ผู้เขียน | พลเอกนิพัทธ์ ทองเล็ก |
---|
ภาพเก่าเล่าตำนาน : ประธานาธิบดีสหรัฐ …มีอำนาจแต่งตั้งบุคคลสำคัญ
แนวปฏิบัติ ระเบียบ อำนาจ ในการแต่งตั้ง โยกย้ายตำแหน่งสำคัญเฉพาะใน “ฝ่ายบริหาร” ของสหรัฐอเมริกา เมื่อเปลี่ยนผู้นำประเทศ… เป็นประเด็นที่น่าสนใจครับ…
1 กรกฎาคม 2559 จอห์น เคอร์บี้ โฆษกกระทรวงต่างประเทศสหรัฐ แถลงต่อสื่อมวลชนที่กรุงวอชิงตัน ดี.ซี. ว่า “ถือเป็นเรื่องปกติธรรมดา” ที่เอกอัครราชทูตสหรัฐที่ได้รับการแต่งตั้งจากฝ่ายการเมือง “จะเขียนใบลาออก” จากตำแหน่งเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงฝ่ายบริหาร
หมายความว่า ประธานาธิบดีมีอำนาจที่จะแต่งตั้งบุคคลที่มิใช่เจ้าหน้าที่กระทรวงต่างประเทศ ไปเป็น “เอกอัครราชทูต” หรือไปทำงานในองค์กรต่างๆ ในประเทศต่างๆ ได้ตามความพึงพอใจ (ซึ่งจะต้องมีคุณสมบัติครบถ้วน)
เมื่อสาบานตนเข้ารับตำแหน่งอย่างเป็นทางการแล้ว จะมีอำนาจแต่งตั้งบุคคลในตำแหน่งสำคัญประมาณ 4,000 ตำแหน่ง ซึ่งมีประมาณ 1,200 ตำแหน่ง จะต้องได้รับการอนุมัติจากวุฒิสภา
20 มกราคม 2568 ทรัมป์จะเข้าพิธีสาบานตน มีช่วงเวลาในการส่งมอบ ถ่ายโอนอำนาจราว 2 เดือน ระหว่างคนเก่า-คนใหม่ มีคณะทำงานฯ ประธานาธิบดี “คนใหม่” จะไปพบ “คนเก่า” ในทำเนียบขาว ถึงจะไม่ชอบขี้หน้ากัน ก็ต้องไปพบกันตามธรรมเนียม
ฮาโรลด์ ลาสเวลล์ (Harold D. Lasswell) ปรมาจารย์ด้านรัฐศาสตร์ชาวอเมริกันกล่าวว่า “การเมือง คือ การได้มาซึ่งอำนาจ เพื่อที่จะตัดสินว่าใครจะได้อะไร เมื่อใด และอย่างไร” (Politics is who gets What, When, and How)
เรื่องการแต่งตั้ง โยกย้ายตำแหน่งสำคัญ เมื่อต้อง “เปลี่ยนผู้นำ-เปลี่ยนขั้วอำนาจ” เป็นเรื่องคอขาดบาดตาย สร้างความเจ็บช้ำน้ำใจ อาฆาตแค้นกันเสมอมา สามารถเป็นทั้ง “โชคดี-โชคร้าย”
ถ้าวางระบบให้ชัดเจน รู้ตัว แตกต่าง ก็ไม่ต้องมาโกรธเคือง
ผู้เขียนเจาะประเด็นไปที่ตำแหน่ง “เอกอัครราชทูตสหรัฐ”
เอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกา คือ บุคคลที่ได้รับการเสนอชื่อจากประธานาธิบดี เพื่อทำหน้าที่เป็นตัวแทนทางการทูตของสหรัฐอเมริกาไปยังประเทศต่างๆ หรือไปทำงานในองค์กรระหว่างประเทศ และในฐานะเอกอัครราชทูตทั่วไปตามรัฐธรรมนูญสหรัฐอเมริกา การแต่งตั้งจะต้องได้รับความเห็นชอบจากวุฒิสภา
แม้ว่าเอกอัครราชทูตอาจได้รับการแต่งตั้งในระหว่าง “ปิดสมัยประชุม” แต่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้จนถึงสิ้นสุดสมัยประชุมสภาคองเกรสถัดไป เว้นแต่จะได้รับการยืนยันในภายหลัง
เอกอัครราชทูตเป็นเจ้าหน้าที่การทูตระดับสูงสุดของสหรัฐ อยู่ภายใต้เขตอำนาจของกระทรวงต่างประเทศและขึ้นตรงต่อรัฐมนตรีว่าการต่างประเทศ อย่างไรก็ตาม การแต่งตั้งเอกอัครราชทูตจะเป็นไป “ตามความพอใจของประธานาธิบดี” (At the pleasure of the President) ซึ่งหมายความว่า เอกอัครราชทูตสามารถถูกปรับเปลี่ยนได้ทุกเวลา
เอกอัครราชทูต อาจเป็นเจ้าหน้าที่จากกระทรวงต่างประเทศที่เรียกว่า นักการทูตอาชีพ (career diplomat-CD) หรืออาจจะเป็น ผู้ได้รับการแต่งตั้งจากฝ่ายการเมือง (political appointee-PA) ส่วนใหญ่จะมีระยะเวลาทำงานประมาณ 3 ปี
ผู้ได้รับการแต่งตั้งจากฝ่ายการเมือง (PA) มักจะยื่นใบลาออกเมื่อมีการเข้ารับตำแหน่งของประธานาธิบดีคนใหม่
สหรัฐอเมริกามีสถานทูตในทุกประเทศในโลก ยกเว้น อัฟกานิสถาน ภูฏาน เกาหลีเหนือ อิหร่าน ซีเรีย และเยเมน
พ.ศ.2321 สหรัฐตั้งสถานทูตสหรัฐแห่งแรก คือ สถานทูตสหรัฐในกรุงปารีส (ตรงกับรัชสมัยของแผ่นดินสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช)
ผู้เขียนพบข้อมูลที่น่าสนใจครับ….
