ตามรอย “พระราชาวัยเยาว์” โลซาน ความทรงจำแสนงดงาม

ในความทรงจำของปวงชนชาวไทยที่มีต่อ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ไม่ว่าจะเรื่องอะไรก็แล้วแต่ เชื่อว่าทุกเรื่องล้วนแต่เป็นความทรงจำอันล้ำค่า รวมทั้งผู้เขียนเอง ทุกๆ ความทรงจำที่เกี่ยวกับในหลวง รัชกาลที่ 9 คือ ความทรงจำอันล้ำค่าที่สุดในชีวิต

ท่าเรือทะเลสาบเจนีวาที่โอบล้อมไปด้วยเทือกเขาแอลป์

จนกระทั่งได้มีโอกาสเดินทางไปเยือนแผ่นดินที่เปรียบเสมือนบ้านหลังที่ 2 ของพระองค์ โดย การท่องเที่ยวสวิตเซอร์แลนด์ ได้พาคณะสื่อมวลชนไทยเดินทางตามรอยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ณ โลซาน ประเทศสวิตเซอร์แลนด์

ดินแดนแห่งนี้ ก็ได้มาเปลี่ยนความทรงจำจาก “ภาพสีขาวดำ” ที่มีต่อพระองค์เมื่อครั้งยังทรงพระเยาว์ ให้เป็นภาพที่มี “สีสันอันงดงาม” ซึ่งหากไม่ได้มาเยือน คงไม่รู้เลยว่า ณ ดินแดนแห่งนี้งดงามดั่ง “สวรรค์บนดิน”

Advertisement

“โลซาน” เป็นเมืองหลวงของรัฐโวด์ ในประเทศสวิตเซอร์แลนด์ เป็นที่ตั้งของสำนักงานใหญ่ของคณะกรรมการโอลิมปิกสากล และมีพิพิธภัณฑ์โอลิมปิกตั้งอยู่ริมทะเลสาบเจนีวา โลซานจึงได้รับฉายาว่าเป็น “เมืองหลวงแห่งโอลิมปิก” ทิศใต้ติด “ทะเลสาบเจนีวา” ส่วนตอนบนทิศเหนือติดกับ “เทือกเขาแอลป์” ตั้งตระหง่านอยู่อย่างอลังการ เป็นเมืองที่อยู่ในภูเขาที่ล้อมรอบไปด้วยธรรมชาติอันงดงาม

ท่ามกลางบรรยากาศที่สวยงามดั่งภาพวาด ทัศนียภาพที่ยิ่งใหญ่และงดงามนี้ เป็นที่ประทับของในหลวง รัชกาลที่ 9 นานถึง 18 ปี ซึ่งที่นี่มีส่วนอย่างยิ่งที่หล่อหลอม “ยุวกษัตริย์” ในเรื่องการศึกษารวมไปถึงการเรียนรู้มิติต่างๆ จนส่งผลถึง “พระอัจฉริยภาพ” และ “พระปรีชาสามารถ” ในหลายๆ ด้าน ทั้ง ภาษา กีฬา ดนตรี การเกษตร และนักประดิษฐ์ ซึ่งล้วนเป็นสิ่งที่ทรงนำมาใช้ในการพัฒนาประเทศไม่น้อย

Advertisement

ย้อนกลับในห้วงเวลานั้น พระองค์เสด็จฯ มาประทับ ณ โลซาน ในปี 2476 ขณะนั้นทรงมีพระชนมพรรษา 5 พรรษาเศษ ด้วยเหตุผลที่ “สมเด็จพระเชษฐา” พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล รัชกาลที่ 8 ทรงมีพระพลานามัยที่ไม่แข็งแรงนัก กอรปกับสภาพบ้านเมืองยังไม่เรียบร้อย

สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี จึงทรงพาพระราชโอรสทั้ง 2 พระองค์ และพระราชธิดา สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ เสด็จฯ จากประเทศไทยมาประทับที่โลซาน เพื่อรักษาพระสุขภาพพลานามัย และเป็นโอกาสที่จะไปศึกษายังต่างประเทศด้วย

