สืบบ้านเกิด ‘คางดำ’ ทำหมันทายาท เบรกวิกฤตเอเลี่ยนสปีชีส์ระบาด ‘ถึงเวลาตั้งกฎมากกว่าตามแก้’

 

ทําเอาคนแตกตื่น ไม่ต่างจากโควิดช่วงระบาดหมาดๆ

ไม่เฉพาะคนไทย เพื่อนบ้านก็ผวา

เมื่อ ปลาหมอคางดำ ที่ชาวบ้านกล่าวขานกันว่าเป็นเอเลี่ยนสปีชีส์ เป็นสิ่งมีชีวิตนำเข้าที่น่ากลัว เพราะระบาดไปทั่ว แพร่เผ่าพันธุ์ไปตามแหล่งน้ำธรรมชาติ ออกลูกคลอดหลานกันแบบดกๆ แต่น้อยคนจะรู้ว่ามันอยู่กับเรามานาน

Advertisement

“ระบาดมาตั้งแต่ช่วงปี 2558-2559 กระทั่งมีประกาศ กรมประมง ห้ามเพาะเลี้ยงหรือนำเข้า ตอนปี 2561”

รศ.ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์

รศ.ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ จากภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ รั้วจามจุรี คอนเฟิร์มว่าเรารับมือกับเจ้าตัวนี้มานานแล้ว ในมุมของนักสิ่งแวดล้อม ถกเถียงกันมาเป็น 20 ปี

Advertisement

แล้วทำไมผู้คนถึงเพิ่งมาตื่นตระหนกตอนนี้ อันตรายสักแค่ไหนกันเชียว พอจะมีวิธีกำจัดให้เกลี้ยงไหม? เวที “ระดมคิด พลิกวิกฤตคางดำ” #ปลาหมอคางดำ มีคำตอบ

เมื่อไม่นานมานี้ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยรับบทคนกลาง ดึงผู้เชี่ยวชาญจากหลายศาสตร์ร่วมล้อมวงเสวนา Chula the Impact ครั้งที่ 24 “ระดมคิด พลิกวิกฤตคางดำ” ทั้งปรมาจารย์ด้านประมง พันธุกรรม ทรัพยากรทางน้ำจากหลากรั้วสถาบัน เสริมด้วยแง่มุมฝั่งวิศวกร รื้อหาโซลูชั่น ค้นวิทยาการในการจัดการให้สิ้นซาก ท่ามกลางนักวิชาการ ประชาชน เข้าร่วมรับฟังเนืองแน่นเรือนจุฬานฤมิต

ในสายตาของ ศ.ดร.วิเลิศ ภูริวัชร รักษาการอธิการบดีจุฬาฯเรียกสิ่งนี้ว่าคือ ‘วิกฤต’ เพราะเชื่อว่าจะส่งผลกระทบกับเศรษฐกิจ ไม่แพ้ระบบนิเวศในประเทศ

(จากซ้าย) ศ.ดร.สุชนา ชวนิชย์, ผศ.ดุสิต สุขสวัสดิ์, ผศ.ดร.อนงค์ภัทร สุทธางคกูล, คงภพ อำพลศักดิ์ และ ดร.วีระพงษ์ ประสงค์จีน

แค่ข่าวลือ
ผสมพันธุ์เป็น ‘ปลานิลคางดำ’

ไม่หยุดอยู่แค่โซน 3 สมุทร คูคลองภาคตะวันออก ล่าสุด รศ.ดร.เจษฎา บอกว่า ลามไปถึงจันทบุรีและภาคอื่นๆ แล้ว

“ไปถึงกัมพูชาแน่นอน ทางใต้ลงไปถึงสงขลา ปากพนังเรียบร้อย ถ้าไม่ทำอะไรไปมาเลเซียแน่ๆ”

ท่ามกลางความพยายามเพื่อหยุดการระบาด สารพัดข่าวปลอมเป็นอุปสรรค ที่ทำเอาคนแตกตื่น บ้างก็มองว่าเป็น ‘ปลาซอมบี้’ ฟื้นได้ฆ่าไม่ตาย ตากแดดไว้ 2 เดือนก็ฟักใหม่ นกกินแล้วถ่ายก็ไปโตที่อื่นได้ กระทั่งบินจากกานา มาไทยก็มี

