‘ประเทศไทยต้องไบโอ’ อุตฯชีวภาพ กุญแจสำคัญเสริมแกร่งไทย

‘ประเทศไทยต้องไบโอ’ อุตฯชีวภาพ กุญแจสำคัญเสริมแกร่งไทย

ภาคอุตสาหกรรมเป็นฟันเฟืองสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ และผลักดันจีดีพีของประเทศให้เติบโตมาโดยตลอด แม้โลกต้องเผชิญกับความท้าทายภายใต้บริบทโลกยุคใหม่ การพัฒนาเทคโนโลยีอย่างก้าวกระโดด รวมถึงการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและสังคม 

ปัจจัยเหล่านี้ ทำให้ภาคอุตสาหกรรมไทยจำเป็นต้องปรับตัว พร้อมสร้างความเข้มแข็งให้กับอุตสาหกรรมเดิมต่อยอดไปสู่การผลิตผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าเพิ่มสูงขึ้น ตอบสนองความต้องการของตลาดโลก เพื่อให้ไทยมีความสามารถในการแข่งขันและเติบโตได้อย่างยั่งยืน

เอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ระบุ กระทรวงอุตสาหกรรมกำลังเร่งผลักดันอุตสาหกรรมชีวภาพหนึ่งในดาวเด่นของอุตสาหกรรมเป้าหมาย (S-curve) ขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย ด้วยศักยภาพและความได้เปรียบด้านวัตถุดิบการเกษตรที่หลากหลาย สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจจากการผลิตผลิตภัณฑ์ชีวภาพที่ตอบโจทย์เศรษฐกิจสีเขียว 

จึงเป็นโอกาสที่ไทยจะยกระดับอุตสาหกรรมชีวภาพ เพื่อเสริมแกร่งให้แก่เกษตรอุตสาหกรรมไทยในการเชื่อมโยงและต่อยอดไปสู่อุตสาหกรรมต่อเนื่อง เกิดการสร้างงาน สร้างรายได้ กระจายสู่ท้องถิ่น สร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจของเกษตรกรและผู้ประกอบการอุตสาหกรรมชีวภาพไทย 

ADVERTISMENT

ปัจจุบันไทยถือเป็นผู้นำด้านการเกษตรในภูมิภาค ด้วยมูลค่าการส่งออกสินค้าเกษตรเป็นอันดับ 1 ในอาเซียน มีความพร้อมในวัตถุดิบเกษตรต้นน้ำ เช่น อ้อย มันสำปะหลัง ปาล์มน้ำมัน สามารถนำไปผลิตเป็นสารตั้งต้นในกระบวนการแปรรูปผลิตภัณฑ์ขั้นกลางไปจนถึงอุตสาหกรรมขั้นปลาย อาทิ เอทานอล กรดแลคติก สารให้ความหวาน พลาสติกชีวภาพ 

อีกทั้งไทยยังผลิตมันสำปะหลังเป็นอันดับที่ 3 ของโลก ผลิตอ้อยเป็นอันดับ 4 ของโลก เป็นฐานการผลิตและส่งออก PLA ที่สำคัญของโลก พัฒนาต่อยอดผลิตภัณฑ์ชีวภาพได้หลากหลาย เช่น อาหารเสริม ยา เครื่องสำอาง เคมีภัณฑ์ เชื้อเพลิงชีวภาพด้วยเหตุผลเหล่านี้ จึงเป็นที่มาของคำว่าประเทศไทยต้องไบโอเพราะอุตสาหกรรมชีวภาพถือเป็นกุญแจสำคัญในการสร้างความแข็งแกร่งของประเทศไทย 

ด้วยศักยภาพในการสร้างมูลค่าเพิ่มจากทรัพยากรที่มีอยู่ ประกอบกับแนวโน้มโลกที่มุ่งสู่เศรษฐกิจสีเขียว ไม่เพียงช่วยขับเคลื่อนความมั่นคงทางเศรษฐกิจ แต่ยังสร้างโอกาสการพัฒนาอย่างยั่งยืน

หากทุกภาคส่วนบูรณาการความร่วมมือและมุ่งสู่เป้าหมายเดียวกันในการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมชีวภาพไทยให้เติบโตอย่างต่อเนื่อง จะส่งผลให้ประเทศไทยมีความสามารถในการแข่งขันทางเศรษฐกิจ และก้าวสู่การเป็น Bio Hub of ASEAN ได้อย่างเป็นรูปธรรมตามแผนที่วางไว้ต่อไป

ด้าน ณัฐพล รังสิตพล ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ระบุ กระทรวงอุตสาหกรรมได้เร่งผลักดันและขับเคลื่อนมาตรการพัฒนาอุตสาหกรรมชีวภาพของไทย ตั้งเป้าหมายให้ประเทศไทยเป็น Bio Hub of ASEAN ภายในปี พ..2570 

มุ่งเน้นการพัฒนาและลงทุนใน 3 กลุ่มผลิตภัณฑ์เป้าหมาย ได้แก่ พลาสติกชีวภาพ (Bioplastics) เคมีชีวภาพ (Biochemicals) และชีวเภสัชภัณฑ์ (Biopharmaceuticals) โดยดำเนินการผ่าน 4 มาตรการหลัก ได้แก่

1.มาตรการขจัดอุปสรรคการลงทุนและสร้างปัจจัยสนับสนุน อาทิ การปรับปรุงพระราชบัญญัติอ้อยและน้ำตาลทราย เพื่อให้สามารถนำน้ำเชื่อมไปผลิตเป็นผลิตภัณฑ์อย่างอื่นที่ไม่ใช่น้ำตาลทรายได้ การเพิ่มกิจการอุตสาหกรรมชีวภาพในบัญชีประเภทโรงงาน การยกระดับผังเมืองเพื่อสนับสนุนอุตสาหกรรมชีวภาพในพื้นที่ศักยภาพ เช่น จังหวัดนครสวรรค์ จังหวัดอุบลราชธานี เป็นต้น

