นักดนตรีวงออร์เคสตราเลือดใหม่ : โดย สุกรี เจริญสุข

นักดนตรีวงออร์เคสตราเลือดใหม่ : โดย สุกรี เจริญสุข
เด็กๆ ที่เรียนดนตรีในวงออร์เคสตราอายุน้อย (Little Orchestra)

นักดนตรีวงออร์เคสตราเลือดใหม่

วันเสาร์ที่ 20 และวันอาทิตย์ 21 กรกฎาคม พ.ศ.2567 ที่ผ่านมา วงเอื้อมอารีย์ออร์เคสตรา (Aum Aree String Orchestra) จัดแสดงเดี่ยว (Solo Nights) ที่ มูลนิธิอาจารย์สุกรี เจริญสุข แสดงโดยนักดนตรีเลือดใหม่ 18 คน มีไวโอลิน 12 คน วิโอลา 2 คน เชลโล 3 คน เบส 1 คน ทุกคนแสดงเดี่ยว 1 เพลง มี ดร.ธีรนัย จิระสิริกุล เป็นผู้ควบคุม เด็กๆ วงนี้ได้ไปแสดงในงานกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.แฟร์) ในวันพุธที่ 24 กรกฎาคม พ.ศ.2567 ที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ อีกด้วย

วงเอื้อมอารีย์ออร์เคสตรานักดนตรีเลือดใหม่ อายุ 12-18 ปี เด็กเรียนดนตรีตั้งแต่อายุน้อย (3-5 ขวบ) ดนตรีได้กลายเป็นหุ้นส่วนของชีวิต ได้รับการสนับสนุนจากพ่อแม่อย่างจริงจัง เด็กทุกคนได้เรียนเครื่องดนตรีเฉพาะตัว (ไวโอลิน วิโอลา เชลโล เบส) ทุกสัปดาห์ เรียนรวมวงวันเสาร์ 2 ชั่วโมง (17.00-19.00 น.) เป็นประจำ

ครูสอนดนตรีเป็นนักดนตรีอาชีพในวงไทยซิมโฟนีออร์เคสตรา เด็กยังสามารถเล่นร่วมกับครูในวงไทยซิมโฟนีออร์เคสตราได้ในฐานะนักดนตรีฝึกงาน เพื่อจะเตรียมตัวและพัฒนาเป็นนักดนตรีอาชีพในอนาคต เด็กได้ฝึกซ้อมเล่นดนตรีจนจำโน้ตได้ทั้งเพลง ไฟดับก็เล่นได้ แสดงดนตรีบนเวทีด้วยความจำอย่างมีความสุข

Advertisement

เด็กๆ เมื่อจะเข้าเรียนชั้นมัธยมศึกษาก็มีโรงเรียนมัธยมศึกษาที่มีชื่อเสียงรับเข้าเรียน ให้ทุนในฐานะเป็นนักดนตรีของโรงเรียน เด็กเลือกโรงเรียนได้ตามความต้องการ ที่สำคัญคือ นักดนตรีทั้ง 18 คน เป็นนักเดี่ยวเครื่องดนตรีได้ทุกคน ตัวอย่างเพลง 4 ฤดู (The Four Seasons) ผลงานของวิวาลดิ (Antonio Vivaldi) นักประพันธ์ชาวอิตาลี เด็กเล่นเพลงได้เหมือนกินขนม ซึ่งแตกต่างไปจาก 30 ปีที่แล้ว เพลงเดี่ยวของวิวาลดิยังเป็นเพลงที่ยากสำหรับเด็กไทยในสมัยนั้น แต่ในวันนี้เด็กๆ เล่นกันได้ทุกคน

Advertisement

การสร้างนักดนตรีรุ่นใหม่เป็นทั้งเรื่องที่ยากและเป็นเรื่องที่ง่าย ที่ว่ายากนั้นเพราะว่า “ภาพของอาชีพดนตรี” มีฐานะที่ไม่ดีและไม่น่าเชื่อถือในสังคมไทย เด็กที่เรียนดนตรีเพื่อเป็นนักดนตรีอาชีพนั้นไม่ค่อยมีอนาคตนัก เพราะไม่มีวงดนตรีอาชีพรองรับ อาชีพดนตรีเป็น “อาชีพรับจ้าง” นักดนตรีจึงไม่ค่อยมีเกียรติ เชื่อถือไม่ค่อยได้ ที่สำคัญก็คือเลี้ยงชีพได้ยาก

