ความท้าทายในการอยู่ร่วมกัน ท่ามกลางความขัดแย้งทางสังคม โดย พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์

การจากไปของบุ้งในสัปดาห์ที่ผ่านมาสะท้อนภาวะหลายอย่างของสังคมไทย โดยเฉพาะความท้าทายในเรื่องของการอยู่ร่วมกันในสังคมท่ามกลางความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในสังคมอันยาวนาน และก็ไม่อาจทำนายว่าสังคมในอนาคตนั้นความขัดแย้งจะสิ้นสุดลงเมื่อไหร่

อีกทั้งความขัดแย้งใหม่ๆ จะเกิดขึ้นในสังคมอีกเมื่อไหร่ อย่างไร

และในช่วงสัปดาห์นี้ก็เป็นการครบรอบเหตุการณ์สลายการชุมนุมของเสื้อแดงเมื่อทศวรรษก่อน ซึ่งโดยทั่วไปเรามักจะมุ่งเน้นไปที่เรื่องของการรำลึกถึงผู้ที่บาดเจ็บและเสียชีวิตในเหตุการณ์

มากกว่าย้อนกลับไปตั้งคำถามเรื่องความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในช่วงนั้นว่ามันเกิดจากอะไร มันปะทุอย่างไร ปะทะกันแบบไหน และพัฒนามาจนถึงวันนี้อย่างไร

Advertisement

ทั้งที่อาจจะกล่าวได้ว่าความขัดแย้งเหลือง-แดงจนมาถึงการสลายการชุมนุมที่มีความเสียหาย บาดเจ็บ ล้มตายกันมากมายมีอีกมิติที่สำคัญมากกว่าความขัดแย้งในอดีตในทุกๆ ครั้งก็คือ ความพยายามของฝ่ายผู้มีอำนาจที่จะเขียนคำอธิบายเรื่องราวต่างๆ อย่างเอาจริงเอาจัง ทั้งการตั้งคณะกรรมการ การอนุมัติงบประมาณ และนำเข้าแนวคิดประเภทความยุติธรรมในระยะเปลี่ยนผ่าน การค้นหาความจริงเพื่อความปรองดอง

แต่สุดท้ายความพยายามดังกล่าวก็ไม่ประสบความสำเร็จ และยิ่งสร้างความร้าวฉานในสังคม และลดทอนความชอบธรรมทางการเมืองและการปกครองของระบอบการเมืองสมัยนั้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้ผลการเลือกตั้งในครั้งต่อมาเพื่อไทยและเสื้อแดงชนะการเลือกตั้งอย่างถล่มทลาย

ในขณะเดียวกัน ความพยายามชดเชยความสูญเสียให้กับเสื้อแดงในสมัยของรัฐบาลคุณยิ่งลักษณ์ก็เผชิญกับความท้าทายจากฝ่ายตรงข้ามอย่างรุนแรงเช่นกัน และสุดท้ายการเกิดขึ้นของ กปปส.และการรัฐประหารในปี 2557 ก็ยืนยันให้เห็นว่าความขัดแย้งที่ผ่านมานั้นไม่ได้หายไป แต่อาจเปลี่ยนสภาพไปเรื่อยๆ

Advertisement

จนกระทั่งความขัดแย้งหลากฝ่ายหลายด้านที่เกิดขึ้นในวันนี้

ผมเองไม่สามารถนำเสนอได้ว่าความขัดแย้งรุนแรงที่เกิดขึ้นในสังคมจะสิ้นสุดลงเมื่อไหร่ และจะสิ้นสุดลงได้อย่างไร เพราะมาวันนี้ผมไม่ค่อยจะเชื่อว่าเป้าหมายทางการเมืองอยู่ที่การสิ้นสุดความขัดแย้งและความรุนแรง

