ปฏิวัติการศึกษาเดนมาร์ก

ปฏิวัติการศึกษาเดนมาร์ก

ปฏิวัติการศึกษาเดนมาร์ก

วันนี้มาศึกษาดูการจัดการศึกษาและการเรียนรู้ที่ประเทศเดนมาร์ก กับท่านอาจารย์หมอวิจารณ์ พานิช และทีมครูรุ่งอรุณรุ่นใหม่ๆ สิ่งที่พวกเราประทับใจกันมาก ประการแรก พบว่าเดนมาร์กปฏิวัติการศึกษากันมานานเป็นศตวรรษแล้ว โดยปฏิวัติตั้งแต่เป้าหมายใหญ่ คือ “การพัฒนาคนสู่ความเป็น อารยวิถี” (well being) ให้เป็นหลักประกันการอยู่รอดอย่างมีเสถียรภาพและยั่งยืน รักษาความเป็นกลางของประเทศเล็กๆ ที่อยู่ท่ามกลางประเทศมหาอำนาจทั้งหลาย ทั้งใกล้และไกล

อาจารย์หมอตั้งข้อสังเกตว่า เขามองบริบทหรือระบบนิเวศของการจัดการศึกษากว้างขวางมาก ออกจากขอบเขตของโรงเรียน แต่ไปให้ไกลถึงการเรียนรู้รอบๆ ตัวในชีวิตประจำวันของคนทุกวัย และเป็นการมองเพื่ออนาคต

สิ่งที่เราเห็นเป็นผลพวงจากการมีวิสัยทัศน์และเป้าหมายที่ชัดเจนตั้งแต่จุดเริ่มเมื่อต้นศตวรรษที่ 19

Advertisement

แนวคิดเชิงเป้าหมายแรกคือ พลิกฟื้นคุณภาพชีวิตของประชาชนและความมั่นคง (เสถียรภาพ)ของสังคมเดนมาร์กหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นต้นมา เพื่อให้เกิดสังคมที่รับประกันว่าทุกคนต้องมีความสุขขั้นพื้นฐาน รักษาความเป็นกลางและสันติภาพในท่ามกลางการพัฒนาไปข้างหน้า เช่น การพึ่งพาตนเองในเรื่องพลังงานจากแสงแดดและลม การก้าวสู่ฐานการพัฒนาเศรษฐกิจสังคมด้วยดิจิทัลเทคโนโลยี และแน่นอน การจัดการศึกษา/การเรียนรู้อย่างกว้างขวางและลึกซึ้ง สู่ความเป็นอารยวิถี ซึ่งย้อนกลับมาเป็นหลักประกันความสำเร็จของเป้าหมายอื่นๆ ต่อไป

โดยการสร้างวัฒนธรรมการเรียนรู้ให้ครอบคลุมทุกหนแห่ง เพื่อเป็นสะพานสู่การสร้างความเข้าใจร่วม และตระหนักถึงหน้าที่ของตนเองที่มีต่อผู้อื่น เช่น เคารพซึ่งกันและกัน จนเกิดวัฒนธรรมของความไว้เนื้อเชื่อใจ (Trust) อยู่ในสายเลือด ไม่เลือกปฏิบัติ มีความสุขกับความพอเพียง โดยเผื่อแผ่ความเท่าเทียมอย่างทั่วถึง

Advertisement

เราจะไม่เห็นภาพของความเหลื่อมล้ำ เช่นระบบค่าตอบแทนในอาชีพต่างๆ จะไม่แตกต่างกันมาก ส่วนใหญ่จะมีรายได้ดีพอสมควร แต่ทุกคนต้องจ่ายภาษีในอัตราที่สูงมาก ขึ้นอยู่กับรายได้นั้นๆ เพื่อให้รัฐสามารถจัดสวัสดิการสังคมอย่างดีมีคุณภาพและประสิทธิภาพสูงทั่วถึงและเท่าเทียมกัน เช่นการรักษาพยาบาลและการศึกษา การให้พ่อแม่เลี้ยงดูทารกและเด็กเล็กอย่างเต็มที่

เราจะไม่เห็นคนอวดรวย อวดความมั่งมีและอภิสิทธิ์เหนือผู้อื่น ส่วนใหญ่ขี่จักรยานกันเป็นปกติ เดินเหินแข็งแรง ไม่ว่าคนแก่ หนุ่มสาว หรือเด็กๆ

จะเห็นการดูแลเด็กแบบให้ช่วยตนเอง เรียนรู้เผชิญความยากลำบาก ความไม่สำเร็จด้วยตนเอง แก้ปัญหาด้วยตนเอง โดยพ่อแม่ไม่โอ๋ แต่คอยดูอยู่ห่างๆ อย่างมั่นใจและไว้วางใจในตัวเด็ก

