ความปลอดภัยที่จ่ายด้วยความเป็นส่วนตัว โดย กล้า สมุทวณิช

ข่าวต่างประเทศฮาๆ พอได้ยิ้มๆ หรืออาจจะถือเป็นข่าวสยองขวัญและบทเรียนสำหรับ “พ่อบ้านใจกล้า” บางราย เมื่อนักธุรกิจชาวฝรั่งเศสรายหนึ่งฟ้องเรียกค่าเสียหายจากบริษัท Uber เป็นเงิน 45 ล้านยูโร หลังจากที่ภรรยาของเขาฟ้องหย่า เนื่องจากจับได้ว่าเดินทางไปหาชู้รัก ด้วยข้อมูลการเดินทางที่ส่งมาจากระบบนั้น

เหตุที่ถูกจับได้ก็เพราะว่า เขาเคยใช้ลงชื่อเข้าใช้แอพพลิเคชั่นนี้บนสมาร์ทโฟนของภรรยาแล้วครั้งหนึ่ง ซึ่งแม้จะกดออกจากระบบแล้วหลังจากเลิกใช้ แต่ด้วยข้อผิดพลาดหรือบั๊กของระบบ ทำให้มีการส่งข้อมูลกลับไปยังเครื่องของภรรยาอยู่ว่า เขาเรียกรถจากไหนไปไหน เป็นเหตุให้ภรรยาสามารถจับได้ว่าเขาเรียกรถออกไปนอกลู่นอกทาง และนำไปสู่การฟ้องหย่าในที่สุด

ระบบการบ่งบอกพิกัดสถานที่อยู่ด้วย GPS นั้นมีประโยชน์มากมาย จากวัตถุประสงค์แรกสุดของมันคือเป็นระบบแผนที่นำทาง ประยุกต์มาเป็นบริการเรียกรถรับจ้างแบบไม่ต้องต่อรองหรือบอกที่รับจุดหมายกันให้ยุ่งยาก ก็ยังมีประโยชน์เพิ่มเติมในแง่ของความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินอีกด้วย เช่นการตามหาโทรศัพท์ที่ถูกลักขโมยไป หรือสำหรับผู้ปกครองของเด็กเล็กๆ ก็มีอุปกรณ์ประเภทนาฬิกาอัจฉริยะสำหรับเด็กที่มีทั้งระบบโทรศัพท์และ GPS ให้ผู้ปกครองสามารถรู้ว่าลูกหลานของตัวเองอยู่ที่ไหน ป้องกันทั้งปัญหาการพลัดหลงหรือแม้แต่การลักพาตัวเด็ก รวมถึงนำไปใช้ในการควบคุมความเร็วและเส้นทางของรถรับจ้าง เช่นรถประจำทางหรือรถตู้ซึ่งเป็นประโยชน์ในเรื่องความปลอดภัยสาธารณะด้วย

แต่ในอีกแง่หนึ่ง มันก็แลกมาด้วยความเป็นส่วนตัว อย่างในข่าวที่เล่าไปข้างต้น ซึ่งแม้ฟังไม่ค่อยจะขึ้นเพราะเป็นการใช้ความเป็นส่วนตัวแบบผิดศีลธรรมก็เถิด แต่หากเราวางๆ เรื่องชายเจ้าชู้ที่ถูกเมียจับได้เพราะเทคโนโลยีนี้ลงไป ก็อาจจะเห็นภาพใหญ่ขึ้นว่าด้วยเทคโนโลยีนี้ การเดินทางและสถานที่อยู่ของเราอาจถูกจับตาโดยใครก็ได้ รวมถึงบริษัทผู้ให้บริการอันสะดวกสบายแก่เราด้วย โดยบางระบบตั้งค่าบังคับไว้ในแอพพลิเคชั่นให้รายงานพิกัดที่อยู่ของผู้ใช้งานกลับไปยังระบบเสมอ โดยอ้างว่าเพื่อพัฒนาบริการ ซึ่งนั่นคือข้อมูลที่ทำให้เขารู้ว่าบ้านเราอยู่ไหน ไปทำงานที่ไหน วันไหนจะไปแวะที่ใดในเวลาเท่าไร ใช้เวลาอยู่ที่นั้นๆ นานแค่ไหน

Advertisement

ลองนึกภาพตามแล้วก็น่าสยองดี และนี่คือราคาที่เราจ่ายสำหรับความสะดวกสบายและความปลอดภัย

