การโกหกในระบอบเผด็จการ โดย พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์

นักวิชาการที่สนใจศึกษาสังคมเผด็จการ หรือสังคมที่ไม่ได้มีลักษณะประชาธิปไตยอย่างเต็มรูปแบบ จะมีเรื่องหนึ่งที่ชอบศึกษากัน นั่นก็คือเรื่องของการรักษาอำนาจของเผด็จการเอาไว้ (consolidation and control) การรักษาอำนาจเอาไว้อาจจะมีรูปแบบพื้นฐาน เช่น การใช้อำนาจปืนในการบังคับกดขี่ หรือซับซ้อน เช่น การควบคุมจัดการข้อมูลข่าวสารและอารมณ์ความรู้สึกนึกคิดของประชาชน ท่ามกลางลักษณะที่ซับซ้อนของการจัดการข้อมูลข่าวสาร หรือปฏิบัติทางจิตวิทยานั้น

รูปแบบที่สำคัญคือ การจัดการควบคุมสอดส่องประชาชน การสร้างโฆษณาชวนเชื่อ และการสร้างลัทธิ-พิธีกรรมที่ส่งเสริมความยิ่งใหญ่ของผู้นำ รูปแบบการจัดการกับอารมณ์ความรู้สึกของผู้คนนี้ในภาพรวมแล้ว วางอยู่บนสองยุทธวิธีหลัก หนึ่งคือการสร้างความหวาดกลัว โดยมีเป้าหมายเพื่อทำให้การระดมสรรพกำลังในการต่อต้านระบอบการปกครองนั้นทำได้ยาก

ซึ่งมักจะใช้วิธีการลดทอนความน่าเชื่อถือ ทำให้หมดกำลังใจ-ท้อแท้หมดหวัง หรือทำให้กลัวจนไม่กล้าทำอะไร สองคือการสร้างความรัก โดยมีเป้าหมายเพื่อให้เกิดความผูกพันเกี่ยวโยงระหว่างประชาชนผู้ถูกปกครองกับผู้ปกครอง การสร้างส่วนผสมที่เหมาะสมระหว่างความรักและความกลัวถือเป็นเป้าหมายสำคัญในการปกครองมาตั้งแต่โบราณ (นักคิดอย่างแมคเคียวาลี่ที่นักปกครองและนักรัฐศาสตร์บริการมักสมาทานความคิดมักจะถูกอ้างถึงในฐานะหนึ่งในต้นธารที่ให้ความสำคัญกับการบริหารจัดการอารมณ์ความรู้สึกของผู้คนในการปกครอง และการให้ความสำคัญในเรื่องของการสร้างความความกลัวนั้นดูจะเป็นสิ่งที่เขามองว่าทำได้ง่ายกว่าการสร้างความรัก)

ในการที่ได้มาซึ่งความกลัวและความรักนั้น การรวบรวมข่าวสารและการควบคุมจัดการข่าวสารให้เป็นไปตามที่ผู้ปกครองต้องการนั้นจึงมีส่วนสำคัญ ผู้ปกครองในระบอบเผด็จการจึงจำต้องเข้าใจว่าตนเองนั้นไม่สามารถที่จะพูดหรือควบคุมประชาชนอย่างไรก็ได้ ถ้าตนเองนั้นไม่สามารถรวบรวมข่าวสารจากประชาชนได้ หรือในระดับปฏิบัติการนั้น เขาจะต้องมีทั้งการข่าวที่มีประสิทธิภาพ และมีการประชาสัมพันธ์หรือการโฆษณาชวนเชื่อที่มีประสิทธิภาพเช่นกัน (มาถึงตรงนี้ต้องทำความเข้าใจกันนิดนึงว่า ที่เขียนแบบนี้ไม่ใช่จะเขียนเพื่อบริการผู้ปกครองให้ปกครองประชาชนต่อไป นักวิชาการหลายคนก็ตีความแมคเคียวาลี่ว่าเป็นคนที่ซับซ้อน เพราะการเขียนหนังสือเสนอความคิดให้ผู้ปกครองปกครองประชาชนด้วยวิธีการใดๆ ก็ได้โดยไม่คำนึงถึงศีลธรรม ในอีกทางหนึ่งก็เป็นการเปิดโปงให้ประชาชนเห็นเช่นกันว่าพวกเขากำลังเผชิญกับอะไรอยู่)

