เปิดฉากทัศน์ ‘ไทยได้-ไทยเสีย’ ทรัมป์&แฮร์ริส นั่งปธน.สหรัฐ

การเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐ กำลังจะเกิดขึ้นในวันอังคารที่ 5 พฤศจิกายน 2567 ทั่วโลก รวมถึงประเทศไทย กำลังเกาะติดผลการเลือกตั้งระหว่าง “โดนัลด์ ทรัมป์” จากรีพับลิกัน และ “คามาลา แฮร์ริส” จากเดโมแครต ใครจะคว้าชัยพร้อมกับติดตามว่าหลังจากนั้น นโยบายการค้าของสหรัฐ จะเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางใด โดยเฉพาะผลกระทบต่อการค้าและการลงทุน ที่อาจส่งผลในทางลบต่อเศรษฐกิจไทยโดยรวม ตั้งแต่ปี 2568 เป็นต้นไป

“มติชน” จึงได้นำความเห็นและมุมมองต่างๆ บางส่วนมานำเสนอ

พูนพงษ์ นัยนาภากรณ์
ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบาย
และยุทธศาสตร์การค้า (สนค.)

Advertisement

“นโยบายเศรษฐกิจที่ส่งผลกับประเทศไทย สำหรับ คามาลา แฮร์ริส นั้น นโยบายของแฮร์ริส มุ่งเน้น 2 ลดค่าใช้จ่ายสำหรับชนชั้นแรงงาน ควบคุมราคาสินค้าอุปโภคบริโภค เพิ่มค่าแรงขั้นต่ำ เพิ่มสวัสดิการสังคม ควบคุมราคายา/ค่ารักษาพยาบาล/พลังงานในประเทศ ซึ่งหากแฮร์ริสชนะเลือกตั้ง คาดว่า 1.การดำเนินนโยบาย ด้านการต่างประเทศและการค้าระหว่างประเทศจะเป็นไปในทิศทางเดิม อย่างไรก็ตาม ยังต้องติดตามว่า จะมีการประกาศนโยบาย หรือมาตรการเพิ่มเติมหรือไม่ 2.อาจมีการส่งเสริมความร่วมมือด้านเทคโนโลยีกับพันธมิตรในภูมิภาคเอเชีย ซึ่งไทยจะได้ประโยชน์จากการถ่ายทอดเทคโนโลยีและการลงทุน และ 3.อาจมีแนวโน้มใช้มาตรการทางภาษีกับจีนนุ่มนวลกว่าทรัมป์ แต่ยังอาจส่งผลกระทบต่อห่วงโซ่อุปทานที่เชื่อมโยงกับจีนอย่างเลี่ยงไม่ได้

ทั้งนี้ ไทยอาจจะได้ประโยชน์จาก

Advertisement

1.ผลดีต่อการลงทุนในประเทศไทยโดยเฉพาะด้านพลังงานสะอาด เช่น พลังงานแสงอาทิตย์ และพลังงานชีวมวล ซึ่งอาจเปิดโอกาสให้บริษัทไทยที่มีความเชี่ยวชาญในด้านนี้เข้าร่วมลงทุนในสหรัฐ

2.การสนับสนุนการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีที่จะนำมาซึ่งโอกาสในการถ่ายทอดเทคโนโลยีและการร่วมลงทุนในเทคโนโลยีชั้นสูง เช่น การผลิตแบตเตอรี่ประสิทธิภาพสูง

3.นโยบายของแฮร์ริสอาจส่งเสริมการลงทุนในเทคโนโลยี 5G และปัญญาประดิษฐ์ (AI) ซึ่งเปิดโอกาสให้บริษัทโทรคมนาคมและซอฟต์แวร์ของไทยเข้าร่วมในห่วงโซ่อุปทานระดับโลก และ 4.โอกาสในการร่วมทุนระหว่างบริษัทไทยและสหรัฐ ในอุตสาหกรรมที่เป็นอนาคตต่างๆ เช่น การพัฒนาเทคโนโลยีการเกษตรสมัยใหม่ (AgriTech) ซึ่งเป็นจุดแข็งของไทย

