จับสัญญาณสถานการณ์ “ธุรกิจเหล็กไทย” ท่ามกลางวิกฤตเศรษฐกิจโลกผันผวน สินค้าจีนทะลัก นับจากนี้จะไปต่อในทิศทางไหน จะ “หดตัว” หรือ “ฟื้นตัว”
มีการคาดการณ์จากธนาคารแลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ ธุรกิจเหล็กใน 1 ปีข้างหน้า มีแนวโน้มความต้องการใช้เหล็กจะปรับลดลงตามความต้องการของอุตสาหกรรมต่อเนื่อง มีปัจจัยกดดันจากการชะลอตัวของการลงทุนในโครงการขนาดใหญ่ของทั้งภาครัฐและเอกชน การลดลงของอุปสงค์รถยนต์ภายในประเทศและอุตสาหกรรมผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าที่เติบโตจำกัด
อีกทั้งธุรกิจยังมีความเสี่ยงจากราคาเหล็กที่มีแนวโน้มปรับลดลงอย่างมีนัยสำคัญและยังคงมีความผันผวน ในขณะที่ความต้องการใช้ในประเทศมีแนวโน้มชะลอจากภาวะเศรษฐกิจ และยังมีเหล็กจากจีนจำนวนไม่น้อยที่มีการระบายสต๊อกมาที่ไทย กดดันราคาเหล็กให้ปรับลดลง โดยพบว่าภาพรวมธุรกิจเหล็กในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2567 ปริมาณการบริโภคเหล็กของไทยปรับตัวลดลง สะท้อนจากความต้องการบริโภคเหล็กที่ปรับลดลง 5.4% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันกับปี 2566
“อิสระ บุญยัง” นายกกิตติมศักดิ์สมาคมธุรกิจบ้านจัดสรร สะท้อนสถานการณ์เหล็กและแนวโน้มต้นทุนการก่อสร้างที่อยู่อาศัยว่า ก่อนสถานการณ์โควิดในช่วงปี 2562 ระดับราคาผลิตภัณฑ์เหล็กที่ใช้ในการก่อสร้างอยู่ที่ 17,600-20,000 บาทต่อตัน และไตรมาส 2 ของปี 2563 ความต้องการใช้เหล็กเพื่อการก่อสร้างในตลาดโลกลดลง ทำให้ราคาเหล็กอ่อนตัวลงต่ำสุดที่ 14,400-14,700 บาทต่อตัน แต่ราคาเหล็กได้ปรับตัวสูงขึ้นและผันผวนในช่วงปี 2564 อยู่ที่ 24,400-26,100 บาทต่อตัน
เนื่องจากมาตรการด้านสิ่งแวดล้อม โดยรัฐบาลจีนได้สั่งปิดโรงงานที่ใช้เตาหลอมเหล็กแบบดั้งเดิม ซึ่งก่อมลภาวะและปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ในอัตราสูง ทำให้ปริมาณการผลิตของเหล็กลดลงถึง 20% จึงมีผลให้ช่วงไตรมาส 1 ของปี 2565 ราคาเหล็กปรับตัวสูงขึ้น และปรับตัวขึ้นสูงสุดในไตรมาสที่ 2 ของปี 2565 จากปัญหาสงครามรัสเซียกับยูเครน ส่งผลกระทบต่อราคาน้ำมันและถ่านหินที่เป็นต้นทุนสำคัญในการผลิตและแปรรูปเหล็ก จึงเห็นได้ว่าแม้ราคาผลิตภัณฑ์เหล็กในปี 2567 จะอ่อนตัวลง 9.2% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 2566 ก็ถือว่ายังคงอยู่ในระดับราคาสูงเมื่อเทียบกับราคาเหล็กในช่วงปี 2562
ขณะเดียวกันสำหรับหมวดวัสดุก่อสร้างอื่นๆ อาทิ ผลิตภัณฑ์จากไม้ก็ปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ช่วงปี 2564 เป็นต้นมา ผลิตภัณฑ์ซีเมนต์ ราคาปรับสูงขึ้นตั้งแต่ช่วงไตรมาส 1 ของปี 2565 และยังคงไม่มีแนวโน้มจะอ่อนตัวลง อุปกรณ์ไฟฟ้า ประปา มีลักษณะที่ค่อยๆ ปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง จะมีเฉพาะเครื่องสุขภัณฑ์ที่ราคาอ่อนตัวลงเล็กน้อย
ด้านภาพรวมของระดับราคาค่าก่อสร้างในช่วงปี 2567 และแนวโน้มปี 2568 พอจะประเมินได้ว่าหากไม่มีตัวแปรอื่นที่เข้ามากระทบ ราคาผลิตภัณฑ์เหล็กยังน่าจะอ่อนตัวลงได้ แต่อาจจะไม่มากนัก เนื่องจากต้นทุนราคาพลังงานที่ใช้ในการผลิตและแปรรูปเหล็ก ยังคงทรงตัวอยู่ในระดับราคาสูง สำหรับวัสดุก่อสร้างอื่นๆ ก็อ่อนตัวลงเพียงบางประเภทเท่านั้น ในขณะที่การก่อสร้างและการพัฒนาที่อยู่อาศัยยังคงมีปัจจัยอื่นๆ ที่เข้ามาเกี่ยวข้อง คือ ราคาพลังงาน แม้ว่ารัฐบาลจะมีมาตรการในการอุดหนุนราคาน้ำมันดีเซล โดยราคาน้ำมันดีเซล ในปี 2565 อยู่ที่ระดับราคา 34.94 บาทต่อลิตร ในปี 2566 อยู่ที่ระดับราคา 29.94 บาทต่อลิตร ปัจจุบันอยู่ที่ระดับราคา 32.94 บาทต่อลิตร