Advertisement

ดังนั้นการที่รัฐบาลนั้นเที่ยวไปให้ความเห็นว่าข่าวสารอะไรที่ไม่ได้เป็นไปตามที่รัฐบาลต้องการว่าเป็นการบิดเบือน และมาจากผู้ไม่หวังดี เรื่องนี้ก็จะต้องดูว่าคำอธิบายแบบนี้จะทำให้รัฐบาลอยู่รอดไปได้นานแค่ไหน เพราะเหนือไปจากการอธิบายว่ารัฐบาลเท่านั้นผู้ขาดความจริงเอาไว้แล้ว สิ่งที่น่ากลัวก็คือวันหนึ่งเมื่อประชาชนเริ่มที่จะโกหกรัฐบาลอย่างกว้างขวาง สิ่งนี้จะทำให้เกิดความเสียหายต่อการปกครองมากที่สุด

การโกหกที่ประชาชนจะมีกับรัฐบาลนั้น เราอาจจะนึกได้แค่ว่ามีคนไม่หวังดีโจมตีรัฐบาล แต่เมื่อสังคมมันตกต่ำลงจนกระทั่งประชาชนเริ่มไม่สนใจรัฐบาลและการใช้ชีวิตที่มีความหมายแบบที่รัฐบาลต้องการ พวกเขาก็จะหันไปมีโลกแบบของเขาเอง และไม่ฟังข้อมูลข่าวสารจากรัฐบาลมากขึ้น การไม่เชื่อฟังรัฐบาลแบบไม่ได้ลุกฮือขึ้นโดยตรง ก็มีส่วนทำให้รัฐบาลนั้นปกครองได้ยากขึ้น เพราะไม่ได้มีใครเป็นแกนนำที่จะไปจัดการปรับทัศนคติได้ แต่เกิดสภาวะแปลกแยกของประชาชนกับรัฐบาลมากขึ้น

ดังตัวอย่างระยะสุดท้ายในการปกครองแบบคอมมิวนิสต์ในเช็ก หรือการพยายามอยู่อย่างเงียบๆ ของประชาชนในพม่า แน่นอนว่าในระยะสั้น รัฐบาลเผด็จการอาจจะรู้สึกว่าการที่ประชาชนไม่สนใจการเมือง ไม่เรียกร้อง และอยู่อย่างสงบนั้นคือความสำเร็จของรัฐบาลที่ทำให้สถานการณ์นิ่งและไม่กระเพื่อม แต่ในระยะยาว การที่รัฐบาลไม่สามารถรับรู้ความต้องการของประชาชนอย่างแท้จริงได้ เพราะประชาชนโกหกต่อรัฐบาลทำให้ระบอบเผด็จการล่มสลายลงอย่างไม่หวนคืนมา

Advertisement

ในแง่นี้ระบอบประชาธิปไตยที่ให้เสรีภาพกับประชาชนและสื่อมวลชนจะเปิดโอกาสให้ผู้ปกครองได้รับข้อมูลข่าวสารจากประชาชนได้ง่ายกว่า และเสรีภาพนั้นจะให้ประชาชนมีชีวิตที่เป็นไปตามความมุ่งหวังของเขามากกว่าระบอบเผด็จการ เพราะมันทำให้ปากตรงกับใจมากกว่า และไม่ต้องเสียเวลามานั่งตีความว่าเวลาที่ใครชื่นชม ยกย่อง สรรเสริญ หรือสนับสนุนเรานั้นเขาจริงใจกับเราแค่ไหน