ย้อนไป 20 ม.ค.2560 ทรัมป์สาบานตนเข้ารับตำแหน่งเป็นประธานาธิบดีคนที่ 45 ต่อจาก ปธน.โอบามา
ทำเนียบขาวได้สั่งให้เอกอัครราชทูตสหรัฐ ทุกคนที่ได้รับการแต่งตั้งทางการเมือง “ลาออก” จากตำแหน่งภายในวันพิธีเข้ารับตำแหน่ง ซึ่งตรงกับวันที่ 20 มกราคม 2560
เกิดคำถามมากมาย ถึงเหตุผล?
“นั่นถือเป็นแนวทางปฏิบัติทั่วไป” จอห์น เคอร์บี้ โฆษกกระทรวงต่างประเทศสหรัฐ กล่าวชี้แจง และเขาก็ยืนยันว่าเอกอัครราชทูตที่เป็นนักการทูตอาชีพ (CD) ของกระทรวงต่างประเทศสหรัฐ คิดเป็นร้อยละ 70 ของเอกอัครราชทูตสหรัฐระดับสูงที่ประจำอยู่ในต่างประเทศ-ไม่ได้ถูกขอให้ยื่นใบลาออก
เคอร์บี้แถลงต่อว่า… “เอกอัครราชทูตที่ได้รับการแต่งตั้งจากฝ่ายการเมืองจะถูกถอนตัวกลับ เนื่องจากพวกเขาเป็นตัวแทนของรัฐบาลชุดที่กำลังจะพ้นจากตำแหน่ง” (ที่ได้รับการแต่งตั้งในสมัยของประธานาธิบดีบารัค โอบามา)
“เมื่อคุณได้รับการแต่งตั้งเป็นเอกอัครราชทูตสหรัฐจากฝ่ายการเมืองเพื่อทำงานให้กับรัฐบาลชุดนี้หรือรัฐบาลชุดใดก็ตาม คุณไม่มีความคาดหวังที่จะอยู่ในตำแหน่งต่อไปหลังจากพิธีสาบานตนเข้ารับตำแหน่งของรัฐบาลชุดใหม่” เคอร์บี้กล่าว
ทรัมป์ได้รับเลือกตั้งกลับมาทำเนียบขาวเป็นรอบที่ 2 …สั่งลุยเต็มที่ก่อนวันพิธีสาบานตนเข้ารับตำแหน่งในวันที่ 20 ม.ค.2568
ทีมงานของทรัมป์ ออกคำสั่ง ซึ่งกระทรวงต่างประเทศสหรัฐ เป็นผู้แจกจ่ายคำสั่ง โดยสั่งให้ผู้ได้รับการแต่งตั้งจากฝ่ายการเมืองทั้งหมด ยื่นใบออกจากตำแหน่งก่อนทรัมป์เข้ารับตำแหน่ง
เดวิด อีเกิลส์ หัวหน้าทีมที่ทำงาน “การส่งมอบอำนาจ” ของประธานาธิบดี “เห็นด้วย” ว่าเป็นธรรมเนียมที่เอกอัครราชทูตทุกคนที่มาจากฝ่ายการเมือง (PA) จะต้องยื่นใบลาออกเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงฝ่ายบริหารในวอชิงตัน
เขาบอกกับสำนักข่าว Voice of America (VOA) ทางอีเมล์ว่า “ในอดีตเคยมีข้อยกเว้น ซึ่งก็จะได้รับการพิจารณาเป็นรายกรณี เนื่องจากเหตุผลทางอาชีพหรือส่วนตัว”
อดีตเอกอัครราชทูตสหรัฐประจำธนาคารพัฒนาเอเชีย นายเคอร์ติส เอส. ชิน กล่าวกับ VOA ว่า “สถานทูตสหรัฐทุกแห่งจะมีนักการทูตหมายเลข 2 ซึ่งเรียกว่า รองหัวหน้าคณะผู้แทน ซึ่งจะทำหน้าที่รักษาการแทนเอกอัครราชทูต หากไม่มีผู้มาแทนที่ที่ได้รับการรับรองจากวุฒิสภา งานของสถานทูตสหรัฐยังคงดำเนินต่อไป”