2.มาตรการเร่งรัดการลงทุนภายในประเทศ เพิ่มสิทธิประโยชน์การลงทุนในกิจการอุตสาหกรรมชีวภาพ โดยในปัจจุบันมีความก้าวหน้าการลงทุนโครงการอุตสาหกรรมชีวภาพ (Bio Hubs) มูลค่ารวมทั้งสิ้นกว่า 3.5 หมื่นล้านบาท ซึ่งคาดว่ามีมูลค่าการลงทุนในโครงการอุตสาหกรรมชีวภาพทั่วประเทศ รวมทั้งสิ้นกว่า 1.6 แสนล้านบาท โดยมีโครงการสำคัญ อาทิ โครงการนครสวรรค์ไบโอคอมเพล็กซ์ โครงการ Bio Hub Asia จังหวัดฉะเชิงเทรา โครงการนิคมอุตสาหกรรมอุบลราชธานี โครงการลพบุรีไบโอคอมเพล็กซ์ เป็นต้น

3.มาตรการกระตุ้นอุปสงค์ ซึ่งมุ่งเน้นการสร้างตลาด การรับรู้และประชาสัมพันธ์ให้ผู้บริโภคหันมาใช้ผลิตภัณฑ์ชีวภาพมากขึ้น โดยกำหนดมาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมผลิตภัณฑ์พลาสติกที่สามารถย่อยสลายได้ทางชีวภาพ ให้ผู้ประกอบการยื่นขอยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลเป็นจำนวนร้อยละ 25 สำหรับรายจ่ายที่เป็นค่าซื้อผลิตภัณฑ์ดังกล่าว ครอบคลุมผลิตภัณฑ์พลาสติกย่อยสลายได้ 11 ชนิด รวมทั้งการออกมาตรฐานผลิตภัณฑ์ชีวภาพเพิ่มขึ้นเพื่อให้ครอบคลุมการขยายตัวของผลิตภัณฑ์ชีวภาพภายในประเทศ เป็นต้น

4.มาตรการสร้างเครือข่ายในรูปแบบของศูนย์กลางความเป็นเลิศด้านชีวภาพ (Center of Bio Excellence : CoBE) เพื่อเตรียมความพร้อม รวมทั้งบริหารงานวิจัย เทคโนโลยี และนวัตกรรมเพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมชีวภาพ 

โดยการจัดตั้งศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมชีวภาพ จังหวัดชลบุรี เพื่อเป็นศูนย์วิเคราะห์ ทดสอบ และรับรองผลิตภัณฑ์วัสดุชีวภาพ รวมถึงพัฒนาผลิตภัณฑ์ชีวภาพต้นแบบสู่เชิงพาณิชย์ รวมทั้งการพัฒนาศูนย์ข้อมูลเชิงลึกอุตสาหกรรมชีวภาพ ซึ่งปัจจุบันมีฐานข้อมูลสำคัญด้านอุตสาหกรรมชีวภาพ 9 ฐาน มีผู้ใช้งานสะสมกว่า 120,000 ครั้ง

นอกจากนี้ กระทรวงอุตสาหกรรมยังให้ความสำคัญกับการพัฒนาอย่างยั่งยืน เสริมสร้างความเข้มแข็งให้แก่เศรษฐกิจฐานรากเพื่อมุ่งปฏิรูปอุตสาหกรรมสู่เศรษฐกิจยุคใหม่ สร้างอุตสาหกรรมเศรษฐกิจใหม่ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมตลอดห่วงโซ่อุปทาน ผลักดันเกษตรไม่เผาที่ปลูกโดยไม่ก่อมลพิษและปัญหาสิ่งแวดล้อมคือจะต้องผลิตจากพืชตัดสดไม่เผาแปลงเท่านั้น เพื่อมุ่งขับเคลื่อนเกษตรมูลค่าสูงสู่อุตสาหกรรมอนาคต มุ่งเน้นการสร้างความมั่นคงทางอาหารและพลังงาน ตลอดจนการปรับตัวรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ 

ปัจจุบันอยู่ระหว่างผลักดันและส่งเสริมผลิตภัณฑ์ชีวภาพที่ตอบรับเทรนด์และกติกาโลกด้านสิ่งแวดล้อม อาทิ การส่งเสริมการผลิตพลาสติกชีวภาพในกลุ่ม Bio-based เช่น ชนิด Bio-Polyethylene (Bio-PE) ที่ใช้วัตถุดิบจากอ้อยตัดสดไม่เผาแปลง โดยเป็นชนิดที่ย่อยสลายทางชีวภาพไม่ได้ (Non-compostable) 

แต่สามารถนำกลับมาสู่กระบวนการรีไซเคิลได้ ก่อให้เกิดมูลค่าเพิ่มจนถึงปลายทางของผลิตภัณฑ์ ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก 

ตอบโจทย์แนวทาง Circular Economy การสนับสนุนการนำวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร อาทิ ใบอ้อยมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ เช่น พลังงานชีวมวล หรือปุ๋ยอินทรีย์ ซึ่งช่วยลดการใช้ทรัพยากรใหม่และลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ การผลิตน้ำมันอากาศยานยั่งยืน (SAF) เพื่อลดผลกระทบจากการใช้พลังงานและการปล่อยก๊าซเรือนกระจก 

โดยปี 2569 ประเทศไทยวางแผนจะเริ่มผสม SAF ในสัดส่วน 1% ของน้ำมันเครื่องบิน และเพิ่มเป็น 2% ในปี 2571