ส่วนระบอบประชาธิปไตยที่ไม่ค่อยจะเสรีมากนัก (หรือเผด็จการที่ยังปล่อยให้มีการแข่งขันกันระหว่างพรรคการเมือง แต่มีพรรคใหญ่ที่ครอบงำในเชิงโครงสร้างการเมืองการปกครอง ไม่ใช่แค่อุดมการณ์) เขาก็ยังปล่อยให้มีสื่อและเสรีภาพในการแสดงความคิดห็นได้ แต่รัฐบาลหรือพรรคหรือกลุ่มอำนาจในประเทศเหล่านั้นจะใช้วิธีที่สลับซับซ้อนหน่อย คือปล่อยให้มีเสรีภาพ แต่จะใช้กลวิธีมากมายที่ทำให้ไม่สามารถเกิดการนำเสรีภาพเหล่านั้นมาระดมการ ไม่สนับสนุนŽ รัฐบาล เช่น อาจจะสร้างสายสัมพันธ์ที่ดีกับสื่อมวลชน ใช้เครือข่ายอำนาจในการสร้างการเซ็นเซอร์ตัวเองของสื่อ การโกหกที่สลับซับซ้อนอีกประการหนึ่งนอกเหนือจากการโกหกของประชาชนต่อรัฐบาลก็คือ การโกหกจากระบบราชการ (bureaucratic lies) หรือจะพูดง่ายๆ ก็คือ การได้รับ รายงานŽ จากสายการบังคับบัญชาของตน

ระบบเผด็จการจะปวดหัวกับเรื่องนี้มากกว่าประชาธิปไตย เพราะบ่อยครั้งข้อมูลที่มาจากผู้ใต้บังคับบัญชาของตนเองนั้นอาจจะใช้ประโยชน์อะไรไม่ได้จริงๆ ดังนั้นเผด็จการก็จะต้องทำงานหนักในการสร้างหน่วยงานใหม่ๆ ในการรวบรวมข้อมูลข่าวสารที่จะมาตรวจสอบระบบการบริหารของตนเอง เพราะอาจไม่แน่ใจว่าระบบที่ตนเองนั้นควบคุมอยู่จะนำเสนอความจริงให้กับตนเองได้แค่ไหน ยิ่งเมื่อมีการควบคุมสิทธิเสรีภาพของผู้คนและสื่อมากขึ้น ข้อมูลที่จะเป็นประโยชน์ในการตรวจสอบข้าราชการระดับต่างๆ ก็อาจจะไม่ได้รับมาจากข้อเท็จจริงมากขึ้น

โดยเฉพาะในกรณีที่ระบบงานข่าวกรองไม่มีประสิทธิภาพ ดังนั้นแทนที่จะไปกล่าวหาคนอื่นว่าไม่หวังดี เป็นศัตรูทางการเมือง เป็นฝ่ายตรงข้าม และบิดเบือน สิ่งที่อันตรายกว่านั้นก็คือ การบิดเบือนจากฝ่าย (ที่คิดว่าเป็น) ฝ่ายเดียวกันนั่นแหละครับ เพราะสุดท้ายฝ่ายที่ไปกล่าวหาคนอื่นอาจจะตอบไม่ได้ว่าเวลาที่ไปอ้างว่าคนอื่นเขาบิดเบือนนั้น ฝ่ายตัวเองมีข้อมูลที่จริงและตรวจสอบได้แค่ไหน เว้นแต่ต้องเชื่อมั่นในทีมงานของตัวเอง เพราะประชาชนอาจจะโกหกก็ได้ (เช่นเวลาตอบโพล ใครจะยอมตอบโพลที่ขัดกับความต้องการของฝ่ายเผด็จการ เพราะเขาอาจถูกตามตัวและตรวจสอบได้ว่าทัศนคติที่ไม่เห็นด้วยกับรัฐนั้นมาจากไหน

ดังนั้นเขาจึงอาจตอบอะไรในโพลที่ไม่ตรงกับสิ่งที่เขาตอบจริงๆ แต่เขาอาจจะตอบว่าเห็นด้วยกับนโยบายของรัฐบาลในความหมายว่า เขาต้องการแสดงออกว่าเขาได้ทำให้สิ่งที่รัฐบาลต้องการให้ทำให้ตอบ ดังนั้นโปรดอย่ามายุ่งกับชีวิตของเขา เพราะเขาหวาดกลัวต่ออำนาจของรัฐบาลมากกว่าความเห็นจริงๆ ต่อนโยบายนั้น) ในขณะที่การบิดเบือนและไม่หวังดีในการเมืองแบบประชาธิปไตยไม่ใช่ไม่มี แต่ตรวจสอบได้ง่ายกว่า และนั่นคือเหตุผลที่วาทำไมเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นทางการเมืองจึงเป็นหัวใจสำคัญในการปกครอง มิใช่เป็นเรื่องแค่การล้มหรือยอมรับรัฐบาลเท่านั้น