นอกจากนี้ ประธานาธิบดียังมีอำนาจแต่งตั้งหัวหน้าคณะกรรมาธิการระดับรัฐบาลกลางอิสระมากกว่า 50 คณะ เช่น คณะกรรมการธนาคารกลางสหรัฐ หรือคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ รวมไปถึงผู้พิพากษาของรัฐบาลกลาง เอกอัครราชทูต และสำนักงานอื่นๆ ของรัฐบาลกลางอีกด้วย
ล่าสุด…18 พ.ย.67 รูเบน บริเกตี้ เอกอัครราชทูตสหรัฐประจำแอฟริกาใต้ ประกาศว่า เขาจะลาออกมีผลในวันที่ 10 มกราคม 2568 ก่อนที่ทรัมป์เข้ารับตำแหน่ง
ก่อนหน้านั้นราว 1 สัปดาห์ เม็ก วิทแมน เอกอัครราชทูตสหรัฐประจำเคนยา ก็ยื่นหนังสือลาออกเช่นกัน หลังจากทรัมป์ได้รับชัยชนะในการเลือกตั้ง
เป็นหลักการ แนวทาง ที่มิได้ไปเจาะจง กลั่นแกล้งใคร เพราะเมื่อเข้ามาในวงการนี้ ก็ต้องยอมรับกติกานี้มาก่อนแล้ว
ทุกตำแหน่งในการบริหารประเทศเป็น “หัวใจ” ของการทำงานทางการเมืองที่ต้องได้รับความไว้วางใจ รู้ใจ เชื่อใจกัน เมื่อมีแนวทางการบริหารที่ “แตกต่าง” ก็ต้องพิจารณาตนเองก่อน
เรื่อง “กระบวนการถ่ายโอนอำนาจ” ระหว่างประธานาธิบดี ตามระบบของสหรัฐเป็นเรื่องน่าสนใจนะครับ….
แถมเป็นข้อมูลนะครับ….กรกฎาคม 2567 เคียร์ สตาร์เมอร์ กลายเป็นนายกฯอังกฤษในเวลาเพียง 1 วัน หลังจากพรรคของเขาคว้าชัยชนะในการเลือกตั้ง
ในขณะที่ทรัมป์ชนะเลือกตั้งในสหรัฐเมื่อวันที่ 5 พฤศจิกายน 2567 กลับต้องรอถึง 76 วัน กว่าจะเข้าดำรงตำแหน่ง ปธน.สหรัฐ
มิใช่เรื่องนักการทูตเพียงอาชีพเดียว ตำแหน่งที่รับผิดชอบ “พลังอำนาจของชาติ” ทางด้านเศรษฐกิจ การเงิน การคลัง ความมั่นคง ข่าวกรอง ฯลฯ ก็ต้องเป็นไปตามความพอใจของฝ่ายบริหารเป็นผู้เลือก
ซูซี่ ไวลส์ วัย 67 ปี สตรีผู้วางแผนการหาเสียงให้ทรัมป์จนชนะการเลือกตั้ง จะได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่ง หน.เจ้าหน้าที่ทำเนียบขาว (White House chief of staff) ถือเป็นผู้หญิงคนแรกที่ได้รับการเสนอชื่อให้ดำรงตำแหน่งนี้ในประวัติศาสตร์สหรัฐ
เธอจะเป็น “คนสำคัญ” ที่สุดที่คอยบริหารวาระงานและดูแลการดำเนินงานในแต่ละวัน และบริหารจัดการเจ้าหน้าที่ทำเนียบขาว
ตำแหน่งนี้สำคัญมากครับ….ทุลซี แก็บบาร์ด (Tulsi Gabbard) สตรีสวยคม เธอเป็น “ฮินดู” เคยเป็นทหารผ่านศึกจากรัฐฮาวาย เคยไปประจำการอยู่ในหน่วยแพทย์ในอิรัก มียศ พันโท จะได้รับการเสนอชื่อให้ดำรงตำแหน่ง ผอ.หน่วยข่าวกรองแห่งชาติ (NIA) ที่กำกับดูแลหน่วย CIA FBI และหน่วยงานความมั่นคงแห่งชาติ (NSA) ซึ่งมุ่งเน้นที่การทำงานชั้น “ลับที่สุด” ระดับโลก ซึ่งเธอจะต้องได้รับการรับรองจากวุฒิสภาก่อน…
โจโฉ เคยกล่าวไว้ว่า “ใช้คนแล้ว..อย่าระแวง..ถ้าระแวง..อย่าใช้..”
พลเอกนิพัทธ์ ทองเล็ก