ผมกลับรู้สึกว่าเป้าหมายทางการเมืองหนึ่งก็คือการยอมรับและพัวพันกับความขัดแย้งและความรุนแรงในลักษณะที่เผชิญหน้ากับมัน โดยหาทางกำกับมันให้ได้ แต่จะเป็นไปในรูปแบบใดได้บ้างคงไม่ใช่เรื่องง่าย และยังเกินสติปัญญาของผมในวันนี้

สิ่งที่จะพอนำเสนอในครั้งนี้ได้ก็คือ ยกเอาความเห็นของนักวิเคราะห์การเมืองท่านหนึ่งที่ตั้งข้อสังเกตทางการเมืองของสหรัฐอเมริกาในช่วงทศวรรษที่ผ่านมาในหัวข้อที่ว่า “ความเกลียดชังได้เข้ามาครอบงำการเมืองอเมริกาได้อย่างไร?” (Lee Drutman. How Hatred Came to Dominate American Politics. Fivethrityeight.com. 10/5/2020) มาอภิปรายกับเรื่องรอบตัวเราในบางส่วนเผื่อจะได้เห็นความท้าทายบางประการร่วมกัน

แม้บทความดังกล่าวจะผ่านมาได้หลายปีแล้ว แต่มีประเด็นที่น่าสนใจว่าความขัดแย้งทางการเมืองในสังคมประชาธิปไตยอาจจะไม่ใช่เรื่องที่เราจะรีบด่วนสรุปว่ามันต้องมี หรือเป็นธรรมชาติ เพราะบทความดังกล่าวทำให้เราต้องหัดตั้งข้อสังเกตว่าอะไรที่เราชอบยอมรับกันง่ายๆ ว่าความขัดแย้งเป็นเรื่องธรรมดา ธรรมชาติ

หรือรีบด่วนสรุปแล้วเข้าสู่โหมดที่ว่าปลายทางของการเมืองคือความสงบสุขที่ปราศจากความขัดแย้ง เพราะเอาเข้าจริงข้ออ้างเช่นนี้มีแต่จะนำเราไปสู่ทิศทางของเผด็จการในหลายรูปแบบ เช่น เผด็จการเสียงข้างมากที่ไม่มีพื้นที่ให้เสียงข้างน้อย หรือเผด็จการทหาร/คนนอกที่ทำให้เราเชื่อว่าการเมืองที่ดีต้องไม่ขัดแย้ง หรือต้องถูกกดเอาไว้จากอำนาจภายนอก เพราะเราไม่มีคุณสมบัติเพียงพอในการปกครองกันเอง

หรือการเมืองจะต้องถูกกำหนดโดยทิศทางของพรรคเท่านั้น ทั้งที่พรรคเองต้องโอบล้อมความต้องการของประชาชนที่หลากหลายให้ได้ มากกว่ากดทับความหลากหลายของประชาชนผู้เป็นคนที่เลือกพรรค

โดยบทความดังกล่าวชี้ให้เห็นว่าการเมืองอเมริกาปัจจุบันเต็มไปด้วยความเกลียดชัง และความเกลียดชังกลายเป็นเรื่องที่แสดงออกอย่างโจ่งแจ้งเอามากๆ อย่างในกรณีของการดีเบตกันในการแข่งขันชิงตำแหน่งประธานาธิบดีของทรัมป์ จากพรรครีพับลิกัน กับไบเดน จากพรรคเดโมแครต ซึ่งผู้เขียนเห็นว่าการดีเบตในวันนั้นถือเป็นจุดที่การสนทนาทางการเมืองในระดับชาติตกต่ำถึงที่สุด เพราะมันเป็นการแสดงออกให้เห็นถึงการแสดงความเกลียดชังต่อพรรคการเมืองฝ่ายตรงข้ามในที่สาธารณะอย่างรุนแรง