แต่มันจะมีประโยชน์ต่อรัฐบาลในการปกครองด้วย เพราะรัฐบาลจะสามารถเข้าใจความต้องการของประชาชน และตรวจสอบการทำงานของกลไกของรัฐบาลเอง

เผด็จการที่มีประสิทธิภาพจึงไม่คิดควบคุมสื่อทั้งหมด แต่ปล่อยให้สื่อทำหน้าที่ต่อไป เพียงแต่ไม่เปิดโอกาสให้ฝ่ายตรงข้ามนำเอาข้อมูลไประดมประชาชนมาต่อต้านรัฐบาล และใช้วิธีการสร้างสื่อของฝ่ายตนเองเพื่อลดพื้นที่ฝ่ายตรงข้ามลง และสร้างความนิยมและความน่าเชื่อถือกับประชาชนด้วยมรรควิธีที่หลากหลาย มากกว่าโจมตีฝ่ายตรงข้าม

การโฆษณาชวนเชื่อที่จะรักษาความน่าเชื่อถือของรัฐบาลเอาไว้ก็คือการไม่ทำให้สิ่งที่รัฐบาลนำเสนอออกไปนั้นไปขัดกับสิ่งที่ประชาชนนั้นประสบอยู่จริงในชีวิตแต่ละวัน หรือไปขัดกับความคิดความเชื่อของประชาชน (ไม่งั้นก็อาจจะไปสู่สภาวะที่ประชนเริ่มโกหกรัฐบาลอย่างเป็นระบบดังที่กล่าวมาแต่แรก ซึ่งอาจจะแย่กว่าการต่อต้านรัฐบาล แต่เมื่อประชาชนไม่สนใจที่จะถูกปกครอง ต่อไปรัฐบาลจะระดมการสนับสนุนจากประชาชนได้ยากขึ้น)

กล่าวอีกอย่างหนึ่ง การคิดว่ารัฐบาลเชื่อว่าสามารถคุมสื่อได้นั้น อาจจะนำไปสู่การลดทอนความน่าเชื่อถือของรัฐบาลลงในสายตาของประชาชน และทำให้การปกครองขาดประสิทธิภาพมากขึ้น ประชาชนขาดจินตนาการและความกระตือรือร้นที่จะถูกปกครอง และทำให้รัฐไม่สามารถบรรลุเป้าหมายในการบริหารราชการ

ในอีกทางหนึ่งใช่ว่าการโฆษณาชวนเชื่อที่ดูน่าเบื่อของรัฐบาลนั้นจะไม่มีความหมายเอาเสียเลย อย่างในกรณีของจีน มีงานวิจัยค้นพบว่านักศึกษาในระดับมหาวิทยาลัยที่สามารถจดจำข้อมูลจากวิชาเรียนที่เน้นการปลูกฝังอุดมการณ์ของรัฐนั้นไม่ได้มีลักษณะสนับสนุนรัฐบาลมากกว่านักศึกษาที่ไม่สามารถจดจำข้อมูลอะไรได้

แต่กระนั้นนักศึกษาที่จดจำข้อมูลจากการโฆษณาชวนเชื่อเหล่านี้ได้จะมีแนวโน้มที่เชื่อว่ารัฐบาลนั้นยังมีความเข้มแข็ง และจะมีแนวโน้มที่จะไม่ออกมาร่วมกิจกรรมต่อต้านรัฐบาล แต่กระนั้นก็ดี งานวิจัยต่างๆ พบว่าเผด็จการที่อยู่เป็นจะพยายามไม่ทำการโฆษณาชวนเชื่อที่ห่วยๆ น่าเบื่อ และโจ๋มครึ่ม แต่จะใช้วิธีในการพยายามที่จะจัดการอย่างเป็นระบบกับผู้ที่ถูกมองว่ามีแนวโน้มที่จะปลุกเร้าการต่อต้านหรือแข็งข้อกับรัฐบาล ซึ่งอาจจะรวมไปถึงการจ้างผู้คนมาสร้างลักษณะของข้อมูลที่สับสนในอินเตอร์เน็ต (ที่นักท่องเน็ตอาจงงว่า เอาอะไรคิด หรือคิดทฤษฎีอะไรแปลกๆ เหล่านี้ออกมาได้อย่างไร

