ผู้เขียน | ออร์นา ซากิฟ |
---|
วันรำลึกถึงเหตุการณ์การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวยิวสากลประจำปี 2568
80 ปีหลังเหตุการณ์ที่เอาชวิทซ์
การเรียกร้องให้เผชิญหน้ากับความเกลียดชังและการสร้างอนาคตที่ดีกว่า
องค์การสหประชาชาติเล็งเห็นถึงความสำคัญของการรักษาความทรงจำที่เกี่ยวกับเหตุการณ์การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวยิว หรือเป็นที่รู้จักกันว่า โฮโลคอสต์ โดยกำหนดให้วันที่ 27 มกราคมของทุกปีเป็นวันรำลึกถึงเหตุการณ์การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวยิวสากล เพื่อให้ประชาคมโลกจดจำได้ว่า ในวันนั้นเมื่อปี พ.ศ.2488 กองทัพโซเวียตสามารถเข้าไปปลดปล่อยค่ายกักกันและค่ายสังหารเอาชวิทซ์ของนาซีได้เป็นผลสำเร็จ ดังนั้น ปีนี้จึงเป็นปีที่การปลดปล่อยค่ายเอาชวิทซ์เวียนมาครบ 80 ปี แม้ว่าเราจะเห็นถึงความสำคัญของการรำลึกถึงเหตุการณ์การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวยิว แต่ความทรงจำเหล่านี้จะไม่มีความหมายเลย หากเราไม่นำบทเรียนที่ได้จากเหตุการณ์นี้มาปรับใช้ตามความเป็นจริงในปัจจุบัน ความน่ากลัวของการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวยิวย้ำเตือนให้เราเห็นถึงผลร้ายของสังคม ที่ยอมรับหรือแม้กระทั่งสนับสนุนลัทธิการต่อต้านชาวยิว การเหยียดเชื้อชาติ และความเกลียดชัง

ในอิสราเอล เหตุการณ์การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวยิวมิได้เป็นเพียงบทหนึ่งในหนังสือประวัติศาสตร์เท่านั้น แต่ยังเป็นความทรงจำที่มีชีวิต และเป็นบาดแผลอันเจ็บปวดของประเทศอันมีนัยแห่งเรื่องนี้อยู่ในวลีที่ว่า “ต้องไม่เกิดขึ้นอีก” โฮโลคอสต์เป็นเหตุการณ์ที่คร่าชีวิตของชาวยิวไปถึงหนึ่งในสามของประชากรชาวยิวทั่วโลก ทิ้งรอยแผลบาดลึกที่แม้กระทั่งทุกวันนี้ก็ยังไม่จางหาย แม้เวลาได้ผ่านไปแล้วถึงแปดทศวรรษก็ตาม แต่ประชากรชาวยิวทั่วโลกก็ยังคงมีจำนวนน้อยกว่าชาวยิวในช่วงก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 เมื่อ พ.ศ.2482 อันส่งผลต่อเนื่องให้มีการสถาปนาประเทศอิสราเอล โดยมีสาเหตุสำคัญประการหนึ่งก็เพื่อตอบสนองต่อความจำเป็นอย่างเร่งด่วน ที่จะต้องมีแผ่นดินที่ปลอดภัยสำหรับชาวยิว
ความน่าสะพรึงกลัวของเหตุการณ์การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวยิว ยังคงเป็นปัจจัยสำคัญซึ่งหล่อหลอมจิตสำนึกร่วมของชาวอิสราเอลทุกคนมาจนถึงปัจจุบัน แต่สำหรับภูมิภาคเอเชียนั้นกลับเป็นเรื่องตรงกันข้าม กล่าวคือ โฮโลคอสต์ดูจะเป็นเรื่องไกลตัว เป็นเรื่องที่ห่างไกลทั้งทางประวัติศาสตร์และทางภูมิศาสตร์ นอกจากนั้นยังไม่มีผลกระทบโดยตรงอย่างที่เกิดขึ้นในโลกตะวันตกอีกด้วย ระยะห่างดังกล่าวเป็นความท้าทายอย่างยิ่งในการให้ความรู้และการเรียนรู้เหตุการณ์อันสะเทือนขวัญนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการกระตุ้นให้คนรุ่นใหม่ผู้ซึ่งโชคดีที่ไม่เคยประสบเหตุอันโหดร้ายนั้นด้วยตนเอง แต่อย่างไรก็ตาม หากเราไม่ให้ความรู้แก่คนรุ่นใหม่เรื่องโศกนาฏกรรมที่เคยเกิดขึ้นมาแล้วในอดีต พวกเขาจะไม่สามารถเข้าใจเหตุการณ์ในปัจจุบันที่พบเห็นได้จากสื่อสังคมออนไลน์และอินเตอร์เน็ตเลยแม้แต่น้อย