ประเด็นเรื่องประโยชน์ของเทคโนโลยีกับความเป็นส่วนตัวนี้ เชื่อมโยงถึงกระแสการแห่ไปติดกล้องติดหน้ารถยนต์ที่ล้นหลามขึ้นมา จนกระทั่งถึงกับมีบางฝ่ายออกมาเรียกร้องให้กล้องติดหน้ารถนั้นต้องเป็นอุปกรณ์มาตรฐานที่มาพร้อมกับรถยนต์ทุกคันที่ออกวางจำหน่าย หรือรถคันไหนที่ยังไม่มีก็อาจจะมีมาตรการของรัฐทั้งแบบจูงใจหรือบังคับให้ไปติดเสีย เพื่อประโยชน์ในแง่ของความปลอดภัยทั้งของตัวเองและส่วนรวม

จากข่าวที่ปรากฏออกมาหลายข่าวในช่วงเวลานี้ นับตั้งแต่เรื่องวิศวกรกับวัยรุ่นแล้ว ก็ยังมีข่าวเรื่องมิจฉาชีพขับรถไปเบียดเหยื่อเพื่อกรรโชกทรัพย์เรียกค่าเสียหาย หรือจงใจวิ่งเข้าให้รถชนเพื่อเรียกร้องเงิน ซึ่งทั้งสองเรื่องนี้ความจริงได้คลี่คลายจากกล้องติดหน้ารถ โดยในกรณีแรกเป็นกล้องของรถที่ขับติดตามมา ส่วนกรณีหลังนั้นเป็นกล้องของรถคันที่ไปชนเอง ทั้งสองกรณีนี้ รวมถึงข่าวร้อนข่าวร้ายบนท้องถนนอีกหลายเรื่องในอดีตที่ผ่านมา

Advertisement

ทั้งอุบัติเหตุร้ายแรงสะเทือนขวัญ ไปจนถึงการขับรถแบบเกเร ที่ภาษากฎหมายจราจรทางบกเรียกว่า “ขับขี่รถโดยไม่คำนึงถึงความปลอดภัยหรือความเดือดร้อนของผู้อื่น” ล้วนได้รับการคลี่คลายโดยมีประจักษ์พยานแบบชัดเจนไม่ต้องสืบมากมาย นับแต่ที่เทคโนโลยีของกล้องติดหน้ารถนี้เริ่มได้รับความนิยม

เช่นนี้ข้อเสนอที่ให้รถทุกคันต้องติดตั้งกล้องติดหน้ารถไว้เป็นอุปกรณ์ภาคบังคับนั้นก็ฟังดูมีน้ำหนักมาก ด้วยประโยชน์สำคัญอันได้แก่ความปลอดภัยของส่วนรวมด้วย ไม่ใช่เฉพาะแต่สำหรับผู้ขับขี่เจ้าของกล้องเท่านั้น

เพราะประโยชน์อีกประการของการที่รถทุกคันจะสามารถบันทึกภาพเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นไว้ได้นั้น จะสามารถนำมาใช้ต่างประจักษ์พยานในทางคดีแล้ว การติดกล้องหน้ารถยังมีประโยชน์ในเชิงป้องกันการเกิดเรื่องแต่เบื้องต้นได้ด้วย นั่นเป็นเพราะหลักจิตวิทยาที่ตรงไปตรงมาว่า หากทุกคนรู้อยู่แก่ใจว่า ทุกการกระทำที่เกิดขึ้นเบื้องหน้ารถยนต์คันใดคันหนึ่งบนท้องถนน จะถูกมองเห็นและบันทึกภาพไว้ ด้วยดวงตาแห่งเทคโนโลยีที่จะมีมากเสียยิ่งกว่ากล้องวงจรปิดของบ้านเมืองเสียอีก เช่นนี้แล้วก็น่าจะทำให้คนไม่กล้าที่จะทำความผิด หรืออาจจะทำให้ขับรถกันเรียบร้อย รักษากฎจราจรกันมากขึ้น

อย่างไรก็ตาม “ราคา” ที่เราอาจจะต้องร่วมกันจ่ายนั้น ก็มาจากเหตุอย่างเดียวกันกับที่เป็นประโยชน์นั่นเองแหละว่า เมื่อมี “ตา” ทั้งหลายอยู่ในรถทุกคัน รวมถึงในรถของเราเองซึ่งมีทั้งตาทั้งหู คือระบบบันทึกเสียงด้วยแล้ว เช่นนี้ความเป็นส่วนตัวของเราก็จะต้องได้รับความกระทบกระเทือนไปบ้างไม่มากก็น้อย

