คอลัมน์ โกลบอลโฟกัส: ฝรั่งเศส ยังไม่พ้นวิกฤตการเมือง

REUTERS/Christian Hartmann

เอ็มมานูเเอล มาครง (ใช้วิธีสะกดและออกเสียงตามสถานเอกอัครราชทูตฝรั่งเศสประจำกรุงเทพฯ ส่วนการสะกดและออกเสียงชื่อตามที่ราชบัณฑิตยสภาแจ้งให้กระทรวงต่างประเทศของไทยใช้ คือ เอมานูว์แอล มาครง) สร้างปรากฏการณ์ใหม่หลายอย่างขึ้นกับการเมืองฝรั่งเศส นักการเมืองหนุ่มรายนี้ประสบความสำเร็จชนิดที่ไม่เคยมีใครทำได้มาก่อน ด้วยวัยเพียง 39 ปี มาครงกำลังจะกลายเป็นประธานาธิบดีที่อายุน้อยที่สุดนับตั้งแต่ หลุยส์ นโปเลียน โบนาปาร์ต (นัดดา ของพระเจ้านโปเลียน) ที่ขึ้นดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีเมื่ออายุ 40 ปี (ในยุคสาธารณรัฐที่ 2)

ในยุคสาธารณรัฐที่ 5 หรือที่เรียกกันว่าฝรั่งเศสยุคใหม่ ประธานาธิบดี วาเลรี จิสการ์ เดสแต็ง ที่ครองสถิติผู้นำหนุ่มที่สุดอยู่ก่อนหน้านี้ ก็มีอายุมากกว่ามาครงถึง 10 ปีตอนก้าวขึ้นดำรงตำแหน่ง
ที่แปลกใหม่และถือเป็นปรากฏการณ์ใหญ่สุดจากเลือกตั้งฝรั่งเศสครั้งนี้ ก็คือ มาครง ไม่ได้เป็นสมาชิกทั้งของพรรค สังคมนิยม (เดอะ โซเชียลลิสต์ ปาร์ตี้) และ พรรครีพับลิกัน (เดอะ รีพับลิกันส์) สองพรรคการเมืองหลักเก่าแก่ดั้งเดิมของฝรั่งเศส

การเมืองฝรั่งเศสในยามนี้จึงไม่ได้เป็นเพียงแค่เกิดปรากฏการณ์ “เปลี่ยนรุ่น” ขึ้นเท่านั้น หากแต่ยังเป็นการเปลี่ยนแปลงในระดับ “ยกเครื่อง” โลกการเมืองของที่นั่นใหม่ทั้งหมดอีกด้วย

มารีน เลอเปน ผู้สมัครจากพรรคขวาจัด เนชั่นแนล ฟรอนต์ (เอฟเอ็น) ได้รับคะแนนเสียงจากการเลือกตั้งประธานาธิบดีรอบที่ 2 สูงถึง 11 ล้านเสียง มากที่สุดเท่าที่ เอฟเอ็น เคยได้รับมาในการเลือกตั้งไม่ว่าจะในครั้งไหนๆ แต่ก็ยังพ่ายแพ้ และ แพ้ชนิดหมดรูปอีกด้วย

Advertisement

ชาวฝรั่งเศสมากกว่า 21 ล้านคน ลงคะแนนเลือก มาครง นักการเมืองที่อายุยังไม่ถึง 40 คนที่ปฏิเสธที่จะเรียก “อองมาร์ช” (“ออน เดอะ มูฟ” หรือ “ก้าวไปข้างหน้า”) ที่ตนเองก่อตั้งขึ้นว่าเป็นพรรคการเมือง แต่ต้องการให้เป็น “มูฟเมนท์” เป็น “ขบวนการทางการเมือง” ที่ไม่หยุดยั้งการเคลื่อนไปข้างหน้า

ต่อเมื่อจำเป็นต้องขึ้นทะเบียนเพื่อส่งสมาชิกลงสมัครรับเลือกตั้งทั่วไปในต้นเดือนมิถุนายนที่จะถึง จึงตัดสินใจเปลี่ยนขบวนการให้เป็นพรรค ใช้ชื่อ “ลา เรปูบลิค ออง มาร์ช” (เดอะ รีพับลิค ออน เดอะ มูฟ)

ก่อนหน้านี้หลายคนหัวเราะถากถางใส่ “ออง มาร์ช” ว่าเป็นเหมือน “สตาร์ทอัพ” ระดับละอ่อนทางการเมืองที่เกิดจาก “ความทะเยอทะยานมากเกินไป” ของคนที่เคยเป็นเพียงแต่รัฐมนตรีเศรษฐกิจ

คนที่ “อายุน้อยเกินไป”, ไร้ประสบการณ์เกินไป, ทะนงตัว บุ่มบ่ามมากเกินไป, กระหายมากเกินไป เปิดเผยมากเกินไป ไม่ว่าต้องการทำอะไร อยากได้อะไร พูดออกมาจนหมดเปลือก