ถ้าหากว่าเป็นนักดนตรีที่มีฝีมือดีหน่อย ก็จะมีวงดนตรีชักชวนให้ไปเล่นในงานรับจ้าง “วงเทเลโฟนออร์เคสตรา” (Telephone Orchestra) โดยใช้วิธีโทรศัพท์ชักชวนนัดหมายกันไปเล่น ส่วนค่าตัวหรือค่าตอบแทนก็ขึ้นอยู่กับข้อตกลง ว่าจ้างกันเป็นครั้งๆ ไป “มีงานแสดงไม่แน่นอน”

รัฐมนตรีศุภมาส อิศรภักดี ประธานจัดงาน (อว.แฟร์) รับรูปที่ระลึกโดย ดร.สุชาติ วงษ์ทอง

เด็กๆ ที่มีฝีมือและมีฐานะดีก็มีทางให้เลือกเยอะกว่า เด็กเก่งดนตรีจำนวนหนึ่งเลือกที่จะไปเรียนอาชีพอื่นๆ เพื่ออนาคตที่มั่นคง หรือเมื่อรักดนตรีแล้วก็ตัดสินใจไปเรียนต่อที่ต่างประเทศ เพราะว่าในประเทศไทยไม่มีสถาบันดนตรีระดับสูงที่มี “คุณภาพอาชีพ” เมื่อเด็กเรียนดนตรีจบแล้วก็ไม่มีอาชีพรองรับ เพราะปรัชญาเป็นการ “สร้างคนให้ออกไปหางาน” ซึ่งเป็นเรื่องที่ล้าหลังตกยุค วันนี้อุดมศึกษาจะต้อง “สร้างคนออกไปสร้างงาน”

สำหรับเรื่องที่ว่าง่ายคือ เด็กเรียนดนตรีในยุคนี้มีความพร้อมสูง โดยเฉพาะเด็กเครื่องสาย ขับร้อง และเปียโน พ่อแม่มีลูกน้อย (1-2 คน) มีเวลาเอาใจใส่เลี้ยงดูลูกเป็นอย่างดี ส่งเสียให้ลูกเรียนดนตรีอย่างจริงจัง เด็กเริ่มเรียนดนตรีตั้งแต่อายุ 0-3 ขวบ พ่อแม่ลงทุนหาครูดนตรีที่ดีที่สุดให้ลูกได้เรียนและหาเครื่องดนตรีให้พร้อม พ่อแม่ทำหน้าที่เหมือนเป็นนักฟุตบอลอาชีพคือ “เลี้ยงลูก รับลูก และส่งลูก” พ่อหรือแม่ต้องดูแลลูกหนึ่งคน อีกคนหนึ่งก็จะทำมาหากินเลี้ยงครอบครัว เด็กๆ ที่เรียนดนตรีจึงมีความก้าวหน้าไปได้ไกล เมื่อจะเรียนต่อเป็นนักดนตรีอาชีพ ก็จะตัดสินใจไปศึกษาต่อในต่างประเทศได้โดยไม่ลังเลใจ

เด็กมีความพร้อมที่จะเลือกไปเรียนต่อที่ไหนก็ได้ เพราะว่า

1.พ่อแม่มีฐานะดีพอที่จะส่งลูกไปศึกษาต่อดนตรีในต่างประเทศได้

2.เด็กมีฝีมือดนตรีสูง พร้อมที่จะเข้าศึกษาต่อในระดับสูงที่สถาบันดนตรีชั้นนำได้

3.เด็กมีความสามารถในการใช้ภาษาอังกฤษสื่อสารได้เป็นอย่างดี เพราะพ่อแม่ได้เตรียมตัวให้ลูกได้เรียนภาษาไว้ก่อนแล้ว เป็นเด็กที่เรียนอยู่ในโรงเรียนนานาชาติหรือเรียนหลักสูตรภาษาอังกฤษ

