อนาคตบ้านธนารักษ์ประชารัฐž วัดความจริงใจรบ. ลดช่องว่างคนจนคนรวย

พลันที่มติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ย้ายฟ้าผ่า นายจักรกฤศฏิ์ พาราพันธกุล อธิบดีกรมธนารักษ์ ไปเป็นรองปลัดกระทรวงการคลัง และย้ายนายพชร อนันตศิลป์ รองปลัดกระทรวงการคลัง มาเป็นอธิบดีกรมธนารักษ์ ถือเป็นคำสั่งย้ายนอกฤดูกาล ซึ่งคาดว่าน่าจะมาจากปัญหาการที่ประชาชนคัดค้านการก่อสร้างโครงการคอนโดมิเนียมธนารักษ์ประชารัฐ ซอยพหลโยธิน 11 เขตพญาไท กทม. การย้ายครั้งนี้ทำให้เกิดการคาดเดาอนาคตโครงการที่เหลืออยู่ว่าจะเป็นอย่างไร จะเดินหน้าต่อหรือล้มโครงการไปเลย หรืออาจต้องปรับแก้อะไรบางอย่าง เพื่อลดกระแสคัดค้าน

๐หวั่นปัญหาจราจรเชียงใหม่žลามถึงกทม.ž
ถ้าโครงการซอยพหลโยธิน 11 ต้องล้ม ถือว่าเป็นโครงการที่ 2 ไม่ได้เกิด หลังจากก่อนหน้านี้ล้มโครงการบนถนนช้างคลาน จ.เชียงใหม่ไปแล้ว เนื่องจากประชาชนในพื้นที่คัดค้านอย่างหนัก เพราะกังวลปัญหาจราจร และติดพื้นที่สีเขียว ขณะที่โครงการในซอยพหลโยธิน 11 ประชาชนละแวกดังกล่าวนำประเด็นจราจรมาคัดค้าน และมีประเด็นเพิ่มเติมคือ การโอนสิทธิผู้ชนะการประมูลจากบริษัท ปักกิ่ง เออร์บัน-คอนสตรัคชั่น ยาไถ่ (ไทย) คอนสตรัคชั่น กรุ๊ป จำกัด ไปให้บริษัท จูโน่ พาร์ค จำกัด เป็นการดำเนินการ ซึ่งมองว่าไม่ถูกต้อง จนถึงขนาดที่สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ทำหนังสือมาให้ทบทวนการดำเนินการของโครงการ นายจักรกฤศฏิ์ยืนยันเสียงแข็งมาตลอดว่า ถ้าไม่ผิดกฎหมาย โครงการต้องเดินหน้าต่อ จะยกเลิกแบบไม่มีเหตุผลไม่ได้ และการโอนสิทธิสามารถทำได้ เพราะทีโออาร์เปิดกว้าง และยืนยันว่าที่ผ่านมาไม่ได้ทำอะไรผิดกฎหมาย การคัดค้านของประชาชนในพื้นที่ที่ไม่ต้องการให้โครงการนี้เกิดขึ้นเพราะย่านนั้นเป็นถิ่นที่คนรวย อาศัยอยู่ การลงพื้นที่ก่อสร้างของอธิบดีกรมธนารักษ์ เมื่อวันที่ 7 มีนาคม 2560 มีประชาชนในพื้นที่หลายคนมารอรับ และมีบางส่วนตามมาสมทบภายหลังเพื่อยืนยันเจตนารมณ์คัดค้านอย่างหนัก และไม่ต้องการให้เกิด ถึงขนาดมีคำถามไปยังนายจักรกฤศฏิ์ว่า จะมาสร้างสลัมหน้าบ้านผมได้ยังไงŽ สำหรับจุดประสงค์การก่อสร้างโครงการบ้าน ธนารักษ์ประชารัฐ ในซอยพหลโยธิน 11 ก็เพื่อให้ข้าราชการมีเงินเดือนไม่ถึง 2 หมื่นบาท มาเช่าในราคาถูกเพียงเดือนละ 4,000 บาท โดยซอย ดังกล่าวอยู่ห่างจากหน่วยงานราชการ เช่น กระทรวงการคลัง สตง. กรมประชาสัมพันธ์ สำนักงานนโยบายและแผนสิ่งแวดล้อม (สผ.) ประมาณ 1-2 กิโลเมตร ดังนั้น ผู้ที่ได้ประโยชน์จากโครงการนี้คือข้าราชการหน่วยงานที่กล่าวมา ถ้าเทียบกับขนาด คุณภาพห้อง และสิ่งอำนวยความสะดวก ค่าเช่าเพียงเดือนละ 4,000 บาท ถือว่าถูกมาก หากถ้าเทียบกับคอนโดมิเนียมเอกชนคุณภาพเดียวกันค่าเช่าน่าจะสูงเกือบ 1.5-2 หมื่นบาทต่อเดือน ประเด็นค่าเช่าที่ถูกมาก ยิ่งทำให้ประชาชนในพื้นที่กังวล เพราะบ้านที่อยู่อาศัยในแถบดังกล่าว ถือเป็นย่านของคนมีอันจะกิน และเมื่อคอนโดมิเนียมราคาถูกเกิดขึ้น จึงถูกเหมารวมว่าเป็นกลุ่มคนชั้นล่าง อาจลดทอนสภาพแวดล้อมย่านดังกล่าวให้ด้อยลง