อย่างไรก็ตาม อาจได้รับผลกระทบจาก

1.นโยบายที่เกี่ยวข้องกับการสนับสนุนอุตสาหกรรมสีเขียว ส่งผลให้ไทยอาจต้องปรับเพิ่มมาตรการการผลิตเพื่อให้รักษาส่วนแบ่งตลาดภายในสหรัฐ ซึ่งจะก่อให้เกิดต้นทุนส่วนเพิ่มที่เลี่ยงไม่ได้

2.การสนับสนุนยูเครนและอิสราเอลส่งผลกระทบทางอ้อมต่อต้นทุนพลังงานและความไม่มั่นคงของเศรษฐกิจโลกในทางอ้อม

3.การไม่เผชิญหน้าทางเศรษฐกิจกับจีนโดยตรงส่งผลให้สหรัฐ อาจต้องประสานความร่วมมือกับชาติพันธมิตรซึ่งส่งผลให้ไทยอาจจำเป็นต้องมีจุดยืนในฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง

ขณะที่ โดนัลด์ ทรัมป์ นั้น นโยบายของทรัมป์ มุ่งเน้นการกระตุ้นเศรษฐกิจภายในประเทศสอดคล้องกับการลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ซึ่งอัตราดอกเบี้ยนโยบายในระดับต่ำจะส่งผลให้ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลง ส่งผลต่อเนื่องให้เงินบาทแข็งค่าขึ้นโดย เปรียบเทียบและจะกระทบต่อความสามารถในการแข่งขันด้านการส่งออกของไทย ซึ่งหากทรัมป์ชนะการเลือกตั้ง คาดว่า 1.อาจเห็นการเปลี่ยนแปลงที่มีนัยสำคัญในด้านนโยบายการต่างประเทศและจุดยืนบนเวทีความมั่นคงโลกในด้านภูมิรัฐศาสตร์ (ลดการให้ความช่วยเหลือประเทศที่อยู่ในพื้นที่ขัดแย้ง เช่น ยูเครน และลดบทบาทของสหรัฐ ในการสนับสนุนความมั่นคง ในเวทีโลกอย่าง NATO) 2.การเปลี่ยนแปลงที่มีนัยสำคัญในด้านนโยบายเศรษฐกิจของสหรัฐ การใช้มาตรการปกป้องทางการค้าของสหรัฐจะเข้มข้นขึ้น รวมถึงสงครามการค้ากับจีนจะทวีความรุนแรงมากขึ้น 3.มาตรการภาษีนำเข้าซึ่งมีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะการขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจากจีน และ 4.อาจเพิ่มมาตรการกีดกันทางการค้าที่ไม่ใช่ภาษี

ทั้งนี้ ไทยอาจจะได้ประโยชน์จาก

1.การย้ายฐานการผลิตจากจีนมายังไทย

2.ความต้องการสินค้าทดแทนสินค้าจีนจากไทยในตลาดสหรัฐที่อาจเพิ่มขึ้น

ไทยอาจได้รับผลกระทบจาก

1.มาตรการกีดกันทางการค้าที่ไม่ใช่ภาษีอาจส่งผลทางอ้อมให้ไทยมีต้นทุนในการปรับปรุงมาตรฐานการผลิตให้สอดคล้องกับสหรัฐ เพื่อรักษาในตลาดสหรัฐ

2.หากทรัมป์ได้รับชัยชนะ นโยบาย “America First” อาจส่งผลให้การลงทุนจากสหรัฐในประเทศไทยลดลง โดยเฉพาะในภาคอุตสาหกรรมการผลิต การใช้มาตรการจูงใจทางภาษีเพื่อดึงการลงทุนกลับสู่สหรัฐ อาจทำให้บริษัทสหรัฐ ที่มีฐานการผลิตในไทยอาจจะพิจารณาย้ายกลับประเทศ ซึ่งส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์และชิ้นส่วนยานยนต์ของไทย

3.เกิดการชะลอตัวของการถ่ายทอดเทคโนโลยีจากสหรัฐสู่ไทย อาจส่งผลต่อการพัฒนาอุตสาหกรรมในระยะยาว การลงทุนในด้านการวิจัยและพัฒนา (R&D) และนวัตกรรมจากบริษัทเทคโนโลยีสหรัฐในไทยอาจลดลง รวมถึงอาจเกิดการจำกัดการเข้าถึงเทคโนโลยีขั้นสูงบางประเภท เช่น เซมิคอนดักเตอร์หรือเทคโนโลยี 5G ซึ่งอาจส่งผลต่อการพัฒนาอุตสาหกรรมเทคโนโลยีของไทย”

