สะพานแห่งกาลเวลา : เมื่อไมโครซอฟท์ป่วนโลก

(ภาพ-Pixabay)

สะพานแห่งกาลเวลา : เมื่อไมโครซอฟท์ป่วนโลก

เ มื่อเช้าวันที่ 19 กรกฎาคมที่ผ่านมา ถ้าใครบังเอิญไปเจอปัญหา เครื่องบินดีเลย์ เที่ยวบินแคนเซิล หรือไม่ก็ไม่สามารถจ่ายเงินแบบ ตื๊ดๆ จากมือถือเพื่อซื้อของในห้างได้ตามปกติแล้วละก็ ขอให้เข้าใจเอาว่า กำลังเผชิญปัญหาที่ต้นตอมาจากไมโครซอฟท์ บริษัทไอทียักษ์ใหญ่ของโลกเข้าให้แล้ว

แล้วไม่ใช่ในไทยเราที่เดียวนะครับ แต่เจอกันทั่วโลก เรียกได้ว่า เป็นการโกลาหลระดับโลกได้เลย ป่วนกันตั้งแต่ออสเตรเลีย ไปยันสหรัฐอเมริกา กันเลยทีเดียว

กิจการสำคัญที่กระทบมีตั้งแต่ ธนาคาร สายการบินสนามบิน เรื่อยไปจนถึง ตลาดหุ้น เป็นต้น

Advertisement

แต่จะโทษว่าเป็นความผิดของไมโครซอฟท์ ก็ไม่เชิงเสียทีเดียว เพราะลึกลงไปแล้ว ต้นตอของปัญหาทั้งหมด เกิดขึ้นจากการปล่อย “อัพเดต” ของบริษัทผู้ให้บริการความปลอดภัยทางไซเบอร์ หรือจะเรียกให้เข้าใจง่ายๆ ได้ว่าเป็นบริษัทให้บริการแอนตี้ ไวรัส ที่ถูกปล่อยออกมาในเช้าวันเดียวกันนั้น

เป็นการปล่อยอัพเดตแบบอัตโนมัติ คือไล่ตามไทม์โซน ด้วยเหตุนี้ ออสเตรเลีย ที่เป็นไทม์โซนแรกสุดเลยโดนเข้าเป็นรายแรก

Advertisement

บริษัทที่ว่านี้คือ คราวด์สไตรก์ (Crowdstrike) เป็นบริษัทอเมริกัน ตั้งอยู่ที่เมืองออสติน รัฐเท็กซัส ถูกไมโครซอฟท์ว่าจ้างให้เป็นผู้จัดสรรการต่อต้านไวรัสสำหรับบริการ ออฟฟิศ 365 ที่เป็นการให้บริการผ่านระบบคลาวด์โดยเฉพาะ

คราวด์สไตรก์ ออกแถลงการณ์ยอมรับเหตุที่เกิดขึ้นไม่ใช่การโจมตีทางไซเบอร์ หรือการก่อการร้าย แต่เกิดเพราะว่า ทางบริษัทได้ปล่อย “คอนเทนต์ อัพเดต” เพื่อการต่อต้านไวรัสออกไป แล้วก่อให้เกิดปัญหาขึ้นกับผู้ใช้บริการของไมโครซอฟท์ กล่าวคือ ทำให้คอมพิวเตอร์ทั้งหมดที่อยู่ในระบบเกิดอาการ “บลู สกรีน ออฟ เดธ” หรือ “บีเอสโอดี” ขึ้นจอสีฟ้าค้างอยู่อย่างนั้น ทำอะไรต่อไม่ได้เลย

คอมพิวเตอร์ที่เจ๊งเพราะ “จอฟ้า” แบบนี้ มีทั้งที่เป็นเซิร์ฟเวอร์ แล้วก็ที่ใช้งานทั่วไป เช่นเข้าไปดูข้อมูล หรืออื่นๆ พอทำงานไม่ได้ ทั้งระบบก็รวนกันไปหมด

