‘พิชัย’โชว์Think Thailand แยกชิบูย่า เชื่อมนักคิด‘ซอฟต์พาวเวอร์ไทย’สู่ญี่ปุ่น

 ‘พิชัย’โชว์Think Thailand แยกชิบูย่า เชื่อมนักคิด‘ซอฟต์พาวเวอร์ไทย’สู่ญี่ปุ่น

ารกิจการเดินทางเพื่อไปส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ นำโดย พิชัย นริพทะพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ส่งท้ายปี 2567 ที่ผ่านมา ปักหมุดเยือนกรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น ระหว่างวันที่ 20-23 ธันวาคม 2567 บนเป้าหมายกระชับความสัมพันธ์และขยายโอกาสทางการค้าการลงทุนไทย-ญี่ปุ่น ด้วยการค้าระหว่างไทยกับญี่ปุ่น ปี 2566 ญี่ปุ่นเป็นคู่ค้าอันดับที่ 3 ของไทย มีมูลค่าการค้าระหว่างกัน 55,789 ล้านเหรียญสหรัฐ ฝ่ายไทยส่งออกไปญี่ปุ่น 24,594 ล้านเหรียญสหรัฐ สินค้าส่งออกสำคัญ อาทิ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ไก่แปรรูป เครื่องจักรและส่วนประกอบของเครื่องจักรกล แผงวงจรไฟฟ้า ขณะที่ไทยนำเข้าจากญี่ปุ่น 31,195 ล้านเหรียญสหรัฐ สินค้านำเข้าสำคัญ อาทิ เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ เครื่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบ ส่วนประกอบและอุปกรณ์ยานยนต์ ถือได้ว่า ญี่ปุ่น เป็นตลาดที่มีศักยภาพและอนาคตของส่งออกไทย  

ภารกิจแรก นายพิชัยร่วมกล่าวเปิดงาน ASEAN-Japan Economic Co-Creation Forum 2024 ในหัวข้อ “ยานยนต์ยุคใหม่ ดิจิทัลและปัญญาประดิษฐ์ และการเปลี่ยนผ่านเข้าสู่พลังงานสีเขียว” ตามคำเชิญของ นายมูโตะ โยจิ (MUTO Yoji) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเศรษฐกิจ การค้า และอุตสาหกรรมของญี่ปุ่น (METI) อาเซียนและญี่ปุ่น เป็นเวทีแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ มุมมองและแนวคิดในการพัฒนาเศรษฐกิจไปสู่ยุคเศรษฐกิจดิจิทัลที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืน 

ADVERTISMENT

คำกล่าวตอนหนึ่ง นายพิชัยระบุว่า “ปัจจุบันรัฐบาลไทยให้ความสำคัญกับการดึงดูดการลงทุนในอุตสาหกรรมแห่งอนาคต อาทิ แผ่นวงจรพิมพ์ (PCB) เซมิคอนดักเตอร์ ดิจิทัล AI ยานยนต์ยุคใหม่ และพลังงานสะอาด ซึ่งไทยมีความพร้อมในการเตรียมโครงสร้างพื้นฐาน ที่จะเป็นฐานการผลิตอุตสาหกรรมใหม่ พร้อมเป็นฐานการผลิตและที่ตั้งของ Data Center ของอาเซียน รวมถึงการนำเทคโนโลยีมาปรับใช้กับการพัฒนาพลังงานสะอาด ซึ่งจะช่วยให้เกิดการพัฒนาเศรษฐกิจอย่างยั่งยืนและสร้างความมั่นคงด้านพลังงานของไทย”  