แสงชัย ธีรกุลวาณิช
ประธานสมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย

“ก ารเลือกตั้งสหรัฐอเมริกาที่กำลังจะมีขึ้นคู่ชิงระหว่าง โดนัลด์ ทรัมป์ และคามาลา แฮร์ริส มีความสำคัญอย่างยิ่งกับบทบาทสหรัฐอเมริกา ที่จะส่งต่อเศรษฐกิจโลก หากมองถึงเอสเอ็มอีไทย จะพบว่าที่ผ่านมาไทย มีความสัมพันธ์ทางการค้ากับสหรัฐอเมริกามาอย่างยาวนานและเป็นคู่ค้าที่สำคัญอย่างยิ่ง ซึ่งมีดุลการค้าเติบโตขึ้นทุกปีจากข้อมูลย้อนหลังปี พ.ศ.2556 ไทยได้ดุลการค้าสหรัฐอเมริกา 274,363 ล้านบาท และเติบโตต่อเนื่องขึ้นทุกปีจนปี 2566 มูลค่าถึง 1.044 ล้านล้านบาท เป็นมูลค่าการนำเข้า 612,276 ล้านบาท และมูลค่าการส่งออก 1.656 ล้านล้านบาท

โดยหากเจาะลึกไปในผู้ประกอบการเอสเอ็มอีจะพบว่ามูลค่าการค้าไทยกับสหรัฐอเมริกาได้ดุลการค้ามาโดยตลอดเช่นกัน ปี 2566 มีมูลค่าการนำเข้า 67,609 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 11 ของมูลค่าการนำเข้าจากสหรัฐเมริกามาไทยทั้งหมดและมูลค่าการส่งออก 256,095 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 15 ของมูลค่าการส่งออกจากไทยไปสหรัฐอเมริกาทั้งหมด ได้ดุลการค้า 188,486 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนการเกินดุลการค้าของไทยกับสหรัฐอเมริการ้อยละ 18 จากการเกินดุลการค้าของไทยกับสหรัฐอเมริกา ขณะที่ปี 2567 เอสเอ็มอีไทยมีมูลค่าการส่งออกไปสหรัฐอเมริกาถึงไตรมาส 3 เอสเอ็มอีรายย่อย 11,546 ล้านบาท รายย่อม 81,087 ล้านบาท และรายกลาง 77,682 ล้านบาท รวมส่งออก 3 ไตรมาส 170,315 ล้านบาท โดยเอสเอ็มอีไทยมีมูลค่าการนำเข้าจากสหรัฐอเมริกาถึงไตรมาส 3 รายย่อย 7,797 ล้านบาท รายย่อม 22,559 ล้านบาท รายกลาง 28,433 ล้านบาท รวมนำเข้า 3 ไตรมาส 58,889 ล้านบาท เกินดุลการค้า 111,426 ล้านบาท

โอกาสของเอสเอ็มอีไทยกับการเลือกตั้งของสหรัฐอเมิรกาครั้งนี้ หากเปรียบเทียบมองถึงนโยบายเศรษฐกิจและสังคมของโดนัลด์ ทรัมป์ที่มีลักษณะความดุดันและแข็งกร้าวเน้นการปกป้องอเมริกันกับคามาลา แฮร์ริสที่เป็นสุภาพสตรีมีนโยบายยืดหยุ่นกว่า ความเข้าใจโลกตะวันออกที่ดีและท่าทีที่จะสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับนานาประเทศ ซึ่งเอสเอ็มอีไทยมองการรองรับและปรับเปลี่ยนประธานาธิบดีของสหรัฐอเมริกาที่จะต้องเตรียมพร้อม ดังนี้

