข้อถกเถียงดังกล่าวนั้นตนเชื่อว่ามาจากความคิดของนักวิชาการบางกลุ่มที่ตั้งเป้าไว้ตั้งแต่แรกว่าไม่อยากเดินหน้าการทวงคืนโบราณวัตถุเหล่านี้ รวมถึงโบราณวัตถุจากกรุ ‘ประโคนชัย’ ที่อยู่ในกระบวนการ

“ผมยังเคยโดนผู้อาวุโสในแวดวงโบราณคดีท่านหนึ่งโทรศัพท์มาตำหนิ ว่าทำไมทวงของปลอม ทั้งที่รูปแบบทางด้านประวัติศาสตร์ศิลปะชัดเจน ไม่เพียงเท่านั้น ยังมีพยานในเหตุการณ์ลักลอบขุด คือชาวบ้านในพื้นที่ ไม่ว่าจะเป็นกรณีโกลเด้นบอย จากปราสาทบ้านยางโป่งสะเดา อำเภอละหานทราย จังหวัดบุรีรัมย์ และพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร กลุ่มประโคนชัยจากปราสาทปลายบัด อำเภอประโคนชัย จังหวัดบุรีรัมย์” หนึ่งในคณะกรรมการทวงคืนฯแอบพ้อ

“รูปแบบทางประวัติศาสตร์ศิลปะ เป๊ะ! ว่าของจริง ส่วนที่มีคนอ้างว่าโกลเด้นบอยเลียนแบบประติมากรรมจากปราสาทสระกำแพงใหญ่ ศรีสะเกษ ก็เป็นไปไม่ได้ เพราะโกลเด้นบอยถูกพบตั้งแต่ พ.ศ.2518 มีการซื้อขายออกนอกประเทศก่อนการขุดพบโบราณวัตถุที่ปราสาทสระกำแพงใหญ่ เมื่อ พ.ศ.2532 พูดง่ายๆ คือ ของที่เจอก่อน จะมาเลียนแบบของที่เจอทีหลังได้อย่างไร

นอกจากนี้ ในหนังสือ Khmer Bronzes : New interpretations of the Past ของ Emma C. Bunker and Douglas Latchford จากที่หลายคนคิดว่าเป็นหนังสือวิชาการชั้นดี ยังเป็นหลักฐานชั้นดีที่ยืนยันโบราณวัตถุชิ้นสำคัญว่ามีการซื้อขายมาจากแหล่งใดด้วย

ทีมทวงคืนโบราณวัตถุจากกัมพูชาซึ่งตามทวงคืนได้นับร้อยชิ้น นักโบราณคดีของเขาใช้หนังสือนี้ให้นักขุดโบราณวัตถุดู เขาชี้และจำได้แม่นว่าเป็นของเขา

แต่ในไทยยังมีคนเชื่อว่าหลักฐานในหนังสือเล่มนี้เป็นของปลอม แม้ว่าจะได้รับการยืนยันจากชาวบ้านเช่นเดียวกับกัมพูชา ที่สำคัญที่สุด รัฐบาลอเมริกาเขาสืบค้นจากหนังสือเล่มนี้เช่นกัน และยังฟ้องดำเนินคดีกับผู้แต่งทั้งสองคนจนเป็นที่มาของการคืนโบราณวัตถุให้กัมพูชาและไทย” ดร.ทนงศักดิ์ยกข้อมูลโชว์รัวๆ

ประติมากรรมพบที่ปราสาทสระกำแพงใหญ่ ศรีสะเกษ ถูกตั้งคำถามว่าเป็นต้นแบบ ‘ทำเทียม’ ให้โกลเด้น บอย หรือไม่

สอดคล้องกับมุมมองของ รศ.ดร.รุ่งโรจน์ ภิรมย์อนุกูล อาจารย์ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง ที่มองว่า โกลเด้นบอย คือ ‘ของแท้’ ไม่ใช่ก๊อป เกรดเอ บี ซี

“ผมไม่คิดว่าโกลเด้นบอยเป็นของทำเทียมเลียนแบบ เพราะตามประวัติ The Met ได้รับมอบเมื่อ พ.ศ.2531 ซึ่งเป็นช่วงระยะเวลาก่อนที่จะขุดพบประติมากรรมสำริดจากปราสาทสระกำแพงใหญ่ อีกทั้งรูปแบบศิลปกรรมมีลักษณะถูกต้องตามแบบแผนศิลปะเขมร” รศ.ดร.รุ่งโรจน์เสริมเหตุผลหนักแน่น