รวมทั้งการวิพากษ์วิจารณ์ในทุกสิ่งทุกเรื่อง ในแบบฉบับ “เสียงดัง ฟังชัด” แม้จะสุภาพและนุ่มนวลก็ตามที
ที่สำคัญยิ่งกว่านั้นคือความมุ่งมั่น ไม่กลับกลอกเปลี่ยนแปลงความตั้งใจของตัวเอง แม้จะทำให้ถูกปรามาสจากนักการเมืองระดับเก๋าอย่างอดีตนายกรัฐมนตรีว่า ไม่ประสีประสาการเมืองราว “เด็กนักเรียน” ก็ตาม

ผู้สันทัดกรณีทางการเมืองฝรั่งเศสถึงกับออกปากว่า เอ็มมานูแอล มาครง คือ “ตัวประหลาด” คือ “สิ่งผิดปกติ” ของวงการเมืองฝรั่งเศสมาตั้งแต่ต้น

 

 

หาก “เอ็มมานูแอล มาครง” คือตัวแทนของการเปลี่ยนแปลง สิ่งซึ่งไม่เปลี่ยนแปลงเลยในฝรั่งเศสคือ ขนาดของปัญหาและความร้ายแรงของภารกิจที่เขาต้องเผชิญในฐานะประธานาธิบดี

สโลแกนของออง มาร์ช คือ “ฟรองซ์ อองซอมเบลอะ” หรือ “ทูเกเธอร์, ฟรานซ์!” ที่ส่งผลให้เขาประสบความสำเร็จครั้งยิ่งใหญ่ในชีวิต อาจเป็นเครื่องแสดงให้เห็นว่า “พื้นที่ตรงกลาง” ไม่ซ้ายไม่ขวาที่เขาพยายามรังสรรค์ขึ้นมานั้น ไม่เพียงได้รับการยึดถือ เชื่อมั่น แต่ยังขยับขยายใหญ่โตขึ้นด้วยอีกต่างหาก

แต่ในเวลาเดียวกัน ก็อาจเป็นไปได้เช่นกันที่ว่า ความพยายามของมาครง อาจกลายเป็นเหตุปัจจัยให้ความแตกแยกทางการเมืองในฝรั่้งเศสมีมากขึ้นไปอีก แยกย่อยมากขึ้นไปอีก แทนที่จะเป็นเป็น “สะพาน” เชื่อมต่อระหว่างสองฝ่ายที่มองหน้ากันไม่ติด หันไปคนละทางในเวลานี้

ปัญหาความแตกแยกทางการเมืองในฝรั่งเศส เกิดขึ้นและดำรงอยู่ในท่วงทำนองเดียวกันกับที่ระบอบประชาธิปไตยในอีกหลายๆประเทศเผชิญอยู่ในเวลานี้ ตั้งแต่สหรัฐอเมริกา เรื่อยมาจนถึงยุโรป ปัญหาเศรษฐกิจทำให้ประชาชนเสื่อมศรัทธา ทั้งตัวนักการเมืองและระบอบการเมือง การยึดกุมตัวตน พวกตน มีมากเกินเหตุและผล สถาบันการเมืองในแบบฉบับเดิมเพลี่ยงพล้ำครั้งแล้วครั้งเล่า

สภาพเช่นนี้ไม่เอื้อต่อการก่อให้เกิดรัฐบาลที่มีประสิทธิภาพ สามารถดำเนินงานได้ราบรื่น เพราะการเมืองและสังคมแตกตัว แยกเป็นฝักฝ่ายมากจนเกินไป

ความคาดหวังต่อ “ประธานาธิบดีมาครง” และ รัฐบาลฝรั่งเศสชุดถัดไปจึงอาจกลายเป็นความหมดหวังกับการเมืองมากยิ่งขึ้นไปอีกก็เป็นได้

ในจำนวนผู้ที่ออกมาใช้สิทธิเลือกตั้งที่ผ่านมา สัดส่วนมากถึง 2 ใน 3 เลือก เอ็มมานูแอล มาครง ก็จริงอยู่ แต่ข้อเท็จจริงอีกด้านหนึ่งก็เป็นความจริงที่ปฏิเสธไม่ได้เช่นกัน นั่นคือ การเลือกตั้งประธานาธิบดีรอบที่ 2 ที่ผ่านมา มีผู้มีสิทธิจำนวนมากเหลือเกินที่ไม่ยอมออกมาใช้สิทธิ์ของตน จนกลายเป็นอีกครั้งหนึ่งของการเลือกตั้งที่มีผู้มาใช้สิทธิ์น้อยที่สุดในประวัติศาสตร์ร่วมๆ 60 ปี ของสาธารณรัฐที่ 5 ที่ ชาร์ลส์ เดอโกล ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 1958