ซึ่งน้ำมันดีเซลเป็นต้นทุนการผลิตทางอ้อมที่ผ่านค่าขนส่งสำหรับการก่อสร้าง เพราะวัสดุก่อสร้างเกือบทุกชนิดมีน้ำหนักมาก รวมถึงตัวแปรสำคัญอีกประการหนึ่ง คือ ค่าแรงงานในการก่อสร้างซึ่งมีอัตราส่วน 25-35% ที่ได้มีการปรับตัวจากค่าแรงขั้นต่ำจาก 300 บาท เป็น 330 บาทในปัจจุบัน และมีแนวโน้มที่จะปรับตัวขึ้นไปถึง 400 บาทตามนโยบายของรัฐบาล
จึงเห็นได้ว่าแม้ราคาเหล็กจะอ่อนตัวลงในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา แต่วัสดุก่อสร้างในหมวดอื่นๆ ยังคงทรงตัวหรือค่อยๆ ปรับตัวสูงขึ้นกว่าช่วงสถานการณ์โควิด ประกอบกับนโยบายการปรับขึ้นค่าจ้างในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 2567 รวมถึงราคาพลังงาน ที่มีผลจากสถานการณ์สงคราม ประกอบกับยังคงมีค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานรวมถึงอัตราดอกเบี้ยที่ทรงตัวในอัตราสูง ก็ถือเป็นต้นทุนค่าก่อสร้างด้วยเช่นเดียวกัน แนวโน้มในปี 2568 จึงเป็นการยากที่ราคาค่าก่อสร้างที่อยู่อาศัยโดยรวมจะลดลง ขณะที่การปรับราคาที่อยู่อาศัยก็ทำได้ยาก
ด้าน “วรวุฒิ กาญจนกูล” ประธานบริหาร บริษัท ดับบลิวเฮ้าส์ จำกัด ผู้ดำเนินธุรกิจรับสร้างบ้าน กล่าวว่า ปัจจุบันธุรกิจเหล็กในวงการก่อสร้าง ด้วยภาวะเศรษฐกิจของตลาดโลกอยู่ในช่วงถดถอย ผู้ผลิตรายใหญ่ของจีนมีการผลิตเหล็กเส้นออกมามากในช่วงก่อนหน้านี้ ทำให้ซัพพลายล้นตลาด มีการนำเหล็กมาขายในเมืองไทยในราคาถูก ทำให้ธุรกิจเหล็กในประเทศ โดยเฉพาะเหล็กเส้นที่ใช้ในวงการก่อสร้างได้รับผลกระทบอย่างมาก มีผล
กระทบโรงงานผู้ผลิตเหล็กเส้นรายใหญ่เก่าแก่ปิดตัวลงในช่วงที่ผ่านมาและอาจจะมีอีกหลายโรงที่จะปิดตามกัน เนื่องจากเกิดภาวะขาดทุนและธนาคารไม่ปล่อยสินเชื่อเพิ่ม
สาเหตุที่ราคาเหล็กลดลงอย่างต่อเนื่อง นอกจากที่จีนผลิตออกมาจำนวนมากแล้ว วัตถุดิบในตลาดโลกยังลดต่ำลงเนื่องจากว่าวัตถุดิบถูกลง ด้วยสาเหตุเนื่องมาจากดีมานด์ในตลาดโลกลดลงทำให้ต้องมีการขายในราคาที่ถูก ดังนั้นบริษัทเหล็กในเมืองไทยก็เช่นเดียวกัน เมื่อผลิตเหล็กออกมาและมีสต๊อกแล้วก็ไม่สามารถขายได้ เพราะความต้องการเหล็กในประเทศน้อยลงมาก เลยต้องลดราคาเพื่อที่จะระบายสต๊อกออกมาทำให้เหล็กในช่วงนี้ราคาต่ำ ซึ่งสถานการณ์เหล็กในราคาถูกน่าจะมีต่อเนื่องไปถึงสิ้นปี 2567 และต้นปี 2568 คาดว่าราคาเหล็กจะมีการขยับตัวสูงขึ้น ในช่วงนี้ที่ราคาเหล็กต่ำ เพราะดีมานด์ความต้องการน้อยจากการก่อสร้างภาครัฐและภาคเอกชนโดยเฉพาะภาคธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ลดลงจากการเปิดโครงการใหม่ลดลงอย่างมาก
ขณะที่ภาครัฐงบประมาณออกล่าช้าและใช้เงินส่วนหนึ่งกันไว้สำหรับดิจิทัลวอลเล็ต จะทำให้เงินที่จะเอามาใช้ในการทำโครงการก่อสร้างต่างๆ อาจจะหายไป แต่อย่างไรก็ดีภาครัฐต้องมีการกระตุ้นเรื่องของการก่อสร้าง ซึ่งยังมีเมกะโปรเจ็กต์ต้องดำเนินการหรือเดินหน้าต่อ ทำให้เกิดความต้องการใช้เหล็กจะมากขึ้น และคิดว่าราคาเหล็กอาจจะกลับขึ้นมาสูงอยู่ในภาวะปกติหรืออาจจะสูงกว่าเดิม แต่สถานการณ์ตอนนี้สำหรับธุรกิจก่อสร้างโดยเฉพาะธุรกิจรับสร้างบ้านน่าจะได้อานิสงส์ในแง่ต้นทุนราคาเหล็กที่ถูกลงและไปช่วยชดเชยราคาวัสดุตัวอื่นที่เพิ่มขึ้นในช่วงที่ผ่านมา แต่ในปีหน้าต้องประเมินสถานการณ์อีกครั้ง