เลาะ‘แอฟริกาใต้’โปรโมตข้าวไทย พณ.เปิดตัว Thailand Ultimate Friendship

นั บวันความนิยม “บริโภคข้าวไทย” เท่านั้น ในหลายประเทศลดลงต่อเนื่อง นั่นหมายถึงการสูญเสียส่วนแบ่งการตลาดในประเทศคู่ค้าและในโลกเพิ่มขึ้น จากในอดีตไทยครองผู้นำส่งออกข้าวไปทั่วโลก ปัจจุบันลงไปอยู่อันดับสอง หรืออันดับสาม ในบางปี

ดังนั้น การรักษาฐานตลาดนำเข้าข้าวไทย ยังเป็นเรื่องสำคัญ ซึ่งหนึ่งในกลุ่มประเทศที่ประชาชนยังต้องการบริโภคข้าวไทย คือ แอฟริกาใต้และประเทศโดยรอบ โดยเป็นฐานส่งออกข้าวนึ่งสำคัญปีละกว่า 1 ล้านตัน ในปริมาณนั้นไทยครองตลาดเกือบ 80%

ล่าสุด กระทรวงพาณิชย์ โดยกรมการค้าต่างประเทศ นำโดย นายวรวงศ์ รามางกูร ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงพาณิชย์ นายคุณากร ปรีชาชนะชัย ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ และ นางอารดา เฟื่องทอง อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ พาคณะสื่อมวลชนร่วมกิจกรรมผลักดันนำเข้าข้าวไทย ระหว่างวันที่ 25-29 มีนาคมที่ผ่านมา

ADVERTISMENT

ภารกิจแรกคณะไทย เข้าพบและหารือกับ น.ส.โรสแมรี่ โนคูโซลา คาปา รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตร ป่าไม้ และการประมง สาธารณรัฐแอฟริกาใต้ ณ กระทรวงเกษตร ป่าไม้ และการประมง ณ กรุงพริทอเรีย สาธารณรัฐแอฟริกาใต้

ผลการหารือ ทั้งไทยและแอฟริกาใต้ แลกเปลี่ยนขอให้อีกฝ่ายเพิ่มนำเข้า โดยแอฟริกาใต้ ขอไทยพิจารณานำเข้าสินค้าปศุสัตว์ อย่างเนื้อวัวและนกกระจอกเทศ รวมถึงผลไม้เมืองหนาว เช่น แอปเปิล พร้อมสนใจนำเข้ามังคุดและลำไยจากไทย โดยฝ่ายไทยเสนอพิจารณามะม่วงไทยด้วย พร้อมกันนี้ ได้ตกผลึกเห็นพ้องขยายเวทีการเจรจาการค้า การลงทุนและความร่วมมือทางเศรษฐกิจ โดยยกระดับการประชุมคณะกรรมการร่วมทางการค้า (JTC) จากระดับเจ้าหน้าที่เป็นระดับรัฐมนตรี โดยฝ่ายไทยจะเป็นเจ้าภาพจัดประชุมในเร็วๆ นี้ นอกจากนี้ ยังต้องการเร่งรัดการเจรจาความตกลงการค้าเสรี (FTA) ไทย-แอฟริกาใต้ ให้มีความคืบหน้าโดยเร็ว ควบคู่กับ FTA ระหว่างไทยกับสหภาพศุลกากรแอฟริกาตอนใต้ (SACU) ประกอบด้วย 5 ประเทศ ได้แก่ บอตสวานา เลโซโท นามิเบีย เอสวาตินี และสาธารณรัฐแอฟริกาใต้ ที่ได้เริ่มเจรจาแล้ว

ADVERTISMENT

อีกภารกิจไฮไลต์ของการเยือนแอฟริกาใต้ครั้งนี้ คณะไทยจัดประชุมหารือ 2 ฝ่าย ระหว่างผู้ส่งออกข้าวไทยกับบริษัทผู้นำเข้าข้าวรายใหญ่ในแอฟริกาใต้ โดยเปิดรับฟังปัญหาและอุปสรรคการค้าข้าว หารือแผนส่งเสริมการค้าข้าวระหว่างกัน

ในวันเดียวกันนี้ ได้เปิดงาน Thailand Ultimate Friendship เป็นการมอบรางวัล Thailand Ultimate Friendship Award 2025 แก่ผู้นำเข้าข้าวแอฟริกาใต้รายสำคัญจำนวน 8 บริษัท ในฐานะที่เป็นพันธมิตรทางการค้าข้าวที่ดีของไทยมาอย่างยาวนาน ซึ่งแอฟริกาใต้ เป็นประเทศแรกในการมอบ Thailand Ultimate Friendship