ADVERTISMENT

อีกทั้งตอกย้ำว่า อาเซียนและญี่ปุ่นเห็นถึงความสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมอย่างยั่งยืนร่วมกัน จึงได้จัดทำข้อริเริ่ม “การออกแบบอนาคตและแผนปฏิบัติการสำหรับการร่วมสร้างสรรค์ด้านนวัตกรรมและความยั่งยืนของความร่วมมือทางเศรษฐกิจอาเซียน-ญี่ปุ่น” และอยู่ระหว่างจัดทำแผนแม่บทสำหรับอุตสาหกรรมยานยนต์ยุคต่อไประหว่างอาเซียน-ญี่ปุ่น และแผนการดำเนินการร่วมสร้างสรรค์ต่อนวัตกรรมปัญญาประดิษฐ์ระหว่างอาเซียนและญี่ปุ่น คาดว่าจะแล้วเสร็จกลางปี 2568 เพื่อให้ความเห็นชอบทั้งสองแผนดังกล่าวในการประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียน-ญี่ปุ่น ครั้งที่ 31 ซึ่งจะจัดขึ้นปลายปี 2568 ซึ่งปี 2566 การค้าระหว่างอาเซียนกับญี่ปุ่น มีมูลค่า 241,100 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยญี่ปุ่นเป็นคู่ค้าอันดับ 4 ของอาเซียน ขณะที่ญี่ปุ่นมีการลงทุนโดยตรงในอาเซียน มูลค่า 14,500 ล้านเหรียญสหรัฐ เป็นประเทศที่ลงทุนในอาเซียนมากที่สุดเป็นอันดับ 5 

อีกภารกิจ คือ ขึ้นบรรยายที่มหาวิทยาลัยโตเกียว (University of Tokyo) หัวข้อ “การเมืองและเศรษฐกิจไทยในศตวรรษที่ 21 และนโยบายของรัฐบาลปัจจุบัน” หรือ Thai Politics and Economy in the 21st Century and the Policy Direction of the Current Government ที่มีนักลงทุน สมาคมที่เกี่ยวข้องกับการค้า การลงทุน นักวิชาการ นักศึกษาญี่ปุ่น และสื่อมวลชนท้องถิ่น ซึ่ง รมต.พิชัยให้ความมั่นใจบนเวทีว่า ภายใต้การบริหารของรัฐบาลชุดปัจจุบัน กำลังเร่งผลักดันการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย เร่งแก้ปัญหาต่างๆ ที่กดการขยายตัวทางเศรษฐกิจ อาทิ ปัญหาหนี้ภาคครัวเรือน จูงใจการดึงดูดภาคลงทุนต่างๆ จากทั่วโลก โดยเฉพาะญี่ปุ่นที่เชื่อว่าในปี 2568 จะกลับมาเป็นนักลงทุนอันดับ 1 ในไทย รวมถึงการเมืองยังมีเสถียรภาพ และประกาศว่าไทยมีความพร้อมด้านโครงสร้างพื้นฐาน ทั้งไฟฟ้าและอื่นๆ เตรียมไว้รองรับการลงทุนของอุตสาหกรรมใหม่ อย่าง PCB Data Center  

“ในการเยือนญี่ปุ่นครั้งนี้ ได้พบปะนักลงทุนรายใหญ่ของญี่ปุ่น 10 กว่าราย ทั้ง GS Yuasa International, Extrabold Corporation, Hitachi, Scheme Verge, SIIX, Mitsubishi Electric Corporation และ Softbank เป็นต้น รวมถึง JETRO, JICA, แบงก์กรุงเทพในญี่ปุ่น สำนักงาน BOI โตเกียว และเจโทร ไจก้า ผมได้ชวนให้มาลงทุนในไทยเพิ่มขึ้น ก็ได้รับการยืนยันว่าจะมาลงทุนในไทยเพิ่มมากขึ้น เชื่อว่านักลงทุนญี่ปุ่นทวงแชมป์การลงทุนในไทยได้ตลอด ซึ่งนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นคนใหม่ (ชิเงรุ อิชิบะ) ประกาศว่าจะทุ่มงบประมาณกว่า 10 ล้านล้านเยน (ประมาณ 2.2 ล้านล้านบาท) เพื่อสนับสนุนภาคอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์และปัญญาประดิษฐ์ (AI) ของญี่ปุ่นในช่วง 10 ปีข้างหน้า” 

