มาริษา เจียรวนนท์ นำ‘เชฟแคร์ส’ ปรุงอาหารไทยจับใจผู้นำโลกในเวที‘WEF’

ปี 2568 “เชฟแคร์ส” กำลังก้าวขึ้นสู่ปีที่ 5 โครงการนี้มีจุดเริ่มจากแรงบันดาลใจของ “มาริษา เจียรวนนท์” ประธานบริหารและผู้ก่อตั้งมูลนิธิเชฟแคร์ส

ซึ่งที่ผ่านมาหลายคนอาจได้สัมผัสเธอในมุมแค่เพียงว่าสตรีชาวเกาหลีใต้ผู้นี้ คือ หลังบ้านของ “สุภกิต เจียรวนนท์” ประธานกรรมการเครือเจริญโภคภัณฑ์ และประธานกรรมการ บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือซีพีเอฟ ผู้ผลิตอาหารครบวงจรของไทยเท่านั้น

โปรโมต Thai Gastronomy to The World

แต่เมื่อไม่นานมานี้ ภาพของ “มาริษา” นำทีมมูลนิธิเชฟแคร์สทั้ง เชฟชุมพล แจ้งไพร ประธานอนุกรรมการคณะกรรมการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมด้านอาหาร และกรรมการยุทธศาสตร์ ซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ เชฟนูรอ โซ๊ะมณี สเต็ปเป้ เชฟและผู้ก่อตั้ง Blue Elephant Group และ เชฟแอนศุภณัฐ คณารักษ์ เชฟและผู้ศึกษาประวัติศาสตร์อาหารไทยในเชิงปฏิบัติการ ไปร่วมกันรังสรรค์ 17 เมนู ผ่านกิจกรรม THAILAND RECEPTION

ADVERTISMENT

โดยมีนายกรัฐมนตรี พร้อมรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้อง แสดงวิสัยทัศน์ และนำเสนอศักยภาพทางเศรษฐกิจและนวัตกรรมผ่านอาหารไทย

ADVERTISMENT

งานครั้งนี้ เป็นงานที่จัดขึ้นได้โดยการสนับสนุนจากภาคเอกชนไทย โดยมีบริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) เป็นผู้นำจากทั้งหมด 8 บริษัท ที่จัดขึ้นในเวทีการประชุมสภาเศรษฐกิจโลก (World Economic Forum :
WEF) ที่เมืองดาวอส ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ เมื่อเดือนมกราคม 2568 ที่ผ่านมา

เพื่อให้เหล่าผู้นำด้านเศรษฐกิจและซีอีโอระดับโลกกว่า 500 คนได้ชิม

บทบาท “มาริษา” ในการส่งเสริมให้คนทั่วโลกได้รู้จักอาหารและวัตถุดิบในการทำอาหารไทย ภายใต้ธีมงาน Nourishing The Future For All ถือเป็นภารกิจโปรโมต “Thai gastronomy to The World” สะท้อนว่าอาหารไทยไม่ได้มีแค่ความอร่อย แต่ยังเปี่ยมไปด้วยวัตถุดิบสมุนไพรที่มีคุณค่าทางโภชนาการ และมีประโยชน์ต่อสุขภาพ

โดยเฉพาะ ICONIC THAI DISHES อย่าง “ต้มยำกุ้ง” ที่เพิ่งได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกวัฒนธรรมโดย UNESCO เมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2567 ที่ผ่านมา ก็เป็นเมนูพระเอกที่ได้นำไปจัดสาธิตการปรุงแบบให้เห็นกันทุกขั้นตอน ทั้ง “ต้มยำกุ้งน้ำข้น และต้มยำกุ้งน้ำใส”

โดยได้รับการสนับสนุนวัตถุดิบที่มีคุณภาพจากเครือเจริญโภคภัณฑ์ อาทิ ไก่อวกาศ กุ้ง CP Pacific เนื้อบดจาก Meat Zero และข้าวลดคาร์บอน จากตราฉัตร

ดันซอฟต์พาวเวอร์
อาหารไทยสู่เวทีโลก

ความสำเร็จสำคัญของกิจกรรม THAILAND RECEPTION นับเป็นส่วนสำคัญที่ช่วยผลักดันซอฟต์พาวเวอร์ด้านอาหารไปสู่เวทีโลก จากที่หลายคนคงเคยได้เห็นเชฟแคร์สส่งต่อเมนูไข่เจียวปูจากเชฟเจ๊ไฝไปสู่ระดับโลกจนนำไปสู่การพัฒนาสูตรบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป หรือรามยอนเกาหลี ในชื่อ “เจ๊ไฝรามยอน”

รสชาติต้มยำและต้มยำผัดแห้ง ซึ่งได้รับความนิยมอย่างสูงในประเทศไทยเมื่อปีที่ผ่านมา และอยู่ในระยะเวลาวางแผนขยายเครือข่ายการขายไปทั่วโลก

