ลุยเก็บภาษีคาร์บอน รับเทรนด์เศรษฐกิจสีเขียว

นับเป็นอีกธุรกิจที่จะมีการขยายตัวมากขึ้น สำหรับโรงเรียนนานาชาติในไทย หลังมีการคาดการณ์กันว่ามูลค่าตลาดในปี 2567 แตะ 8.7 หมื่นล้านบาท และมีแนวโน้มถึง 1 แสนล้านบาท ในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า

ล่าสุด เริ่มมีผู้ประกอบการหลากธุรกิจขยายการลงทุนเข้าสู่ธุรกิจนี้มากขึ้น จากการที่ “ประเทศไทย” เผชิญภาวะจำนวนประชากรลดลง ขณะที่เด็กเกิดใหม่ก็น้อยลงเช่นกัน

โดยเฉพาะผู้ประกอบการธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ที่ก่อนหน้านี้เคยพัฒนาแต่โครงการที่อยู่อาศัยก็ต้องขยายธุรกิจหาน่านน้ำใหม่ ทั้งที่เกี่ยวข้องและไม่เกี่ยวข้องกับอสังหาริมทรัพย์ หลังแนวโน้มที่อยู่อาศัยมีความต้องการลดลง สะท้อนจากการซื้อขายหรือโอนกรรมสิทธิ์ที่อยู่อาศัยมือหนึ่งและมือสองลดลงมาโดยตลอด

รวมไปถึงกลุ่มธุรกิจ-นักธุรกิจที่อาจจะประสบความสำเร็จจากธุรกิจอย่างอื่นมาแล้ว ก็มีความสนใจลงทุนธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ โดยเฉพาะอาคารสำนักงาน โรงแรม รีสอร์ต รวมถึงโรงเรียนนานาชาติ

Advertisement

สุรเชษฐ กองชีพ กรรมการผู้จัดการ บริษัท พร็อพเพอร์ตี้ ดีเอ็นเอ จำกัด กล่าวว่า การลงทุนโรงเรียนนานาชาติ เพื่อรองรับกลุ่มต้องการให้บุตรหลานได้รับการศึกษาดี และครอบครัวคนไทยมีลูกกันลดน้อยลง ผู้ปกครองจึงต้องการให้บุตรหลานได้รับการศึกษาที่ดีโดยเฉพาะภาษาต่างประเทศ ซึ่งการเรียนในอีกระบบที่แตกต่างจากการเรียนการสอนแบบพื้นฐานในประเทศไทย แน่นอนว่าการเรียนในหลักสูตรที่เป็นหลักสูตรจากต่างประเทศโดยตรงหรือเป็นหลักสูตรของโรงเรียนในต่างประเทศกลายเป็นทางเลือกที่น่าสนใจของกลุ่มคนที่มีฐานะหรือกำลังเพียงพอ แต่อาจจะไม่ต้องการส่งบุตรหลานตนเองไปต่างประเทศ ทั้งไม่สะดวกเรื่องค่าใช้จ่าย และความกังวลอื่นๆ

ดังนั้น การได้เรียนในโรงเรียนนานาชาติที่ใช้หลักสูตรเดียวกันในประเทศไทย จึงเป็นที่นิยม อีกทั้งยังมีชาวต่างชาติทั้งประเทศเพื่อนบ้านในอาเซียนและอื่นๆ ที่ส่งบุตรหลานมาเรียนในโรงเรียนรูปแบบนี้ในไทยมากขึ้น โดยเฉพาะประเทศจีน เนื่องจากปัญหาโรงเรียนนานาชาติในจีนและค่าใช้จ่ายของโรงเรียนนานาชาติในไทยก็ไม่สูงมาก ขณะที่มาตรฐานก็สูงไม่แตกต่างจากประเทศตะวันตก จึงเป็นที่นิยมของต่างชาติ

