ปฏิวัติวงการแพทย์ด้วย AI จุดเปลี่ยนของอนาคต(ตอนที่2)

แ ม้ในบทความตอนแรก เราจะได้เห็นภาพอนาคตที่น่าตื่นเต้นของระบบสุขภาพที่ AI เข้ามามีบทบาทสำคัญ ทั้งการวินิจฉัยที่แม่นยำ การดูแลผู้ป่วยที่เป็นรายบุคคล และระบบ
โรงพยาบาลที่บริหารจัดการด้วยข้อมูลอย่างเต็มรูปแบบ แต่คำถามที่ยังคงคาใจหลายคน รวมถึงตัวผมเองด้วย คือ ทำไมเราจึงยังไม่เห็นการเปลี่ยนแปลงเหล่านั้นเกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม เพราะแม้ศักยภาพของ AI จะก้าวไปไกล แต่เส้นทางสู่การประยุกต์ใช้ในวงการแพทย์กลับยังเต็มไปด้วยอุปสรรคที่
ซับซ้อนและท้าทาย

ในตอนที่ 2 นี้ เราจะเจาะลึกถึงเหตุผลที่ระบบสุขภาพทั่วโลกยังไม่สามารถนำ AI มาใช้ได้อย่างยั่งยืนและทั่วถึง ตามการวิเคราะห์เชิงลึกของรายงานจาก World Economic Forum (WEF) ปี 2025 พร้อมสำรวจร่วมกันถึงแนวทางปฏิบัติที่อาจช่วยเร่งให้การเปลี่ยนผ่านนี้เกิดขึ้นได้จริง

เมื่อความเชื่อมั่นยังไม่แปรเปลี่ยนเป็นการลงมือจริง

ADVERTISMENT

รายงานจาก WEF ระบุว่า ผู้นำในภาคสุขภาพกว่า 80% เชื่อว่า AI จะเป็นตัวเร่งให้เกิดระบบสุขภาพที่เข้าถึงง่าย มีประสิทธิภาพ และยั่งยืนมากขึ้น แต่กลับมีเพียงส่วนน้อยเท่านั้นที่สามารถนำ AI ไปใช้ในระดับระบบการทำงาน (system-wide adoption) เหตุผลไม่ใช่เพราะการขาดเทคโนโลยี แต่เป็นเพราะการขาด “ความพร้อมเชิงโครงสร้าง” (structural readiness)

ปัจจุบันระบบสุขภาพในหลายประเทศยังดำเนินงานแบบแยกส่วนกันอยู่ ขาดการเชื่อมโยงระหว่างกลยุทธ์ด้านสุขภาพกับกลยุทธ์ด้านเทคโนโลยี เช่น ในการพัฒนา AI สำหรับการวินิจฉัยโรค การไม่มีแผนรองรับการจัดสรรทรัพยากรบุคลากรและระบบสนับสนุนที่ต่อเนื่อง ส่งผลให้แม้ AI จะสามารถวินิจฉัยได้แม่นยำมากขึ้นเท่าไหร่แต่ก็ไม่สามารถนำไปใช้ดูแลผู้ป่วยในความเป็นจริงได้ ยิ่งไปกว่านั้น หลายองค์กรยังมีแนวโน้มพึ่งพา “โครงการนำร่อง” ขนาดเล็กโดยไม่มีแผนการขยายผลในระยะยาว ซึ่งเป็นข้อจำกัดสำคัญที่ทำให้ AI ไม่สามารถสร้างผลกระทบในระดับระบบการทำงานได้