ในขณะที่เรารำลึกถึงเหตุการณ์การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวยิวอยู่นี้ เราก็ต้องเผชิญกับความเป็นจริงอันน่าหดหู่ใจในปัจจุบัน นั่นคือ การโจมตีอย่างโหดเหี้ยมทารุณของกลุ่มก่อการร้ายฮามาสต่อพลเรือนชาวอิสราเอลเมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2566 เหตุการณ์นี้เป็นเครื่องเตือนใจอันเจ็บปวดว่า ความเกลียดชัง การยุยง การไม่ยอมรับความแตกต่างของผู้อื่น และการใช้ความรุนแรงต่อชาวยิว ยังคงดำเนินอยู่ในโลกของเรา ในวันที่ 7 ตุลาคมนั้น มีผู้ถูกสังหารอย่างทารุณมากกว่า 1,200 คน มีผู้ได้รับบาดเจ็บหลายพันคน ถูกลักพาตัวหลายร้อยคน และครอบครัวอีกนับไม่ถ้วนต้องแตกสลาย ผู้บริสุทธิ์ชาวอิสราเอล ชาวไทย และผู้คนหลายสัญชาติถูกสังหาร เพียงเพราะความเกลียดชังที่ไร้เหตุผล แม้ว่าเหตุการณ์การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวยิวจะไม่สามารถนำไปเปรียบเทียบได้กับอาชญากรรมสงครามอื่นใด แต่ก็มีความคล้ายคลึงกันอย่างน่าขนลุก นั่นคือ ความคล้ายคลึงกันระหว่างความรุนแรงที่กลุ่มก่อการร้ายฮามาสได้ไตร่ตรองวางแผนไว้อย่างชัดเจน กับความโหดร้ายของการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวยิวอย่างเป็นระบบโดยพวก

นาซี เป็นเรื่องที่น่าสลดใจเป็นอย่างยิ่ง ที่เหยื่อบางรายของการโจมตีอันน่าสยดสยองของกลุ่มก่อการร้ายฮามาสเมื่อวันที่ 7 ตุลาคม เป็นผู้โชคดีที่รอดชีวิตจากเหตุการณ์การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวยิว ทั้งๆ ที่พวกเขาจะรอดชีวิตมาได้หลังจากที่ต้องทนทุกข์ทรมานเพราะถูกพวกนาซีกดขี่ข่มเหงอย่างทารุณ แต่กลับต้องมาถูกกลุ่มก่อการร้ายฮามาสสังหารในอีก 80 ปีต่อมา
แปดทศวรรษผ่านไปนับตั้งแต่การปลดปล่อยค่ายมรณะเอาชวิทซ์และการสิ้นสุดของสงครามโลกครั้งที่สอง แต่ในวันที่ 7 ตุลาคม 2566 เรากลับพบว่าตัวเองต้องเผชิญกับความเป็นจริงอันน่าตกตะลึงเช่นเดิม นั่นคือความเกลียดชังและการใช้ความรุนแรงที่มีเป้าหมายต่อผู้ซึ่งมีชาติพันธุ์ที่แตกต่างกัน ขณะที่เราได้เห็นเหตุการณ์อันไร้มนุษยธรรมที่เกิดขึ้นล่าสุดซึ่งมีการวางแผนไว้ล่วงหน้าอย่างรอบคอบและละเอียดชัดเจน โดยมีหลักฐานยืนยันจากหนังสือคู่มือแนะนำวิธีก่ออาชญากรรมอันน่าขนลุก เพื่อให้ผู้ก่อการร้ายฮามาสปฏิบัติตาม เราถูกบังคับให้ต้องเผชิญกับความจริงอันเจ็บปวด นั่นก็คือ โลกล้มเหลวในการรักษาคำมั่นสัญญาที่ว่า “ต้องไม่เกิดขึ้นอีก”



