ผู้เชี่ยวชาญเตือน “วอนนาคราย” ระลอกใหม่มาอีก 15 พ.ค.นี้

REUTERS/Kacper Pempel/Illustration TPX IMAGES OF THE DAY

เมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม สำนักข่าวรอยเตอร์ และเอเอฟพี รายงานความคืบหน้ากรณีมีผู้ปล่อยไวรัสเรียกค่าไถ่ “วอนนาคริปเตอร์ 2.0” หรือ “วอนนาคราย” ส่งผลให้เกิดผลเสียหายมีผู้ตกเป็นเหยื่อในวงกว้างกับระบบเครือข่าย(เน็ตเวิร์ก)คอมพิวเตอร์มากถึง 130,000 ระบบใน 100 ประเทศทั่วโลกคิดเป็นจำนวนเครื่องคอมพิวเตอร์หลายแสนเครื่อง คิดเป็นมูลค่าหลายหมื่นล้านดอลลาร์ โดยผู้เชี่ยวชาญเตือนว่า ไวรัสเรียกค่าไถ่ตัวนี้ถูกระงับการแพร่ระบาดชั่วคราวเท่านั้น คาดระลอกใหม่อาจเริ่มอีกครั้งในวันที่ 15 พฤษภาคมนี้ อังกฤษและสำนักงานตำรวจยุโรป ประกาศล่าตัวคนร้ายมาลงโทษให้ได้ แม้ต้องใช้เวลานานและซับซ้อนมากก็ตาม ชี้ตัวการได้เงินค่าไถ่ไปแค่ 20,000-32,000 ดอลลาร์ (ราว 720,000-1,152,000 บาท) เท่านั้น

นาย แพทริค แม็คไบรด์ ผู้บริหารของบริษัทแคลรอตี ผู้ให้บริการความปลอดภัยไซเบอร์ของสหรัฐอเมริกา ยืนยันว่าการระบาดของไวรัส “วอนนาคราย” จะเกิดขึ้นใหม่อีกครั้งในเร็วๆนี้ เท่าที่ผ่านมามันแค่ถูกระงับไว้ชั่วคราวเท่านั้น ในขณะที่บล็อกเกอร์ชาวอังกฤษซึ่งใช้ชื่อว่า “มัลแวร์เทค” ผู้ค้นพบวิธีสกัดการระบาดของไวรัสตัวนี้ได้โดยบังเอิญ ด้วยการเข้าไปจดทะเบียนชื่อโดเมน หรือที่อยู่เว็บไซต์ซึ่งไวรัสพยายามติดต่อกลับเข้าไปเป็นระยะๆ และพบในภายหลังจากการจดทะเบียนเป็นเจ้าของที่อยู่เว็บไซต์ดังกล่าวแล้วว่า การเข้าไปเป็นเจ้าของเว็บไซต์ดังกล่าวเป็นเงื่อนไขที่ทำให้ไวรัสหยุดการระบาดลง เท่ากับเป็นการค้นพบ “คิลสวิตช์” สำหรับไวรัสนี้โดยบังเอิญ บล็อกเกอร์วัย 22 ปีรายนี้ระบุว่า เชื่อว่าอีกไม่นานผู้ปล่อยไวรัสก็จะปรับแก้เงื่อนไขดังกล่าวเสียใหม่ เปลี่ยนคิลสวิตช์แล้วก็ปล่อยไวรัสให้แพร่ระบาดออกมาใหม่ได้อีก ซึ่งเชื่อว่าอาจเป็นในช่วงเช้าวันที่ 15 พฤษภาคมนี้ ดังนั้นผู้ใช้ระบบปฏิบัติการวินโดวส์ ควรรีบอัพเดตแพทช์ป้องกันการระบาดโดยเร็ว

ทางด้านบริษัทไซเมนเทค ผู้ให้บริการความปลอดภัยทางไซเบอร์จากสหรัฐอเมริกาอีกรายเชื่อว่า การระบาดของไวรัสวอนนาครายครั้งนี้ จะสร้างความเสียหายให้เกิดขึ้นหลายสิบล้านดอลลาร์ ส่วนใหญ่จะเป็นค่าใช้จ่ายในการกำจัดไวรัสออกจากเน็ตเวิร์กของบริษัท อีกบางส่วนอาจเป็นค่าไถ่เพื่อฟื้นฟูแฟ้มข้อมูลในเครือข่ายที่ถูกเข้ารหัสเพื่อเรียกเงิน หรือไม่ก็ใช้ในการว่าจ้างผู้เชี่ยวชาญให้ทำลายการเข้ารหัสข้อมูลดังกล่าว ไซเมนเทคระบุว่า จนถึงขณะนี้มีการจ่ายค่าไถ่กันไปเป็นเรือนหมื่นดอลลาร์เท่านั้น แต่เป็นไปได้ว่าอาจมีผู้จ่ายเงินเพิ่มมากขึ้นไปอีก ทั้งนี้ “วอนนาคราย” ระบุให้เจ้าของคอมพิวเตอร์ที่ติดการระบาดต้องจ่ายเงินดิจิตอลมูลค่าเทียบเท่ากับ 300 ดอลลาร์ (ราว 10,800 บาท) ภายใน 3 วันไม่เช่นนั้นค่าไถ่จะเพิ่มอีกเท่าตัว และถ้าไม่จ่ายภายใน 7 วันไฟล์ข้อมูลที่ถูกเข้ารหัสไว้จะถูกลบทิ้งทั้งหมด