พาเจ๊ไฝพร้อมเตาอั้งโล่ เดินทางไปถึงประเทศเกาหลีใต้และอิตาลี เพื่อรังสรรค์เมนู “ไข่เจียวปูคานาเป้” ให้ชาวต่างชาติได้ชิมในรูปแบบไฟน์ไดนิ่งอย่างสวยงาม นอกจากนี้ในการจัดเลี้ยงมูลนิธิเชฟแคร์สยังได้เชิญเชฟชั้นนำจากประเทศไทยท่านอื่น เช่น เชฟนิค ณัฏฐพล ภวไพบูลย์ และเชฟแอน ศุภณัฐ คณารักษ์ นำอาหารไทยไปผสมผสานวัฒนธรรม รสชาติ และวัตถุดิบต่างประเทศสร้างเมนูรูปแบบใหม่แบบไทยประยุกต์ ไม่ว่าจะเป็นอิตาเลียน หรือเกาหลี ให้แขกที่มาร่วมงานได้เห็นมุมมองความหลากหลายและความสร้างสรรค์ของอาหารไทยในรูปแบบใหม่

นั่นเพราะอาหารไทยมีความพิเศษ ที่เรียกว่า very unique ทั้งส่วนผสม และมีคุณสมบัติอาหารไทยเป็นยา เชฟแคร์สจึงมุ่งที่จะร่วมกันพัฒนาและเผยแพร่ซอฟต์พาวเวอร์นี้สู่สายตาชาวโลก

สร้างแรงบันดาลใจและประสบการณ์การกินใหม่ๆ ให้เป็นที่ประจักษ์ในเวทีโลก

สนับสนุนสังคม ด้วยความปรารถนาดี

ย้อนกลับไปถึงจุดเริ่มต้นของเชฟแคร์ส เมื่อ 5 ปีก่อน ประเทศไทยซึ่งขึ้นชื่อว่าเป็น “ครัวของโลก”

ต้องเผชิญกับช่วงการระบาดของโควิดเมื่อปี 2563 ส่งผลให้ “เชฟไทย” ประสบปัญหา “ตกงาน” ขาดรายได้ ซึ่งหากเป็นร้านอาหารทั่วๆ ไปที่ต้องถูกปิดในช่วงโควิด ก็จะผันตัวไปทำอาหารกล่อง ขายผ่านช่องทางเดลิเวอรี่ เพื่อความอยู่รอด

แต่สำหรับร้านอาหารระดับเชฟมิชลิน ร้านดัง ที่มีราคาสูง จะปรับตัวไปทำแบบนั้นได้ยาก ดังนั้น เชฟมิชลิน จึงเป็นหนึ่งในอาชีพที่ประสบภาวะยากลำบากที่สุดอาชีพหนึ่ง

จุดเริ่มต้นในวันนั้น “มาริษา” เห็นถึงสถานการณ์ที่เกิดขึ้นจึงได้ระดมเชฟดังมากกว่า 70 คน มาร่วมกันสร้างสรรค์โครงการเชฟแคร์สสร้างประโยชน์ให้กับประชาชนและประเทศ โดยไม่ได้มองถึงรายได้เป็นหลัก

แต่มุ่งที่จะแก้โจทย์ ว่าทำอย่างไรที่จะให้คนไทยมีอาหารคุณภาพหลากหลาย มีประโยชน์ให้คนไทยสามารถเลือกรับประทานได้ เพราะ อาหารก็คือยา

“มาริษาเล่าว่า จุดเด่นของเชฟในประเทศไทยไม่ได้มีแค่ความสามารถหรือความคิดสร้างสรรค์ แต่เชฟจากประเทศไทยมีน้ำใจ เราสามารถก่อตั้งมูลนิธิเชฟแคร์สขึ้นมาได้ด้วยน้ำใจของเชฟที่ต้องการ
ร่วมมือกันทำสิ่งดีๆ ตอบแทนสังคม

แม้ว่าในช่วงโควิดเชฟจะได้รับผลกระทบอย่างหนัก ก็ยังพร้อมที่จะสละแรง บริจาคเวลา ช่วยเหลือผู้อื่นไปพร้อมกัน สิ่งนี้เป็นจุดเด่นของเชฟไทย และสังคมไทย

จุดเด่นของเชฟแคร์ส
คือ คุณภาพ และรสชาติที่ดี

อาหารพร้อมทานเพื่อสุขภาพ แบรนด์เชฟแคร์ส พัฒนาโดยเชฟมิชลินและเชฟชั้นนำ มุ่งเน้นความอร่อยติดดาว

นอกจากนี้ อาหารทุกกล่องจะต้องมีคุณค่าทางโภชนาการที่สมดุล ต้องใช้วัตถุดิบที่ดีที่สุด เช่น ใช้ไก่เบญจา หมูชีวา นั่นคือ KPI ที่มาริษาขีดเส้นไว้