เริ่มจากเมื่อเราเข้าไปนั่งในรถยนต์และเคลื่อนขับออกไป นอกจากภาพจากกระจกหน้าที่ได้รับการบันทึกไว้แล้ว “เสียง” ในห้องโดยสารก็จะเป็นอีกสิ่งที่จะได้รับการบันทึกไว้ด้วย ดังนี้เสียงเพลงที่เราเปิดในรถก็ดี เสียงพูดคุยกันก็ตาม ทั้งบางคนติดนิสัยชอบร้องเพลงในรถ หรือบางคนก็ชอบพูดคนเดียว เสียงต่างๆ ที่กล่าวไปนี้วันดีคืนดีอาจจะมี “คนอื่น” มาร่วมรับฟังด้วย หากบังเอิญว่าหลังจากนั้นภาพและเสียงในกล้องนั้นจำเป็นจำต้องมาใช้เป็นหลักฐานในทางคดี

และเรื่องมันอาจจะบานปลายไปอีก หาก “เสียง” ในรถนั้นเป็นเรื่องที่สุ่มเสี่ยงที่จะผิดกฎหมาย หรืออาจจะเกิดความเสียหายหากได้รับการเปิดเผยออกไป เช่นอาจจะคุยกันเรื่องความลับทางธุรกิจการค้า ไม่ก็พูดคุยนินทาใครสักคนซึ่งข้อความที่พูดคุยกันในที่ส่วนตัวนั้นอาจจะเป็นเรื่องหมิ่นประมาทบุคคลที่สาม หรือเรื่องต้องห้ามพูดที่มีอยู่มากมายในประเทศนี้ บางกรณีอาจจะไม่ต้องเป็นเรื่องใหญ่เรื่องโตอะไรมากมาย ด้วยในรถยนต์ที่เป็นที่รโหฐานนั้นเราก็อาจจะอยากพูดคุยเรื่องหยาบคายทะเล้นทะลึ่ง หรือเรื่องส่วนตัวมากๆ เช่นปรึกษากับเพื่อนหรือคนรักเรื่องท้องผูกหรือเป็นริดสีดวงทวารบ้าง … อ้าว โครม ข้างหน้ามีรถชนกัน คราวนี้เรื่องอันแสนส่วนตัวนั้น อย่างน้อยก็จะมีเจ้าหน้าที่ตำรวจผู้รับผิดชอบคดีนั้นได้รู้ได้ฟัง
และถ้าโชคร้ายเหตุที่กล้องของรถเราคันเดียวเท่านั้นที่บันทึกไว้ได้กลายเป็นเรื่องสะเทือนขวัญระดับประเทศ เช่นไฮโซสักคนขับซุปเปอร์คาร์ด้วยความเร็วเกินสองร้อยพุ่งเข้าชนรถชาวบ้านตายยกครัว… คราวนี้นอกจากคนไทยทั้งชาติจะได้รู้ว่าไฮโซและซุปเปอร์คาร์คันนั้นขับรถเลวร้ายไม่แยแสต่อเพื่อนร่วมทางอย่างไรแล้ว ก็ได้รู้ด้วยว่าเจ้าของรถผู้เห็นเหตุการณ์เป็นประจักษ์พยานสำคัญนั้นเป็นริดสีดวงทวารระยะที่นัดหมอผ่าตัดไว้แล้ว

ฟังแล้วน่าสยองดีไหม

รวมถึงปัญหาอีกหลายเรื่องที่อาจจะเกิดขึ้นหากรถทุกคันมีกล้องติดหน้ารถกันจริงๆ ซึ่งเป็นปัญหาเดียวกันกับที่เคยเกิดกับ “มนุษย์กล้อง” บนโทรศัพท์สมาร์ทโฟนซึ่งเรามีบทเรียนกันมาแล้ว

เมื่อรถทุกคันมีกล้องที่บันทึกภาพทุกอย่างบนท้องถนนไว้ได้ และทุกคนต่างก็เป็นทั้งผู้รับสารและสื่อไปพร้อมๆ กันบนโซเชียลเน็ตเวิร์ก ด้วยเทคโนโลยีทั้งสองนี้ ผสมกับนิสัยพื้นฐานของมนุษย์บางคนที่ชอบเพ่งโทษผู้อื่น และนำมาโพนทะนาประจานกล่าว เราอาจจะได้เห็นการ “เสียบประจาน” ผู้ขับขี่รถรายอื่นๆ ที่เราไม่อาจรู้ได้เลยว่าสักวันจะตกเป็นเหยื่อมนุษย์กล้องหน้ารถหรือไม่