1.การเพิ่มการส่งออกของไทยไปสหรัฐอเมริกา ที่ต้องไม่เป็นเพียงแค่สินค้าแบรนด์ไทยที่มีความสร้างสรรค์ แต่ต้องเป็นโอกาสของไทยในการที่จะส่งออกภาคบริการแบรนด์ไทยที่มีความสร้างสรรค์ตามไปด้วย ซึ่งแม้ทั้ง 2 แคนดิเดตประธานาธิบดีจะมี นโยบายในการลดค่าครองชีพ ลดต้นทุนสินค้า อีกทั้งปัญหาความสัมพันธ์ทางการค้าจีนกับสหรัฐอเมริกาก็จะเป็นโอกาสที่ไทยจะรุกคืบขยายตลาดในกลุ่มสินค้าเกษตร อาหารแปรรูป เครื่องประดับ แฟชั่น ธุรกิจสุขภาพและความงาม เป็นต้น ซึ่งไทยอาจจะต้องเผชิญกับนโยบายปกป้องธุรกิจอเมริกันของทรัมป์ที่จะทำให้เกิดกำแพงภาษี และการใช้กฎหมาย The International Emergency Economic Power Act (IEEPA) แทรกแซงทางด้านเศรษฐกิจทั้งในและระหว่างประเทศที่ประเมินความเป็นภัยทางเศรษฐกิจกับสหรัฐอเมริกาอย่างเข้มข้นกว่าคามาลา แฮร์ริส

2.การลงทุนเพิ่มของสหรัฐอเมริกาในไทยและโอกาสการลงทุนของประเทศจีนและประเทศไทยเพิ่มขึ้น เพื่อปรับย้ายฐานการผลิตที่ไทยมีความพร้อมในการรองรับการลงทุน การปรับเปลี่ยนรองรับนิคมอุตสาหกรรมสีเขียว โครงสร้างพื้นฐานทางดิจิทัลเทคโนโลยี ขีดความสามารถของผู้ประกอบการรายใหญ่ เอสเอ็มอีและแรงงานที่จะรองรับ Supply chain สนับสนุนการลงทุน ขณะที่ต้องเร่งระเบียงเขตเศรษฐกิจพิเศษทั้ง EEC และ 4 ภูมิภาคให้เชื่อมโยงเครือข่ายส่งเสริมการจับคู่ธุรกิจเพื่อการใช้วัตถุดิบ ปัจจัยการผลิตไทย และแรงงานฝีมือทักษะสูงคนไทยเพิ่มมากขึ้น อีกทั้งการเร่งดำเนินการเพิ่ม FTA ความร่วมมือทางการค้ากับประเทศและภูมิภาคที่สำคัญเพิ่มมากขึ้น เพื่อสร้างแรงจูงใจและสิทธิประโยชน์ทางเศรษฐกิจการลงทุนภาครัฐและเอกชนไทยและต่างประเทศให้ขยายตัวเพิ่มขึ้น

3.การท่องเที่ยวของไทยจะมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น หากสถานการณ์ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์คลี่คลายตัวดีขึ้น และประเทศไทยมีความพร้อมขับเคลื่อนซอฟต์พาวเวอร์ภาคการท่องเที่ยวสร้างสรรค์มูลค่าเพิ่มที่มีความโดดเด่นและขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ซึ่งหากคามาลา แฮร์ริสชนะ สถานการณ์มีแนวโน้มจะส่งผลบวกต่อภาคการท่องเที่ยวอีกด้วย

4.บทบาทความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับสหรัฐอเมริกาในบริบทกติกาโลกที่รองรับด้านสิทธิมนุษยชน การให้ความสำคัญกับสตรีและกลุ่มเปราะบาง สิทธิเสรีภาพความเสมอภาค ด้านสิ่งแวดล้อมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่ต้องมีการกำกับดูแลนโยบายเพิ่มมากขึ้น รวมทั้งด้านนโยบายระหว่างประเทศที่ต้องลดความขัดแย้ง ความรุนแรง สงครามภูมิรัฐศาสตร์ซึ่งทางคามาลา แฮร์ริสมีความได้เปรียบโดนัลด์ ทรัมป์ ส่งผลต่อบรรยากาศการค้าการลงทุนโลก

