ผู้เขียน | ปิยะวรรณ ผลเจริญ |
---|
ปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ ตลอดจนผลจากนโยบายของนายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา ที่นำมาสู่สงครามการค้ารอบใหม่ รวมทั้งการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงาน และปัจจัยเศรษฐกิจภายในประเทศที่ยังไม่ฟื้นตัวจากปัญหาหนี้ครัวเรือนสะสม คือโจทย์สำคัญที่ทำให้ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ต้องรับมือ พร้อมเดินหน้าธุรกิจเชิงรุก
ภายใต้วิสัยทัศน์ของ ปตท. คือ แข็งแรงร่วมกับสังคมไทย และเติบโตระดับโลกอย่างยั่งยืน หรือ TOGETHER FOR SUSTAINABLE THAILAND, SUSTAINABLE WORLD
เน้นการสร้างความมั่นคงทางพลังงาน สร้างการเติบโตทางธุรกิจ ควบคู่กับการบรรลุเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอย่างสมดุล เพื่อบรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Emissions) ภายในปี พ.ศ.2593 หรือ ค.ศ.2050
ปัจจุบัน ปตท.กำลังเร่งผลักดัน 2 ธุรกิจใหม่ คือ ธุรกิจการดักจับและกักเก็บก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (Carbon Capture and Storage: CCS) และธุรกิจไฮโดรเจน เตรียมลงทุนโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรองรับการกักเก็บคาร์บอนจากกระบวนการผลิตของบริษัทในกลุ่ม และรับกักเก็บคาร์บอนให้กับภาคอุตสาหกรรมไทย
⦁พาสื่อส่องเทคโนโลยีญี่ปุ่น
เมื่อเร็วๆ นี้ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) คณะสื่อมวลชนศึกษาดูพลังงานแห่งความยั่งยืน ณ ประเทศญี่ปุ่น ศึกษาดูงาน Takasago Hydrogen Park ศูนย์ทดสอบเทคโนโลยีไฮโดรเจนครบวงจรแห่งแรกของโลก และ Katsura Research Center ศูนย์วิจัยและพัฒนาทางเคมี
เพื่อเรียนรู้และต่อยอดภารกิจที่กำลังดำเนินการอยู่
นายคงกระพัน อินทรแจ้ง ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ระบุ ด้วยปัจจัยทั่วโลกที่เผชิญทั้งปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ การเปลี่ยนผ่านด้านพลังงาน และปัจจัยเศรษฐกิจภายในประเทศ ปตท.ในฐานะบริษัทพลังงานไทยที่ต้องดูแลผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย การลงทุนจะต้องใช้อย่างชาญฉลาด ขณะเดียวกัน ปตท.ยังอยู่ระหว่างรีวิวเป้าหมาย Carbon Neutrality 2040 และ Net Zero 2050 ใหม่อีกครั้ง จะเน้นดูภาพรวมทั้งกลุ่มตามบริบทโลกที่เปลี่ยนไป
พร้อมเดินหน้า 2 เรื่องสำคัญ คือ
1.ศึกษาและพัฒนาเทคโนโลยีดักจับและกักเก็บก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ หรือ Carbon Capture and Storage (CCS) ผ่านบริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท.สผ. ที่ได้ศึกษาทำแหล่งแซนด์บ็อกซ์ในแหล่งอาทิตย์ 1 ล้านตัน โดยต้นทุนการทำแท้จริงยังไม่สามารถระบุได้ นอกจากนี้ จะต้องรอภาครัฐกำหนดกฎกติกาและกฎหมายให้ชัดเจนก่อน เพราะมีหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจึงต้องบูรณาการร่วมกันอย่างรอบคอบ ปัจจุบันภาครัฐมีคณะทำงาน และอีกส่วนยังมีกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม หรือกรมโลกร้อน ขับเคลื่อน โดยปัจจุบันสหรัฐเห็นความคุ้มค่า CCS รัฐบาล จึงอุดหนุนราคา 85 ดอลลาร์ต่อตัน เพื่อเก็บคาร์บอน
2.ไฮโดรเจน ด้วยภาครัฐกำหนดสัดส่วนการผสมไฮโดรเจน 5% ในปี 2030 ดังนั้น เบื้องต้นจะเป็นการนำเข้าก่อน อาจเป็นตะวันออกกลาง อินเดีย เพราะต้นทุนถูก ใช้ในกลุ่มอุตสาหกรรมระดับแสนตัน
“การลงทุนทั้ง 2 เรื่อง ยังต้องรอความชัดเจนจากภาครัฐ โดยเฉพาะด้านกฎหมาย การกักเก็บคาร์บอน การกำหนดไฮโดรเจนเป็นเชื้อเพลิง หาก ปตท.ลงทุนมั่นใจจะดึงดูดการลงทุนใหม่จากเอกชนที่ต้องการพลังงานสะอาด จีดีพีขยายตัว เกิดการจ้างงาน สร้างอาชีพ ซึ่งตัวเลขทางเศรษฐกิจจะประเมินอีกครั้ง” นายคงกระพันกล่าว
⦁กางแผนซีซีเอส-ไฮโดรเจน
ขณะที่ นายรัฐกร กัมปนาทแสนยากร รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ความยั่งยืนองค์กร บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ระบุ ปตท. มีกลยุทธ์เพื่อความยั่งยืน ประกอบด้วย
1.ธุรกิจที่มีความยืดหยุ่นต่อสภาพอากาศ Climate-Resilience Business โดยการปรับ portfolio ลดปริมาณการใช้ฟอสซิล ในเวลาที่เหมาะสมและบริหารจัดการด้านต้นทุน พร้อมเพิ่มปริมาณพลังงานหมุนเวียนมากขึ้น ผ่านกลุ่มบริษัทต่างๆ ของ ปตท.