ปรากฏการณ์ของการแสดงท่าทีรังเกียจกันขั้นรุนแรงของพรรคคู่แข่งขัน ซึ่งในบ้านเราอาจจะมองว่าโลกนี้คือละครนั้นในสายตาของนักวิเคราะห์การเมืองชาวอเมริกันท่านนี้กลับชี้ว่ามันสะท้อนให้เห็นถึงการเพิ่มขึ้นของความรู้สึกเกลียดกันราวกับเป็นเรื่องปกติของชาวอเมริกันผู้มีสิทธิเลือกตั้งที่มองว่า “การแบ่งฝักแบ่งฝ่ายเชิงลบ (negative partisanship)” ซึ่งเป็นแนวคิดหนึ่งทางรัฐศาสตร์ได้ก้าวไปถึงขั้นที่ส่งผลลบต่อประชาธิปไตย และมีแนวโน้มที่จะทำลายสังคมการเมืองแบบประชาธิปไตยลงในที่สุด

บทความดังกล่าวชี้ให้เห็นว่า ความขัดแย้งแบบแบ่งฝักฝ่ายเชิงลบในสังคมอเมริกาไม่ได้แย่เท่านี้เสมอไป อาทิ เมื่อย้อนกลับไปสี่สิบปีที่แล้ว ความรู้สึกของคนที่เลือกพรรคเดโมแครตกับรีพับลิกันจะรู้สึกว่าอีกฝ่ายหนึ่งซึ่งแม้จะอยู่ตรงข้ามกัน ก็รู้สึกว่าอีกฝ่ายหนึ่งยังโอเค หรือยังรับอีกฝ่ายหนึ่งได้

ขณะที่ในปัจจุบันความรู้สึกว่าจะต้องอยู่ตรงข้ามกันแบบแทบจะไม่เผาผี หรือถ้าเอาบริบทเมืองมะกันก็คงจะบอกว่าไม่ไปฝังศพกันนั้นมีมากขึ้นถึงขั้นไม่ชอบหน้า และไม่เชื่อใจกัน (dislike and distrust) ซึ่งดูเหมือนว่าถ้าย้อนกลับไปตั้งแต่ ค.ศ.1980 เป็นต้นมาตอนนี้จะเป็นจุดที่ต่ำที่สุด

แม้ว่าในบทความดังกล่าวจะไม่ได้ย้อนกลับไปก่อนหน้านั้นเช่นในกรณีของสงครามกลางเมืองของสหรัฐอเมริกา แต่ผู้เขียนชี้ว่าเกิดปรากฏการณ์สำคัญสามประการที่นำไปสู่เงื่อนไขว่าทำไมความรู้สึกเกลียดชังกันของชาวอเมริกันที่อยู่ต่างพรรคกันถึงได้รุนแรงมากที่สุดในวันนี้

หนึ่ง การเมืองอเมริกันเป็นเรื่องที่มีความเป็นการเมืองในระดับชาติมากขึ้นเรื่อยๆ ในความหมายที่ว่าพรรคการเมืองในระดับชาติจะควบคุมประเด็นหลักในแต่ละพื้นที่มากขึ้นเรื่อยๆ นักการเมืองในระดับท้องถิ่นต้องเล่นตามแนวทางของพรรคการเมืองในระดับชาติมากขึ้น ต่างจากเดิมที่นักการเมืองท้องถิ่นอาจจะไม่ได้เข้มงวดกับแนวทางของพรรคส่วนกลางมากนัก

หมายถึงว่า พรรคการเมืองนั้นอาจเป็นเพียงพาหนะที่นักการเมืองท้องถิ่นใช้ลงทะเบียนเข้าสู่สนามการเลือกตั้ง มากกว่าที่จะต้องเป็นเสมือนเสาไฟฟ้า หรือตัวแทนของพรรคการเมืองส่วนกลางแบบตรงไปตรงมา โดยเฉพาะในช่วงทศวรรษที่ 1970 นักการเมืองแต่ละพรรคในระดับมลรัฐและท้องถิ่นกว่านั้นคือระดับเมือง จะเน้นหาเสียงเรื่องของท้องถิ่นว่าจะแก้ปัญหาอย่างไร มากกว่าหาเสียงว่าเป็นตัวแทนของพรรคไหน