๐จับตาอนาคตซอยพหลฯ11
ที่ผ่านมา นายจักรกฤศฏิ์ยืนยันว่า หากโครงการดังกล่าวไม่ถูกต้องตามกฎหมาย เช่น ไม่ผ่านรายงานผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) ต้องเลิกไปโดยอัตโนมัติ โดยมีกำหนดไว้ในทีโออาร์ แต่ประชาชนในพื้นที่ไม่ยอม ทำทุกวิธีการเพื่อให้โครงการดังกล่าวยุติ ล่าสุดมีการวัดถนนกว้างไม่ถึง 12 เมตร จึงไม่สามารถสร้างคอนโดมิเนียม 8 ชั้นได้ หลังจาก ครม.มีคำสั่งย้ายอธิบดีกรมธนารักษ์ นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ระบุถึงโครงการบ้านธนารักษ์ ประชารัฐ ซอยพหลโยธิน 11 ว่าขณะนี้โครงการยังเดินอยู่ และยังอยู่ในกระบวนการดำเนินงาน แต่หลังจากนี้โครงการจะเป็นอย่างไร คงต้องรอถามนายพชร อนันตศิลป์ ว่าที่อธิบดีกรมธนารักษ์คนใหม่ โดยสั่งการให้ดำเนินโครงการตามกฎหมาย และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังคงไปสั่งการให้ยกเลิกโครงการไม่ได้

๐อธิบดีใหม่พร้อมเดินหน้าโครงการ
นายพชรระบุว่า พร้อมเดินหน้าโครงการบ้าน ธนารักษ์ประชารัฐตามนโยบายภาครัฐ แนวทางการดำเนินงานคือยึดหลักกฎหมาย และพร้อมฟังเสียงคัดค้าน แนะนำ โดยขอเวลาพิจารณารายละเอียดทีโออาร์โครงการในซอยพหลโยธิน 11 ก่อนตัดสินใจว่าจะดำเนินการอย่างไร หากโครงการนี้เดินหน้า ถือว่าเป็นการแลกด้วยเก้าอี้นายจักรกฤษฏิ์ ลดกระแสต้านให้นายพชรมาสานต่อ โดยเท่าที่ฟังเสียงจากกระทรวงการคลังยืนยันที่จะทำตามกฎหมาย ทั้งกฎหมายผังเมือง กฎหมายสิ่งแวดล้อม เพราะถ้าเปรียบเทียบกับโครงการบ้านเพื่อคนจน บ้านเอื้ออาทร จะมีการผ่อนผันและยกเว้นบางกฎหมายบางข้อเพื่อให้โครงการเกิด เช่น กฎหมายผังเมือง เพื่อให้สามารถก่อสร้างในบางพื้นที่ห้าม กฎหมายควบคุมอาคารเพื่อลดระยะร่น ทำให้ต้นทุนถูกลง ดังนั้น ถือว่าโครงการบ้านธนารักษ์ประชารัฐ ยึดหลักกฎหมายเข้มข้นกว่าโครงการของรัฐอื่นๆ อย่างไรก็ตาม มีข้อกังวลว่าหากโครงการนี้ล้มลง โครงการที่เหลืออีก 3 โครงการ อนาคตอาจจะมืดมนไปด้วยหรือไม่ เพราะเดิมทีกรมธนารักษ์ตั้งความหวังว่าจะเห็นโครงการนี้ก่อสร้างเข้าอยู่อาศัยได้ภายใน 2 ปี ขณะนี้ผ่านไป 1 ปี ยังไปไม่ถึงไหน แถมล้มไปแล้ว 1 โครงการ และอีกโครงการก็ยังไร้อนาคต!