โกลเด้นบอย คือใคร?
เถียงกันแทบตาย สุดท้ายใช้ตาม ‘เดอะ เมท’

แม้พยักหน้าเห็นพ้องต้องกันในประเด็นความเป็นของแท้ แต่ รศ.ดร.รุ่งโรจน์ มองต่างในแนวคิดที่ ดร.ทนงศักดิ์ รวมถึงภัณฑารักษ์ที่ The Met ซึ่งเผยแพร่ข้อเขียนในเอกสารของพิพิธภัณฑ์ดังกล่าวตั้งแต่ ค.ศ.1989 ว่าโกลเด้นบอย คือ รูปเคารพ ‘พระเจ้าชัยวรมันที่ 6’ ผู้สถาปนาราชวงศ์มหิธรปุระและปราสาทหินพิมาย เมื่อ พ.ศ.1623-1650 โดยนำเสนอข้อสันนิษฐานส่วนตัวว่า น่าจะเป็น พระรูปสนองพระองค์ของ ‘พระเจ้าอุทัยทิตยวรมันที่ 2’ พระโอรสของพระเจ้าสูรยวรรมันที่ 1 ซึ่งสิ้นพระชนม์เมื่อ พ.ศ.1609 อันเป็นช่วงระยะเวลาที่สอดคล้องกับรูปแบบงานศิลปกรรมของประติมากรรมโกลเด้นบอยมากกว่า

“ถ้าเป็นพระรูปสนองพระองค์พระเจ้าชัยวรมันที่ 6 จริงก็ควรหล่อขึ้นหลังจากพระองค์สิ้นพระชนม์ไปแล้ว ซึ่งศาสตราจารย์ ยอร์ช เซเดส์ (นักปราชญ์ชาวฝรั่งเศส) เคยเสนอว่า จากข้อความในจารึกปราสาทแปรรูป กัมพูชา พระเจ้าชัยวรมันที่ 6 ขึ้นเสวยราชสมบัติในมหาศักราช 1002 (พ.ศ.1623) และพระเจ้าธรณินทรวรมันที่ 1 เป็นผู้เสวยราชสมบัติสืบต่อจากพระองค์ใน พ.ศ.1651 ด้วยเหตุนี้จึงทำให้เชื่อได้ว่าพระเจ้าชัยวรมันที่ 6 ก็ควรที่จะสิ้นพระชนม์ใน พ.ศ.1651 ซึ่งช่วงระยะเวลาดังกล่าวนักประวัติศาสตร์ศิลปะได้จัดให้อยู่ช่วงศิลปะแบบนครวัดตอนกลาง แต่โกลเด้นบอยจัดอยู่ในศิลปะเขมรแบบบาปวนตอนปลาย” รศ.ดร.รุ่งโรจน์ฟันธงแบบฉับๆ สับๆ

พร้อมขยี้ต่อไปว่า ปัจจุบันยังไม่พบหลักฐานด้านจารึกที่กล่าวถึงพระเจ้าชัยวรมันที่ 6 ว่าทรงสถาปนาศาสนสถานแห่งใด อันจะนำไปสู่ข้อวินิจฉัยว่ารูปแบบศิลปกรรมที่เป็นเอกลักษณ์ของพระองค์เป็นเช่นใด

วิษณุบรรทมสินธุ์ จากปราสาทแม่บุญตะวันตก กัมพูชา คิ้ว ตา หนวด ‘เซาะร่อง’ เหมือนโกลเด้น บอย

อย่างไรก็ตาม ข้อความในจารึกปราสาทหินพิมาย 3 ซึ่งเป็นจารึกที่กรอบประตูโคปุระด้านทิศใต้หน้าปราสาทระบุว่า มหาศักราช 1034 (ตรงกับ พ.ศ.1655) มีการอุทิศรูปเคารพให้เป็นบริวารของรูปเคารพประธาน แสดงว่าปราสาทประธานของปราสาทหินพิมายน่าจะเสร็จสิ้นก่อนหน้านั้น นั่นคือช่วงรัชกาลพระเจ้าชัยวรมันที่ 6 นั่นเอง