ผู้เขียนในบทความชี้ให้เห็นประเด็นที่น่าสนใจว่า ส่วนหนึ่งที่ทำให้การเมืองในระดับชาติ โดยเฉพาะพรรคการเมืองมีความสำคัญมากขึ้นมาจากการเติบโตของขบวนการทางสังคม โดยเฉพาะขบวนการสิทธิพลเมืองที่เริ่มก่อตัวมาตั้งแต่ทศวรรษที่ 1960 และความขัดแย้งกันในแง่วัฒนธรรมในอเมริกาในช่วงทศวรรษที่ 1970 และ 1980 ที่ทำให้บรรดาฝ่ายอนุรักษนิยมในเดโมแครต และฝ่ายเสรีนิยมในรีพับลิกันต้องย้ายฝั่ง หรือย้ายไปอยู่ในพรรคฝ่ายตรงข้าม และทำให้การเมืองในระดับชาติโดยเฉพาะพรรคการเมืองที่ส่วนกลางเป็นตัวกำหนดคุณค่าทางการเมืองมากกว่าการกำหนดคุณค่าทางการเมืองจากคนในท้องถิ่นเหมือนที่ผ่านมา การเติบโตของพรรคการเมืองจึงมีจุดศูนย์กลางที่การเมืองระดับชาติ จะเห็นการเติบโตของการหาเสียง การระดมทุนอย่างมโหฬาร

การเติบโตของการเมืองที่ถูกกำหนดจากคุณค่าของการเมืองชาติมากกว่าท้องถิ่นยังเกิดมาจากเรื่องของการเสื่อมถอยลงของสื่อในระดับท้องถิ่น และการเติบโตของสื่อส่วนกลางที่พุ่งเข้าหาท้องถิ่น
ได้ง่ายขึ้นจากสื่อใหม่ๆ การเมืองระดับชาติถูกรายงานและมีการนำเสนอเรื่องราวในหน้าสื่อมากขึ้น การเลือกตั้งในระดับชาติโดยเฉพาะการเลือกตั้งประธานาธิบดีถูกขับเน้นให้กลายเป็นเรื่องของการสร้างประชามติของแต่ละฝ่ายว่าจะเลือกใครเป็นผู้นำประเทศ และจะเลือกพรรคไหนมาบริหารประเทศและเป็นฝ่ายออกกฎหมาย ดังนั้น สมาชิกพรรคจึงจะต้องมีความเป็นตัวแทนพรรคในระดับชาติมากกว่าความเป็นอิสระในการแสดงออกซึ่งความเห็นจากท้องถิ่นมากขึ้นเรื่อยๆ

เรื่องนี้ทำให้เราต้องมาคิดว่า ส.ส. อบจ. เทศบาล และ อบต. ของไทยที่มีการเลือกตั้งมีความเชื่อมโยงกับพรรคเด่นชัดจริงไหม และจำเป็นไหมที่ต้องเชื่อมโยงกับพรรคอย่างเต็มที่ หรือเราจะมองว่า ส.ส.ที่ย้ายพรรคเป็นคนไม่มีอุดมการณ์เสมอไป

สอง การแบ่งแยกและแตกแยกกันของพรรคการเมืองอเมริกันทั้งสองฝ่ายเกิดขึ้นอย่างชัดเจนจากการแบ่งแยกความเป็นคนในพื้นที่เมืองกับชนบทมากขึ้น และมีการแบ่งแยกชัดเจนในเรื่องของวัฒนธรรมทางการเมืองแบบเสรีนิยม กับอนุรักษนิยม