นั่นแสดงให้เห็นว่า ชาวฝรั่งเศสแสดงออกถึง “ความไว้วางใจ” ต่อรัฐบาลและระบอบการปกครองอยู่ในระดับต่ำทีเดียว ไม่ว่าเหตุปัจจัยของมันจะเป็นอะไรก็ตามที

การสำรวจความคิดเห็นในระหว่างการเลือกตั้งดังกล่าวชิ้นหนึ่ง แสดงให้เห็นว่า ชาวฝรั่งเศสแยกขั้วมากกว่าประชาชนทั่วๆไปของยุโรป โดยที่ 20 เปอร์เซ็นต์ของผู้ตอบการสำรวจ บอกว่า ตนเองมีความ “สุดโต่งทางการเมือง” (ค่าเฉลี่ยของการสำรวจเดียวกันในสหภาพยุโรปคือ 7 เปอร์เซ็นต์) มีเพียง 36 เปอร์เซ็นต์เท่านั้นที่ระบุตัวเองว่า “เป็นกลาง” (เทียบกับ 62 เปอร์เซ็นต์ในอียูที่บอกว่า “เป็นกลางทางการเมือง”)
ในภูมิทัศน์ทางการเมืองเช่นนี้ ยากที่จะบอกได้ว่า ปฏิกิริยาในการเลือกตั้งทั่วไปต่อองค์กรการเมืองใหม่อายุเพียงปีเดียวของมาครงจะออกมาในทางใด

ความเป็น “มือใหม่” ทางการเมืองของมาครง จึงเป็นทั้ง “จุดแข็ง” และ “จุดอ่อน” ของเจ้าตัวไปในคราวเดียวกัน

 

 

เอ็มมานูแอล มาครง ให้สัญญาระหว่างการรณรงค์หาเสียงไว้ว่า จะสรรหาตัวบุคคลมาลงสมัครรับเลือกตั้งสมาชิก “สภาแห่งชาติ” หรือสภาผู้แทนราษฎรของฝรั่งเศสให้ครบทั้ง 577 ที่นั่ง

โพลแรกๆของการเลือกตั้งส.ส. ชี้ให้เห็นว่า มีความเป็นไปได้ที่พรรคใหม่เอี่ยมของมาครง จะได้ที่นั่งมากกว่าพรรคอื่นๆ หรืออาจได้รับชัยชนะมากพอที่จะได้ที่นั่งเกินครึ่งของสภาล่างของฝรั่งเศสด้วยซ้ำไป

หากเป็นเช่นนั้นจริงก็ถือเป็นปรากฏการณ์อัศจรรย์อีกอย่างที่ มาครง สร้างขึ้นในการเมืองฝรั่งเศส แต่ถ้าไม่ใช่เช่นนั้นความจำเป็นในการจัดตั้งรัฐบาลผสมก็จะเกิดขึ้นตามมา

เท่าที่ผ่านมา การมีรัฐบาลผสม ไม่ได้เป็นสถานการณ์การเมืองที่ชาวฝรั่งเศสพิสมัยสักเท่าใดนัก

ตลอดหลายทศวรรษที่ผ่านมา เมื่อประธานาธิบดีคือตัวแทนของสองพรรคใหญ่ดั้งเดิม ชัยชนะในการเลือกตั้งประธานาธิบดี มักส่งผลให้พรรคได้รับชัยชนะในการเลือกตั้งทั่วไปตามไปด้วย และสามารถคัดสรรบุคคลในพรรคเข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีสำคัญต่างๆได้

ในห้วงเวลาของสาธารณรัฐที่ 5 ฝรั่งเศสจำเป็นต้องจัดตั้งรัฐบาลผสม ที่ประธานาธิบดีและนายกรัฐมนตรีมาจากต่างพรรคมาแล้ว 3 ครั้ง จอห์น แครีย์ ศาสตราจารย์ด้านการเมืองเปรียบเทียบ จาก ดาร์ทมัธ คอลเลจ ชี้ว่า ในสถานการณ์เช่นนั้น “สถานะของประธานาธิบดีมักเสื่อมถอย มีแนวโน้มที่อำนาจในเชิงบริหารจริงๆจะอยู่ที่นายกรัฐมนตรีเสียมากกว่า”

ตัวอย่างเช่น ในทศวรรษ 80 นายกรัฐมนตรี ฌาคส์ ชีรัก สามารถประกาศปรับลดภาษี และแปรรูปรัฐวิสาหกิจครั้งใหญ่ โดยที่ประธานาธิบดี ฟรองซัวส์ มิตแตร์รองด์ ได้แต่มองตาปริบๆ แต่พอถึงคราว ชีรัก เป็นประธานาธิบดี นายกรัฐมนตรีจากพรรคสังคมนิยมอย่าง ลีโอแนล โจสแปง ก็สามารถผลักดันกฎหมายลดชั่วโมงทำงานจาก 39 เหลือ 35 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ได้โดยง่าย