นายวรวงศ์กล่าวถึงการประชุมหารือกับผู้ค้าข้าวตอนหนึ่งว่า “การเยือนครั้งนี้ประสบความสำเร็จอย่างมาก โดยเฉพาะการเจรจาขายข้าว จนสามารถลงนามความบันทึกข้อตกลง (MOU) ซื้อขายข้าวไทยถึง 400,000 ตัน สร้างรายได้ให้แก่ประเทศประมาณ 7,300 ล้านบาท ส่งมอบเดือนมีนาคม-มิถุนายน การลงนาม MOU
ครั้งนี้สร้างความมั่นใจได้ว่าจะช่วยดึงปริมาณผลผลิตข้าวเปลือกของไทยในตลาดประมาณ 1 ล้านตัน และจากพูดคุยผู้นำเข้าสะท้อนว่า ประชาชนทั้งในแอฟริกาใต้ และนักท่องเที่ยวที่เข้ามา เลือกบริโภคข้าวนึ่งไทย ด้วยพอใจรสชาติและคุณภาพข้าว โดยผู้นำเข้าอยากให้ไทยคงพันธ์ุข้าวที่มีอยู่ ไม่อยากเห็นการปลอมปนพันธุ์ข้าวที่ไม่ใช่พันธุ์ไทย ทำให้เรามั่นใจว่าปี 2568 นี้ แอฟริกาใต้จะนำเข้าข้าวไทยถึง 9 แสนตัน”

สำหรับบริษัทซื้อขายข้าวครั้งนี้ ประกอบด้วย 1.บริษัท ไทยแกรนลักซ์จัมโบ้พรีแพคเกอร์ส อินเตอร์เนชั่นแนล ไรซ์ จำกัด และบริษัท โกลด์คีย์ส อินเตอร์เนชั่นแนล (พีทีวาย) จำกัด 2.บริษัทเอเซีย โกลเด้น ไรซ์ จำกัด กับ M/S Stastic Rice บริษัทคอร์ปอเรชั่น จำกัด 3.บริษัท ไทยหัว (2511) จำกัด กับ Goldkeys บริษัท อินเตอร์เนชั่นแนล (พีทีวาย) จำกัด 4.บริษัท เจเนอรัลมิลส์ จำกัด กับบริษัท ซาริโก้ ฟู้ดส์ (พีทีวาย) จำกัด 5.บริษัท
ริชแลนด์ อินเตอร์เนชั่นแนล ไทเกอร์ แบรนด์ส (พีทีวาย) จำกัด บริษัท เจเนอรัล มิลส์ จำกัด

อีกภารกิจ ร่วมเปิดกิจกรรมส่งเสริมการขายสินค้าไทยที่ซุปเปอร์มาร์เก็ตฟู้ดเลิฟเวอร์มาร์เก็ต (Food Lover’s Market) สาขา Castle Gate กรุงพริทอเรีย และมอบเกียรติบัตร Thai SELECT ให้แก่ร้านอาหารไทยในแอฟริกาใต้ ซึ่งจำหน่ายอาหารไทยรสชาติไทยแท้

จากนั้น คณะไทยได้เข้าพบ Wrenelle Stander ผู้บริหารสูงสุด ของ The Western Cape Tourism Tradeand Investment Promotion Agency (Wesgro) เป็นหน่วยงานส่งเสริมการท่องเที่ยว การค้า
การลงทุนสำหรับเมืองเคปทาวน์และเวสเทิร์นเคป หารือเกี่ยวกับแนวทางการส่งเสริมการค้าการลงทุนระหว่างกัน ที่ Wesgro ให้ความสำคัญกับประเทศในอาเซียนมากขึ้น โดยปี 2568 Wesgro มีแผนเข้าร่วมงานแสดงสินค้าและอาหารนานาชาติของประเทศในภูมิภาคอาเซียนและระหว่างวางแผนการขยายเส้นทางการบินตรง และการเป็นเจ้าภาพจัดงานประชุมประจำปีในลักษณะเดียวกับการประชุมกับสหภาพยุโรปอย่างการประชุม The annual European Union (EU) Trade and Investment Breakfast