รมต.พิชัยกล่าวถึงการพบปะนักลงทุนในญี่ปุ่นรายหนึ่ง กับผู้บริหารของ Nippon Steel Corporation (NSC) บริษัทผู้ผลิตเหล็กแบบครบวงจรที่มีขนาดใหญ่อันดับที่ 4 ของโลก โดยไทยเป็นประเทศที่ทาง NSC มาลงทุนเป็นอันดับสาม รองจากอเมริกาและอินเดีย NSC โดยบริษัทนี้ยังสนใจที่จะมาลงทุนเพิ่มในไทย ซึ่งระบบการผลิตเหล็กของเขาเป็นแบบครบวงจร แม้ยังมีปัญหาเรื่องการถูกดัมพ์ราคาสินค้าและมีสินค้าจากต่างประเทศเข้ามาเยอะจนอาจเป็นปัญหาได้ แต่ทางบริษัทมั่นใจว่าจะลงทุนที่ไทย ซึ่ง NSC ลงทุนที่ไทยมาแล้ว 60 ปี และจะมาลงทุนอีกหลายหมื่นล้านบาท 

“เราจำเป็นต้องช่วยแก้ไขอุปสรรคทางการค้าการลงทุน ซึ่ง Nippon Steel มีความมุ่งมั่นและตั้งใจจริงที่จะทำธุรกิจกับไทยอย่างยั่งยืนจึงเข้ามาลงทุนสร้างโรงงานผลิตในไทย จึงอยากขอให้ช่วยสนับสนุนบริษัทเหล่านี้ที่ต้องแข่งขันกับสินค้านำเข้าราคาถูกแต่ไม่ได้มาตรฐาน ผมเล่าว่าได้มีการตั้งคณะทำงานป้องกันสินค้านำเข้าที่ไม่ได้มาตรฐาน นอกจากนี้ ยังมีการใช้มาตรการตอบโต้การทุ่มตลาด (Anti-dumping) จึงอยากขอให้ Nippon Steel มั่นใจว่ากระทรวงพาณิชย์ จะให้ความร่วมมืออย่างเต็มที่ต่อการป้องกันไม่ให้สินค้าที่ไม่ได้มาตรฐานเข้าสู่ประเทศไทย” 

ภารกิจด้านกิจกรรมโปรโมตสินค้าและบริการของไทย โดยเฉพาะการชูสินค้าและบริการที่เป็นซอฟต์พาวเวอร์ของไทย โดยหลังการเข้าเยี่ยมชมศูนย์การค้า ณ Daikanyama T-Site กรุงโตเกียว ที่ได้นำสินค้าไทยหลากหลายแบบเข้าไปจัดโชว์และจำหน่ายแล้ว ยังได้เกิดความร่วมมือลงนามบันทึกความร่วมมือและบันทึกความเข้าใจ รวม 3 กิจกรรม ประกอบด้วย 1.การบันทึกความร่วมมือระหว่างกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ (DITP) กับบริษัท MIARAWASHIYA LLC ในการเผยแพร่ Soft Power ไทยผ่านมังงะ (การ์ตูน) ญี่ปุ่น 2.การบันทึกความร่วมมือ DITP และกับบริษัท KENELEPHANT Co.,Ltd. ในการจำหน่ายและเผยแพร่ Soft Power ไทยผ่านตู้กาชาปอง (ไข่หยอดเหรียญ)นำร่องสินค้าไทยเข้าไปอยู่ในกาชาปองของญี่ปุ่น 5 รายการ คือ น้องมะม่วง เบียร์ช้าง มาม่า เงาะกระป๋อง และรถไฟไทย และ 3.การบันทึกความเข้าใจระหว่างสถาบันส่งเสริมศิลปหัตถกรรมไทย (SACIT) กับบริษัท OMITA ในการใช้ผ้าไทยภายใต้โครงการ “ผ้าไทยใส่ให้สนุก” ผลิตกิโมโนจำหน่ายทั่วประเทศญี่ปุ่น ช่วยสร้างการรับรู้สินค้าและวัฒนธรรมไทยในสายตาคนญี่ปุ่นและนักท่องเที่ยวทั่วโลกที่เยือนญี่ปุ่นด้วย 

ด้วยบรรยากาศเย็นๆ สบายๆ และการออกมาใช้ชีวิตก่อนเข้าเทศกาลคริสต์มาสและปีใหม่ จึงได้เห็นการหยิบชมและเลือกซื้อสินค้าที่นำมาแสดงไม่น้อย บางสินค้าหมดภายในไม่กี่นาที เช่น เครื่องหอมสูตรสมุนไพรไทย ยาดมกลิ่นพืชไทย เป็นต้น 