2.ธุรกิจที่ใส่ใจเรื่องคาร์บอน Carbon Conscious Business ผ่านบริษัทในกลุ่ม ปตท. รวมถึงผนึกพันธมิตรธุรกิจโดยใช้เทคโนโลยีในการลดคาร์บอน เพิ่มประสิทธิภาพสินค้าให้เป็น Green Energy
3.การร่วมมือ การสร้างสรรค์ เพื่อทุกคน Coalition, Co-creation & collective Efforts for All ถือเป็นจิ๊กซอว์ตัวสุดท้ายที่จะทำให้กลุ่ม ปตท. ไปสู่เป้าหมาย โดยเฉพาะโครงการพัฒนาโครงการ การดักจับ และการจัดเก็บคาร์บอน (CCS) และการใช้เชื้อเพลิงไฮโดรเจนเป็นส่วนผสมในกลุ่มอุตสาหกรรมตามแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ (PDP) สัดส่วน 5% รวมถึงการปลูกป่า เป็นต้น ซึ่งทั้ง 2 โครงการยอมรับว่าท้าทายมาก
สำหรับซีซีเอส เป็นโครงการสำคัญที่จะช่วยไปสู่เป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ (Net Zero) และลดการปล่อยคาร์บอน เบื้องต้นคาดว่าจะสามารถกักเก็บคาร์บอนไดออกไซด์ได้ประมาณ 10 ล้านตันต่อปีจะออกมาเป็นรูปธรรมภายในปี 2035
ส่วนโครงการไฮโดรเจนเพื่อภาคอุตสาหกรรมอาจยังไกล ปัจจุบันกลุ่ม ปตท.จะยังคงใช้ก๊าซธรรมชาติ (Natural Gas) ในปริมาณหลัก แต่วันที่ไฮโดรเจนมีราคาต่ำลงและเทียบเท่ากับ Natural Gas จะใช้ไฮโดรเจนมากขึ้น เพราะไฮโดรเจนเผาไหม้โดยไม่มีการปล่อยก๊าซคาร์บอนเลย ต้นทุนเบื้องต้นต่อหน่วยของไฮโดรเจนเมื่อเทียบกับการใช้ Natural Gas แพงว่า 4-5 เท่า
ในระยะสั้นยังผลิตไม่ได้เพราะราคาแพง สิ่งที่ทำคือ การเอาไฮโดรเจนเข้ามาผสมกับ Natural Gas 5% ตามแผน PDP มองว่าการส่งมาจากอินเดียจะคุ้มกว่าโดยอาจจะส่งมาในรูปของแอมโมเนีย ซึ่ง ปตท.มี Connection กับ supplier ส่งผ่านมาให้ PTT trading เพราะมีคลังเก็บสร้าง Infrastructure ในการขนส่งไฮโดรเจนส่งให้กับประเทศสู่การเป็น International Gas
นอกจากนี้ อาจจะใช้วิธีการนำเข้ามาในรูปแบบแอมโมเนียและนำเข้าไปบริหารจัดการที่โรงไฟฟ้าถ่านหินทันทีโดยไม่ต้องเปลี่ยนเป็นไฮโดรเจนก็ได้ ดังนั้น จะมี 2 แบบ คือ direct แอมโมเนียไปที่โรงไฟฟ้าถ่านหิน หรือนำเข้าแอมโมเนียมาเปลี่ยนเป็นไฮโดรเจนและส่งไปให้โรงไฟฟ้าถือเป็นรูปแบบที่ ปตท.ศึกษาอยู่
⦁ศูนย์ไฮโดรเจนแห่งแรกของโลก
สำหรับศูนย์ Takasago Hydrogen Park จังหวัด Hyogo ประเทศญี่ปุ่น เป็นสถานที่สำหรับใช้ทดสอบเทคโนโลยีในการผลิตและการใช้งานไฮโดรเจนแห่งแรกของโลก ก่อตั้งเมื่อปี 2022 ดำเนินการโดย Mitsubishi Heavy Industries, Ltd. (MHI) เพื่อสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านไปสู่การใช้พลังงานสะอาดและเป็นส่วนหนึ่งของความพยายามในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของประเทศญี่ปุ่น โดยเทคโนโลยีหลักที่ใช้ ประกอบด้วย
1.กระบวนการ Electrolysis เป็นกระบวนการที่ใช้กระแสไฟฟ้าเพื่อแยกน้ำออกเป็นไฮโดรเจนและออกซิเจน โดยการผลิตไฮโดรเจนด้วยกระบวนการ Electrolysis ใช้พลังงานไฟฟ้าจากแหล่งพลังงานหมุนเวียน เช่น พลังงานแสงอาทิตย์และพลังงานลม ทำให้กระบวนการผลิตมีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่ำ หรือไม่มีเลย