Advertisement

๐จุดกำเนิดธนารักษ์ประชารัฐ
หากย้อนกลับไปดู โครงการดังกล่าวเกิดจากนโยบายนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี อยากให้บริษัทอสังหาริมทรัพย์มาช่วยสร้างบ้านให้คนจน เพราะก่อนนี้เมื่อปี 2558 รัฐบาลออกมาตรการช่วยภาคอสังหาริมทรัพย์ทั้งลดค่าธรรมเนียมการโอนและจดจำนอง รวมถึงมีสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ หลังจากนั้นพอภาคอสังหาริมทรัพย์เริ่มฟื้นตัว นายสมคิดนัดหารือกับกลุ่มผู้ประกอบการอสังหาฯที่กระทรวงการคลัง จนเป็นที่มาของบ้านประชารัฐราคาถูกคุณภาพดี โดยหนึ่งในนั้นมีโครงการธนารักษ์ ประชารัฐ ด้วยการนำที่ดินราชพัสดุมาให้เอกชนเช่าในราคาถูกเพียง 1 บาท/ตารางเมตร/เดือน ซึ่งการดึงเอกชนมาทำโครงการเพื่อเพิ่มจำนวนและยกระดับบ้านสำหรับคนจนให้มีสิ่งอำนวยความสะดวก มีความทันสมัย และเป็นการเสริมกับบ้านเอื้ออาทรของการเคหะแห่งชาติ (กคช.) และโครงการที่อยู่อาศัยสำหรับคนจน ที่กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของ มนุษย์ดำเนินการอยู่

๐เริ่มต้น 6 จ่อเหลือแค่ 3
ช่วงต้นได้คัดเลือกที่ราชพัสดุ 6 แปลงมาเปิดให้เอกชนที่สนใจยื่นข้อเสนอเข้ามาเพื่อทำโครงการ โดยไม่มีผู้ประมูลในแปลง อำเภอแม่จัน จังหวัดเชียงราย, ยกเลิกโครงการ ช้างคลาน จ.เชียงใหม่ โดยมีแผนสร้างเป็นอาคารชุด จำนวน 935 ยูนิต ให้ประชาชนมาเช่าระยะยาว 30 ปี ขณะที่โครงการที่มีปัญหาคือ โครงการในซอยพหลโยธิน 11 กทม. เป็นคอนโดมิเนียมสูง 8 ชั้น จำนวน 350 ยูนิต มีวัตถุประสงค์ให้ข้าราชการเช่าในราคาถูก ที่เหลืออีก 3 แปลง อยู่ในขั้นตอนการดำเนินงาน ทั้งออกแบบก่อสร้าง ขออีไอเอ คือ บริเวณตรงข้ามวัดไผ่ตัน สะพานควาย เขตจตุจักร กทม. ในรูปแบบคอนโดมิเนียม 8 ชั้น 432 ยูนิต ขนาดห้อง 27 ตารางเมตร ให้ข้าราชการเช่า มีบริษัท อารียา แมนเนจเมนท์ ชนะประมูลงานออกแบบพัฒนา, และอีก 2 แปลงในจังหวัดเพชรบุรี มีบริษัท กลอรี่ แมนเนจเมนท์ ดำเนินการ สร้างเป็นทาวน์เฮาส์ 2 ชั้น รวม 660 ยูนิต ขนาด 56 ตารางเมตร แปลงดังกล่าวเปิดให้เจ้าหน้าที่ของรัฐและประชาชนทั่วไปเช่าระยะยาวได้เป็นเวลา 30 ปี คาดว่าราคาเริ่มต้น 6.9-7.1 แสนบาทต่อยูนิต

๐ขรก.-ประชาชนแห่จองสิทธิ
คุณสมบัติของผู้เช่าคอนโดฯต้องเป็นข้าราชการ รายได้ไม่เกิน 2 หมื่นบาทต่อเดือน สามารถพักอาศัยได้ 5 ปี เพื่อปรับเปลี่ยนรุ่นผู้พักอาศัย หลังเปิดให้จองสิทธิพบมียอดจองถึง 2,300 ราย เกินกว่าเป้า 80% ส่วนบ้านธนารักษ์ ประชารัฐ จังหวัดเพชรบุรี มีประชาชนจองสิทธิ 1,478 ราย จากที่รองรับได้เพียง 660 ยูนิต ถือว่าเกินกว่าเป้าหมาย 200% จากยอดจองดังกล่าวทำให้กรมธนารักษ์มีแผนที่จะดำเนินโครงการบ้านธนารักษ์ ประชารัฐ ในระยะที่ 2 ด้วย! แต่หลังจากนี้คงต้องรอดูว่าอธิบดีกรมธนารักษ์คนใหม่จะมีนโยบายเรื่องนี้อย่างไร และรัฐบาลมีความจริงใจในการลดความเหลื่อมล้ำระหว่างคนจนกับคนรวยแค่ไหน เพราะแค่ยกแรกดูแล้วอนาคตค่อนข้างริบหรี่…

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image