สรุปแล้วเป็นปลาแบบใด? นักวิชาการด้านชีววิทยาอธิบายว่า ที่เรียกปลาหมอคางดำ (Blackchin tilapia) เพราะคางเข้ม กรอบหน้าชัด มักเจอขนาด 5-6 นิ้ว แต่โดยเฉลี่ยไซซ์ประมาณ 8 นิ้ว ถ้าอยู่ดีกินดีหน่อยโตถึง 11 นิ้วก็มี

“ที่หนักคือตอนนี้คนคิดเรื่อง ‘การกลายพันธุ์’ ไปผสมพันธุ์กันจนกลายเป็น ปลานิลคางดำ”

รศ.ดร.เจษฎาคอนเฟิร์มว่าที่ลือกันนั้น ‘ไม่จริง’ แค่ตัวอ้วน ผสมกันได้ยากมากเพราะคนละ ‘จีนัส’ เป็นคนละชนิดกันกับปลาหมอเทศและปลานิล แต่กินได้หมด

ส่วนประเด็นที่ชวนสับสนว่า ไม่เหมาะเป็นอาหารมนุษย์ ความจริงแล้วกินได้เหมือนปลาทั่วไป แค่เนื้อน้อย ก้างเยอะ ลำไส้ยาว เหมาะเอาไปทำปลาป่น หรือจับมาทำเป็น ‘น้ำปลา’ ให้จบๆ

สรุปภาพรวมแล้ว ‘คางดำ’ กินได้ อย่าแตกตื่นกับข่าวลือมากเกินไป

ใครนำเข้ามา?
แนะเทียบชาติอื่น สืบต้นทาง

แม้ DNA จะเหมือนกันหมด แต่ยังฟันธงไม่ได้ว่ามาจากบริษัทเอกชนรายหนึ่งจริง จนกว่าจะมี ‘ตัวอย่างลูกปลา’ ที่อดีตเคยนำเข้า มาวิเคราะห์เทียบ

รศ.ดร.เจษฎาแนะให้เอา DNA ของคางดำในไทยมาเทียบกับแถบทวีปแอฟริกา น่าจะเข้าใกล้คำตอบมากขึ้นว่ามาจากไหนกันแน่

“ในเชิงวิทยาศาสตร์ การระดมเทคโนโลยีช่วยตอบคำถามเรื่องพวกนี้ได้ ว่าตกลงแล้วมันเข้ามาเพราะบริษัทเดียว หรือจริงๆ แล้วเข้ามาหลายระลอก ทั้งจากมือมนุษย์ ตามธรรมชาติ”

สำหรับ รศ.ดร.เจษฎารู้ว่ามาจากฝั่งประเทศแอฟริกา แต่ไม่ใช่แค่กานาที่มี แนะให้ดึงฐานข้อมูลของต่างประเทศที่มีอยู่แล้วมาเทียบตัวอย่าง DNA ให้สิ้นสงสัย

มนุษย์อิมพอร์ต?
ถึงเวลาตั้งกฎคุมนำเข้า ‘พันธุ์ต่างถิ่น’

ผศ.ดร.วันศุกร์ เสนานาญ จากภาควิชาวาริชศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ ม.บูรพา หยิบข้อมูลที่บ่งชี้ว่า น่าจะนำเข้ามามากกว่า 1 ระลอก และคนละแหล่ง โดยผู้วิจัยสันนิษฐานว่า ‘คนน่าจะพาไป’ มากกว่าโดยธรรมชาติ เช่น เอาไปเป็นปลาเหยื่อ เพื่อเลี้ยงสัตว์น้ำของตัวเอง โดยไม่รู้ว่ามันอาจจะสร้างความเสียหาย

“ปลาชนิดนี้ ช่วงชีวิตในการขยายพันธุ์สั้นมาก ออกไข่ได้ทุก 20 วัน แต่ในการอนุบาลไข่ ตัวผู้จะเอาลูกมาเลี้ยงในปากเป็นร้อยฟอง ปลอดภัยมากตอนอยู่ในปากของพ่อ ก็เลยมีอัตรารอดสูง ต่างจากปลานิล หมอเทศ อมไข่เหมือนกันแต่เป็นคุณแม่”

นักวิชาการผู้เชี่ยวชาญด้านสัตว์น้ำเล่าถึงกระบวนการสืบเผ่าพันธุ์ ที่สำคัญปิ๊งรักไว ปฏิสนธิเก่งมาก

ใน จ.ชลบุรี พบตามคลองเทศบาล ในแหล่งน้ำคุณภาพย่ำแย่ที่สัตว์อื่นอยู่ไม่ได้แล้ว ที่น่ากังวลใจคือมันอยู่ติดกับทะเลและป่าชายเลน แล้วดัน ‘ทนความเค็ม’ คุมเกลือแร่ในตัวเองได้เก่งมาก ถ้าเทียบกับคน ก็เรียกว่าได้ว่ามีศักยภาพ