**ที่ประทับแห่งแรก “แฟลตเลขที่ 16 ถนน ทิสโซต์”

ราชสกุลมหิดลทรงใช้ชีวิตเยี่ยงสามัญชน โดย 2 ปีแรก พ.ศ.2476-2478 ทุกพระองค์ประทับอยู่ที่แฟลตเลขที่ 16 ถนน ทิสโซต์

สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯ ทรงพระนิพนธ์ไว้ในหนังสือ “เจ้านายเล็กๆ-ยุวกษัตริย์” ว่า “เป็นตึกใหญ่ที่มีแฟลตหลายชุด แม่เช่าแฟลตหนึ่งที่อยู่ชั้นล่าง เพราะเกรงว่าลูกอาจรบกวนคนที่พักอยู่ข้างใต้ด้วยการวิ่งหรือกระโดด ใต้แฟลตของเรายังมีโรงรถอีก แฟลตนั้นมีห้องนั่งใหญ่พอใช้ ห้องรับประทานอาหาร ห้องนอนของแม่และข้าพเจ้าใช้เครื่องเรือนสีเหลือง ห้องนอนของน้องๆ ใช้สีชมพูแก่ แฟลตนี้มีเฉลียงยาว ถ้าอากาศดี เราชอบอยู่ที่เฉลี่ยงนี้กันโดยเฉพาะสองพี่น้อง”

แฟลตเลขที่ 16 ถนน ทิสโซต์

ในวันที่เราไปเยือนนั้น อากาศกำลังเย็นสบาย ด้วยตัวแฟลตอยู่บนเนินเขา จึงทำให้เราต้องออกแรงเดินขึ้นสักหน่อย ด้านหน้าแฟลตมีต้นไม้ใหญ่ปลูกเรียงรายร่มรื่น ปัจจุบันแฟลตแห่งนี้ยังคงเป็นที่พักอาศัยของชาวสวิส แต่ได้มีการปรับเปลี่ยนพื้นที่ชั้นล่างให้เป็นพื้นที่เช่าสำนักงานแทน จึงไม่ได้เป็นสถานที่ที่เปิดให้เข้าเที่ยวชม

และเมื่อข้ามมาฝั่งตรงข้ามแฟลตจะพบกับร้านถ่ายรูป “ซาโลมง เดอ ฌง” ซึ่งเป็นร้านเก่าแก่ที่ยังเปิดให้บริการอยู่ เป็นร้านที่สมเด็จพระราชชนนีทรงพาพระราชโอรสและพระราชธิดามาถ่ายรูปครอบครัว

แฟลตเลขที่ 16 ถนน ทิสโซต์

**โรงเรียนของพ่อ “เอกอล นูแวล”

ในหลวง ร.9 และในหลวง ร.8 ทรงเคยศึกษาที่โรงเรียนเอกชน “เอกอล นูแวล เดอ ลา สวิส โรมองด์” เป็นเวลา 10 ปี ระหว่าง พ.ศ. 2478-2488

โรงเรียนเอกอล-นูแวล-ในอดีต

ที่นี่ ทำให้เราทราบถึงพระปรีชาสามารถของในหลวง ร.9 ที่ตรัสภาษาต่างประเทศได้หลายภาษา ทั้งภาษาฝรั่งเศส เยอรมัน ละติน และอังกฤษ

ข้อแรก คือ ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ เป็นประเทศที่มีหลายภาษา หลากวัฒนธรรม เพราะเป็นประเทศที่ตั้งอยู่ใจกลางทวีปยุโรป มีพรมแดนติดต่อกับประเทศเพื่อนบ้านหลายประเทศ ทิศเหนือติดกับประเทศเยอรมนี ทิศใต้ติดกับประเทศอิตาลี ทิศตะวันออกติดกับประเทศออสเตรียและลิคเคนสไตน์ ส่วนทิศตะวันตกติดกับประเทศฝรั่งเศส

