ปภ.ประสาน จ.อีสาน-ตะวันออก-ใต้ รับมือภาวะฝนหนักระยะนี้

ปภ.รายงาน 7 จ.น้ำยังไหลหลาก – น้ำล้นตลิ่ง พร้อมประสาน จ.อีสาน-ตะวันออก-ใต้รับมือภาวะฝนหนักระยะนี้

เมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม นายฉัตรชัย พรหมเลิศ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) กล่าวว่า ฝนที่ตกหนักต่อเนื่องในหลายพื้นที่ ส่งผลให้เกิดน้ำไหลหลาก และน้ำเอ่อล้นตลิ่งใน11 จังหวัด รวม 26 อำเภอ 50 ตำบล 131 หมู่บ้าน สถานการณ์คลี่คลายแล้ว 4 จังหวัด ยังคงมีสถานการณ์น้ำไหลหลาก 7 จังหวัด 17 อำเภอ 35 ตำบล 116 หมู่บ้าน บ้านเรือนได้รับผลกระทบ 1,255 หลัง ผู้เสียชีวิต 1 ราย แยกเป็น ภาคเหนือ 6 จังหวัด ได้แก่ กำแพงเพชร น้ำไหลหลากเข้าท่วมพื้นที่ 2 อำเภอ ได้แก่ อ.เมืองกำแพงเพชร อ.พรานกระต่าย บ้านเรือนประชาชนได้รับผลกระทบ 800 หลัง เพชรบูรณ์ น้ำไหลหลากเข้าท่วมพื้นที่ 5 อำเภอ รวม 15 ตำบล 54 หมู่บ้าน ได้แก่ อ.หล่มเก่า อ.เมืองเพชรบูรณ์ อ.หล่มสัก อ.หนองไผ่ และอ.เขาค้อ บ้านเรือนได้รับผลกระทบ 402 หลัง อุตรดิตถ์ น้ำไหลหลากเข้าท่วมพื้นที่ 2 อำเภอ ได้แก่ อ.ทองแสนขัน อ.พิชัย บ้านเรือนประชาชนได้รับผลกระทบ 47 หลัง พื้นที่การเกษตรเสียหาย 500 ไร่ พิษณุโลก น้ำไหลหลากเข้าท่วมพื้นที่ 3 อำเภอ ได้แก่ อ.ชาติตระการ อ.วัดโบสถ์ และอ.นครไทย บ้านเรือนได้รับผลกระทบ 6 หลัง ถนน 1 สาย ตาก น้ำไหลหลากเข้าท่วมพื้นที่อ.อุ้มผาง ทำให้คอสะพานเทียบท่าเรือสบห้วยอุ้มผางทรุด

นายฉัตรชัย กล่าวว่า ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 2จังหวัด ได้แก่ เลย น้ำไหลหลาก เข้าท่วมพื้นที่ 2 อำเภอ ได้แก่ อ.ภูกระดึง และอ.วังสะพุง ระดับน้ำท่วมสูง 5 – 40 เซนติเมตร อุดรธานี เกิดน้ำไหลหลากเข้าท่วมพื้นที่ 2 อำเภอ ได้แก่ อ.นายูง และอ.หนองวัวซอ ส่งผลให้ทางเบี่ยงจุดก่อสร้างสะพานได้รับความเสียหาย สถานการณ์ในภาพรวมระดับน้ำท่วมลดลงทุกพื้นที่ และจากการตรวจสอบสภาพอากาศกับกรมอุตุนิยมวิทยา พบว่าหย่อมความกดอากาศต่ำกำลังอ่อนยังคงปกคลุมบริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบนของประเทศไทย ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้กำลังปานกลางพัดปกคลุมทะเลอันดามันและภาคใต้ ทำให้ภาคเหนือและภาคกลางมีฝนน้อยลง ส่วนภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออกมีฝนตกหนักบางพื้นที่ ขณะที่ภาคใต้ยังคงมีฝนตกต่อเนื่อง ปภ.จึงได้ประสานจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก และภาคใต้ รวมถึงศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขต และสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดในพื้นที่เสี่ยงภัย จัดเจ้าหน้าที่ติดตามสภาพอากาศและเฝ้าระวังสถานการณ์ภัยอย่างใกล้ชิด อีกทั้งจัดเตรียมวัสดุอุปกรณ์และชุดเคลื่อนที่เร็วให้พร้อมปฏิบัติการเผชิญเหตุและช่วยเหลือผู้ประสบภัยอย่างทันท่วงที ตลอดจนแจ้งเตือนประชาชนในพื้นที่เสี่ยงภัยให้ระมัดระวังอันตรายจากฝนตกหนักถึงหนักมาก อาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับเพลันและน้ำป่าไหลหลาก โดยติดตามพยากรณ์อากาศและประกาศเตือนภัยจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพร้อมปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image