ผู้เขียน | แสงชัย ธีรกุลวาณิช ประธานสมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย |
---|
โครงสร้างหนี้ที่ต้องปรับกับมาตรการรองรับที่สร้างความยั่งยืน
หนี้ครัวเรือนที่มีคุณภาพจะเป็นจุดเริ่มต้นของเสถียรภาพทางเศรษฐกิจและสังคม เพื่อการวางแผนบริหารความเสี่ยง เฝ้าระวัง และพัฒนาระบบให้มีฐานข้อมูลที่สามารถนำไปใช้ในการออกแบบมาตรการรองรับ และเชิงรุก เพื่อการพัฒนาอย่างต่อเนื่องเป็นระบบ หากมีมองโครงสร้างหนี้ครัวเรือน (ข้อมูล ธปท.) จะพบสถานการณ์สัดส่วนของหนี้ที่ทวีความรุนแรงเพิ่มขึ้น อาทิ สินเชื่อที่อยู่อาศัยร้อยละ 34 สินเชื่อยานยนต์ร้อยละ 11 สินเชื่อบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคลภายใต้การกำกับร้อยละ 8 สินเชื่อส่วนบุคคลอื่นๆ ร้อยละ 19 และสินเชื่อเพื่อธุรกิจร้อยละ 18 ที่ในแต่ละสัดส่วนล้วนมีสถานการณ์หนี้เฝ้าระวังและหนี้เสียประทุขึ้นต่อเนื่องและอาจลุกลามเป็น “มะเร็งร้ายทางเศรษฐกิจและสังคม” สิ่งที่เอสเอ็มอีมีความคาดหวัง คือ “การแกะรอยความเหลื่อมล้ำและออกแบบนโยบายมาตรการทางการเงิน การเข้าถึงภาครัฐ การแก้ไขกฎหมาย ระเบียบที่เป็นอุปสรรคที่ตอบโจทย์เอสเอ็มอีและประชาชน”
อย่ารอให้หนี้ครัวเรือนถาโถมจนล้นท่วม GDP ประเทศไทย ทั้งที่มีสัญญาณเพิ่มขึ้นของหนี้ครัวเรือนมาอย่างต่อเนื่อง ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาหลายปี และสัญญาณบ่งชี้หนี้เฝ้าระวังและหนี้เสียที่ประทุคุกรุ่นส่งผลกระทบทั้งเอสเอ็มอี แรงงานและประชาชน จนต้องทิ้งที่อยู่อาศัยและยานพาหนะเพราะเอาไม่อยู่กับสถานการณ์ปัจจัยลบทางเศรษฐกิจที่เผชิญทั้งภายนอกและภายในประเทศมาอย่างยาวนาน “การแก้ไขปัญหาเหมือนเขาวงกตวนเวียนไม่ก้าวข้ามและขับเคลื่อนอย่างมีระบบ” ต้องมีบทบาทความรับผิดชอบที่ชัดเจนในการบูรณาการทำงานร่วมกัน ทั้งแบงก์ชาติ กระทรวงการคลัง สถาบันการเงินพาณิชย์ สถาบันการเงินของรัฐ บสย. Pico-Nano Finance ลิสซิ่ง เครดิตบูโร AMC กองทุนและสหกรณ์ต่างๆ ในการดำเนินการแก้ไขปรับโครงสร้างหนี้ ไม่ใช่ให้นโยบาย แนวปฏิบัติ แต่ขาดการเชื่อมโยง ส่งเสริม กำกับเป้าหมายตัวชี้วัดที่ชัดเจนด้วยฐานข้อมูลที่จะนำมาใช้ประโยชน์ร่วมกัน และต้องมีหน่วยงานกลางที่รับผิดชอบ มีอำนาจสร้างกลไกเจรจาประนอมหนี้ ไกล่เกลี่ยหนี้ที่มี 2 ธนาคารหรือมากกว่าขึ้นไป เพื่อให้ความเป็นธรรมเจ้าหนี้และลูกหนี้ รวมทั้งปรับโครงสร้างหนี้ที่สะท้อนคำนึงถึงความอยู่รอด อยู่ได้ของเอสเอ็มอีและประชาชนร่วมด้วย บนพื้นฐานของการให้โอกาส สิ่งสำคัญ คือ “การส่งไม้ต่อจากการปรับโครงสร้างหนี้ที่ต้องมีกระบวนการในการเชื่อมโยงกลไกการพัฒนาที่มีแพลตฟอร์มรองรับอย่างเป็นระบบ” บ่มเพาะองค์ความรู้บริหารจัดการเพื่อปรับเปลี่ยนธุรกิจสีเขียว