ซึ่งถ้าเมืองไหนของสวิสมีชายแดนอยู่ติดกับประเทศอะไร ก็จะได้รับอิทธิพลทางภาษาและวัฒนธรรมของประเทศนั้นๆ สวิสจึงมีภาษาที่ใช้ทางราชการถึง 3 ภาษา คือ ภาษาเยอรมัน, ฝรั่งเศส, อิตาลี โดยชาวสวิสส่วนใหญ่พูดภาษาเยอรมัน 65 เปอร์เซ็นต์ สวิสฝรั่งเศส 18 เปอร์เซ็นต์ สวิสอิตาเลี่ยน 10 เปอร์เซ็นต์ สวิสโรมานซ์ 1 เปอร์เซ็นต์ และชาวต่างชาติที่พูดภาษาอื่นๆ อีก 6 เปอร์เซ็นต์ ซึ่ง “โลซาน” เป็นเมืองที่มีชายแดนติดกับประเทศฝรั่งเศส และเป็นเมืองที่ใช้ภาษาฝรั่งเศสในการสื่อสาร

หากใครได้มาเยือนสวิส จะเห็นป้ายบอกทางต่างๆ ระบุเป็นภาษาถึง 4 ภาษาในป้ายเดียวกัน ได้แก่ เยอรมัน ฝรั่งเศส อิตาลี และอังกฤษ

ตึกเรียนโรงเรียนเอกอล-นูแวลที่ยังคงอนุรักษ์แบบดั้งเดิมไว้

นอกจากสภาพแวดล้อมที่หล่อหลอมพระองค์ให้ทรงมีพระปรีชาสามารถด้านภาษาแล้ว หลักสูตรต่างๆ ในเอกอล นูแวล ก็มีส่วนสำคัญไม่น้อย

แรกเริ่มทรงเข้ารับการศึกษา ทรงเลือกเรียนสายศิลป์ภาษาละตินและอังกฤษ ขณะที่ภาษาเยอรมันเป็นภาษาที่บังคับให้เรียนอยู่แล้ว ส่วนวิชาพิเศษของโรงเรียนสมัยนั้นมีวิชา “การทำสวน” และวิชา “การช่างไม้”

ปัจจุบัน โรงเรียนเอกอล นูแวล มีอายุ 111 ปี และยังคงเปิดสอนนักเรียนจากสวิสเซอร์แลนด์และนักเรียนจากทั่วโลก อายุ 3-18 ปี

“ตึกเรียน” และ “ตึกที่พักนักเรียนประจำ” ในสมัยที่ในหลวงทั้ง 2 พระองค์ ทรงเคยศึกษาและประทับอยู่ ยังคงอนุรักษ์ไว้แบบเดิมทุกประการ ขณะที่ภายในอาคารได้ปรับเปลี่ยนพัฒนาตามกาลเวลา เช่น ห้องช่างไม้ ปัจจุบันเป็นห้องคอมพิวเตอร์

ตึกที่พักนักเรียนประจำที่ยังคงอนุรักษ์แบบเดิม
ตึกที่พักนักเรียนประจำที่ยังคงอนุรักษ์แบบเดิม

นอกจากนี้ โรงเรียนยังได้สร้างอาคารเฉลิมพระเกียรติในหลวง ร.8 และ ในหลวง ร.9 ซึ่งได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากในหลวง ร.9 พระราชทานแผ่นทองเหลืองลงพระปรมาภิไธยย่อ ภปร เชิญมาติดด้านหน้าอาคาร อีกทั้งยังได้รับพระมหากรุณาธิคุณจาก สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จฯ เป็นองค์ประธานเปิดอาคารโรงเรียนด้วย

อาคารเฉลิมพระเกียรติในหลวง ร.9 และ ร.8
ป้ายอาคารเฉลิมพระเกียรติในหลวงทั้งสองพระองค์

**เจ้านายเล็กๆ กับครูส่วนพระองค์

ทริปนี้ เรา “โชคดี” ที่ได้พบกับ “ลีซองดร์ เซ.เซไรดารีส” บุตรชายของ “เกลย์อง เซ.เซไดดารีส” ครูส่วนพระองค์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 8 และ รัชกาลที่ 9 ถวายงานราชวงศ์นานถึง 26 ปี