4.เด็กมีความคล่องตัวในการสื่อสารผ่านเทคโนโลยีได้อย่างดี

5.เด็กมีประสบการณ์ผ่านเวทีแสดงดนตรีมามาก การเข้าค่ายดนตรี การฝึกซ้อมดนตรีกับเพื่อนที่เก่ง การได้แสดงร่วมกับครูและวงนานาชาติ มีครูดนตรีระดับสากลมาสอน เด็กมีประสบการณ์ดนตรีสูงจึงเป็นเรื่องที่ง่าย

เมื่อพ่อแม่ให้การสนับสนุนการเรียนดนตรีเต็มที่ ครอบครัวมีความพร้อมยอมรับให้ลูกเรียนดนตรี เรียนแล้วมีความสุขทั้งครอบครัว ลูกได้เรียนดนตรีคือสิ่งที่ลูกชอบ พ่อแม่ติดตามไปชมการแสดงของลูก ร่วมการเข้าค่ายดนตรี ตัดชุดเสื้อผ้าแต่งตัวให้ลูกสวยงามเพื่อการแสดงดนตรี เด็กๆ มีความเชื่อมั่น มีความเป็นผู้นำ เป็นตัวของตัวเอง กล้าตัดสินใจ เด็กช่วยตัวเองได้ สามารถแสดงเดี่ยวหน้าวงออร์เคสตราได้เป็นอย่างดี

ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ นำดนตรีไปแสดง ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์

การศึกษาดนตรีในสังคมไทยปัจจุบัน มีครูดนตรีที่เก่งอยู่ที่โรงเรียนเฉพาะทาง อยู่ในโรงเรียนเอกชน อยู่ในโรงเรียนนานาชาติ (220 โรงเรียน) ทุกคนให้การสนับสนุนวิชาดนตรี ใช้ดนตรีสร้างชื่อเสียงให้โรงเรียน ทั้งๆ ที่ดนตรีเป็นวิชาที่ต้องลงทุนสูง ราคาเครื่องดนตรีแพง ค่าจ้างครูดนตรีก็แพง วงดนตรีใช้เครื่องดนตรีอย่างดี ห้องซ้อมดนตรีเก็บเสียงดีพร้อม ซึ่งการเรียนดนตรีแพงกว่าการจัดการศึกษาวิชาอื่นๆ ในโรงเรียนเอกชนและโรงเรียนนานาชาติ จึงเป็นที่รวมนักดนตรีเยาวชนคนเก่งในปัจจุบัน

ผู้ชมเป็นพ่อแม่ผู้ปกครองเด็กซึ่งก็เต็มห้องแล้ว ทุกคนมีความตั้งใจสูง ต่างชื่นชมในความสามารถของลูกๆ ผู้ชมรู้จักเพลงอย่างดีเพราะฟังจนชิน มีเสียงปรบมือ มีช่อดอกไม้ มีคำชื่นชมให้เด็ก ทำให้นักดนตรีหัวใจพองโต การเรียนดนตรีและเล่นดนตรีเป็นความสุข เป็นการพัฒนาศักยภาพความเป็นเลิศของฝีมือเด็ก เพื่อความเบิกบานใจของทุกคน เพื่อความไพเราะสวยงาม เมื่อมีวัตถุประสงค์การเรียนดนตรีชัดเจน ทำให้ศักยภาพความเป็นเลิศทางดนตรีของเด็กพัฒนาเจริญเติบโตรวดเร็ว ทุกคนถ่ายทอดการแสดงส่งให้ต่อๆ กัน

แต่ก่อน ดนตรีเป็นวิชาของคนจน เล่นดนตรีเพราะไม่มีจะกิน คนจนไม่มีปัญญาซื้อเครื่องดนตรีแพงๆ ไม่มีเงินจ่ายค่าเล่าเรียนดนตรี ไม่มีเงินจ่ายค่าจ้างครู เด็กที่เรียนดนตรีสอบเข้าอะไรก็ไม่ได้ รู้หนังสือน้อย ทั้งโง่และจนจึงเล่นดนตรีเลี้ยงชีพ ดนตรีกลายเป็นวิชาของขอทาน เป็นวิชาข้างถนนเต้นกินรำกิน ดนตรีเป็นวิชาชั้นต่ำ ซึ่งผู้ปกครองรังเกียจไม่อยากให้ลูกเรียนดนตรี ยังปรากฏอยู่กับดนตรีไทย ดนตรีพื้นบ้าน ดนตรีชาติพันธุ์ แม้ดนตรีจะมีความไพเราะเหมือนกัน แต่การประกอบอาชีพที่แตกต่างกัน ดนตรีจึงมีความเหลื่อมล้ำและไม่เท่าเทียมกัน