หันมาทาง ศ.ดร.สุชนา ชวนิชย์ ภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาฯ และรอง ผอ.สถาบันวิจัยทรัพยากรทางน้ำ (ARRI Chula) เสริมแนวทางว่า คางดำเป็น ‘ชนิดพันธุ์ต่างถิ่น’ ซึ่งหมายถึงพืชหรือสัตว์ที่ไม่เคยอยู่ในบ้านเรามาก่อน

ไม่ว่าจะถูกนำเข้าเพื่อปากท้อง เศรษฐกิจ ความสวยงาม จนอาจมองข้ามผลกระทบเชิงระบบนิเวศ หรือไม่ตั้งใจแต่มาเอง เช่น มาจากน้ำอับเฉาในเรือบรรทุกสินค้า ที่นำมาปล่อยทิ้งปลายทาง

อาจถึงเวลาแล้วที่ไทยควรจะกำหนดกฎเกณฑ์ เกี่ยวกับเรื่องการนำเข้าชนิดพันธุ์ต่างถิ่น มากกว่าตามแก้” ศ.ดร.สุชนาเน้นย้ำ

ปล่อย ‘นักล่า’ บุกทุกน่านน้ำ
ส่องแผนการ กรมประมง

วนไมค์มาถึงหน่วยงานหัวหอกหลัก คงภพ อำพลศักดิ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านพันธุกรรมสัตว์น้ำ กองวิจัยและพัฒนาพันธุกรรมสัตว์น้ำ กรมประมง ที่ออกตัวว่า มีหลายมาตรการควบคุม หนึ่งในนั้นคือ ชีววิธี (Biological control) ที่จะเน้นระยะกลางกับระยะยาว

มาตรการระยะกลาง คือ การปล่อยปลาผู้ล่าเข้าไป โดยในกรมประมง ก็มีการศึกษาอยู่ว่า จะปล่อยปลาชนิดไหนลงในแหล่งน้ำใด

“เรามีการศึกษาว่าใน ‘น้ำจืด’ จะมีการปล่อยปลากดเหลือง ปลากดแก้ว ปลากราย พวกนี้เป็นผู้ล่า ในส่วนของปากแม่น้ำหรือทะเล ปลานักล่าก็จะเป็น กะพงขาว ปลาดุกทะเล ใน ‘น้ำกร่อย’ ก็จะปล่อยพวก ปูทะเล ปูม้า โดยสัดส่วนจะปล่อยปลาผู้ล่าเข้าไปประมาณ 1 ต่อ 3 ของปลากินพืชทั่วไปในบริเวณนั้น”

“ผู้ล่าที่ปล่อยไป มันไม่ได้กินเฉพาะคางคำ เราจึงต้องควบคุมว่าจะปล่อยในปริมาณเท่าไหร่ ให้เหมาะสม ไม่ใช่ว่าปล่อยปลากะพงขาวสักล้านตัว มันจะไปกินตัวอื่นตามธรรมชาติด้วย” คงภพไกด์ทางล้างบางปลาหมอคางดำ

ปรับโครโมโซม ‘ปลาตัวกวน’
ส่งต่อยีน ‘หมัน’ เบรกสืบทายาท

แล้วตอนนี้คืบหน้าไปถึงไหน ?

ผู้เชี่ยวชาญด้านพันธุกรรมสัตว์น้ำกางแผนเล่ามาตรการ ตั้งแต่ช่วงแรกที่ระบาด ทางกรมใช้วิธีเก็บออกจากธรรมชาติ บ่อเลี้ยง คลอง ลำราง ให้ได้มากที่สุด เมื่อเบาบางลง จึงจะปล่อยปลาผู้ล่าเข้าไปช่วยควบคุมปริมาณประชากร ให้มันสมดุล

“กลไกการทำงาน คือ เราปล่อยตัวผู้ โครโมโซม 4n ลงไป เดือนแรกผสมได้คอกหนึ่ง เดือนต่อมาผสมอีกคอก จนถึงเดือนที่ 3 จะได้ปลามา 3 ชุด มันก็จะผสมพันธุ์กันไปตามธรรมชาติ