ดังนั้นการที่คนหลายคนไปดูถูกข้อมูลที่สับสนเหล่านี้โดยคิดว่าเรารู้จริงกว่า จึงไม่ได้ตอบคำถามที่สำคัญว่า ทำไมการสร้างความสับสนในข้อมูลความเข้าใจเหล่านี้ถึงเกิดมาได้) ก ารสร้างความยุ่งเหยิงในความจริงเหล่านี้จึงไม่ใช่ความผิดพลาด แต่เป็นมรรควิธีในการทำการควบคุมในเชิงรุก (active control) เพื่อทำให้ผู้คนรู้สึกว่าได้ข้อมูลที่ตรงกับใจเรา มากกว่าผิดหรือถูก และนำไปแชร์ต่อในเน็ต-สื่อโซเชียลต่างๆ และนี่คือวิธีที่เรียกว่าการทำให้เกิดความวุ่นวายสับสนในโลกออนไลน์ ไม่ใช่แค่ไล่ปิดสื่อหรือไล่จับหรือจับตาคนที่มีอิทธิพลทางความคิดกับคนอื่นๆ ในเน็ตเท่านั้น

โดยสรุปแล้ว นอกจากเรื่องของการต่อสู้ผลักดันเรื่องกฎหมายควบคุมสื่อและการจัดระเบียบสื่อแล้ว เราต้องทำความเข้าใจระบบเผด็จการ และระบบเผด็จการซ่อนรูปในแบบที่ปล่อยให้มีการแข่งขันทางการเมืองได้บ้าง ว่าเขามีวิธีการจัดการสื่อที่ซับซ้อน และอะไรคือเหตุผลที่เขายังปล่อยให้สื่อและประชาชนมีเสรีภาพในระดับหนึ่ง ทั้งนี้อาจไม่ใช่เพราะเขาเชื่อมั่นในคุณค่าของเสรีภาพ แต่การปล่อยเอาไว้บ้างอาจทำให้เห็นร่องรอยของความไม่พอใจระบบ (โดยที่แทนที่จะปราบ ก็อาจจะกลบหรือแข่งขันอย่างได้เปรียบกับสื่อเหล่านั้น) หรือมีไว้ตรวจสอบการทำงานของข้าราชการระดับล่างในระบบเอง

ดังนั้นข่าวบางข่าวจึงนำเสนอได้ ไม่ได้ห้ามไปเสียหมด การพยายามเข้าใจตรรกะเหล่านี้แหละครับที่จะทำให้สื่อนั้นอยู่รอดและทำงานได้ในระบอบเผด็จการ ไม่ใช่การเซ็นเซอร์ตัวเอง และไม่ใช่การเชื่อว่าถ้ารัฐบาลถอยในกฎหมายคุมสื่อแล้วนี่คือชัยชนะของเสรีภาพสื่อ

อย่างน้อยการโกหกก็มีประเด็นน่าสนใจว่า เราโกหกได้เพราะเรารู้ว่าอะไรคือความจริงที่เราทำไม่ได้ ซึ่งในระบบเผด็จการนั้นทุกฝ่ายอาจจะโกหกใส่กัน (ไม่ว่ารัฐบาล ประชาชน หรือสื่อ) แต่ถ้าไม่รู้ด้วยซ้ำว่าสิ่งที่ทำคือการโกหกแต่ดันเชื่อโดยบริสุทธิ์ใจในสิ่งที่ทำอยู่อันนี้ถือว่าเหลือจะเยียวยาครับ


บางส่วนพัฒนามาจาก Xavier Marquez. Non-Democratic Politics: Authoritarianism, Dictatorship and Democratization. London: Palgrave. 2017. (Chapter 8: Problem of Non-Democratic Consolidation and Control)

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image