วันนี้เด็กที่เรียนดนตรีเปลี่ยนไป ดนตรีสากลเป็นวิชาที่ต้องลงทุนสูง ต้องใช้เงินในการเรียนดนตรี เพราะมีราคาแพงสำหรับครอบครัวที่มีรายได้น้อย ดนตรีกลายเป็นวิชาที่เหลื่อมล้ำของสังคมด้วย ครอบครัวที่มีรายได้น้อยก็ต้องใช้ฝีมือและความสามารถเท่านั้น ต้องมีความพยายามสูง ต้องต่อสู้ด้วยความรักที่จะเรียนดนตรี ต้องพัฒนาฝีมือให้เก่ง ความสามารถทางดนตรีจะทำให้เด็กฝ่าฟันอุปสรรคไปได้ เด็กที่ต่อสู้สามารถจะก้าวข้ามไปสู่ความสำเร็จได้ ก็ต้องใช้ฝีมือเท่านั้น ซึ่งเด็กที่เรียนดนตรีจะต้องมีเป้าหมายของชีวิตที่ชัดเจน

ระดับอุดมศึกษาไทยมีเด็กเรียนดนตรีคลาสสิกน้อยลง เพราะว่าคุณภาพของอุดมศึกษาไทยอ่อนแอ ไม่สามารถสร้างฝีมือดนตรีได้ ไม่สามารถสร้างอาชีพดนตรีคลาสสิกได้ เด็กที่เก่งดนตรีจึงเลือกเรียนอาชีพอื่น และเด็กที่เก่งอีกจำนวนหนึ่งก็เลือกไปเรียนต่อในต่างประเทศ

นักศึกษาดนตรีในระดับอุดมศึกษาไทย ส่วนใหญ่เรียนดนตรีสมัยนิยมเพราะใช้ฝีมือน้อย สอบเข้าเรียนได้ง่าย “จ่ายครบจบแน่” จบแล้วออกไปเป็นนักร้องนักดนตรีอยู่ตามร้านอาหาร เป็นนักแสดง เข้าเส้นทางนักจัดรายการ นักประชาสัมพันธ์ นักการตลาด โดยอาศัยดนตรีเป็นอาชีพเสริม หรือเป็นใบเบิกทาง ทำงานกับบริษัทจัดงาน (Agency) หรือตกงาน ซึ่งไม่ได้ทำให้อาชีพดนตรีมีคุณภาพที่ดีขึ้น แต่อาจจะมีกิจกรรมดนตรีมากขึ้น

พ่อแม่ผู้ปกครองเป็นผู้ชมที่ดีที่สุดของวงดนตรีเด็กๆ

อาชีพดนตรีที่ใช้ฝีมือสูง มีฐานะและมีเกียรติเชื่อถือได้ ยังต้องสร้างและต้องใช้เวลา อาจต้องรอไปอีกหลายช่วงอายุ นักดนตรีอาชีพคนไทยที่อยู่ในต่างประเทศก็ยังไม่สามารถกลับมาทำงานที่บ้านในเมืองไทยได้ เพราะว่าที่เมืองไทยยังไม่มีงาน “อาชีพดนตรี” รองรับ

ความสามารถของนักดนตรีวงออร์เคสตราเลือดใหม่ ได้เปลี่ยนวิถีชีวิตทั้งกายภาพและจิตวิญญาณไปแล้ว เด็กรุ่นนี้ไม่ได้กินข้าวแกง มีคุณภาพชีวิตและความรู้สึกนึกคิดใหม่ โดยก้าวข้ามเชื้อชาติวัฒนธรรมดั้งเดิมที่มีความเหลื่อมล้ำ ใช้ความสามารถและวิถีชีวิตที่เป็นสากล ดนตรีมีเสียงใสเพราะใจสะอาด ดนตรีสามารถสร้างพื้นฐานชีวิตเด็กให้เป็นคนดี มีความรับผิดชอบ เป็นคนที่มีคุณภาพ สามารถประกอบอาชีพที่ไหนในโลกก็ได้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image