แต่พอเดือนที่ 4 ลูกที่ออกมาก็เริ่มจะมีขนาดใหญ่ เริ่มไปปะปนกับประชากรหมอคางคำ ซึ่งทางกรมประมง จะปล่อยปลาหมอคางดำ 4n เพศผู้ (โครโมโซม XXXY) ไปผสมกับตัวเมีย (โคโมโซม XX) มันจะได้ปลาเพศผู้ที่เป็น ‘หมัน’ XXY แต่ยังมีการผสมพันธุ์อยู่

ตัวนี้จะเป็นตัวไปกวนธรรมชาติ เพื่อที่จะผสมพันธุ์แล้วให้เป็นหมัน ลูกมันจะลดลง เป็นการควบคุมโดยธรรมชาติ” คงภพเล่าเป็นฉากๆ

จากนั้นทิ้งทวนว่า การปรับชุดโครโมโซมปลาชุดนี้ไม่ได้ทำให้เป็นสัตว์น้ำดัดแปลงพันธุกรรม GMOs แต่เป็นเพียงการจัดชุดโครโมโซมที่มากขึ้นเท่านั้น

เพื่อประโยชน์ในการควบคุม ทำให้ปลารุ่นต่อไปเป็นหมัน ไม่สามารถขยายเผ่าพันธุ์ได้อีก

หนุนไฟเขียว‘เรือชอร์ตปลา’เฉพาะจุดระบาด
ปลอดภัยกับคน ไม่ไว้หน้าคางดำ

แล้วเราจะหันมาพึ่งนวัตกรรมไฟฟ้าในวิกฤตปลาหมอคางดำครั้งนี้ได้ไหม?

ผศ.ดุสิต สุขสวัสดิ์ อาจารย์ประจำภาควิชาวิศกรรมไฟฟ้า จากรั้วสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าฯ ลาดกระบัง ย้อนเล่าประสบการณ์ ทำเรื่องไฟดูด-ไฟรั่ว มาตั้งแต่ปี 2554 ที่มีน้ำท่วมใหญ่ เนื่องด้วยตอนนั้นมีคนตายจากไฟชอร์ตมากถึง 180 คน ในเวลาแค่ 2 เดือน

“เราเห็นเรื่องการใช้ไฟฟ้าชอร์ตปลามาเยอะ จนกรมประมงห้ามว่าสิ่งนี้ผิดกฎหมาย เพราะชาวบ้านใช้ไฟบ้านความถี่ 50 Hz 220 โวลต์ ไปชอร์ตปลา แล้วตัวคนเสียชีวิตเอง”

เมื่อเกิดวิกฤตการณ์ปลาหมอคางดำระบาด จึงได้เสนอนวัตกรรม ‘เรือไฟฟ้าชอร์ตปลา’ ซึ่งโมเดลนี้มีการใช้งานที่อเมริกา เพื่อกำจัดปลาจีนระบาด ที่เขาจะเลี้ยงไว้เพื่อกินตะไคร่น้ำ แต่มันหลุดออกไปในคลอง กินลูกปลา ไข่ปลาจนหมด

“เขาก็ใช้เรือจ่ายไฟฟ้าที่เรียกว่า ฟาราเดย์เคจ (Faraday Cage) เหมือนกับ ‘กรงไฟฟ้า’ หลักการแบบสายล่อฟ้า ปลอดภัยไฟไม่ชอร์ตคนบนเรือ” ผศ.ดุสิตยกตัวอย่าง

ลงดีเทลด้วยว่า เครื่องมือลักษณะนี้ต้องสร้างให้ปล่อยกระแสไฟออกไปเป็นลูกๆ ไม่ต่อเนื่องเหมือนไฟบ้าน เพื่อความปลอดภัย

พร้อมปิดท้ายด้วยข้อเสนอที่หนักแน่น “การชอร์ตปลาเป็นเรื่องผิดกฎหมาย แต่ผมอยากให้กรมประมงอนุญาตใช้ได้ในพื้นที่ที่ปลาหมอคางดำระบาด หรือซื้ออุปกรณ์ชิ้นนี้ไปให้ชาวบ้านใช้ พอหมดการระบาด ก็ไปเก็บคืน”

“เราต้องควบคุม ตรวจสอบ และอบรม มันต้องเป็นกระบวนการ ไม่ใช่แค่บอกว่าเอาไฟไปชอร์ตปลาแล้วปลาตาย ผมว่ามันเป็นโอกาสดีที่แต่ละองค์กรต้องเรียนรู้ร่วมกัน เพราะนี่ไม่ใช่ปัญหาสุดท้ายที่เราต้องแก้”

อธิษฐาน จันทร์กลม
ภูษิต ภูมีคำ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image