อีกกิจกรรมที่เป็นไฮไลต์การเยือนญี่ปุ่นครั้งนี้ คือ การประชาสัมพันธ์ยกระดับภาพลักษณ์แบรนด์สินค้าและบริการไทย ภายใต้ Think Thailand-Next Level ณ ห้าแยกชิบูย่า เป็นย่านที่พลุกพล่านที่สุดหนึ่งในแลนด์มาร์กของกรุงโตเกียว โดยเปิดฉายคลิปเนื้อหาสินค้าและบริการไทย ผ่านบิลบอร์ดบนอาคารสูงกลางแยกชิบูย่า โดยฉายทุก 10 นาที ความยาว 30 วินาที ต่อเนื่องเป็นเวลา 1 เดือน ตั้งแต่ 30 พฤศจิกายน-29 ธันวาคม 2567 ซึ่งเกิดการมองเห็น 2.4 ล้านคนต่อวัน หรือกว่า 72 ล้านคน ภายใน 1 เดือน 

ซึ่งเป็นการจัดกิจกรรมโปรโมตสินค้าและบริการไทย ภายใต้ Think Thailand-Next Level ต่อเนื่องจากนิวยอร์กและลอนดอน ตามด้วยโตเกียว และในปี 2568 แผนจัดกิจกรรมลักษณะนี้ที่ดูไบ รวมถึงจุดการค้าที่สำคัญทั่วโลก เพื่อสร้างการรับรู้ซอฟต์พาวเวอร์ไทย ควบคู่กับการเจรจาซื้อขายปกติ 

“การเดินทางมาเยือนญี่ปุ่นครั้งนี้ ดีกว่าที่ผมคาดหวังไว้เยอะมาก ได้หารือและชี้แจงประเด็นต่างๆ กับนักธุรกิจ นักลงทุน นักวิชาการและสื่อของญี่ปุ่น นักลงทุนญี่ปุ่นรายใหญ่หลายบริษัทก็แสดงความพร้อมจะมาลงทุนที่ไทย รู้สึกดีใจว่ามาในครั้งนี้แนวโน้มการลงทุนดี เชื่อว่าญี่ปุ่นจะกลับมาเป็นแชมป์การลงทุนของไทยอย่างแน่นอน คนญี่ปุ่นมาอยู่เมืองไทยก็มีความรู้สึกเหมือนบ้านชื่นชอบที่จะอยู่เมืองไทยเพราะวัฒนธรรมมีความเชื่อมโยงกันในทุกระดับ ซึ่งจะช่วยเพิ่มความร่วมมือระหว่าง 2 ประเทศอีกในอนาคต ที่ผ่านมาไทยส่งออกมาญี่ปุ่นติดลบ แต่เชื่อว่าการรุกตลาดจากนี้ จะทำให้ปี 2568 นี้ ส่งออกมาญี่ปุ่นพลิกกลับมาเป็นบวกอีกครั้ง และควรขยายตัวได้ใกล้เคียงกับเป้าส่งออกรวมของปี 2568 นี้ ผมมองไว้บวก 2-3% ส่วนซอฟต์พาวเวอร์แม้จะยังตีออกมาเป็นมูลค่าไม่ได้โดยตรง แต่ในอนาคตจะสะท้อนจากยอดขายสินค้าที่มีแนวคิดจากซอฟต์พาวเวอร์นั้นๆ” 

ไม่แค่นั้น ยังได้เจอปัญหาและโอกาสส่งออกสินค้าไทยเข้าญี่ปุ่นด้วย โดยเฉพาะความต้องการนำเข้ากล้วยหอมทองของญี่ปุ่นสูงมาก ปีละกว่า 1 ล้านตัน ขณะที่ส่งออกผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังไทยลดลง จึงมีแนวคิดปรับสมดุลการปลูกและส่งออก ระหว่างมันสำปะหลังกับกล้วยหอมทอง หลังจากการเยือนญี่ปุ่นครั้งนี้ 

นวลนิตย์ บัวด้วง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image