ADVERTISMENT

อุปสรรค 4 ด้านที่ทำให้ระบบสุขภาพยังไปไม่ถึงจุดเปลี่ยน

รายงานของ WEF แยกอุปสรรคที่สำคัญออกเป็น 4 กลุ่มใหญ่ ได้แก่ 1) ความไม่เชื่อมโยงระหว่างกลยุทธ์กับเทคโนโลยีที่ทำให้เทคโนโลยีถูกพัฒนาโดยไม่ตอบโจทย์ภาคปฏิบัติ 2) ความไม่พร้อมด้านข้อมูลที่ยังไม่มีมาตรฐานและระบบการแบ่งปันอย่างปลอดภัย 3) การขาดขีดความสามารถในผู้นำระบบสุขภาพที่ไม่สามารถประเมิน หรือตัดสินใจเรื่องเทคโนโลยีได้อย่างมั่นใจ และ 4) ความไม่ไว้วางใจจากผู้ใช้และสังคม ซึ่งยังไม่เชื่อว่า AI จะปลอดภัย เป็นธรรม และโปร่งใส

เพื่อเร่งให้เกิดการนำ AI มาใช้ในระบบสุขภาพอย่างยั่งยืน รายงาน WEF ได้เสนอแนวทาง “Calls to Action” ที่มีความเกี่ยวโยงกัน โดยเริ่มจากการผูกกลยุทธ์ AI เข้ากับเป้าหมายระบบสุขภาพ เช่น การวางให้ AI เป็นส่วนหนึ่งของยุทธศาสตร์ ไม่ใช่แค่โครงการทดลองต่อเนื่องมาสู่การสร้างระบบข้อมูลที่ปลอดภัยและใช้ร่วมกันได้ โดยกำหนดมาตรฐานการจัดเก็บ การแบ่งปัน และการใช้ข้อมูลอย่างรับผิดชอบ

ถัดมาคือการพัฒนากรอบกำกับดูแลที่ยืดหยุ่นแต่เชื่อถือได้ เช่น การใช้ sandbox ในพื้นที่ควบคุม พร้อมเพิ่มขีดความสามารถของผู้นำในระบบสุขภาพให้สามารถตัดสินใจเชิงเทคโนโลยีได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงการออกแบบ AI อย่างมีจริยธรรม โปร่งใส และสามารถอธิบายผลได้ เพื่อลดอคติและเพิ่มความไว้วางใจ สุดท้ายคือการสร้างพันธมิตรข้ามภาคส่วน ทั้งภาครัฐ เอกชน นักวิจัย แพทย์ และประชาชน ให้มีส่วนร่วมกันขับเคลื่อนทั้งระบบ

องค์การอนามัยโลก (WHO) เองก็ได้ออกแนวทางการพัฒนา AI ที่มีจริยธรรมสำหรับระบบสุขภาพตั้งแต่ปี 2021 ซึ่งระบุ 6 หลักการสำคัญ ได้แก่ ความเป็นธรรม ความปลอดภัย ความโปร่งใส ความสามารถในการอธิบาย ความรับผิดชอบ และการมีส่วนร่วมของมนุษย์ ซึ่งล้วนสอดคล้องกับสิ่งที่ WEF สนับสนุนในปี 2025

ย้อนกลับมามองบริบทของประเทศไทย

เรามีทั้งจุดแข็งและจุดท้าทายที่สามารถนำมาใช้กำหนดยุทธศาสตร์ด้าน AI เพื่อสุขภาพได้อย่างน่าสนใจ จุดแข็งคือ เรามีบุคลากรทางการแพทย์ที่มีความสามารถ มีระบบสาธารณสุขที่เข้าถึงประชาชนได้ดีในระดับหนึ่ง และมีสตาร์ตอัพด้านเทคโนโลยีเกิดขึ้นมากมาย อย่างไรก็ตาม เรายังขาดโครงสร้างพื้นฐานข้อมูลสุขภาพที่เชื่อมโยงกันทั่วประเทศ ขาดแผนระดับชาติเกี่ยวกับการใช้ AI และยังไม่มีกรอบ sandbox ที่เปิดโอกาสให้เกิดนวัตกรรมในพื้นที่จริงภายใต้การควบคุม