ซึ่งบางพฤติกรรมที่อาจถูกประจานได้นั้นบางกรณีเป็นเรื่องที่ผิดก็จริง แต่ไม่ได้ร้ายแรงหรือเป็นอันตรายต่อผู้อื่นเกินไปนัก เช่น ต้องมีสักครั้งที่เราอาจจะเผลอขับช้าในเลนขวาสุดบ้าง หรือเปลี่ยนช่องทางโดยลืมให้สัญญาณ ไม่ก็จอดรถผิดที่ผิดทาง ซึ่งเป็นเรื่องที่สามารถเกิดได้บ้างกับคนทั่วไป แต่ถ้าบังเอิญแล้วมันไปปรากฏในกล้องของนักเสียบประจานเข้าสักคนแล้ว เรา (หรือรถของเรา) ก็อาจจะเป็นที่รู้จักไปทั่วโลกโซเชียลได้เพียงเพราะพฤติกรรมการขับรถพร่องๆ พลาดๆ นิดเดียวเท่านั้น ซึ่งต่อให้เราขับรถไม่ดีหรือทำผิดกฎจราจรไปจริงๆ แต่ความพังพินาศจากการถูกประชาทัณฑ์ต่อความเป็นส่วนตัวนั้นก็ไม่ได้สัดส่วนกันเสียเลย

และอีกประเด็นที่ต้องตั้งข้อสังเกตไว้ไม่แพ้กัน ก็คือการที่มีภาพจากกล้อง ซึ่งเชื่อกันว่าเป็นความจริงอย่างไม่ต้องสืบ จริงแบบไม่ต้องเถียงนั้น ที่แท้แล้วมันคือความจริงเพียงช่วงเวลาเดียวเท่านั้น หากมันยังมีความจริงที่อยู่นอกคลิปนั้นอยู่อีก ซึ่งความจริงพวกนี้อาจจะถูกกลบหายไปหมดเมื่อเราเชื่อสิ่งที่ปรากฏในหน้าจอจนละเลยข้อเท็จจริงอื่นที่ไม่ได้ถูกบันทึกนั้น

ความพลิกผันของความจริงที่ “จริงเฉพาะช่วงเวลา” นี้อาจจะเอาบทเรียนจากกรณีของวิศวกรกับเด็กวัยรุ่นที่อ่างศิลามาพิจารณาก็ได้ ว่าตอนที่เราได้เห็นคลิปแรกๆ เฉพาะในตอนที่มีการกลุ้มรุมล้อมรถที่สามแยกอย่างศิลานั้น เรารู้สึกอย่างไร และเมื่อเราได้เห็นคลิปเหตุการณ์ก่อนหน้าที่เป็นที่มาของเรื่องพิพาทที่หน้าตลาดแล้ว ความรู้สึกของเราเป็นอย่างไร ลองคิดว่า หากเราตัดสินกันแค่เพราะภาพตอนใดตอนหนึ่งเท่านั้น “ธง” ของเรื่องจะออกมาผิดกันแค่ไหน

ทั้งหมดนี้คือสิ่งที่อยากตั้งข้อสังเกตไว้ ในกรณีที่หากจะมีการใช้มาตรการเชิงบังคับให้รถทุกคันมีกล้องติดหน้ารถจริงๆ ซึ่งถ้าเป็นเช่นนั้นก็จำเป็นต้องมีกลไกทางกฎหมายหรือกติกาเกี่ยวกับเรื่องของอำนาจในการเรียกดูว่าเจ้าหน้าที่ของรัฐจะเข้ามาใช้อำนาจขอเปิดภาพและเสียงจากกล้องติดหน้ารถของผู้คนได้ภายใต้เงื่อนไขใด และเมื่อได้ไปแล้วจะเผยแพร่ต่อสาธารณะได้หรือไม่ ถ้าได้ได้แค่ไหน มีกระบวนการป้องกันความลับหรือข้อมูลส่วนบุคคลของเจ้าของกล้องอย่างไร รวมไปถึงประเด็นในทางกฎหมายว่า การใช้ภาพหรือเสียงจากกล้องนั้นจะนำมาเป็นหลักฐานพยานเพื่อปรักปรำเป็นโทษแก่เจ้าของกล้อง ในเรื่องอื่นที่ไม่เกี่ยวกับเหตุการณ์ที่ขอเรียกใช้ข้อมูลจากกล้องนั้นได้หรือไม่

เป็นกติกาที่ต้องคุยกันให้ชัดเจน หากเราจะติดหูตาที่มีความทรงจำให้แก่รถยนต์ทุกคันจริงๆ เพื่อแลกกับ “ความปลอดภัยส่วนรวม” ที่แม้จะมีน้ำหนักกว่า ด้วย “ความเป็นส่วนตัว” ในราคาที่แพงมากเกินไป

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image