พบไดโนเสาร์พันธุ์ใหม่ จากฟอสซิลเก่าเก็บ

ภาพ-Chase Stone/Imperial College London

ทีมวิจัยด้านบรรพชีวินวิทยา นำโดย ดร.ฟิลิป แมนเนียน ศาสตราจารย์ชาวอังกฤษจากภาควิชาโลกวิทยาและวิศวการ จากอิมพีเรียล คอลเลจ ลอนดอน พบว่าซากฟอสซิลเก่าแก่ซึ่งค้นพบเมื่อปี 1934 และถูกจัดเก็บไว้ในพิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์ธรรมชาติแห่งชาติ ในกรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส โดยถูกระบุชื่อไว้เพียงว่า “ไดโนเสาร์แห่งดอมปารีส์” นั้น ไม่เพียงเป็นไดโนเสาร์พันธุ์ใหม่ที่ยังไม่เคยมีการค้นพบมาก่อนเท่านั้น ยังเป็นไดโนเสาร์ที่เก่าแก่ที่สุดในกลุ่มไดโนเสาร์กินพืชขนาดยักษ์ที่เรียกกันว่า “ไททาโนซอร์” อีกด้วย

ทีมวิจัยให้ชื่อวิทยาศาสตร์ไดโนเสาร์ที่ถูกระบุใหม่นี้ว่า “วีเวรียอา ดอมปารีเซนซิส” (Vouivria damparisensis) ชื่อต้นมาจากคำภาษาฝรั่งเศสเก่า “วีเวรอะ” ซึ่งมีรากจากคำภาษาละตินที่ใช้เรียกงูพิษไวเปอร์ ส่วนคำหลังตั้งชื่อเป็นการให้เกียรติแก่หมู่บ้านดอมปารีส์ ซึ่งเป็นสถานที่ขุดค้นพบซากโครงกระดูกไดโนเสาร์ตัวนี้เมื่อทศวรรษ 1930 นั่นเอง

ไดโนเสาร์คอยาวสายพันธุ์ใหม่นี้มีชีวิตอยู่เมื่อราว 160 ล้านปีก่อน ซึ่งอยู่ในช่วงตอนปลายของยุคจูราสสิค ขนาดลำตัวมหึมา น้ำหนักมากถึง 15,000 กิโลกรัม วัดความยาวจากหัวจรดหางได้ถึง 15 เมตร เป็นไดโนเสาร์ชนิดกินพืช จำพวกเฟิร์น และสนโคนิเฟอร์ยุคโบราณเป็นอาหาร ดร.แมนเนียนระบุว่า ในยุคที่ วี.ดอมปารีเซนซิส มีชีวิตอยู่นั้น ภาคพื้นยุโรปยังไม่ได้เป็นแผ่นดินเดียวกันเหมือนเช่นทุกวันนี้ แต่เป็นเกาะแก่งจำนวนมากเท่านั้น

จากการวิเคราะห์เชิงสรีระของทีมวิจัย พบว่า วี.ดอมปารีเซนซิส เป็นไดโนเสาร์ในสกุล แบรคิโอซอรัส ซึ่งจัดอยู่ในกลุ่ม “ไททาโนซอริฟอร์ม ไดโนเสาร์” (ไททาโนซอร์) ที่แตกแขนงออกมาจากอันดับ (ออร์เดอร์) “ซอโรพอด” ซึ่งเดินสี่ขา, คอยาว, หางยาว ขนาดมหึมา ตัวอย่างเช่น แบรคิโอซอรัส อัลทิโทแรกซ์ เป็นต้น

Advertisement

ทีมวิจัยพบว่า วี.ดอมปารีเซนซิส น่าจะตายในบริเวณทะเลสาบใกล้ชายฝั่งทะเล ซึ่งเกิดขึ้นเมื่อน้ำทะเลลดระดับต่ำลงมากกว่าปกติ เมื่อน้ำทะเลสูงขึ้นสู่ระดับปกติซากของมันจึงถูกฝังอยู่ใต้น้ำ ทำให้อธิบายได้ว่าทำไมซากฟอสซิลของมันจึงถูกพบฝังอยู่ในหินที่ประกอบขึ้นเป็นส่วนหนึ่งของสภาพแวดล้อมแนวชายฝั่ง แต่ไม่มีข้อมูลใดๆ ที่บ่งบอกว่ามันตายด้วยสาเหตุอะไร

อย่างไรก็ตาม ดร.แมนเนียนระบุว่า การค้นพบ วี.ดอมปารีเซนซิส ในครั้งนี้กลายเป็นหลักฐานสำคัญที่ช่วยให้เราสามารถเข้าใจได้ถึงวิวัฒนาการของ แบรคิโอซอริด ซอโรพอด และกลุ่มไดโนเสาร์ขนาดมหึมาทั้งหลาย และการค้นพบครั้งนี้แสดงให้เห็นว่าไททาโนซอริฟอร์ม ไดโนเสาร์ หรือไดโนเสาร์ยักษ์เหล่านี้กระจายกันใช้ชีวิตอยู่ทั่วโลก

เพราะก่อนหน้านี้ มีการขุดค้นพบซากฟอสซิล แบรคิโอซอริด ทั้งในสหรัฐอเมริกา, ยุโรปตะวันตก และแอฟริกาอีกด้วย

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image