“ดังนั้น ถ้าโกลเด้นบอยเป็นพระรูปสนองพระองค์พระเจ้าชัยวรมันที่ 6 ก็ควรมีลักษณะของการนุ่งผ้าและกรองศอที่มีลักษณะใกล้เคียงกับภาพจำหลักที่ปราสาทหินพิมาย แต่เมื่อพิจารณาภาพพระโพธิสัตว์วัชรปาณีที่เสาประดับฝาผนังด้านทิศใต้ของมณฑปด้านหน้าปราสาทประธาน จะพบว่าไม่ได้นุ่งผ้าที่มัดปมผ้าที่กึ่งกลางหน้าท้องและขอบผ้าด้านหน้าเว้าต่ำกว่าด้านหลัง อีกทั้งกรองศอของพระโพธิสัตว์ก็เป็นแถบสามเหลี่ยมขนาดใหญ่

ขณะที่โกลเด้นบอยมีรูปแบบการนุ่งผ้า กรองศอ รวมถึงการเซาะร่องที่คิ้ว ลูกตา และหนวดเหมือนกับประติมากรรมจากปราสาทสระกำแพงใหญ่ ศรีสะเกษ และประติมากรรมพระวิษณุบรรทมสินธุ์จากปราสาทแม่บุญตะวันตกในกัมพูชา อีกทั้งที่ชายผ้าด้านหลังก็เป็นรูปผีเสื้อซึ่งเหมือนกับชายผ้าด้านหลังของประติมากรรมจากปราสาทเบง ในกัมพูชา ซึ่งเป็นเอกลักษณ์ของศิลปะเขมรแบบบาปวน” รศ.ดร.รุ่งโรจน์ยิงหมัดตรง จี้จุดไปที่รูปแบบประวัติศาสตร์ศิลป์

ขณะที่ ดร.ทนงศักดิ์ ก็เผยแง่มุมเชิงประวัติศาสตร์ศิลป์แย้งกลับ ไม่โกง โดยชี้ว่า ในมุมมองของตน โกลเด้นบอยคือ ‘ศิลปะแบบพิมาย’ ไม่ใช่บาปวน

“ถ้าเรามองว่าโกลเด้นบอยคือพระเจ้าชัยวรมันที่ 6 จะเกี่ยวพันกับปราสาทหินพิมายพอดี เราจึงเจอจารึกพี่ชายของเขาอยู่ที่นั่น แม้ตัวจารึกหลักที่อยู่ภายในจะหายไปก็ตาม และตนมองว่าหากไม่มีประติมากรรมสำริดแบบประโคนชัย ก็ไม่มีราชวงศ์มหิธรปุระ

สรุปว่า พระเจ้าชัยวรมันที่ 6 สถาปนาราชวงศ์มหิธรปุระ และศิลปะแบบพิมายมีความเฉพาะตัว เกิดขึ้นที่พิมายครั้งแรก ไม่มีให้เห็นในปราสาทสมัยบาปวน หรือปราสาทนครวัด จึงเรียกว่าเป็นศิลปกรรมอีกรูปแบบหนึ่ง เรียกว่าบาปวนไม่ได้” ดร.ทนงศักดิ์กล่าวเมื่อครั้งขึ้นเวทีสโมสรศิลปวัฒนธรรม ‘ตามหา Golden Boy เทพแห่งที่ราบสูง?’ เมื่อ 25 มกราคมที่ผ่านมา ณ ห้องประชุมอาคารข่าวสด

ส่วนข้อสันนิษฐานว่าเป็น ‘ทวารบาล’ แน่นอนว่านักวิชาการประสานเสียงว่า ‘ตัดออกไปได้เลย’ เมื่อพิจารณาถึงความงดงามล้ำลึกของประติมากรรมดังกล่าว

สำหรับ ‘พระศิวะ’ ที่กรมศิลปากรตัดสินใจใช้เรียกตามที่ปรากฏต่อสื่อมวลชนนั้น ดร.ทนงศักดิ์เผยว่า มาจากมติของคณะอนุวิชาการเพื่อติดตามโบราณวัตถุไทยกับคืนสู่ประเทศฯ ที่ให้ใช้ตาม ‘ป้ายจัดแสดง’ ของพิพิธภัณฑ์เมโทรโพลิทันเพียงเท่านั้น

