ประเทศไทยถูกขนานนามว่าเป็น “ราชาแห่งทุเรียน” โดยส่งออกทุเรียนไปตลาดโลกปีละไม่ต่ำกว่า 800,000 ตันต่อปี เบอร์ 1 ของโลก เฉพาะตลาดหลักจีนไม่ต่ำกว่า 700,000 ตันต่อปี
แหล่งปลูกทุเรียนอยู่ในภาคตะวันออกของไทย 300,000 ตัน ภาคใต้ประมาณ 500,000 ตัน คิดเป็นมูลค่าไม่ต่ำกว่า 150,000 ล้านบาท
แม้ทุเรียนเป็นผลไม้เศรษฐกิจที่สำคัญของไทย แต่การคัดแยกระดับความอ่อน-แก่ และการตรวจสอบปัญหาหนอนเจาะเมล็ดทุเรียนยังคงเป็นความท้าทายสำหรับเกษตรกรและผู้ประกอบการไทย เพื่อรักษาแชมป์ส่งออก
ล่าสุด สำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน) หรือ ARDA ได้สนับสนุนทุนวิจัยแก่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี ดำเนินโครงการ “การออกแบบเครื่องคัดแยกความอ่อน-แก่ และหนอนเจาะเมล็ดทุเรียนด้วยเทคนิค CT-Scan ร่วมกับการประมวลผลผ่านโครงข่ายประสาทเทียมเชิงลึก” เพื่อออกแบบ และพัฒนาเครื่องมือตรวจสอบความอ่อน-แก่ และหนอนในผลทุเรียนด้วยเทคนิค CT-Scan ระดับโรงคัดบรรจุ ที่มีความแม่นยำไม่น้อยกว่า 95%
การตรวจสอบใช้เวลาเพียง 3 วินาทีต่อลูก หรือ 1,200 ลูก/ชั่วโมงไม่ว่าจะวางผลทุเรียนเข้าสู่เครื่องสแกนลักษณะใด ระบบดังกล่าวก็สามารถสแกนได้ ซึ่งเป็นการช่วยลดเวลาและลดต้นทุน เพิ่มประสิทธิภาพในการคัดแยกทุเรียนให้กับล้ง
ด้านต้นทุนราคาเครื่อง CT-Scan ซึ่งเป็นเครื่องมือทางการแพทย์ จะมีราคาประมาณ 10 ล้านบาท แต่ปัจจุบันเทคโนโลยีถูกพัฒนาอย่างรวดเร็ว ซึ่งจะมีเครื่องตกรุ่นที่ถูกปลดระวางทิ้งไว้ไม่ได้ใช้งานให้สามารถนำมาพัฒนาเป็นเครื่อง CT-Scan สำหรับใช้ตรวจสอบทุเรียน
คาดว่าจะมีราคาต่อเครื่องไม่เกิน 2 ล้านบาท ซึ่งถือเป็นราคาที่เหมาะสมและคุ้มค่าสำหรับโรงคัดแยกผลไม้หรือล้งจะนำไปใช้ในเชิงพาณิชย์ โดยเครื่อง CT-Scan นี้ยังสามารถใช้กับผลไม้ชนิดอื่นได้แทบทุกชนิด ไม่เฉพาะกับแค่ทุเรียนเท่านั้น
ดร.วิชาญ อิงศรีสว่าง ผู้อำนวยการ ARDA ระบุ นวัตกรรม CT-Scan ทุเรียนด้วย AI ภายใต้โครงการวิจัยนี้ ถือเป็นก้าวสำคัญที่ช่วยยกระดับมาตรฐานการส่งออกทุเรียนของไทย
จะสร้างความได้เปรียบในตลาดโลก ความลดความเสียหายทางเศรษฐกิจจากการถูกตีกลับสินค้าที่ไม่มีคุณภาพ
พร้อมสร้างการยอมรับและเพิ่มความเชื่อมั่นให้กับประเทศผู้นำเข้าที่จะส่งผลต่อปริมาณการสั่งซื้อทุเรียนและผลไม้อื่นๆ ของไทยในระยะยาวต่อไป
ปิยะวรรณ ผลเจริญ