สืบเนื่องเครือมติชนจัดการประกวดโครงการ ‘มติชนอวอร์ด 2024’ ทั้งผลงานประเภทเรื่องสั้น บทกวี และการ์ตูนสะท้อนสังคม 2024 โดยชิงเงินรางวัลรวมกว่า 4 แสนบาท ซึ่งมีผู้ประกวดส่งผลงานเข้าร่วมการประกวดทั้งสิ้น 894 ผลงาน โดยถูกคัดเลือกเหลือเพียง 24 ผลงาน ที่เข้ารอบตีพิมพ์ในนิตสารมติชนสุดสัปดาห์ ระหว่างเดือนเมษายน-พฤศจิกายน 2567 ที่ผ่านมานั้น
เมื่อวันที่ 16 ธันวาคม ที่อาคารสำนักงาน บริษัท มติชน จำกัด (มหาชน) เขตจตุจักร กรุงเทพฯ เครือมติชนจัดงานประกาศรางวัล ‘มติชนอวอร์ด 2024’ ได้แก่ รางวัลชนะเลิศประเภทการ์ตูนสะท้อนสังคมการเมือง, รางวัลชนะเลิศประเภทกวีนิพนธ์ และรางวัลชนะเลิศประเภทเรื่องสั้น พร้อมกับอีกหนึ่งรางวัลอันทรงเกียรติ “มติชนเกียรติยศ” ประจำปี 2567 ซึ่งปีนี้นับเป็นครั้งแรกของการมอบรางวัล
โดยมีผู้เข้ารับรางวัลจากการประกวดประเภท การ์ตูนสะท้อนสังคมการเมือง ดังนี้
การ์ตูนสะท้อนสังคมการเมือง รางวัลชนะเลิศ ได้แก่ ผู้ใช้นามปากกา “The Mitt” รับโล่ประกาศเกียรติคุณ พร้อมเงินรางวัล 50,000 บาท รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 ได้แก่ “ธ. รับ” รับมอบประกาศนียบัตรประกาศเกียรติคุณ รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 พร้อมเงินรางวัล 30,000 บาท และรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 ได้แก่ “Pai – toon” รับมอบประกาศนียบัตรประกาศเกียรติคุณ พร้อมเงินรางวัล 10,000 บาท มอบรางวัลโดย นายอรุณ วัชระสวัสดิ์
สำหรับผู้ที่ได้รางวัล ชนะเลิศ ได้แก่ ผู้ใช้นามปากกา The Mitt จากผลงานชื่อว่า ‘Animal Farm’
The Mitt กล่าวว่า ผลงานดังกล่าวมีความเกี่ยวข้องกับวรรณกรรม Animal Farm เพื่อสะท้อนสังคมในช่วงเวลานั้น ซึ่งแม้กระทั่งปัจจุบันก็ยังสะท้อนได้อยู่ โดยต้องการสะท้อนเรื่องการเมืองเป็นส่วนใหญ่
“ผมต้องการสื่อถึงนักการเมืองทุกท่าน โดยไม่เจาะจงใคร ถ้าเรายังทำพฤติกรรมเดิมๆ เล่นพรรคเล่นพวก ทำอะไรที่ไม่ตรงไปตรงมา ประเทศไทยก็จะอยู่ในวังวนเดิมๆ และกลุ่มคนก็จะลุกออกมาเพื่อแสดงความคิดเห็น ถ้าเป็นภาษาพระก็คือ ทุกข์ สมุทัย นิโรธมรรค ความหมายคือ เมื่อมีสิ่งนี้ย่อมมีสิ่งนี้ ถ้าพฤติกรรมนักการเมืองยังเป็นเหมือนเดิม และพฤติกรรมของคนที่อยู่ฝั่งตรงข้ามนักการเมืองก็จะกลับวนลูปมาเหมือนเดิม”