คำถามต่อมาในเรื่องของการแบ่งแยกความคิดทางการเมือง และการเป็นตัวแทนของความคิดทางการเมืองของแต่ละพื้นที่ก็คือ เอาเข้าจริงในแต่ละพื้นที่มีคนทั้งสองฝ่ายอยู่ในพื้นที่ มีทั้งคนรวยและคนจนทั้งในเมืองและชนบท/เมืองเล็ก ดังนั้น การที่การเมืองถูกกำหนดจากอัตลักษณ์ทางการเมืองจากส่วนกลางที่มีเพียงสองพรรคมันจะสะท้อนความจริงทางการเมืองทั้งหมดในพื้นที่ไหม เพราะคนที่เลือกก็มาจากชุมชนเดียวกัน และบางทีความเป็นแต่ละพื้นที่ทางภูมิศาสตร์อาจจะมีความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันมากกว่าการถูกแบ่งแยกโดยประเด็นทางการเมืองประเภทที่ว่าฉันเป็นชาวพรรคอะไร

ความท้าทายของการเมืองที่แบ่งขั้วเลือกข้างที่ชัดเจนเอามากๆ อาจพาเราถลำลึกลงไปถึงขั้นที่ทำให้เรากลายเป็นมากกว่าผู้ที่สนับสนุนพรรคไหนมากกว่าปัญหาหลักของท้องถิ่นคืออะไร และยังอาจพาเราไปถึงขั้นที่กลายเป็นว่าเราเป็นฝ่ายของผู้สมัครคนไหนเท่านั้นเอง จนบางทีลืมเงื่อนไขบางอย่างที่เราอาจจะต้องมีความเห็นที่สอดคล้องกันในการอยู่ร่วมกัน และร่วมกันแก้ปัญหาในท้องถิ่นนั้นๆ รวมทั้งประเทศชาติ และยิ่งเมื่อผู้สมัครประธานาธิบดีมีแคมเปญที่ปะฉะดะ ไม่เผาผีกันแล้ว ประชาชนก็ยิ่งจะแบ่งฝักแบ่งฝ่ายมากกว่าบีบให้ผู้นำแต่ละฝ่ายยอมรับปัญหาที่ประชาชนต้องการให้ทั้งสองฝ่ายแก้ปัญหาจริงๆ และยิ่งถ้าสื่ออยากจะเล่นกับความขัดแย้งมากกว่าเป็นปากเสียงของประชาชนที่จะให้ผู้นำและพรรคยอมรับว่ามีเรื่องที่ต้องแก้จริงๆ ประชาชนก็จะติดเข้าไปในประเด็นที่พรรคการเมืองจากส่วนกลาง และผู้นำทางการเมืองกำหนดว่าอะไรคือปัญหาหลักของประเทศ

สาม ชัยชนะทางการเมืองของอเมริกาในแต่ละครั้งของการเลือกตั้งมีลักษณะที่ชนะกันเพียงเล็กน้อยมากขึ้นเรื่อยๆ

นัยสำคัญของสิ่งที่เกิดขึ้นสามประการนี้แทนที่จะทำให้การเมืองอเมริกามีลักษณะประนีประนอมกันมากขึ้น ในบทความดังกล่าวชี้ให้เห็นว่าแต่ละฝ่ายจะยิ่งมีความขัดแย้งกันมากขึ้นเพื่อที่ได้มาซึ่งชัยชนะ ซึ่งชนะกันเพียงเล็กน้อยเท่านั้น และทำให้เกิดความรู้สึกว่าแพ้ไม่ได้มากขึ้นเรื่อยๆ นโยบายจะต้องแตกต่างกัน ไม่ร่วมมือกัน ต่างฝ่ายจะต้องเอาชนะคะคานกันให้ได้

ดังนั้น แทนที่ภารกิจของพรรคการเมืองจะรวบรวมความหลากหลายของสังคมมาจัดทำเป็นนโยบาย และยอมรับว่าสังคมมีความหลากหลายทางความคิด สิ่งที่พรรคการเมืองทำได้ง่ายที่สุดก็คือการชี้หน้าอีกฝ่ายหนึ่งและให้เหตุผลว่าทำไมอีกฝ่ายหนึ่งถึงแย่