Advertisement

สุรเชษฐกล่าวอีกว่า ทำให้กลุ่มธุรกิจ นักธุรกิจ ครอบครัวนักธุรกิจ สถาบันการศึกษาบางรายมีการลงทุนในโรงเรียนนานาชาติต่อเนื่องมาในช่วง 10 กว่าปีที่ผ่านมา ซึ่งบางรายมีโรงเรียนนานาชาติเป็น 1 ในธุรกิจที่สร้างรายได้และหาช่องทางขยายโอกาสเพื่อขยายโรงเรียนนานาชาติเพิ่ม ทั้งลงทุนพัฒนาเองและเทกโอเวอร์บางโรงเรียนที่ประสบปัญหา

โดยกลุ่มธุรกิจ หรือตระกูลที่มีการพัฒนาโรงเรียนนานาชาติของตนเอง เช่น “กลุ่มธนาคารกรุงเทพ” ของตระกูลโสภณพนิช โดย “ชาลี โสภณพนิช” ผู้ก่อตั้งบริษัท ซิตี้ เรียลตี้ จำกัด ได้ลงทุนธุรกิจอสังหาริมทรัพย์หลายโครงการ และพัฒนาโรงเรียนนานาชาติโชรส์เบอรีย่านพระราม 9 เพื่อรองรับรายได้จากการศึกษา

กลุ่มซีพี ของตระกูลเจียรวนนท์ โดย 1 ในธุรกิจที่ดำเนินกิจการในไทยมามากกว่า 20 ปี คือ โรงเรียนนานาชาติคอนคอร์เดียน โดยเป็นการลงทุนส่วนตัวของวรรณี เจียรวนนท์ รอสส์

กลุ่มบีทีเอส ของตระกูลกาญจนพาสน์ นอกจากรถไฟฟ้า และอสังหาริมทรัพย์ยังมีโรงเรียนนานาชาติเวอร์โซ ซึ่งใช้เงินลงทุน 5,000 ล้านบาท เปิดเมื่อปี 2563 มีบริษัท ยูซิตี้ จำกัด (มหาชน) บริษัทในเครือร่วมทุนกับบริษัท ฟอร์จูน แฮนด์ เวนเจอร์ ลิมิเต็ด จากประเทศฮ่องกง

กลุ่มสหพัฒน์ ของตระกูลโชควัฒนา เจ้าของบริษัท สหพัฒนาอินเตอร์โฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) ได้ให้ความสำคัญกับธุรกิจการศึกษา ลงทุนกว่า 4,000 ล้านบาท เปิดโรงเรียนนานาชาติคิงส์คอลเลจ กรุงเทพ เมื่อปี 2563

กลุ่มปาลเดชพงศ์ ผู้ก่อตั้งโรงเรียนเด่นหล้า เข้าสู่ธุรกิจนี้มานานกว่า 10 ปี และยังคงขยายธุรกิจอย่างต่อเนื่อง ล่าสุด ลงทุน 600 ล้านบาท เปิดโรงเรียนนานาชาติ DLTS รองรับความต้องการโรงเรียนนานาชาติที่เพิ่ม
มากขึ้น

“ตระกูลธรรมวัฒนะ” ได้เข้าสู่ธุรกิจนี้เช่นกัน โดยบริษัท มัลลิการ์ อินเตอร์ฟู๊ด จำกัด และบริษัท บีจีที คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) เป็นการร่วมลงทุนของ 2 พี่น้องตระกูลธรรมวัฒนะ ด้วยวงเงิน 1,200 ล้านบาท พัฒนาโรงเรียนนานาชาติไทยอินเตอร์เนชั่นแนลสกูล

กลุ่มอัสสกุล โดยบริษัท ไทยสมุทรประกันชีวิต จำกัด (มหาชน) ไม่ได้มีเพียงธุรกิจประกันภัยและประกันชีวิต ยังลงทุนธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ และมีโรงเรียนนานาชาติเซนต์สตีเฟ่นส์ที่เขาใหญ่และกรุงเทพฯอีกด้วย