สิ่งสำคัญ คือ ไม่ว่าใครชนะในการเลือกตั้งประธานาธิบดี ไทยจะต้องมีนโยบายฉากทัศน์ และยุทธศาสตร์ที่ชัดเจนในการปรับตัวรองรับการเปลี่ยนแปลง เพื่อสร้างสมดุลทางเศรษฐกิจให้เกิดการค้าการลงทุนของประเทศที่ขยายตัวขึ้น มีมาตรการรองรับความเสี่ยง ใช้ความสัมพันธ์ทางการทูตที่ดีมาอย่างยาวนานแสวงหาความร่วมมือที่จะสร้างผลประโยชน์ร่วมกันให้ไทยเป็น เหมืองทองคำแห่งการลงทุนของโลก”

ไพบูลย์ นลินทรางกูร
ประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัทหลักทรัพย์ (บล.) ทิสโก้ จำกัด
และนายกสมาคมนักวิเคราะห์การลงทุน(ไอเอเอ)

“ก ารเลือกตั้งสหรัฐ ประเมินว่า จะเป็นผลดีต่อตลาดทุนไทยในระยะสั้น หลังจากการเลือกตั้งแล้วเสร็จ เนื่องจากเม็ดเงินลงทุนต่างชาติ (ฟันด์โฟลว์) ในระยะสั้นไม่กี่เดือนหลังเลือกตั้งแล้วเสร็จ น่าจะทำให้เกิดกระแสเงินไหลเข้าสู่ตลาดหุ้นทั่วโลกมากขึ้น ประเทศไทยน่าจะได้รับอานิสงส์ด้วยเช่นกัน เพราะขณะนี้นักลงทุนส่วนใหญ่ยังลังเลอยู่ว่าผลการเลือกตั้งจะเป็นอย่างไร จึงยังไม่รีบร้อนโยกเงินลงทุนในตลาดหุ้น รวมถึงตอนนี้เห็นเม็ดเงินลงทุนที่เข้าไปพักในตลาดเงินระยะสั้นสูงอยู่พอสมควรด้วย

เมื่อมีความแน่นอนที่เกิดขึ้นแล้ว จะทำให้มีกระแสเงินไหลเข้าตลาดหุ้นเพิ่มขึ้น โดยตลาดหุ้นสหรัฐถือว่ามีความแพงมากพอสมควรแล้ว ส่วนตลาดหุ้นไทยยังไม่ได้แพง และอันเดอร์เพอร์ฟอร์ม หรือปรับขึ้นไม่ดีมากนักเทียบกับภาพรวมตลาดอยู่ จึงมีความน่าสนใจในการเคลื่อนย้ายเม็ดเงิน จึงมีโอกาสเห็นฟันด์โฟลว์ไหลเข้ามา หากผลการเลือกตั้งไม่ยืดเยื้อเหมือนภาพเดิมที่เคยเกิดขึ้น

ภาพการเลือกตั้งสหรัฐ ขณะนี้ยังมีความไม่แน่นอนสูง ว่าใครจะชนะการเลือกตั้งในครั้งนี้ เนื่องจากคะแนนมีความสูสีกันมาก โดยหากประเมินในแง่นโยบายต่างๆ ที่มีผลต่อภาพเศรษฐกิจไทย เป็นเรื่องนโยบายการค้าระหว่างประเทศ และการส่งออก ที่จะเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางใด หากเป็นนาย
โดนัลด์ ทรัมป์ อดีตประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา กลับขึ้นมาเป็นประธานาธิบดีสหรัฐอีกครั้ง เชื่อว่าจะใช้นโยบายด้านการค้าเป็นเครื่องมือในการทำนโยบาย จัดการกับประเทศที่อาจซื้อขายไม่แฟร์ระหว่างกัน ซึ่งมองว่าจะมุ่งเป้าที่ประเทศจีนเป็นอันดับแรก ซึ่งต้องมาชั่งน้ำหนักดูว่า ผลที่เกิดขึ้นกับประเทศไทยจะเป็นอย่างไร แต่ตอนนี้คงเร็วไปที่จะพูด เพราะยังไม่เห็นอะไรที่เป็นรายละเอียดชัดเจนออกมา