หากประเทศไทยสามารถเริ่มต้นจากจุดที่เหมาะสม เช่น การพัฒนาโครงการนำร่องร่วมกับโรงพยาบาลภาครัฐ 2-3 แห่ง โดยมีแนวทางกำกับดูแลที่ยืดหยุ่นและสามารถวัดผลได้จริง ควบคู่กับการอบรมเสริมทักษะผู้นำในกระทรวงสาธารณสุข และการพัฒนาระบบข้อมูลกลางอย่างค่อยเป็นค่อยไป ก็อาจเป็นจุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนแปลงที่ยิ่งใหญ่ได้ เพราะ AI จะไม่มีวันสร้างการเปลี่ยนแปลงได้ หากเรายังมองว่า AI เป็นเพียงเครื่องมือเสริมในระบบเดิม แต่หากเรากล้าที่จะ “ออกแบบระบบใหม่โดยมี AI เป็นส่วนหนึ่งของโครงสร้างหลัก” อนาคตของระบบสุขภาพที่เข้าถึงได้ ยั่งยืน และเป็นธรรม ก็ไม่ใช่เพียงภาพฝันอีกต่อไป

ในบริบทของประเทศที่ยังอยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่าน อย่างเช่นประเทศไทย จุดเริ่มต้นอาจไม่ใช่การลงทุนครั้งใหญ่ในเทคโนโลยีล้ำสมัย แต่เป็นการเลือกปัญหาที่สำคัญจริง แล้วพัฒนา AI เพื่อแก้ไขปัญหานั้นอย่างตรงจุด เช่น การลดภาระงานของแพทย์ในคลินิกปฐมภูมิ การคัดกรองโรคเบื้องต้นในชุมชน หรือการวิเคราะห์ข้อมูลการใช้ยาในโรงพยาบาล ซึ่งสิ่งเหล่านี้ไม่ต้องรอให้มีโมเดล หรือโครงการขนาดใหญ่ระดับโลก แต่ต้องการข้อมูลที่มีคุณภาพ ความเข้าใจในบริบท และกระบวนการประเมินผลที่โปร่งใสและยุติธรรม

อีกมิติที่สำคัญมากคือ การกำหนดบทบาทของมนุษย์ในการใช้ AI อย่างเหมาะสม รายงานของ WEF ย้ำหลายครั้งว่า AI ที่ดีต้องไม่ตัดสินใจแทนมนุษย์โดยสมบูรณ์ แต่ควรเป็นเครื่องมือสนับสนุนการตัดสินใจ และต้องอยู่ภายใต้การควบคุมของมนุษย์เสมอ เพราะความเข้าใจในบริบทเฉพาะเจาะจง เช่น วัฒนธรรม ความเชื่อ หรือความต้องการเฉพาะรายของผู้ป่วย ยังคงต้องอาศัยความเห็นใจ ความรู้สึก และประสบการณ์ที่ AI
ยังไม่สามารถแทนได้

ถึงเวลาแล้วที่เราจะหยุดมอง AI เป็นเพียงโอกาส และเริ่มลงมือจริงอย่างมีแผนงานที่ชัดเจนอย่างเป็นระบบ เพราะท้ายที่สุด อนาคตของระบบสุขภาพจะไม่เกิดขึ้นจากเทคโนโลยีเพียงอย่างเดียว แต่อยู่ที่การตัดสินใจของเราในวันนี้ว่าจะกล้าสร้างสิ่งใหม่ด้วยความเข้าใจและความกล้าหาญมากเพียงใด

หากเราร่วมมือกันออกแบบนโยบายอย่างรอบคอบ พัฒนาเทคโนโลยีด้วยความรับผิดชอบ และเปิดพื้นที่ให้ทุกฝ่ายได้มีส่วนร่วม อนาคตที่เราวาดไว้จะไม่ใช่แค่แนวคิด แต่จะเป็นความจริงที่เกิดขึ้นในระบบสุขภาพไทยและทั่วโลก

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image