ผู้เขียน | ศ.ชยานันต์ ศุกลวณิช |
---|
สหรัฐช่วงชิงจุดยุทธศาสตร์ขั้วโลกเหนือ
เมื่อไม่นานมานี้ “เจดี แวนซ์” รองประธานาธิบดีสหรัฐ ไปเยือนเกาะกรีนแลนด์โดยปราศจากการเชิญจากรัฐบาล ทัวร์นี้เรียกกันว่า “ทัศนศึกษาทางวัฒนธรรม” แต่ภายใต้การต่อต้านคัดค้านของรัฐบาลเดนมาร์กและกรีนแลนด์ “แวนซ์” จึงได้ย่อกำหนดการ เปลี่ยนเป็นการเดินทางไปเยือนฐานทัพอเมริกันบนเกาะ แต่เจตนาที่แท้จริงน่าจะไปตามบัญชาของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ซึ่งได้ประกาศอยู่ตลอดว่า ต้องให้สหรัฐควบคุมเกาะแห่งนี้ จึงจะสามารถรักษาความปลอดภัยระหว่างประเทศ พร้อมทั้งกล่าวว่า การเคารพอธิปไตยและบูรณภาพแห่งดินแดนเป็นเรื่องไร้สาระ ทรัมป์ประกาศชัดเจนว่า สหรัฐของสงวนการใช้มาตรการทางเศรษฐกิจหรือยุทธศาสตร์ทางการทหารทำการยึดเกาะกรีนแลนด์
กรณีเป็นการสะท้อนให้เห็นการเปลี่ยนแปลงเชิงยุทธศาสตร์ของสหรัฐ อันเกี่ยวกับการเผชิญหน้ากับมหาอำนาจอย่างจีนและรัสเซีย เพราะกรีนแลนด์อยู่ในจุดยุทธศาสตร์ของมหาสมุทรอาร์กติก ขั้วโลกเหนือ ซึ่งเป็นจุดเชื่อมต่ออเมริกาเหนือและยุโรป หากยึดครองสำเร็จก็จะมีความได้เปรียบการเฝ้าระวังภัยคุกคามที่อาจมาจากจีนหรือรัสเซีย อีกทั้งเป็นภูมิภาคที่อุดมด้วยทรัพยากรธรรมชาติที่ปกคลุมด้วยน้ำแข็งเกือบตลอดทั้งปี
การเยือนกรีนแลนด์ของแวนซ์จะมองเป็นอื่นมิได้ นอกจากเป็นการเคลื่อนไหวที่มีนัยสำคัญในเชิงภูมิรัฐศาสตร์ อันเกี่ยวกับสหรัฐต้องการขยายอิทธิพลในภูมิภาคอาร์กติก แต่ต้องเผชิญกับแรงกดดันของเดนมาร์กและกรีนแลนด์ กระทบต่อความสัมพันธ์กับพันธมิตร และส่งผลให้เกิดความขัดแย้งในเวทีระหว่างประเทศ
การที่สหรัฐพยายามเข้าครอบครองกรีนแลนด์ มิใช่เป็นเรื่องซื้อขายธรรมดา หากเป็นการสะท้อนให้เห็นถึงการปรับยุทธศาสตร์โลกของประเทศมหาอำนาจ เพราะเมื่อพิจารณาถึงการเปลี่ยนแปลงแห่งความสมดุลทางอำนาจในศตวรรษนี้ สหรัฐกำลังเผชิญกับความท้าทายจากจีนและรัสเซีย
หากย้อนกลับอดีตยุคสงครามเย็น กรีนแลนด์เป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญทางการทหารและความมั่นคง สหรัฐจึงได้ตั้งฐานทัพอากาศไว้เพื่อเฝ้าระวังภัยจากรัสเซีย ปัจจุบันกรีนแลนด์ยิ่งมีความสำคัญมากขึ้น เมื่ออาร์กติกกลายเป็นสมรภูมิใหม่ของการแข่งขันระหว่างชาติมหาอำนาจคือสหรัฐ รัสเซียและจีน หากได้ควบคุมกรีนแลนด์ สหรัฐสามารถทำการปิดล้อมรัสเซีย และยังเป็นฐานสำหรับป้องกันขีปนาวุธ นอกจากนั้น ยังสมบูรณ์ด้วยทรัพยากรธรรมชาติได้แก่น้ำมัน ก๊าซธรรมชาติ แร่ธาตุหายาก และผลประโยชน์อื่นทางเศรษฐกิจ