รูปแบบการจัดการศึกษาเรียนรู้แบบไม่มีหลักสูตร ที่นี่จึงมีหลากหลายมากๆ มีทั่วทุกหัวระแหงจริงๆ

ตั้งแต่ระดับเมือง เช่นการจัดพื้นที่เรียนรู้ระดับชุมชน (urban multiple functions play stations) กระจายทั่วทุกๆ ชุมชน เน้นห้องสมุดแบบเปิด (ขนาดใหญ่/เล็ก) +play stations ทั้งในและนอกอาคาร หลากหลายทางเลือก แบบ adventure ในธรรมชาติ สวนประเภทต่างๆ หรือจะเป็นแบบฝึกสมองประลองปัญญา+ การออกกำลังกาย เล่นเดี่ยว เล่นทั้งครอบครัว การจัดสร้างพิพิธภัณฑสถานเกิดขึ้นตั้งแต่ปี ค.ศ.1851 ถึงปัจจุบันยังคงเปิดทำการจัดแสดงรวบรวมผลงานการออกแบบผลิตภัณฑ์ต่างๆ ที่กลายเป็นสัญลักษณ์ของประเทศ

โบสถ์วิหาร คฤหาสน์ พระราชวัง สุสานต่างๆ ที่นำมาเปิดเป็นพิพิธภัณฑ์ การแสดงประวัติศาสตร์ของประเทศบ้าง วัฒนธรรมดั้งเดิมบ้าง โดยเน้นความสามารถในการออกแบบการนำเสนอทั้งเนื้อหา และสุนทรียภาพ ซึ่งแต่ละแห่งต้องลงทุนการดูแล บำรุงรักษาไม่ใช่น้อย เพื่อให้บริการต้อนรับประชาชนให้เข้าถึงได้ง่าย สนุกในการเรียนรู้ สะอาด ปลอดภัย (โดยเฉพาะห้องน้ำ มีบริการทั่วถึงและสะอาดทุกแห่ง)

ลองจินตนาการดูแล้วกันค่ะว่า สมาชิกครอบครัวทุกวัยไปเที่ยวไหนกัน ที่ไม่ใช่ศูนย์การค้าอย่างบ้านเรา

ส่วนสถานศึกษาก็เช่นกัน มีหลากหลายรูปแบบ ไม่เฉพาะแต่โรงเรียนของรัฐ ซึ่งมีอยู่ประมาณ 1,300-1,400 แห่ง ทั่วประเทศ (เมษายน 2024) ซึ่งเป็นส่วนใหญ่ของประเทศที่จัดการศึกษาภาคบังคับโดยผู้ปกครองไม่ต้องจ่ายอะไรเลย ฟรี 100% กับโรงเรียนเอกชนอีกจำนวนน้อย ซึ่งเราเน้นมาดูงานครั้งนี้ ก็มีหลากหลายรูปแบบเช่นกัน ที่น่าสนใจมากคือ International People’s College (IPC), Hellingor, 1861 มีนักศึกษาประมาณ 80 คน ที่นี่น่าประทับใจมากจริงๆ เพราะเขาสะท้อนความพยายามที่กล่าวข้างต้น หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 แบบตรงประเด็น นั่นก็คือ ภารกิจในการสร้างประชาชนคนรุ่นใหม่ของเดนมาร์ก ให้เป็นผู้นำสังคมที่ตระหนักถึง

การพัฒนาสังคมวัฒนธรรม ทัศนคติ วิธีคิด ที่ขอเรียกว่า อย่างอารยวิถี (Well Being) คืออยู่ร่วมกันอย่างกลมกลืนในความแตกต่างระหว่างชนชาติ (มีนักศึกษามาจาก 30 กว่าชาติทั่วโลก) ความเชื่อ วัฒนธรรม แม้แต่วัย

รับนักศึกษาอายุตั้งแต่ 17 ขึ้นไป ถึง 80 ยังมีมาเรียนผ่านหลักสูตร 1 ปี (2 เทอม) ก่อนเข้าสู่มหาวิทยาลัย หรือทำงาน โดยได้รับการรับรองคุณวุฒิการศึกษาอย่างเป็นทางการ มีอยู่ทั้งหมด 70 แห่งกระจายทั่วประเทศ แต่ละแห่งจะมีเอกลักษณ์หรือจุดเน้นเฉพาะที่แตกต่างกันออกไป แต่เน้นวิชาชีวิตเป็นหลัก