ลีซองดร์ เซ.เซไรดารีส เล่าว่า โลซานได้รับเกียรติสูงส่งเหนือกว่าเมืองอื่นใดในโลกนี้ เพราะได้เป็นสถานที่ที่ครอบครัวพระมหากษัตริย์ไทยเสด็จฯ มาประทับ ซึ่งในสมัยนั้นสวิตเซอร์แลนด์เป็นประเทศที่มีสถานศึกษาที่ดีที่สุดในโลก

“แม้ว่าเจ้าชายทั้งสองจะมีครูมาสอนให้ที่พระตำหนักวิลล่าวัฒนา แต่พ่อของผมยืนยันว่า เจ้าชายควรไปโรงเรียนเพื่อได้เรียนรู้โลกจริงๆ และได้รู้จักกับผู้คนอื่นๆ ที่แตกต่างออกไปด้วย ไม่เพียงแต่คนจากประเทศไทย หรือจากสวิตเซอร์แลนด์ แต่เป็นนักเรียนที่มาจากประเทศต่างๆ ทั่วโลก เมื่อเราได้พบกับเพื่อนที่มาจากทั่วโลกในโรงเรียน เราก็จะได้รู้จักได้ทำความเข้าใจ และจะได้ไม่ก่อสงครามซึ่งกันและกันในภายหลัง”

ในหลวงทั้งสองพระองค์กับครู

ลีซองดร์ เซ.เซไรดารีส เล่าอีกว่า อันที่จริงตำแหน่งที่ครูเกลย์องได้รับ น่าจะเป็นตำแหน่งเกียรติยศเฉยๆ เพราะในหลวงทั้งสองพระองค์ทรงมีพระปรีชาสามารถด้านการเรียนอยู่แล้ว ถึงแม้จะทรงพระเยาว์แต่ก็ทรงมีความรับผิดชอบสูง อย่างในสมุดพกของในหลวง รัชกาลที่ 9 ที่เขียนเป็นภาษาฝรั่งเศส ถ้าอ่านออกจะรู้ว่า ในนั้นจะมีแต่คำว่า “ดี ดีมาก และดีเลิศ”

“พ่อมักบอกผมเสมอว่า งานที่ได้รับเลือกให้เป็นครูถวายพระอักษรในหลวงทั้งสองพระองค์เป็นงานที่วิเศษสุด เพราะในหลวงทั้งสองพระองค์ทรงขวนขวายหาความรู้อย่างใฝ่รู้ สามารถเรียนรู้ทุกอย่างได้อย่างรวดเร็ว ถามคำถามที่ถูกต้องเสมอ ไม่สามารถหานักเรียนที่ดีกว่านี้ได้อีกแล้ว ที่ทรงเป็นอย่างนี้เพราะเจ้าชายทั้งสองพระองค์ทรงได้รับการอบรมสั่งสอนมาจากสมเด็จพระราชชนนีที่ได้รับการสั่งสอนจากสมเด็จพระราชบิดามาอีกต่อหนึ่งว่า มนุษย์เราต้องทำให้ดีที่สุด ดังนั้น จึงทรงขยันขันแข็ง เพียรพยายามศึกษาอยู่ตลอดเวลา เพื่อจะได้ทรงเรียนรู้ศาสตร์ของการเป็นพระราชา เพื่อจะได้นำพากลับไปยังอาณาจักรของพระองค์ในภายหลัง เจ้าชายทั้งสองพระองค์มีความคิดเช่นนี้มาตั้งแต่ 7-8 พรรษา” ลีซองดร์ เซ.เซไรดารีส กล่าว

ลีซองดร์ เซ.เซไรดารีส

ณ ดินแดนแห่งนี้ ยังมีสถานที่แห่งความทรงจำต่อพระมหากษัตริย์อันเป็นที่รักยิ่งของปวงชนชาวไทยอีกมากมาย อาทิ

สถานีรถไฟโลซาน ซึ่งเป็นสถานีปลายทางที่พระองค์และพระราชวงศ์เสด็จฯ เมื่อปี 2494

สถานีรถไฟโลซาน

มหาวิทยาลัยโลซาน สถานที่ที่พระองค์ทรงศึกษาด้าน รัฐศาสตร์ นิติศาสตร์ และเศรษฐศาสตร์