ทักษะ ยกระดับขีดความสามารถสร้างงานที่มีคุณค่าและเป็นแรงงานสีเขียว พร้อมเข้าถึงระบบคุณภาพ มาตรฐานสินค้าและบริการ การประยุกต์ใช้ดิจิทัลเทคโนโลยีในการประกอบอาชีพ การเข้าถึงความสร้างสรรค์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมที่นำไปใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์ได้ รวมทั้งสร้างกลไกส่งเสริมตลาดในประเทศและต่างประเทศให้
เอสเอ็มอีแบบเชิงรุก
“ดิจิทัลแฟคทอริ่ง” เรื่องดีๆ ที่ไม่มีความคืบหน้า กว่า 3 ปีที่เป้าหมายการส่งเสริมให้เกิดสภาพคล่องด้วยดิจิทัลแฟคทอริ่ง เรื่องที่ควรจะทำให้ง่ายกับกลไก
การแฟคทอริ่ง โดยส่งเสริมให้ผู้ประกอบการรายใหญ่ (ผู้ชำระเงิน หรือผู้ซื้อ) ที่มีเครดิตเทอมกับคู่ค้าโดยเฉพาะเอสเอ็มอี (ผู้รับชำระเงิน หรือผู้ขาย) ที่มีกำหนดชำระเงินเกิน 30 วัน หรือ 45 วัน เข้าร่วมโครงการขึ้นทะเบียนประเมินเครดิตสกอริ่งผู้ชำระเงิน และให้เอสเอ็มอีที่มาขึ้นทะเบียนร่วมกันกับผู้ชำระเงินที่มีสถาบันการเงินให้บริการแฟคทอริ่งรายเดียวกันก็จะเป็นการป้องกันการแฟคทอริ่งซ้ำซ้อนของผู้ขาย ซึ่งจะต้องส่งเสริมให้โอกาสเอสเอ็มอีที่เป็นหนี้เฝ้าระวัง หนี้เสีย และที่มีการปรับโครงสร้างหนี้ได้ใช้แฟคทอริ่งในการเพิ่มสภาพคล่องและมีเงินทุนหมุนเวียนให้รอดวิกฤต และหาก 3-6 เดือนดีขึ้น สามารถเพิ่มเติมรับเครดิตการค้าซัพพลายเชนเพื่อการฟื้นฟูในการซื้อวัตถุดิบ ปัจจัยการผลิต ค่าเช่า ค่าแรง ค่าสาธารณูปโภค ค่าขนส่ง โดยต้องผูกบัญชีกับคู่ค้าและธนาคารสามารถโอนเงินตรงชำระคู่ค้าได้เพื่อเติมสภาพคล่องต้นน้ำให้เอสเอ็มอี ทั้งนี้ เครดิตการค้าซัพพลายเชนไม่สามารถเบิกถอนเงินสด ซื้อสินค้าฟุ่มเฟือย และอุปโภคบริโภคได้
“จัดโครงสร้างแก้หนี้ทั้งระบบและยกระดับสร้างงานสร้างอาชีพมุ่งสู่ความยั่งยืน” ด้วยการแบ่งกลุ่มหนี้ที่ชัดเจนเพื่อการแก้ปัญหาตามสภาพ เช่น กลุ่มหนี้ในระบบที่กำลังตกชั้นและหนี้เสีย กลุ่มหนี้ที่มีทั้งในและนอกระบบ กลุ่มหนี้นอกระบบ โดยสร้างกลไกช่องทางเข้าถึงที่มีประสิทธิภาพ มีกระบวนการวิธีการแก้หนี้ที่พร้อมที่ปรึกษา หรือพี่เลี้ยงเพื่อการพัฒนาปิดจุดอ่อนให้เอสเอ็มอีด้านการสร้างรายได้เพิ่มด้วยแผนธุรกิจฉบับเอสเอ็มอี ทักษะการบริหารจัดการทางการเงิน การบริหารความเสี่ยง บ่มเพาะแนวหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงให้เกิดความมั่นคง มั่นคั่ง จะทำให้การแก้หนี้นำไปสู่ความยั่งยืนอย่างแท้จริง “เอสเอ็มอี แรงงานและประชาชน อยากเห็นการเปลี่ยนแปลงที่พลิกโฉมประเทศไปสู่การสร้างโอกาสที่จะไม่ทำให้เกิดความยากจนข้ามรุ่นและความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและสังคมจากนโยบาย และมาตรการที่ปักหมุดผิดและเดินหลงทาง”