วันนี้ได้รับรางวัล รางวัลชนะเลิศ พร้อมรับโล่ประกาศเกียรติคุณ จากประเภท การ์ตูนสะท้อนสังคมการเมือง จาก มติชนอวอร์ด ประจำปี 2567 ขอขอบคุณมติชน ในชั่วโมงนี้ สำนักพิมพ์ต่างๆ ต่างล้มหายตายจากไปค่อนข้างเยอะ คนที่เขียนการ์ตูนไม่มีพื้นที่ให้ลง ไม่มีพื้นที่ที่ซื้องาน ถ้าคนที่มีความสนใจอยากเขียนงานอย่างเดียวจะอยู่ลำบากมาก
ถ้ามติชนยังมีพื้นที่แบบนี้ ก็จะสร้างนักวาด นักเขียนรุ่นใหม่ขึ้นมาเรื่อย ๆ สร้างความเคลื่อนไหวของการ์ตูนไทย และถ้าเราไม่มีพื้นที่เช่นนี้ การ์ตูนก็คงสูญพันธุ์ เหมือนที่พี่อรุณ วัชระสวัสดิ์ได้กล่าวไว้ เพราะทุกวันนี้แผงหนังสือหายหมดแล้ว ร้านสะดวกซื้อก็แทบไม่มีขายแล้ว เมื่อก่อนผมก็ไปซื้อการ์ตูนอ่าน ไม่ว่าจะเป็นนิยามภาพ หรือขายหัวเราะ แต่ทุกวันนี้ถ้าเราอยากอ่าน แทบหาซื้อไม่ได้” เจ้าของนามปากกา The Mitt กล่าว
ด้าน ผู้ใช้นามปากกา “ธ. รับ” ซึ่งได้รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 จากผลงาน Red dragon กล่าวว่า ภาพที่ได้รับรางวัลในวันนี้เป็นภาพวาดมังกรแดง ตนตั้งต้นมาจากสังเกตเห็นสถานการณ์ปัจจุบันที่นักธุรกิจจีนแผ่นดินใหญ่กำลังเติบโตเร็วมากๆ โดยเฉพาะในตัวเมืองใหญ่ ซึ่งก็เข้าใจได้ เพราะการเข้ามาของนักธุรกิจเป็นเรื่องปกติในโลกปัจจุบัน เพื่อการเติบโตของธุรกิจจากจีนแผ่นดินใหญ่
แต่ความน่ากังวลใจคือ มีคนจับตามองอยู่เหมือนกัน จริงๆ มันก็ช่วยในแง่ทางธุรกิจ แต่ในแง่คนตัวเล็กตัวน้อย ธุรกิจเล็กๆ ของคนไทยกันเอง รู้สึกว่าจะได้รับความสั่นคลอนจากการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ฮวบฮาบขนาดนี้ก็ได้ ก็เรื่องน่าเป็นกังวล
อีกทั้งเศรษฐกิจการเมือง มันเป็นเรื่องที่มันเชื่อมกันหมด เพราะเป็นเรื่องของการออกนโยบายที่นักการเมืองจะเปิดโอกาสให้นักธุรกิจในแบบใดแบบหนึ่งเติบโต
“อยากฝากถึงนักเขียนการ์ตูนรุ่นใหม่ ผมว่ารุ่นใหม่เยอะมากขึ้นเรื่อยๆ กว่าตอนผมเป็นเด็ก เพราะมีแพลตฟอร์มออนไลน์ที่จะนำเสนอผลงานได้ วาดผลงานได้ โดยที่ไม่จำเป็นต้องติดต่อกับสำนักพิมพ์โดยตรง เชื่อว่านักวาดรุ่นใหม่มาถูกทางแล้ว ถ้ามีแพชชั่นในการวาดภาพ คำว่าศิลปะ มันเป็นสิ่งที่ยิ่งใหญ่ มันเป็นการบันทึกเหตุการณ์ความทรงจำ และเป็นส่วนใหญ่ของตัวเราด้วย