2.กระบวนการ Pyrolysis ที่เกิดจากการเผาไหม้มีเทน โดยทำให้มีเทนแตกตัวออกเป็นไฮโดรเจน และคาร์บอนในสถานะของแข็ง โดยไม่ปล่อยคาร์บอนเข้าไปในชั้นบรรยากาศ
3.กระบวนการ Solid Oxide Electrolysis Cells (SOEC) ที่อยู่ระหว่างการพัฒนาของ MHI เป็นเทคโนโลยีในการผลิตไฮโดรเจนโดยการใช้ไฟฟ้าแยกน้ำ เป็นไฮโดรเจนและออกซิเจนผ่านทางกระบวนการ Electrolysis และใช้ความร้อน อุณหภูมิประมาณ 700-1,000 องศาเซลเซียส สำหรับไฮโดรเจนที่ผลิตได้จะถูกนำไปใช้ในอุตสาหกรรมต่างๆ เช่น เชื้อเพลิงสำหรับรถยนต์พลังงานไฮโดรเจน (Hydrogen Fuel Cell Vehicles-FCVs), ใช้ไฮโดรเจนเป็นวัตถุดิบในอุตสาหกรรมเคมี ในการผลิตสารเคมี เช่น แอมโมเนีย (NH3)
ทั้งนี้ ศูนย์ดังกล่าวตั้งเป้าที่จะพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานสำหรับการผลิตและการจัดการไฮโดรเจนในระยะยาว เช่น สถานีเติมไฮโดรเจนเพื่อรองรับการเติบโตของยานพาหนะที่ใช้เซลล์ไฮโดรเจน Takasago Hydrogen Park นำไปสู่การใช้พลังงานสะอาดและความยั่งยืน ตามเป้าหมาย Net Zero ของ MHI ในปี 2040
⦁จีซีร่วมมือSCI
ขณะที่ห้องปฏิบัติการ Katsura Research Laboratory ดำเนินการโดย Sanyo Chemical Industries-SCI ซึ่งเป็นบริษัทที่มีชื่อเสียงในด้านการผลิตเคมีภัณฑ์ในประเทศญี่ปุ่น มุ่งเน้นการวิจัยและพัฒนาเพื่อนำเสนอผลิตภัณฑ์และนวัตกรรมใหม่ๆ ให้กับตลาดในหลากหลายอุตสาหกรรม เช่น พลาสติก เคมีภัณฑ์ เครื่องสำอางและเวชภัณฑ์ สารเพิ่มประสิทธิภาพในน้ำมันหล่อลื่น วัสดุพิเศษ ฯลฯ โดยผลิตภัณฑ์ทางเคมีที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (Environmentally Friendly Product) ของ Sanyo Chemical ประกอบด้วย
1.ACLUBE ผลิตภัณฑ์ที่ช่วยลดความหนืดของน้ำมันหล่อลื่น เช่น ใช้ในน้ำมันเครื่องสำหรับรถยนต์
2.Electrolyte Solution for Aluminium Electrolytic Capacitors หรือ SANELEK เป็นอิเล็กโทรไลต์ที่มีประสิทธิภาพสูง และใช้งานได้ยาวนาน
3.Chemitylen มีความแข็งแกร่งและน้ำหนักเบา ทนทานต่อสารเคมีและความร้อน
4.MOC-TEX ใช้วัสดุที่ทำจากพืชหรือไม้มากกว่า 80% ทั้งนี้ Sanyo มีเป้าหมายในการบรรลุ Net Zero ในปี 2030 เพื่อลดคาร์บอนให้ได้ 50%
อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันญี่ปุ่นยังไม่มีกฎหมายเกี่ยวกับการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกหรือคาร์บอน แต่หากมีการติดตั้งอุปกรณ์ที่สามารถลดคาร์บอนได้ก็จะมีเงินสนับสนุนสามารถนำไปลดหย่อนภาษีได้
โดย ปตท.และ Sanyo Chemical จะมีการหารือร่วมกัน เพื่อร่วมมือพัฒนาผลิตภัณฑ์ทางเคมีที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมในอนาคต
ปิยะวรรณ ผลเจริญ