ในโอกาสครบรอบ 80 ปีของการปลดปล่อยค่ายกักกันเอาชวิทซ์ ความเชื่อมโยงระหว่างการศึกษาและการป้องกันการกระทำทารุณก็เห็นได้ชัดเจนยิ่งขึ้น องค์กรก่อการร้ายอย่างเช่นฮามาส นำการศึกษามาใช้ในทางที่ผิด เพื่อปลุกปั่นยุยงให้เยาวชนลุกขึ้นมาต่อต้านชาวยิวและชาวอิสราเอล ทั้งยังปลูกฝังความเกลียดชังและชักนำความคิดของเยาวชนไปในทางไม่สร้างสรรค์ ในวันรำลึกถึงเหตุการณ์การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวยิว สากลนี้ ทุกประเทศทั่วโลกต้องยืนหยัดมุ่งมั่นที่จะให้มีการศึกษาอย่างครอบคลุม รอบด้านและเป็นกลาง ในขณะเดียวกันก็ต้องบ่มเพาะให้เยาวชนมีความเข้าใจอย่างถูกต้อง มีความอดทนอดกลั้น และเห็นคุณค่าของสันติภาพที่สามารถท้าทายพลังแห่งความเกลียดชัง การเหยียดเชื้อชาติ และการเลือกปฏิบัติ ที่ยังคงดำรงอยู่ในโลกของเรา
ในค่ำคืนนี้ เราจุดเทียนหกเล่มเพื่อเป็นเกียรติแก่ผู้บริสุทธิ์ 6 ล้านคนที่ตกเป็นเหยื่อของการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวยิว เราต้องมีความรับผิดชอบร่วมกันต่อโลกในปัจจุบันและในอนาคตที่จะมาถึง เป็นหน้าที่ของเราที่ต้องให้การศึกษาแก่เยาวชน เพื่อปลูกฝังคุณธรรม ปฏิเสธความเกลียดชังและการใช้ความรุนแรง เป็นความจำเป็นอย่างยิ่งที่การเรียกร้องให้ลงมือกระทำนั้นต้องชัดเจน กล่าวคือ เราต้องทำงานร่วมกันอย่างไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย เพื่อให้แน่ใจว่า ความน่ากลัวของเหตุการณ์การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวยิวที่เกิดขึ้นมาแล้วในอดีต จะถูกจำกัดให้เป็นเพียงบทหนึ่งของประวัติศาสตร์เท่านั้น

ในวันนี้ที่เรารำลึกถึงเหตุการณ์การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวยิวสากล และวันครบรอบ 80 ปีของการปลดปล่อยค่ายมรณะเอาชวิทซ์ ขอให้ประชาคมโลกร่วมมือร่วมใจกัน แสดงเจตนารมณ์ที่จะเรียนรู้บทเรียนในอดีตและสร้างอนาคตที่ปราศจากความเกลียดชังและการใช้ความรุนแรงในทุกรูปแบบ ขอให้เรายึดมั่นในคำสัญญาต่อวลีที่ว่า “ต้องไม่เกิดขึ้นอีก” ก้องกังวานผ่านยุคสมัยต่อไปอีกหลายชั่วอายุคน เพื่อให้เป็นแสงแห่งความหวังสำหรับโลกที่เป็นหนึ่งเดียวกัน โลกที่ปฏิเสธการไม่ยอมรับความแตกต่างและความทารุณโหดร้าย
ออร์นา ซากิฟ
เอกอัครราชทูตอิสราเอลประจำประเทศไทย