“Hippocrates กล่าวไว้ว่า ขอให้อาหารเป็นยาที่ดีที่สุดของคุณมาริษาใช้มุมมองนี้ในการพัฒนาสูตรอาหารแบรนด์เชฟแคร์ส หลายๆ คนคิดว่าอาหารที่ดีต่อสุขภาพจะไม่อร่อย เราทำงานกับเชฟมิชลินที่มีดาวประกันรสชาติ พัฒนาอาหารพร้อมทาน ที่อร่อยและดีต่อสุขภาพขึ้นมา”

ในปีนี้แบรนด์เชฟแคร์สผลักดันส่งออกเมนูของหวาน ทางเลือกสุดพิเศษ “Mango Stick” ทำจากมะม่วงน้ำดอกไม้สีทองคัดสรรพิเศษแช่แข็ง รับประทานคล้ายไอศกรีม ตอบสนองเทรนด์ของหวานที่อร่อยมาจากวัตถุดิบธรรมชาติ ผลักดันซอฟต์พาวเวอร์มะม่วงไทยสู่ตลาดโลก วางจำหน่ายตั้งแต่ยุโรป ไปจนถึงสหรัฐอเมริกา

เติมฝันเด็กที่ด้อยโอกาส คืนคนดีสู่สังคม

กำไร 100% ของการจำหน่ายผลิตภัณฑ์แบรนด์เชฟแคร์ส สร้างโครงการเพื่อสังคม ผ่านการบริจาคอาหาร สนับสนุนกลุ่มผู้เปราะบางอย่างต่อเนื่องทั่วประเทศไทย

และอีกโครงการหนึ่งที่สำคัญมาก คือ โครงการสานฝันปั้นเชฟ Chef Cares Dream Academy มอบโอกาสทางอาชีพและการศึกษาให้เยาวชนติดคดีจากกรมพินิจฯ และเยาวชนชายขอบที่มีความฝันอยากเป็นเชฟมืออาชีพและเปลี่ยนชีวิตตัวเองมา 4 รุ่นแล้ว

“บางคนอาจถามว่าจะไปช่วยเด็กเกเรทำไม แต่เราคิดว่าปัญหาไม่ได้เกิดจากตัวเขา เราจึงไปช่วยสอนทำอาหาร เป็นไลฟ์โค้ช ช่วยเด็กที่ผิดหวัง ท้อแท้ เด็กที่เคยผิดพลาด หรือเด็กด้อยโอกาส ที่บางคนแทบไม่รู้เลยว่าความฝันคืออะไร ไม่มีความฝัน

แต่ในอีก 9 เดือนต่อมา เมื่อเขาได้รับการฝึกฝน บ่มเพาะ พวกเขาสามารถสวมเสื้อเชฟ ผลสำเร็จที่ได้ คือ เปลี่ยนชีวิตพวกเขาไปเลย”

“มาริษา” ได้รับพระราชทานโล่เกียรติยศ ประเภทบุคคลผู้ทำคุณประโยชน์ต่อเด็กและเยาวชนในด้านการศึกษาและส่งเสริมอาชีพ จากกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ในฐานะผู้ทำคุณประโยชน์ต่อเด็กและเยาวชน ประจำปี 2567 และได้รับรางวัล “เข็มเครื่องหมายยุติธรรมธำรง ชั้นที่ 4 อันเป็นที่ชมเชยยิ่ง” จากกระทรวงยุติธรรม ผ่านโครงการสานฝันปั้นเชฟ (Chef Cares Dream Academy) เมื่อปี 2567 ที่ผ่านมา

ตลอดช่วงเวลาที่ผ่านมา “มาริษา” มุ่งมั่นเติมความปรารถนาดีต่อสังคม ไม่เพียงเป็นผู้ก่อตั้งมูลนิธิและวิสาหกิจเพื่อสังคมเชฟแคร์ส นำกำไร 100% ช่วยเหลือสังคมเท่านั้น แต่ยังได้มุ่งส่งเสริมงานศิลปะร่วมสมัยโดยผ่าน “บางกอก คุนส์ฮาเลอ” (Bangkok Kunsthalle) สถานที่จัดแสดงงานศิลปะร่วมสมัยที่เยาวราช เวทีที่เปิดกว้างให้ศิลปินต่างชาติแลกเปลี่ยน สร้างแรงบันดาลใจให้กับศิลปินไทยและคนไทย

และในปีนี้ “มาริษา” ยังเดินหน้าพัฒนาโครงการ Khao Yai Art Forest แลนด์มาร์กท่องเที่ยวเชิงธรรมชาติ นวัตกรรม ความยั่งยืน และศิลปะร่วมสมัย เป็นจิ๊กซอว์หนึ่งในภาพของ Soft Power Thai ให้เป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวาง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image