ภายใต้สภาวะแวดล้อมทางการเมืองแตกแยก แบ่งฝักฝ่ายเช่นนี้ มีความเสี่ยงสูงมากที่ มาครง จะลงเอยด้วยการกลายเป็นผู้นำรัฐบาลผสมที่ทั้งไร้ประสิทธิภาพ และไม่สามารถทำงานได้ตามปกติที่ควรจะเป็น ยิ่งรัฐบาลต้องผสมมากพรรคเท่าใด ความยุ่งยากในการกำหนดนโยบายและการดำเนินการให้ลุล่วงยิ่งยากเย็นมากขึ้นเท่านั้น

อันที่จริง การแก้ไขรัฐธรรมนูญฝรั่งเศสเมื่อต้นทศวรรษ 2000 ที่ยืดระยะเวลาดำรงตำแหน่งของประธานาธิบดีและส.ส.ออกเป็น 5 ปี และกำหนดให้การเลือกตั้งส.ส.มีขึ้นไม่นานหลังการเลือกตั้งประธานาธิบดี ก็มีเป้าหมายเพื่อลดโอกาสเป็นไปได้ที่จะเกิดรัฐบาลผสมทำนองนี้ขึ้นนั่นเอง

เนื่องจากหากเกิดรัฐบาลผสม สิ่งที่จะเกิดขึ้นตามมาก็คือ ทุกอย่างก็จะวนกลับไปหาจุดเดิมอีกครั้ง ศรัทธาในรัฐบาลเสื่อมทราม ความต้องการเปลี่ยนแปลงนักการเมืองและระบอบการเมืองดังระงมขึ้นอีกครั้ง

 

 

โรบิน เบสต์ นักวิชาการรัฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัยบิงแฮมตัน รัฐนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา ระบุว่า วัฏจักรการเมืองเลวร้ายทำนองนี้เกิดขึ้นในหลายประเทศทั่วภาคพื้นยุโรป ส่วนใหญ่แล้วมักลงเอยด้วยการที่ผู้ลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง ยิ่งไม่พึงพอใจมากยิ่งขึ้นและยิ่งโน้มเอียงไปหาการแสดงออกในลักษณะ “โปรเทสต์ โหวต” และ ความสุดโต่งทางการเมืองมากขึ้นเรื่อยๆ

อย่างไรก็ตาม อาลีน-ฟลอรองซ์ มานองต์ นักประวัติศาสตร์ฝรั่งเศส ชี้ว่า เป็นไปได้เช่นกันที่ มาครง และ พรรค รีพับลิค ออน เดอะ มูฟ อาจสามารถครองเสียงข้างมากในสภาได้ หรือไม่ก็พรรคใหญ่เดิมพรรคใดพรรคหนึ่งหรือทั้งสองพรรค ยินดีให้ความร่วมมือกับมาครงชนิด “ไร้เงื่อนไข”

สถานการณ์อาจนำไปสู่การ “ออกแบบการเมืองใหม่” ในทำนองเดียวกับที่ ชาร์ลส์ เดอโกล เคยทำไว้เมื่อก่อตั้งสาธารณรัฐที่ 5

เดอโกล มองว่าแหล่งที่มาของภาวะติดขัด ไร้เสถียรภาพทางการเมืองก็คือ “พรรคการเมือง” และ “ออกแบบสาธารณรัฐที่ 5 ให้เป็นระบอบปกครองแบบผสมผสาน ระหว่างความเป็นสถาบันของระบบรัฐสภา กับ ทำเนียบประธานาธิบดีที่ทรงอำนาจ เพื่อที่ว่าวิกฤตการณ์ที่เกิดขึ้นในระบบพรรค จะไม่ก่อให้เกิดวิกฤตขึ้นกับรัฐบาลเสมอไป”

มานองต์ ระบุว่า แนวคิดเรื่องนี้ของ เดอโกล “ไม่เคยถูกทดสอบมาก่อน” ตลอด 60 ปีของสาธารณรัฐที่ 5 แต่เธอเชื่้อว่า ยุคสมัยของมาครง คือ “บททดสอบที่แท้จริง” ของวิสัยทัศน์การเมืองเก่าแก่ของเดอโกลนี้
คำถามก็คือ แนวคิดนี้ใช้แก้วิกฤตการณ์ทางการเมืองในยามนี้ได้จริงหรือ?

หรือจะเคี่ยวกรำวิกฤตให้กลายเป็นสถานการณ์ขัดแย้ง แหลมคมและเดือดพล่านมากยิ่งขึ้นไปอีกกันแน่?

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image