บริษัท อาร์ทูดีวัน จำกัด ที่มี เพ็ญสิริ ทองสิมา เป็นผู้บริหาร ก็ได้เปิดโรงเรียนนานาชาติเบซิส ย่านพระราม 2 โดยร่วมกับบริษัท บีไอเอสบี จำกัด จากสหรัฐอเมริกา ด้วยเงินลงทุน 1,500 ล้านบาท

“ตระกูลทีปสุวรรณ” โดยทยา ทีปสุวรรณ ร่วมกับหุ้นส่วนลงทุน 1,500 ล้านบาท พัฒนาโรงเรียนนานาชาติรักบี้ ซึ่งเป็นแบรนด์โรงเรียนจากประเทศอังกฤษ บนที่ดินกว่า 200 ไร่ ในจังหวัดชลบุรี และกำลังพัฒนาบ้านหรูรองรับ

มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ เป็นอีกกลุ่มที่เข้ามาสู่ธุรกิจนี้ โดยทายาทรุ่นที่ 3 ดาริกา ลัทธพิพัฒน์ ซึ่งได้เปิดโรงเรียนนานาชาติ เวลลิงตัน คอลเลจ กรุงเทพ ด้วยหลักสูตรแบบอังกฤษ

ขณะที่ คันทรี่ กรุ๊ป ของตระกูลเตชะอุบล มีแผนพัฒนาโครงการมิกซ์ยูสบนถนนพระราม 3 ด้วยมูลค่า 32,000 ล้านบาท ซึ่งในนี้มีโรงเรียนนานาชาติด้วย

ข้ามไปจังหวัดเชียงใหม่ กลุ่มอรสิริน โฮลดิ้ง ที่มี ตระกูลบูรณุปกรณ์ เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ นอกจากพัฒนาโครงการบ้านและคอนโดมิเนียมแล้ว ล่าสุด กำลังก่อสร้างโรงเรียนนานาชาติมิลล์ฮิลล์ เป็นแบรนด์จากอังกฤษ จะเปิดให้บริการเฟสแรกในปี 2568

ล่าสุด กลุ่มสยามกลการ ของตระกูลพรประภา ผู้บุกเบิกธุรกิจรถยนต์และอะไหล่ชิ้นส่วนรถยนต์ที่เก่าแก่ที่สุดในประเทศไทย หลังขยายธุรกิจสู่อสังหาเพื่อเช่า ประเดิมด้วยอาคารสำนักงาน สยามปทุมวัน เฮ้าส์ แล้ว กำลังทุ่มเงินก้อนโตลงทุนโรงเรียนนานาชาติที่พัทยา บนพื้นที่ 1,000 ไร่ เพื่อรองรับธุรกิจที่มีการเติบโตสูง

สุรเชษฐกล่าวในตอนท้ายว่า ภาพการขยายตัวของโรงเรียนนานาชาติในไทยตั้งแต่ปี 2560-2567 อยู่ที่ 5% ต่อปี มีบางช่วงเวลาที่ชะลอตามภาวะเศรษฐกิจ ขณะที่ปัจจุบันที่น่าสนใจคือการเพิ่มขึ้นของโรงเรียนนานาชาติในต่างจังหวัดนอกกรุงเทพฯ ที่มีมากกว่ากรุงเทพฯแบบชัดเจน และไม่ได้มีโรงเรียนนานาชาติแค่จังหวัดใหญ่หรือจังหวัดท่องเที่ยวเท่านั้น แต่จังหวัดอื่นๆ ก็มีโรงเรียนนานาชาติเพิ่มขึ้นด้วยเช่นกัน และกลุ่มเป้าหมายไม่ใช่แค่คนไทย แต่เป็นชาวต่างชาติที่เข้ามาทำงานหรือเข้ามาลงทุนทำธุรกิจในไทย ยังรวมถึงชาวต่างชาติที่ส่งบุตรหลานตนเองเข้ามาเรียนในประเทศไทยด้วย และอนาคตยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่อง

ด้วยประเทศไทยปัจจุบันกลายเป็นเซฟโซนและหมุดหมายของชาวต่างชาตินั่นเอง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image