อยากให้เขาพยามต่อไปเรื่อยๆ ให้ระลึกไว้ต่อไปเรื่อยๆ ว่าสิ่งที่พวกเขาทำอยู่เป็นสิ่งที่ยิ่งใหญ่ และอยู่กับตัวเรามาโดยตลอดตั้งแต่ประวัติศาสตร์ อย่ายอมแพ้ ผมต้องขอบคุณที่บ้านที่ให้ความสนับสนุนเรื่องการวาดการ์ตูน งานทำงานศิลปะ ขอบคุณญาติๆ ของผมที่ซื้ออุปกรณ์การทำงานให้” เจ้าของผลงาน Red dragon กล่าว
ด้าน เจ้าของนามปากกา “Pai – toon” ผู้ได้รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 กล่าวว่า สำหรับผลงานที่ได้รับรางวัลในวันนี้ ชื่อผลงานว่า ‘มากี่โมง’ เพราะรู้สึกว่า ระยะเวลาในการตัดสินผลงานมันยาวนานมาก จึงนึกถึงปัญหาสังคมการเมือง ที่น่าจะแก้ไม่ได้ในเร็วๆ นี้ จนเจอปัญหาด้านความเท่าเทียม ปัญหาของสังคมในหลายๆ อย่างพอเราพูดถึงเรื่องรอการแก้ปัญหา ก็เลยนึกถึงเรื่องการรอรถเมล์
“ผมเคยรอรถเมล์ถึง 2 ชั่วโมง แล้วก็ไม่รู้ว่าเมื่อไหร่จะมา จึงนำ 2 เรื่องนี้มารวมกัน ก็คือการรอการแก้ปัญหา ซึ่งรอนานเหมือนการรอรถเมล์
อีกทั้งภาพที่วาดออกมาก็สะท้อนถึงปัญญาที่เราเห็นๆ กันอยู่ ในปัจจุบัน ทั้งเรื่องความยุติธรรมความเท่าเทียม และเรื่องอื่นๆ ในสังคม สิ่งที่อยากเห็นในการพัฒนาเราอยากจะนำเสนอภาพนี้ เพราะประเทศไทยเรายังมีปัญหาเรื่องเช่นนี้อยู่ และเป็นปัญญาที่ทุกคนได้เห็น ได้รับผลกระทบทุกวัน และยังไม่สามารถแก้ไขได้สักที รอนานมากทั้งที่ควรจะแก้ได้แล้ว”
สำหรับการได้รับรางวัลในวันนี้ จริงๆ ผลงานนี้ไม่ได้คาดหวังว่าจะได้รางวัล แต่พอได้เห็นผลงานลง มติชนสุดสัปดาห์ ก็รู้สึกดีใจมากและรู้สึกได้รับเลือกเป็น 1 ใน 3 ของรางวัลก็ดีใจมากแล้ว
“ฝากถึงคนที่ท้อแท้ แนะนำให้วาดไปเรื่อยๆ ถ้าเหนื่อยให้พักเปลี่ยนไปทำอย่างอื่นให้มีชีวิตชีวา สดชื่นขึ้น ค่อยมาวาดต่อ ไม่ใช่ตะบี้ตะบันวาดไปเรื่อยๆ จริงๆผมเป็นกราฟิกดีไซน์ก็จะทำงานแนวนี้อยู่แล้ว มีทั้งสติ๊กเกอร์ไลน์ วาดการ์ตูนลงเพจบ้าง เป็นการ์ตูนตลก มุก 3 บาท 5 บาทบ้าง ไม่ได้วาดแนวๆ การเมืองเลย
การวาดการ์ตูนสะท้อนสังคมการเมือง ในครั้งนี้ เป็นการพลิกบทบาทใหม่ จะเป็นสิ่งที่ซีเรียสขึ้นมาอีกสเตปหนึ่ง เป็นงานที่ต้องคิดเยอะ ทบทวน มีความจริงจังมากขึ้นอีกสเต็ปหนึ่ง ที่ทำปัจจุบันก็ไม่ได้ซีเรียสเท่านี้ เป็นแนวแซวมากว่า” เจ้าของนามปากกา Pai – toon กล่าวปิดท้าย