พยาบาลล่ารายชื่อขอความเห็นใจ’บิ๊กตู่’พ้อ ทำงานหนัก แห่ลาออกยอมใช้ทุนดีกว่ารอตำแหน่งอย่างสิ้นหวัง

วันที่ 14 พฤษภาคม น.ส.รุ่งทิวา พนมแก พยาบาลวิชาชีพปฏิบัติการ รพ.ร้อยเอ็ด ในฐานะผู้ประสานงานเครือข่ายพยาบาลวิชาชีพลูกจ้างชั่วคราว ประจำภาคอีสาน กล่าวถึงกรณีคณะรัฐมนตรี(ครม.) ไม่อนุมัติการบรรจุตำแหน่งข้าราชการสำหรับพยาบาล จำนวน 10,992 อัตราใน 3 ปี โดยให้กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) บริหารจัดการตำแหน่งว่าง ว่า ขณะนี้เครือข่ายฯต่างๆอยู่ระหว่างเตรียมหารือร่วมกันว่าจะมีการเคลื่อนไหวต่อประเด็นนี้อย่างไร โดยคาดว่าผลการหารือจะชัดเจนได้ภายในวันที่ 15 พฤษภาคมเบื้องต้นอาจมีการรวบรวมรายชื่อเพื่อขอความเห็นใจจาก ครม. และ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีในการเปลี่ยนแปลงมติครม. เพื่อขอให้อนุมัติตำแหน่งให้ ตำแหน่งเหล่านี้เป็นอัตราที่ไม่ได้มาก เมื่อเทียบกับจำนวนพยาบาล และประชาชนที่เข้ารับบริการ เนื่องจากภาระงานของพยาบาลทุกวันนี้มากมายจริงๆ

“กรณีที่สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.)ระบุว่า ไทยมีสัดส่วนพยาบาลสูงกว่าเกณฑ์ขั้นต่ำที่องค์การอนามัยโลกกำหนด 1.4 คน ซึ่งตัวเลขดังกล่าวรวมทั้งประเทศ คือ เป็นพยาบาลทั้งภาครัฐและเอกชน คิดสัดส่วนที่พยาบาล 1 คนต่อคนไข้ 400 คน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นรพ.เอกชน แต่จริงๆปัญหาส่วนใหญ่อยู่ในรพ.รัฐ ซึ่งปัจจุบันเราดูแลคนไข้จำนวนมากสัดส่วนพยาบาล 1 คนต่อคนไข้ 600 คน ซึ่งหลายคนไม่เข้าใจในวิชาชีพเรา พวกเราทำงานหนักมากใน 1 วัน เราทำงานกันถึง 16 ชั่วโมงเป็นอย่างต่ำ โดยแต่ละเดือนทำงานวันละ 16 ชั่วโมงถึง 20-25 วัน นอกนั้นก็ทำงานตามปกติ จะมีวันหยุดได้เดือนละ 2 วัน” น.ส.รุ่งทิวา กล่าว

ผู้สื่อข่าวถามว่าค่าตอบแทนเหมาะสมกับภาระงานหรือไม่ น.ส.รุ่งทิวา กล่าวว่า รายได้เฉลี่ยชั่วโมงละ 65 บาท แต่หากเป็นช่วงทำโอทีเฉลี่ยชั่วโมงละ 75 บาท อย่างเงินเดือนแรกเข้าที่เป็นลูกจ้างก็อยู่ประมาณ 13,000 บาท ขณะที่เป็นข้าราชการจะได้ 15,000 บาท อย่างไรก็ตาม สำหรับส่วนตัวแล้วทำมา 4 ปี เริ่มต้นได้เพียง 11,680 บาทต่อเดือน กระทั่งปัจจุบันเพิ่มขึ้นเป็น 13,150 บาทต่อเดือน หากทำโอทีมากๆ ก็จะได้เพิ่มเฉลี่ย 10,000-12,000 บาทต่อเดือน

“จริงๆ การที่เราทำงานในรพ.รัฐเรารู้อยู่แล้วว่า จะได้รับค่าตอบแทน รายได้ไม่มากเท่าเอกชน แต่เรามีความหวัง อย่างนักเรียนทุนเมื่อมาทำงานต้องใช้ทุน 4 ปี แต่ก็มีความหวังว่าจะบรรจุเป็นข้าราชการ แต่ตลอดหลายปีที่ผ่านมา น้องๆหลายคนดูแล้วไม่มีความหวัง ก็ยอมจ่ายค่าทุนก่อนจะใช้ทุนครบ 4 ปีด้วยซ้ำ อย่างค่าเรียน 120,000 บาท หากใช้หนี้ทุนต้องคูณ 2 เป็นไปตามสัญญา โดยเฉลี่ยต้องจ่ายคืนประมาณ 240,000บาท ซึ่งหลายคนก็ยอม เพราะจบมาใหม่ๆ ไปทำงานรพ.เอกชนแค่ 1-2 ปีก็ได้เงินคืนแล้ว” น.ส.รุ่งทิวา กล่าว

Advertisement

เมื่อถามว่าหลายคนอาจมองว่า การประกาศว่าหากไม่ได้รับตำแหน่งข้าราชการจะลาออกกันยายนนี้ เป็นการเอาคนไข้เป็นตัวประกันหรือไม่ น.ส.รุ่งทิวา กล่าวว่า เป็นเรื่องขวัญกำลังใจมากกว่า ซึ่งพวกตนต้องการความมั่นคงในวิชาชีพ ต้องการเป็นข้าราชการภายใต้แผ่นดินไทย ซึ่งการลาออกก็เป็นสิทธิของน้องๆที่ทำได้ อย่าลืมว่า อยู่รพ.รัฐเงินก็น้อยอยู่แล้ว แค่ต้องการขวัญและกำลังใจในความก้าวหน้าของวิชาชีพเท่านั้น

ด้านนพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวถึงกรณีที่มีกลุ่มอื่นๆเรียกร้องให้กระทรวงสาธารณสุขแยกออกจากคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน(กพ.) ว่า ความเห็นส่วนตัวมองว่ายังไม่ใช่คำตอบทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นเรื่องออกจาก ก.พ.หรือการแยกตัวจาก สธ. อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมา สธ.สร้างความเข้าใจในแต่ละวิชาชีพตลอด อย่างปีที่แล้วก็ได้มีการเปิดเวทีให้ทุกฝ่ายเข้าร่วมแสดงความคิดเห็นเดือนละครั้ง หลังจากได้แก้ปัญหาไปในหลายเรื่อง ปีนี้ก็ยังมีการเปิดเวทีให้แสดงความคิดเห็นกัน 2 เดือนครั้ง โดยครั้งต่อไปจะเกิดขึ้นประมาณช่วงต้นเดือนมิถุนายน ฝ่ายใดที่มีปัญหาในเรื่องต่างๆก็สามารถเข้ามาพูดคุยกันได้ แต่ที่ผ่านมานั้นหลายภาคส่วนมักจะเข้ามาพูดถึงปัญหาของตนเองแล้วก็ไป ในขณะที่ทุกฝ่ายอยากได้ในสิ่งที่ตัวเองอยากได้ แต่ทางสธ.ต้องมองภาพรวมในการบริหารจัดการทุกอย่างให้ลงตัวแล้วเกิดประโยชน์สูงสุด

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image