นางอารดา เฟื่องทอง อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ กล่าวว่า แม้ปี 2567 สถานการณ์การค้าข้าวระหว่างประเทศผันผวน ส่งกระทบให้แอฟริกาใต้นำเข้าข้าวไทยลดลง แต่ผลจากการจัดงานครั้งนี้ ซึ่งไม่มีคณะไทยมาเยือนอย่างเป็นทางร่วมกว่า 10 ปี ตนมีความเชื่อมั่นว่าข้าวไทยยังคงเป็นแหล่งนำเข้าข้าวอันดับ 1 ของแอฟริกาใต้ต่อไป ตั้งแต่ปี 2563-2567 ไทยส่งออกข้าวไปแอฟริกาใต้เฉลี่ยปีละ 793,902 ตัน โดยปี 2567 ส่งออก 833,184 ตัน ลดลง 5.87% ส่วนใหญ่เป็นข้าวนึ่ง 92.95% ข้าวขาว 5.36% ข้าวหอมไทย 0.87% แต่ขึ้นปี 2568 เพียง 2 เดือนแรกแอฟริกาใต้นำเข้าแล้ว 98,943 ตัน เพิ่มขึ้นถึง 60% ซึ่งการขายข้าวแอฟริกาใต้จะเป็นส่วนสำคัญดันเป้าส่งออกข้าวไทยปีนี้ได้ 7.5 ล้านตัน

“จากที่พูดคุยผู้นำเข้า เขายังต้องการข้าวพันธุ์ไทยแท้ๆ ซึ่งกรมจะนำเรื่องนี้ไปถ่ายทอดให้ชาวนาได้เข้าใจ พร้อมกับจะทำคลิปสร้างตระหนักรู้ถึงข้าวไทย และวิธีการหุงข้าวในระยะเวลาอันสั้นด้วย”

นางอรดากล่าวว่า เพื่อเป็นการแสดงศักยภาพการเป็นประเทศผู้ส่งออกข้าวไทยรายใหญ่ของโลก และเป็นเวทีให้ผู้ซื้อ ผู้นำเข้าข้าวรายสำคัญของโลกได้พบปะเจรจาธุรกิจการค้าข้าวระหว่างกัน กรมกำหนดจะจัดงาน Thailand Rice Convention (TRC 2025) ระหว่างวันที่ 25-27 พฤษภาคมนี้
และยังมีแผนจะนำคณะผู้ส่งออกข้าวไทยเดินทางไปกระชับความสัมพันธ์กับหน่วยงานภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้องกับสินค้าข้าวและจัดกิจกรรมประชาสัมพันธ์ข้าวไทยในฟิลิปปินส์ ญี่ปุ่น และจีน เดือนสิงหาคม-กันยายน ยังมีกิจกรรมต่างๆ ต่อเนื่อง ทั้งการการส่งเสริมตลาดและประชาสัมพันธ์ภาพลักษณ์ข้าวไทย และขยายตลาดข้าวไทยในต่างประเทศ ผ่านกิจกรรมและเข้าร่วมงานแสดงสินค้าในประเทศและต่างประเทศ การประชุมคณะกรรมการสำรองอาหารเพื่อความมั่งคงแห่งภูมิภาคอาเซียน (AFSRB) ครั้งที่ 45 ที่มาเลเซีย ช่วงเดือนมิถุนายน-กรกฎาคม การประชุมความร่วมมือข้าวไทย-เวียดนามเป็นต้น การเจรจาซื้อขายข้าวแบบรัฐต่อรัฐอย่างจีน อินโดนีเซีย

ด้าน นายชูเกียรติ โอภาสวงศ์ นายกกิตติมศักดิ์สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย ที่ได้ร่วมคณะฝ่ายไทยครั้งนี้ กล่าวว่า แอฟริกาใต้นิยมข้าวไทย ปีก่อนนำเข้าข้าวไทย 8.3 แสนตัน ปีนี้คาดเกิน 9 แสนตัน ส่วนใหญ่ 90% เป็นข้าวนึ่ง จากที่แอฟริกาใต้นำเข้าข้าวรวมกว่า 1.2 ล้านตัน เชื่อว่ามีโอกาสนำเข้าข้าวไทยขยับถึง 1 ล้านตัน ด้วยคุณภาพข้าว บนฐานราคาแข่งขันได้

การเยือนแอฟริกาใต้อยู่ในส่วนหนึ่งของแผนงานส่งเสริมตลาดและประชาสัมพันธ์ข้าวไทย ภายใต้นโยบาย “รักษาตลาดเดิม เพิ่มตลาดใหม่ ในการส่งออกไปต่างประเทศ” ของกระทรวงพาณิชย์ ที่ขับเคลื่อนโดยกรมการค้าต่างประเทศ

นวลนิตย์ บัวด้วง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image