ฉะนั้น สหรัฐจึงพยายามกีดกันมิให้จีนและรัสเซียเข้ามามีบทบาทในพื้นที่
การที่จีนเข้าไปลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐาน สหรัฐมองว่าเป็นภัยคุกคามต่อความมั่นคง จึงพยายามทำการขัดขวางจีนมิให้เข้าพื้นที่ เช่น ต่อต้านมิให้จีนลงทุนสร้างสนามบิน ฯลฯ
การขอซื้อเกาะกรีนแลนด์ครั้งที่หนึ่งเกิดขึ้นเมื่อปี 1946 ครั้งที่สองปี 2019 และครั้งนี้เป็นครั้งที่สาม การเสนอซื้อเกาะกรีนแลนด์ มิใช่เป็นเพียงเรื่องเศรษฐกิจ หากหมายความรวมถึงเป้าหมายทางยุทธศาสตร์ที่ต้องการขยายอิทธิพลเหนืออาร์กติก และไม่ให้โอกาสแก่จีนและรัสเซียเข้ามาเคลื่อนไหวในภูมิภาค และเมื่อกรีนแลนด์เป็นเขตปกครองตนเองของเดนมาร์ก และเดนมาร์กปฏิเสธข้อเสนอ สหรัฐจึงต้องใช้ช่องทางอื่น
ประเด็นที่น่าสนใจคือ สหรัฐกระเหี้ยนกระหือรือตัดกำลังพันธมิตรยุโรปให้อ่อนแรงลง เพื่อธำรงสถานะของตนให้แข็งแกร่งยิ่งขึ้น ส่งผลให้เสียงเรียกร้อง “อำนาจอธิปไตยของยุโรป” ดังขึ้นอีกวาระหนึ่ง และเจ้าหน้าที่พันธมิตรยุโรปก็ได้ไปเยือนจีนบ่อยขึ้น เป็นการเจริญไมตรี จึงเป็นการสะท้อนให้เห็นถึงเจตนารมณ์ที่จะขอความช่วยเหลือจากจีน เพื่อเตรียมการรับมือกับเหตุการณ์ที่กำลังจะเปลี่ยนแปลงระหว่างสหรัฐกับพันธมิตรยุโรป
ต้องไม่ลืมว่า กรีนแลนด์และหลายประเทศที่มีอาณาเขตหรืออ้างสิทธิในบริเวณขั้วโลกเหนือนั้น จีนและยุโรปก็ได้มีความร่วมมือในระดับพื้นฐานอยู่แล้ว โดยให้ความช่วยเหลือทางเศรษฐกิจหลายด้านเพื่อสร้าง “เส้นทางสายไหมขั้วโลกเหนือ” ร่วมกัน แต่สหรัฐมองจีนด้วยแนวคิดสงครามเย็น และกล่าวหาจีนใช้การพัฒนาแร่ธาตุหายากในกรีนแลนด์เป็นเครื่องมือสำหรับการขยายอำนาจทางยุทธศาสตร์ในขั้วโลกเหนือ
แต่การบริหารจัดการอาร์กติกมิได้มีเป้าหมายปกป้องผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจหรืออำนาจของประเทศใดประเทศหนึ่ง หากเน้นการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและความปลอดภัยของเส้นทางเดินเรือ
ฉะนั้น การที่สหรัฐจะทำการยึดครองเกาะกรีนแลนด์ นอกจากเป็นพฤติการณ์ที่ละเมิดต่ออธิปไตยและบูรณภาพแห่งดินแดน ยังเป็นการฝ่าฝืนวัตถุประสงค์และเป้าหมายของกรีนแลนด์ อันเป็นการทำลายระบอบประชาธิปไตย ทำลายชื่อเสียงและภาพลักษณ์ของสหรัฐอีกด้วย
ศ.ชยานันต์ ศุกลวณิช