ที่สำคัญคือการรู้จักตนเอง เข้าถึงจิตใจที่เป็นกุศล วิธีการเรียนเน้นสุนทรียสนทนา (dialogue based learning) และการทำงานร่วมกัน (Collaborative learning) หน่วยงานการเรียนรู้ (Task based learning) ให้ผู้เรียนเลือกตามความถนัด

ดูจากอัธยาศัยและบุคลิกของครูใหญ่ (ซึ่งเพิ่งจะเกษียณอายุปีนี้) อบอุ่นและเป็นมิตร มีพลังสร้างแรงบันดาลใจได้อย่างง่ายๆ สถานที่ บรรยากาศก็ส่งเสริมกิจกรรมนั้นๆ น่ามาเรียนมากๆ

สถานศึกษาอื่นๆ อีก 3 แห่งที่ตอบรับเราในช่วงนี้ของการเปิดเทอมแรกของปี ได้แก่ International school of Hellerup, International school of Odense และ Viking International school at Rosekilde ทั้ง 3 แห่งเป็นโรงเรียนเอกชน ได้รับการสนับสนุนจากรัฐประมาณ 2 ใน 3 ของค่าใช้จ่ายรายหัวนักเรียน ที่เหลือผู้ปกครองเป็นผู้จ่ายเอง

แม้ว่าแต่ละโรงเรียนจะมีเอกลักษณ์เฉพาะตัวของตน แต่กลับพูดถึงเป้าหมายใหญ่เป็นเสียงเดียวกันตรงกันเป๊ะเป็นเอกภาพโดยมิได้นัดหมาย คือ อารยวิถี (Well Being) แม้จะเป็นโรงเรียนที่ก่อตั้งมานานเกือบร้อยปีหรือเพิ่งตั้งมาไม่นานเกิน 10 ปี ก็ตาม

แต่ละแห่ง ครูใหญ่หรือผู้บริหารจะมีบุคลิกที่คล้ายกันคือ มีแรงบันดาลใจ มีความเป็นผู้นำสูงในการสร้างการเรียนรู้ซึ่งใช้วิธีการแบบองค์รวม (Holistic Learning) การสร้างสมดุล หรือบูรณาการ ระหว่างการเรียนความรู้และการเรียนชีวิต วิธีการเรียนรู้ส่วนใหญ่เป็นการเรียนรู้ด้วยวิธีสืบเสาะ (Enquiry based learning) วิธีการเรียนบนการเล่น/เล่นเป็นเรียน (Play based learning) การเรียนบนสถานการณ์จริงนอกห้องเรียน ไม่เน้นการสอบแข่งขัน

2 ใน 3 โรงเรียนให้ความสำคัญกับสุนทรียภาพ พยายามสร้างสรรค์ให้ทุกตารางนิ้วในห้องเรียนและนอกห้องเรียนกลายเป็นพื้นที่แห่งการเรียนรู้อย่างสวยงามและสร้างจินตนาการให้เด็กๆ อย่างเต็มที่

และที่สำคัญเหนืออื่นใด ผู้บริหารทุกโรงเรียนลงมือทำการพัฒนาครูบนงานด้วยตนเอง คือทั้งวางระบบ และเป็นโค้ชเอง อย่างมืออาชีพทีเดียว เห็นแล้วจึงไม่น่าแปลกใจที่เขาสามารถรักษาคุณภาพการจัดการเรียนรู้ให้บรรลุเป้าหมายได้อย่างแท้จริง

ดูแล้วได้แต่รำพึงกันว่า โอ้ การศึกษาไทยในวันนี้ ช่างล้าหลังเสียจริงแล้ว ยากหนักหนาที่จะเปลี่ยน mindset ของผู้ดูแลรับผิดชอบการบริหารจัดการศึกษาให้ทันโลก และสร้างเป้าหมายหลักในการพัฒนาคนของชาติอย่างเป็นเอกภาพ และมีความต่อเนื่อง ปรับเปลี่ยนโครงสร้างการบริหารจัดการให้โรงเรียนมีความเป็นตัวของตัวเอง สามารถบริหารจัดการตนเองในทุกมิติ มีความเป็นโรงเรียนที่แท้จริง (autonomy) มีชีวิตชีวา พัฒนาตนเองอย่างยั่งยืน มิใช่ส่วนราชการที่รอรับคำสั่งอย่างไร้พลัง ดังที่เป็นมาเป็นอยู่ และจะเป็นอีกต่อไปไม่รู้จบ

รศ.ประภาภัทร นิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

    QR Code
    เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
    Line Image