การเลือกตั้งสหรัฐ ที่ยังไม่แน่นอนนี้ จึงถือเป็นทั้งความเสี่ยง และโอกาสที่หากสหรัฐพุ่งเป้าไปจัดการกับจีนอย่างเดียว อาจต้องการประเทศอื่นเป็นพวก รวมถึงไทยด้วย โดยประเมินในช่วงที่โดนัลด์ ทรัมป์ เป็นประธานาธิบดียุคก่อนหน้านี้ ประเทศไทยถือว่าได้ประโยชน์ในแง่การส่งออก เป็นทางเลือกที่ผู้ประกอบการเข้ามาเลือกซื้อสินค้าไทยมากกว่าซื้อจากจีนเลย ครั้งนี้จึงต้องมาดูอีกครั้งว่าผลจะเป็นอย่างไร ส่วน คามาลา เทวี แฮร์ริส รองประธานาธิบดีสหรัฐ ซึ่งเป็นผู้ท้าชิงตำแหน่งประธานาธิบดีด้วยเช่นกัน ประเมินเบื้องต้นมีนโยบายไม่แตกต่างจากโดนัลด์ ทรัมป์ มีความใกล้เคียงกันแต่ไม่ได้เข้มข้นมากเท่า ใช้การค้าเป็นเครื่องมือในการนโยบายเหมือนกัน ทำให้ผลกระทบหลักจะอยู่กับจีน ส่วนประเทศอื่นๆ ยังต้องประเมินรายละเอียดเพิ่มเติม

ภาพเศรษฐกิจในประเทศสหรัฐ หากโดนัลด์ ทรัมป์ ขึ้นมาเป็นประธานาธิบดีอีกครั้ง ทุกคนค่อนข้างเป็นห่วง แม้ในช่วงแรกเศรษฐกิจสหรัฐอาจดูดี แต่ความกังวลเศรษฐกิจระยะยาวจะเพิ่มมากขึ้นในส่วนของเงินเฟ้อ หากโดนัลด์ ทรัมป์ ใช้นโยบายขึ้นภาษีสินค้านำเข้าโดยเฉพาะจากจีนเพิ่มขึ้นสูงแบบที่เคยประกาศไว้ ประมาณ 60% จะทำให้สินค้าในสหรัฐแพงขึ้น นำไปสู่ภาวะเงินเฟ้อที่จะปรับตัวสูงขึ้น จากนั้นจะมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อกดเงินเฟ้อลง จึงมีความกังวลในเรื่องเงินเฟ้อและดอกเบี้ยต่อจากนี้ ในส่วนของแฮร์ริส รองประธานาธิบดีสหรัฐ นโยบายทางเศรษฐกิจอาจสู้ไม่ได้มากนัก แนวนโยบายเป็นการขึ้นภาษีมากกว่าลดภาษี ซึ่งเป็นภาษีเงินได้ของนิติบุคคลและบุคคลธรรมดา อาจทำให้เศรษฐกิจสหรัฐดีไม่ได้มากนักในระยะสั้น หากเทียบกับโดนัลด์ ทรัมป์

ขณะนี้ตลาดหุ้นไทยยังขาดแรงขับเคลื่อนจากปัจจัยบวกใหม่ๆ เข้ามา นักลงทุนจึงยังรอนโยบายเศรษฐกิจจากรัฐบาลที่ขับเคลื่อนออกมาอย่างเป็นรูปธรรม หลังจากตลาดหุ้นฟื้นตัวในรอบที่ผ่านมา แต่ยังไม่มีแรงบวกต่อเนื่องออกมาในส่วนนโยบาย นอกจากการแจกเงิน 10,000 บาทที่ผ่านพ้นไปแล้ว ซึ่งผลต่อเศรษฐกิจก็ยังไม่ชัดเจนว่าทำให้เกิดแรงกระเตื้องขึ้นมากน้อยเท่าใด นักลงทุนจึงยังชะลอการลงทุนเพื่อรอดูทิศทางชัดเจนในช่วงถัดไปอยู่ ตลาดหุ้นไทยจึงยังนิ่งๆ ทรงตัว เพราะขาดแรงบวกใหม่เข้ามา โดยมองว่าหากรัฐบาลยังไม่มีการผลักดันนโยบายเศรษฐกิจออกมาอย่างเป็นรูปธรรมให้เห็นผลชัดเจน ตลาดหุ้นไทยก็จะซึมตัวต่อเนื่อง”

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image