เมื่อวันที่ 16 ก.ค. 2567 นายฉันทานนท์ วรรณเขจร เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า ตามที่คณะรัฐมนตรีมอบหมายให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นหน่วยงานหลักในการดำเนินโครงการประกันภัยทางการเกษตรของประเทศตั้งแต่ปี 2567 เป็นต้นไป ร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จึงได้มอบหมายให้ สศก. เป็นเจ้าภาพหลักในการพัฒนา และสร้างระบบประกันภัยให้เกษตรกรไทยสุขใจถ้วนหน้า เพื่อให้ความช่วยเหลือเกษตรกรจากผลกระทบของภัยพิบัติทางธรรมชาติ และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ที่เป็นความท้าทายสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อภาคเกษตรนั้น ล่าสุด ในวันนี้ คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบ โครงการประกันภัยข้าวนาปี ปีการผลิต 2567 เพื่อบรรเทาความเสียหายที่อาจจะเกิดขึ้นจากภัยพิบัติทางธรรมชาติให้แก่เกษตรกร และเป็นเครื่องมือในการบริหารจัดการความเสี่ยงด้านภัยพิบัติทางธรรมชาติ ซึ่งไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้และมีแนวโน้มทวีความรุนแรงมากขึ้น
นายฉันทานนท์ ระบุว่า สำหรับโครงการประกันภัยข้าวนาปี ปีการผลิต 2567 จะให้ความช่วยเหลือเกษตรกรครอบคลุมพื้นที่เพาะปลูกข้าวนาปี จำนวน 21 ล้านไร่ ซึ่งมีการประกันภัยให้ 2 ส่วน ได้แก่ ภาคพื้นฐาน ซึ่งภาครัฐให้การอุดหนุนค่าเบี้ยประกันภัย และ ภาคสมัครใจ ซึ่งให้เกษตรกรซื้อประกันภัยเพิ่มเติม โดยมีรายละเอียดสำคัญ ดังนี้
ภาคพื้นฐาน (Tier 1) กรณีเกษตรกรลูกค้าสินเชื่อเพื่อการเพาะปลูกข้าวนาปี ธ.ก.ส. พื้นที่เป้าหมาย 15 ล้านไร่ อัตราเบี้ยประกัน 115 บาทต่อไร่ (ไม่รวมอากรแสตมป์และภาษีมูลค่าเพิ่ม) โดยภาครัฐอุดหนุนค่าเบี้ยประกันภัย 69 บาทต่อไร่ ธ.ก.ส. อุดหนุนค่าเบี้ยประกันภัย 46 บาทต่อไร่ ซึ่งปีนี้มีรูปแบบที่แตกต่างจากการดำเนินโครงการฯ ที่ผ่านมา คือ มีการกำหนดพื้นที่นำร่อง 689 อำเภอทั่วประเทศ เป้าหมาย 5 ล้านไร่ เพื่อจูงใจให้เกษตรกรมีส่วนร่วมในการจ่ายค่าเบี้ยประกันภัย โดยมีอัตราค่าเบี้ยประกันภัย 70 บาทต่อไร่ ภาครัฐอุดหนุน 65 บาทต่อไร่ และเกษตรกรร่วมจ่าย 5 บาทต่อไร่ สำหรับพื้นที่เสี่ยงปานกลางและเสี่ยงสูง เป้าหมาย 5 แสนไร่ อัตราเบี้ยประกัน 199 และ 218 บาทต่อไร่ โดยภาครัฐอุดหนุนค่าเบี้ยประกันภัย 69 บาทต่อไร่ และเกษตรกรจ่ายส่วนที่เหลือเอง ส่วนค่าสินไหมทดแทน (Tier 1) จากภัยธรรมชาติ 7 ภัย ได้แก่ น้ำท่วม/ฝนตกหนัก ภัยแล้ง/ฝนแล้ง/ฝนทิ้งช่วง ลมพายุ/พายุไต้ฝุ่น อากาศหนาว/น้ำค้างแข็ง ลูกเห็บ ไฟไหม้ และภัยช้างป่า วงเงินคุ้มครอง 1,190 บาทต่อไร่ และภัยศัตรูพืชหรือโรคระบาด 595 บาทต่อไร่
ภาคสมัครใจ (Tier 2) เกษตรกรซื้อประกันภัยเพิ่มเติม พื้นที่เป้าหมาย 5 แสนไร่ อัตราเบี้ยประกันพื้นที่เสี่ยงภัยต่ำ 27 บาทต่อไร่ เสี่ยงภัยปานกลาง 60 บาทต่อไร่ และเสี่ยงภัยสูง 110 บาทต่อไร่ ค่าสินไหมทดแทน (Tier 2) จากภัยธรรมชาติ 7 ภัย วงเงินคุ้มครอง 240 บาทต่อไร่ และภัยศัตรูพืชหรือโรคระบาด 120 บาทต่อไร่
ทั้งนี้ กำหนดวันเริ่มจำหน่ายกรมธรรม์ประกันภัย ตั้งแต่วันที่คณะรัฐมนตรีมีมติให้ความเห็นชอบโครงการฯ และกำหนดวันสิ้นสุดการขายกรมธรรม์ในพื้นที่ภาคกลาง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก ภาคเหนือ และภาคตะวันตก จำนวน 63 จังหวัด สิ้นสุดวันที่ 31 กรกฎาคม 2567 สำหรับภาคใต้สิ้นสุดวันที่ 31 ธันวาคม 2567
“ระบบประกันภัยการเกษตร เป็นเครื่องมือหนึ่งที่รัฐบาลนำมาใช้ในการบริหารจัดการความเสี่ยงด้านภัยพิบัติ และเป็นการต่อยอดความช่วยเหลือผู้ประสบภัยกรณีฉุกเฉินของภาครัฐตามระเบียบกระทรวงการคลังฯ เพื่อรองรับต้นทุนในการเพาะปลูกให้กับเกษตรกรเมื่อประสบเหตุการณ์ภัยพิบัติทางธรรมชาติ และในระยะต่อไป กระทรวงเกษตรฯ จะได้มีการพัฒนาขยายผลไปยังสินค้าเกษตรชนิดอื่น ๆ ครอบคลุมด้านพืช ปศุสัตว์ และประมง เพื่อสร้างความมั่นใจ และความมั่นคงในการประกอบอาชีพให้กับเกษตรกร” เลขาธิการ สศก. กล่าว