สายการบินรวน เพราะไม่สามารถเข้าถึงข้อมูลผู้โดยสารแต่ละรายได้ ธนาคารป่วนเพราะเข้าถึงธุรกรรมทั้งหลายทั้งปวงก่อนหน้าไม่ได้ ทำนองเดียวกับที่โรงพยาบาลโกลาหลเพราะไม่สามารถเข้าไปดูเวชระเบียนของคนไข้แต่ละรายได้ สั่งจ่ายยา หรือสั่งเก็บเงินก็ไม่ได้ เป็นต้น

โปรดสังเกตนะครับว่า ในแถลงการณ์ คราวด์สไตรก์ใช้คำว่า “คอนเทนต์ อัพเดต” นั่นแสดงว่า เป็นการอัพเดตย่อยๆ ไม่ใช่การอัพเดตสำคัญอะไรนัก บางทีอาจแค่เป็นการเปลี่ยนโลโก้ หรือฟอนต์ หรืออะไรนิดๆ หน่อยๆ เท่านั้นเอง

แต่ให้บังเอิญว่า ในอัพเดตที่ว่านี้มีไฟล์อันตรายอยู่ตัวหนึ่ง ที่ทำให้เกิดอาการจอฟ้าที่ว่านี้ขึ้น เลยพากันเจ๊งทั้งระบบ

คราวด์สไตรก์ รู้แล้วว่าเป็นไฟล์ตัวไหน แล้วก็แจ้งให้ลูกค้าของไมโครซอฟท์รู้ เพื่อให้แก้ไขปัญหา

วิธีแก้ก็คือ ให้เปิดคอมพิวเตอร์ใหม่โดยใช้ “เซฟโหมด” แล้วก็เข้าไปลบไฟล์ปัญหานี้ทิ้ง ก็จบเรื่อง

ทางฝั่งไมโครซอฟท์ ก็บอกเหมือนกันว่า ปัญหาอาจแก้ง่ายๆ โดยการใช้วิธีบังคับปิด (หรือถอดปลั๊ก) แล้วเปิดใหม่ซ้ำๆ ซึ่งบางทีอาจจำเป็นต้องใช้ถึง 15 ครั้ง ปัญหาก็จะหมดไป

แต่ที่เป็นปัญหาก็เพราะว่า ไม่ว่าจะเป็นวิธีไหนในสองวิธีข้างต้นนี้ จำเป็นต้องมี “คน” เข้าไปนั่งอยู่หน้าจอ แล้วดำเนินการผ่านคีย์บอร์ด

การแก้ปัญหาคราวด์สไตรก์ครั้งนี้เลยต้องใช้เวลา แล้วก็ใช้เวลาไม่เท่ากัน ขึ้นอยู่กับว่าในระบบของแต่ละบริษัทมีคอมพิวเตอร์ที่จำเป็นอยู่มากมายแค่ไหน

ตัวอย่างเช่น ถ้าคอมพิวเตอร์ที่บ้านเรา ใช้ระบบนี้อยู่ ก็สามารถใช้เวลาไม่นานนักแก้ไขได้ แต่ถ้าเป็นระดับบริษัทที่มี 100 ตัว ก็ต้องใช้เวลาและกำลังคนเพิ่มขึ้น ส่วนที่มีเป็นพันๆ เครื่องในระบบก็ไม่ต้องพูดถึง อาจต้องใช้เวลาเป็นวันๆ กันละ

ผู้เชี่ยวชาญบางคนถึงกับบอกว่า อาจต้องใช้เวลานานหลายวัน อย่างน้อยก็สองสามวันจนกว่าระบบคอมพิวเตอร์ของทั้งโลกจะกลับมาสู่สภาพปกติเหมือนเดิม

และทำให้หลายคนฉุกคิดขึ้นมาได้ว่า ระบบคอมพิวเตอร์ในเวลานี้ ซับซ้อนมากขึ้น เชื่อมโยงกันมากขึ้นแต่ในเวลาเดียวกันก็เปราะบางมากขึ้นทุกทีเช่นกัน

แน่นอน เราสะดวกสบายขึ้น แต่ในเวลาเดียวกัน ระบบนี้ก็อยู่ใกล้หายนะมากขึ้นทุกทีเช่นกัน

ไพรัตน์ พงศ์พานิชย์

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image