เอเอฟพีรายงานว่า ผู้เชี่ยวชาญและเจ้าหน้าที่ทางการประเมินขอบเขตการระบาดของ “วอนนาคราย” แตกต่างกันออกไป แต่ทุกฝ่ายระบุตรงกันว่า นี่เป็นการระบาดของไวรัสเรียกค่าไถ่ที่ใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ โดยในขณะที่ทางการตำรวจฝรั่งเศสระบุว่า มีผู้ตกเป็นเหยื่อมากกว่า 75,000 รายทั่วโลก

Advertisement

ผู้เชี่ยวชาญจากทุกฝ่าย รวมทั้ง แคสเปอร์สกี้ แลป ผู้เชี่ยวชาญความปลอดภัยไซเบอร์ของรัสเซีย ระบุตรงกันว่า ไวรัสประเภทหนอน “วอนนาคราย” นี้ แพร่ระบาดได้อย่างรวดเร็ว เพราะใช้ซอร์ซส์โค้ด “อีเธอร์นัลบลู” เป็นเครื่องมือในการระบาด โดยอาศัยช่องโหว่ในวินโดวส์แพร่จากคอมพิวเตอร์เพียงตัวเดียวไปยังคอมพิวเตอร์ที่เหลือทุกตัวในเน็ตเวิร์กหนึ่งๆอย่างรวดเร็ว ซอร์ซโค้ดดังกล่าวนั้นค้นพบเป็นครั้งแรกโดย สำนักงานความมั่นคงแห่งชาติ (เอ็นเอสเอ) ของสหรัฐอเมริกา และถูกเอ็นเอสเอใช้เป็นส่วนหนึ่งในการสอดแนมเครือข่ายคอมพิวเตอร์ ข้อเท็จจริงดังกล่าวถูกเผยแพร่ออกมาโดยกลุ่มแฮกเกอร์ที่เรียกตัวเองว่า “ชาโดว์ โบรกเกอร์ส” ซึ่งอ้างว่าสามารถเจาะระบบของเอ็นเอสเอ และนำเอาเครื่องมือในการสอดแนมจำนวนหนึ่งออกมา ทั้งนี้ ไมโครซอฟท์ พยายามป้องกันช่องโหว่ดังกล่าวโดยการออกแพทช์อัพเดตมาอุดช่องโหว่เมื่อเดือนมีนาคม ก่อนที่ “ชาโดว์ โบรกเกอร์ส” จะนำ “อีเธอร์นัลบลู” ออกมาเผยแพร่ฟรีบนอินเตอร์เน็ตพร้อมกับซอร์ซโค้ดอื่นๆเมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา “เพื่อประท้วงและแก้เผ็ดนายโดนัลด์ ทรัมป์”

ผู้เชี่ยวชาญระบุว่า “วอนนาคราย” ไม่ได้เจาะจงการระบาด แต่เผยแพร่เป็นการทั่วไป ทั้งคอมพิวเตอร์บุคคลและคอมพิวเตอร์ในเครือข่ายของบริษัท, ธนาคาร, สถานศึกษา, โรงพยาบาล และหน่วยงานราชการอื่นๆ ส่งผลให้ธุรกิจขนาดใหญ่ อย่างเรโนลต์ ผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่ของฝรั่งเศสจำเป็นต้องระงับการผลิตชั่วคราวทั้งในฝรั่งเศสและในอังกฤษ เป็นการป้องกันไว้ก่อน ในขณะที่แพทย์และผู้ป่วยในอังกฤษต่างได้รับผลกระทบกันถ้วนหน้า เนื่องจากมีการยกเลิกนัดหมาย, ยกเลิกการผ่าตัด และแพทย์หลายคนต้องหันมาใช้กระดาษปากกาในการออกใบสั่งยาและสั่งดำเนินขั้นตอนการรักษาอีกด้วย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image