มหาวิทยาลัยโลซาน
มหาวิทยาลัยโลซาน

สวนสาธารณะปาร์ค ดู เดอนองตู ที่อยู่ริมทะเลสาบเจนีวา เป็นสถานที่ที่พระองค์และพระราชวงศ์โปรดเสด็จฯ มาพักผ่อนพระอิริยาบถ สวนแห่งนี้ เป็นที่ตั้งของ “ศาลาไทยเฉลิมพระเกียรติ” ที่ตั้งโดดเด่นเป็นสง่าอยู่ท่ามกลางสนามหญ้า สร้างขึ้นเนื่องในโอกาสในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงครองราชย์ครบ 60 ปี และเพื่อฉลองความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างไทยกับสวิสครบ 75 ปี

ศาลาไทยเฉลิมพระเกียรติ ตั้งอยู่บนสวนสาธารณะปาร์ค ดู เดอนองตู
ทะเลสาบเจนีวา
ทะเลสาบเจนีวาที่โอบล้อมด้วยเทือกเขาแอลป์

วัดไทยศรีนครินทรทรวราราม ที่ตั้งอยู่ในเมืองเกรทเซนบาค สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี พระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ในการก่อสร้างวัดขึ้น นับเป็นวัดที่ใหญ่ที่สุดในทวีปยุโรปที่เป็นศูนย์รวมจิตใจของพุทธศาสนิกชนทั้วชาวไทยและชาวต่างประเทศ

วัดไทยศรีนครินทรทรวราราม

และอีกหลายสถานที่ที่ ในหลวง ร.9 เสด็จฯ เยือน ไม่ว่าจะเป็นร้านช็อกโกแลตเลื่องชื่อ “เลเดอรัค” แห่งเมืองเวเวย์ที่เจ้าของร้านรังสรรค์ “ช็อกโกแลตรสต้มยำ” ขึ้นเพื่อถวายแด่ในหลวง ร.9

ช็อกโกแลตรส “ต้มยำ”
ร้านช็อกโกแลตเลื่องชื่อ “เลเดอรัค”

หรือโรงกลั่นเหล้าองุ่น “โอ โกลส์ เดอ ลา เรปูบลิก” โดยไร่องุ่นในเขตนี้เรียกว่า ไร่องุ่นลาโวกซ์ ได้รับการขึ้นทะเบียนให้มรดกโลกทางวัฒนธรรมขององค์การยูเนสโก้เมื่อปี 2007

โรงกลั่นเหล้าองุ่น “โอ โกลส์ เดอ ลา เรปูบลิก”
โรงกลั่นเหล้าองุ่น “โอ โกลส์ เดอ ลา เรปูบลิก”
โรงกลั่นเหล้าองุ่น “โอ โกลส์ เดอ ลา เรปูบลิก”
ไร่องุ่นลาโวกซ์ ได้รับการขึ้นทะเบียนให้มรดกโลกทางวัฒนธรรมขององค์การยูเนสโก้เมื่อปี 2007

ยังมีเรื่องราวอีกมากมายในโลซานและสวิตเซอร์แลนด์ที่เก็บรวบรวมความทรงจำของ “ยุวกษัตริย์” เมื่อครั้งยังทรงพระเยาว์ไว้ การได้มาเยือนแผ่นดินวัยเยาว์ของในหลวง ร.9 แม้บางสถานที่จะได้เพียงชมแค่ด้านนอก เพราะยังใช้เป็นที่พักอาศัย หรือเปิดให้บริการอยู่

แต่ก็ก่อให้เกิดความรู้สึกตื้นตันใจอย่างบอกไม่ถูก ยิ่งเห็นยิ่งคิดถึงระคนอาลัยอาวรณ์ แต่ทั้งหมดก็ทดแทนได้ด้วย ความรู้สึกปลื้มใจที่ได้รู้ว่า

คนโลซานส่วนใหญ่รักเมืองไทย และรู้ว่าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ทรงเจริญพระชนม์ชีพที่นี่

การมาเยือนแผ่นดินวัยเยาว์ในครั้งนี้ ได้เปลี่ยน “ภาพจำ” ที่มีแต่สีขาวดำให้กลายเป็นภาพที่มี “สีสันงดงาม”

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image