นี่เป็นเพียงส่วนหนึ่งของที่มา วิวาทะ ข้อถกเถียงที่ชวนให้วงวิชาการอีกทั้งสังคมไทยร่วมกัน ‘คิดต่อ’ ไม่ต้องรอภาครัฐ ในช่วงเวลาที่ประวัติศาสตร์ไม่ได้มีแค่ฉบับเดียวอีกต่อไป

คำต่อคำ ถ้อยแถลง ‘เดอะ เมท’
ทำไมต้องคืน โกลเด้นบอย (และอื่นๆ)

‘M et ได้ทำงานอย่างแข็งขันร่วมกับกัมพูชาและสำนักอัยการสหรัฐนานหลายปีเพื่อแก้ปัญหาเกี่ยวกับงานศิลปะเหล่านี้ ข้อมูลใหม่ที่ปรากฏขึ้นมาจากกระบวนการดังกล่าวทำให้เป็นที่ชัดเจนว่าเราควรเริ่มดำเนินการส่งคืนประติมากรรมชุดนี้ มีความยินดีที่จะเข้าร่วมข้อตกลงนี้กับสำนักอัยการสหรัฐ และให้ความสำคัญกับการเจรจาพูดคุยอย่างเปิดเผยกับทางการกัมพูชาและไทย

เรามุ่งมั่นที่จะแสวงหาความเป็นพันธมิตรและความร่วมมือกับเพื่อนร่วมงานของเราที่นั่น ที่จะช่วยส่งเสริมให้โลกมีความเข้าใจและชื่นชมในผลงานศิลปะแบบเขมรมากขึ้น และเราเฝ้ารอที่จะเริ่มต้นบทใหม่นี้ไปด้วยกัน

ผลงานศิลปะที่จะถูกส่งกลับประเทศเหล่านี้ถูกสร้างขึ้นระหว่างศตวรรษที่ 9-14 ในสมัยเมืองพระนคร (Angkorian period) สะท้อนถึงอิทธิพลของศาสนาพุทธและฮินดูที่กำลังเฟื่องฟูในขณะนั้น

ทั้งนี้ ประติมากรรมจำนวนหนึ่ง รวมถึงรูปปั้นทองสัมฤทธิ์พระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวรประทับนั่ง ซึ่งอยู่ในปลายศตวรรษที่ 10 ถึงต้นศตวรรษที่ 11 และเศียรของรูปปั้นพระพุทธรูปสมัยศตวรรษที่ 7 จะยังคงตั้งอยู่ในห้องแสดงผลงานศิลปะเอเชียใต้ของทางพิพิธภัณฑ์ต่อไป ขณะที่รอดำเนินการส่งกลับไปยังประเทศต้นทาง

Met เคยร่วมมือกับทั้งไทยและกัมพูชามาก่อนในอดีต โดยครั้งสำคัญที่สุดเกิดขึ้นในการจัดนิทรรศการ Lost Kingdoms: Hindu-Buddhist Sculpture of Early Southeast Asia, 5th to 8 Century เมื่อปี 2014 นอกจากนั้นแล้ว Met ยังได้ร่วมมือกับกัมพูชาในการส่งโบราณวัตถุกลับประเทศมาก่อน

โดยในปี 2013 ทางพิพิธภัณฑ์สมัครใจที่จะคืนเทวรูปสลักคุกเข่า (Kneeling Attendants) จำนวน 2 ชิ้น ซึ่งมีความเชื่อมโยงกับนายแลตช์ฟอร์ดเช่นกัน โดยเจ้าหน้าที่ของทางการกัมพูชาได้กล่าวชื่นชมว่าเป็นการส่งคืนโบราณวัตถุครั้งประวัติศาสตร์ และเปิดทางให้มีการส่งโบราณวัตถุชิ้นอื่นๆ กลับไปยังประเทศกัมพูชา

ทำให้ความเป็นพันธมิตรระหว่างทางพิพิธภัณฑ์และผู้นำทางวัฒนธรรมของกัมพูชาเข้มแข็งขึ้นอีกด้วย’

แม็กซ์ ฮอลเลน
ผู้อำนวยการและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร
The Metropolitan Museum of Art หรือ The Met-เดอะ เมท)
ธันวาคม 2566

พันธุ์ทิพย์ ธีระเนตร

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image