ทำไมปรับปรุงทางเท้า แล้วกลับทำให้คนเดิน เดินไม่ได้

ทำไมปรับปรุงทางเท้า แล้วกลับทำให้คนเดิน เดินไม่ได้

ในทางการแพทย์ปัจจุบัน การเดินถือว่าเป็นการออกกำลังกายที่ง่ายที่สุด ราคาถูกที่สุด สะดวกที่สุด ปลอดภัยที่สุด ทำให้สุขภาพดีได้ง่ายสุด  และเชื่อไหมครับว่าในต่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็นในยุโรป อเมริกา ออสเตรเลีย จีน ญี่ปุ่น สิงคโปร์ ฯลฯ ประชาชนของเขาสามารถใช้ทางเท้าในเมืองนี่แหละเป็นที่เดินออกกำลังได้ จึงนับว่าสะดวกและเป็นคุณต่อสังคมของเขาอย่างมาก

นอกจากนี้การเดินยังเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับชีวิตประจำวันของชาวบ้านทั่วไปในการที่จะเดินไปจับจ่ายใช้สอย ซื้อของในชุมชนหรือในตลาด ตลอดจนไปขึ้นรถเมล์  ไปต่อรถไฟฟ้า ไปทำงาน ไปโรงเรียน หรืออะไรอีกมากมาย

Advertisement

อย่างไรก็ตาม ทางเท้าส่วนใหญ่ในเขตเมืองในบ้านเรามักทำไว้ไม่ค่อยดีนัก ไม่ขนาดเล็กไป แคบไป ก็พื้นไม่สม่ำเสมอ  มีแผ่นกระเบื้องกระเดิดที่อาจทำให้สะดุดหกล้มหรือน้ำกระฉอกใส่เท้า รวมทั้งอาจมีหาบเร่แผงลอยวางตั้งอยู่บนทางเท้า รวมถึงมีผู้จับจ่ายใช้สอยยืนขวางทางด้วย จนแทบจะไม่มีที่ทางให้เดิน เมื่อเป็นเช่นนั้นผู้บริหารเมืองบางคน ยกตัวอย่างเช่นผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครคนปัจจุบัน จึงได้พยายามปรับปรุงทางเท้าให้ดีขึ้น โดยการรื้อถอนของเก่าออกและปูกระเบื้องใหม่ในหลายสายและหลายเขต

อย่างไรก็ตาม ในการทำเช่นนั้นเท่าที่พบเห็นกันอยู่ทั่วไป คือการณ์กลับกลายเป็นทำให้คนเดินเท้าบนทางเท้าเดิมนั้นกลับเดินไม่ได้ ไม่สะดวก หรือแม้กระทั่งต้องลงไปบนถนนซึ่งไม่ปลอดภัย ผมแนบรูปตัวอย่างปัญหาดังกล่าวมาให้ดู 2-3 ภาพ  (ขอขอบคุณเฟซฟุตบาทไทยสไตล์ ที่อนุญาตให้เผยแพร่รูปภาพพวกนี้ได้) เห็นได้ชัดเจนว่าเราไม่สามารถเดินบนทางเท้าที่กำลังอยู่ระหว่างการปรับปรุงนั้นได้เลย

Advertisement

ที่เป็นเช่นนี้เพราะผู้รับเหมาต้องการเร่งงานให้เสร็จโดยเร็ว จะได้ไม่ถูกปรับตามสัญญา  แต่หากมองในมุมของชาวบ้านที่เดือดร้อนอยู่ทุกวันก่อนที่งานจะแล้วเสร็จ ชาวบ้านจะมองว่าในการเร่งงานนั้นผู้รับเหมาจะทำเพียงเพื่อความสะดวกกับตัวเอง โดยไม่ให้ความสำคัญกับปัญหาความเดือดร้อนของชาวบ้านที่ต้องประสบในการเดินไปเดินมาทุกวันนั้น ไม่ได้

อุปสรรคหรือความย้อนแย้งที่ว่านั้นเกิดขึ้นเพราะข้อความในสัญญา ผมเข้าใจว่างานทางเท้าเป็นงานวิศวกรรมแบบหนึ่งที่ง่าย  ทว่ามันง่ายเกิน จนทำให้วิศวกรผู้ออกแบบหรือวิศวกรโครงการไม่ได้ให้ความสนใจกับรายละเอียดมากนัก ด้วยคิดว่ามันเป็นงานง่ายใครก็ทำได้ งบประมาณก็ไม่มาก  โดยลืมมิติทางสังคมจนทำให้เกิดความเดือดร้อนแก่ประชาชนดังที่ได้กล่าวมา

นี้แหละคือมูลเหตุของปัญหา  คือ  ปัญหามาจากการที่เจ้าหน้าที่ไม่ได้คิดถึงผลกระทบทางสังคมหรือ social impact  จึงมิได้กำหนดเป็นเงื่อนไขในสัญญาว่าในระหว่างที่ผู้รับเหมาดำเนินการปรับปรุงทางเท้านั้นผู้รับเหมาจะต้องทำให้ประชาชนยังสามารถเดินได้ ได้สะดวก และปลอดภัย  เช่น จะต้องแบ่งการปรับปรุงทางเท้าเป็นช่วงๆ ไม่เป็นระยะทางยาวเกิน  หรือเร่งงานตอนกลางคืนที่ไม่ค่อยมีใครลงมาเดินบนทางเท้า  หรือแม้กระทั่งประสานงานกับเจ้าหน้าที่รัฐให้สามารถเอากรวยจราจรวางตลอดแนวทางเท้าที่จะปรับปรุง บนเลนซ้ายสุดของถนน เพื่อให้คนเดินบนถนนได้ชั่วคราวอย่างปลอดภัย และอาจจะมีวิธีการอื่นๆอีกมากมายซึ่งวิศวกรของเมืองกับผู้รับเหมาต้องคุยแลกเปลี่ยนกันว่าทำเช่นไรจึงจะออกมาเป็นเงื่อนไขในสัญญาให้งานนี้สามารถทำได้ในทางปฏิบัติ โดยทำได้ทั้งรวดเร็วและคนก็ยังเดินได้สะดวก ปลอดภัยไปพร้อมกัน

เมื่อนำข้อความที่เป็นเงื่อนไขดังว่านี้ไปใส่ไว้ในเอกสารประกอบการประมูล เป็น terms of references (TOR) และในสัญญา  ผู้รับเหมาก็จะเอาค่าใช้จ่ายและเวลาดำเนินการที่เพิ่มขึ้นนี้ไว้ในราคาประมูล  ตลอดจนในช่วงการก่อสร้างผู้คุมงานก็จะมี TOR ดังกล่าวไว้สำหรับใช้ในการควบคุมงานให้เป็นไปตามสัญญาโดยไม่มีปัญหากับผู้รับเหมาในการตีความที่ต่างกัน

ทำได้ครับ ทำได้ไม่ยาก  ถ้าเจ้าหน้าที่และผู้บริหารเมืองเล็งเห็นถึงความเดือดร้อนของประชาชนจริงและต้องการแก้ไขปรับปรุง TOR และสัญญาจริง เรื่องแค่นี้เล็กน้อยมาก

 

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image