ผู้เขียน | สุพัด ทีปะลา |
---|
กระแสวิพากษ์วิจารณ์โครงการ “ปรับปรุง-ต่อเติม” อาคารรัฐสภา 15 โครงการ เม็ดเงินรวม 2.7 พันกว่าล้านบาท ที่สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรเสนอบรรจุในร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบฯ 2569 ดูเหมือนจะยิ่งขยายวงกระทบความเชื่อมั่นต่อ “รัฐสภา” อันทรงเกียรติ
สิ่งที่สังคมตั้งคำถามคือ มีความคุ้มค่า-เหมาะสมหรือไม่? เพราะ “สัปปายะสภาสถาน” อาคารรัฐสภามูลค่า 2.2 หมื่นล้านบาท ที่มีปัญหาความล่าช้าในการก่อสร้างตลอด 10 กว่าปีที่ผ่านมา เพิ่งจะสร้างเสร็จสมบูรณ์ 100% เปิดใช้งานเต็มรูปแบบไปเมื่อปีที่ผ่านมา
การเสนอของบประมาณเพิ่มเติมอีกย่อมที่จะมีคนคัดค้านและไม่เห็นด้วยอย่างแน่นอน
ข้อมูลที่สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนฯ ได้ชี้แจงต่อคณะกรรมาธิการการพัฒนาการเมือง การสื่อสารมวลชน และการมีส่วนร่วมของประชาชน สภา ที่มี “พริษฐ์ วัชรสินธุ” ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน เป็นประธาน กมธ. ทำให้ทราบว่า 15 โครงการที่เสนอไปยังไม่ได้รับการอนุมัติจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) ให้บรรจุในร่าง พ.ร.บ.งบฯ ปี’69 จำนวน 5 โครงการ มูลค่ารวม 1,817 ล้านบาท
5 โครงการที่ถูกตั้งคำถามมากที่สุดคือ โครงการการก่อสร้างอาคารจอดรถรัฐสภา (เพิ่มเติม) รวมค่าควบคุมงานและค่าจ้างที่ปรึกษา งบประมาณ 1,529 ล้านบาท และโครงการตกแต่งฉากหลังบัลลังก์ประธานสภาในห้องประชุมสุริยัน 133 ล้านบาท ที่ ครม.ยังไม่ได้อนุมัติเห็นชอบ
ส่วนโครงการพัฒนาระบบภาพยนตร์ 4D ห้องบรรยายใหญ่ ชั้น B1-B2 180 ล้านบาท, โครงการปรับปรุงศาลาแก้ว 2 หลัง 123 ล้านบาท โครงการปรับปรุงห้องประชุม 118 ล้านบาท ได้รับความเห็นชอบแล้ว
“พริษฐ์ วัชรสินธุ” ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน ได้ชี้ให้เห็นข้อพิรุธต่างๆ หลังประชุม กมธ.การพัฒนาการเมืองฯ กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
โดยโฟกัสไปที่โครงการ “ก่อสร้างอาคารจอดรถรัฐสภา” ที่มีการเสนอให้ใช้งบประมาณ 4,500 ล้านบาท เป็นงบผูกพันปี’69-71 สร้างอาคารจอดรถใต้ดินขึ้นมาเพิ่มเติมจากอาคารจอดรถปัจจุบัน เพื่อทำให้จำนวนที่จอดรถเพิ่มขึ้นจาก 2,000 ที่ มาเป็น 6,500 ที่
พร้อมตั้งข้อสังเกตว่า แผนดั้งเดิมของอาคารรัฐสภาออกแบบให้อาคารจอดรถมีพื้นที่พอดีสำหรับ 2,000 ที่ แต่ข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร 2544 กลับกำหนดว่าอาคารขนาดเทียบเท่ากับรัฐสภาควรต้องมีที่จอดรถขั้นต่ำ 3,500 ที่
คำถามคือ ทางผู้รับผิดชอบ อนุมัติแผนดั้งเดิมเช่นนี้มาได้อย่างไร แล้วหากจะต้องมีการเพิ่มที่จอดรถให้ขึ้นมาถึงขั้นต่ำ 3,500 ที่ เหตุใดผู้ที่ต้องรับผิดชอบต่อความผิดพลาดนี้ถึงกลายเป็นประชาชนที่ต้องจ่ายภาษีเพื่อมาอุดหนุนค่าใช้จ่ายดังกล่าว?
เชื่อว่าเสียงคัดค้านในเรื่องนี้จะขยายวงยิ่งๆ ขึ้น เพราะไม่เพียงแค่การเข้ามาตรวจสอบของ กมธ.การพัฒนาการเมืองฯ
ยังมีการออกมาแสดงจุดยืนไม่เห็นด้วยของ “ชาตรี ลดาลลิตสกุล” ศิลปินแห่งชาติ ในฐานะหัวหน้าสถาปนิกผู้ออกแบบอาคารรัฐสภา เป็นตัวแทนผู้ออกแบบรัฐสภา เข้ายื่นหนังสือขอคัดค้านการแก้ไขเปลี่ยนแปลงแบบของอาคารรัฐสภาต่อ กมธ.การศาสนา คุณธรรม จริยธรรม ศิลปะและวัฒนธรรม วุฒิสภา
“ชาตรี ลดาลลิตสกุล” สะท้อนว่า ที่ผ่านมากว่า 10 ปี ผู้ออกแบบรัฐสภาไม่เคยออกมาพูด เพราะเกรงว่าจะมีปัญหาหลายส่วน แต่จำเป็นต้องขอคัดค้านการของบเพื่อถมปิดสระมรกตเพื่อสร้างเป็นห้องสมุดและร้านค้าเพื่อบริการประชาชน
“ซึ่งข้อกล่าวอ้างว่าสระมรกตมีปัญหาน้ำรั่วซึมและน้ำเน่า ยุงชุมนั้น ขอชี้แจงว่า สระมรกตออกแบบมาพร้อมระบบการกรองแบบสระว่ายน้ำ มีระบบเกลือ หรือคลอรีน หากดูแลตามปกติวิสัย มีการเปิดระบบให้น้ำไหลเวียนทุกวันตามมาตรฐาน ไม่สามารถเกิดยุงได้อย่างแน่นอน”
เสียงท้วงติงทั้งจากฝ่ายการเมือง ภาคประชาชน ผู้ที่เกี่ยวข้อง เป็นสิ่งที่จะต้องรับฟัง น้อมนำไปไตร่ตรองเพื่อทบทวนโครงการปรับปรุง-ต่อเติม อาคารรัฐสภา ให้สอดรับกับสถานการณ์ที่ประเทศกำลังเผชิญมรสุมทางด้านเศรษฐกิจ การใช้งบประมาณที่มาจากภาษีประชาชนจึงต้องอยู่บนหลักของความคุ้มค่า สมเหตุสมผล
สุพัด ทีปะลา