อย่างในกรณีของการหาเสียงระดับชาติของเดโมแครตครั้งที่ผ่านมา แทนที่จะเน้นตัวนโยบาย และการแข่งขันกันระหว่างแนวคิดย่อยๆ ของพรรค สิ่งที่เกิดขึ้นคือการเน้นไปที่การส่งสารให้ผู้เลือกตั้งรู้สึกว่าถ้าอยู่กับทรัมป์อีกรอบหนึ่งบ้านเมืองจะแย่อย่างไร ดังนั้น การเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา การเลือกไบเดนคือการโหวตไม่เอาทรัมป์

ขณะที่ฝ่ายรีพับลิกันไม่ว่าคนในพรรคจะชอบทรัมป์หรือไม่ชอบทรัมป์ ก็กลายเป็นว่าไม่มีทางเลือกใดจะดีกว่ายอมให้ทรัมป์เป็นภาพของพรรคเพื่อไม่ให้อีกพรรคชนะ

ผลของการแบ่งฝักฝ่ายแบบไม่ยอมกันมากขึ้นเรื่อยๆ นี้พาสังคมอเมริกาไปสู่ความเห็นสาธารณะว่าร้อยละ 60-70 มองว่าพรรคการเมืองอื่น หรือพรรคการเมืองฝั่งตรงข้ามเป็นภัยขั้นรุนแรง และมีความจำเป็นที่พรรคการเมืองจะกระชับความเป็นพรรค (พวก) ของตัวเองโดยการสร้างภาพว่าพรรคฝ่ายตรงข้ามคือศัตรู

บทความดังกล่าวทิ้งท้ายว่า มีความเป็นไปได้สองทางที่จะเกิดขึ้นในอเมริกา หนึ่งคือความเกลียดชังขัดแย้งจะนำไปสู่ความหวาดกลัวที่ทำให้เรายินยอมที่จะปล่อยให้การละเมิดหลักการประชาธิปไตยเกิดขึ้นได้ หรือยอมรับสภาวะการนำแบบเผด็จการเพื่อให้การคงไว้ซึ่งอำนาจเกิดขึ้นเพื่อให้อีกฝ่ายไม่ได้รับชัยชนะ

อีกความเป็นไปได้หนึ่งคือเกิดการพลิกขั้วเปลี่ยนข้างกันใหม่ที่บางฝ่ายอาจจะพังลง หรืออาจจะพังลงทั้งสองฝ่าย แต่ก็ยังไม่รู้ว่าอนาคตจะเกิดอะไรขึ้น

ซึ่งสุดท้ายการเมืองอเมริกาก็จะมีการเลือกตั้งอีกครั้งในปลายปีนี้ แล้วก็ดูว่าจะไม่มีทีท่าที่จะเปลี่ยนแปลงใดๆ ไปตามคำทำนายในแง่บวกของบทความดังกล่าว

ส่วนบ้านเราความขัดแย้งของสังคมเรามันพ้นจากเพียงสองฝ่ายไปสู่หลายฝ่าย และไม่ใช่เรื่องของพหุนิยมตามแนวคิดเดิมทางรัฐศาสตร์ที่เป็นการแข่งขันในเกมที่เท่าเทียมกัน แต่ทุกฝ่ายต่างพยายามหาหนทางในการเอาชนะกันในทุกรูปแบบและมีความเสี่ยงที่จะนำไปสู่สภาวะของการถดถอยในประชาธิปไตยได้เช่นกันหากเราเผชิญหน้าและกำกับความขัดแย้งและเกลียดชังกันไม่ได้

ผมเองไม่มีทางออกอะไรมานำเสนอ ได้แต่นำเอาความกังวลใจในสังคมอื่นที่ก็ไม่มีทางออกเช่นเดียวกับเรา (แม้ว่าเงื่อนไขของเขาจะไม่เหมือนเรา) มานำเสนอในครั้งนี้ครับ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image