บทความ : วิกฤตการศึกษาไทย ถึงยุค ผีจัดหัวจัดขา : โดย เพชร เหมือนพันธุ์

เปิดเทอมการศึกษาใหม่ได้อาทิตย์แรก ผู้ปกครองและนักเรียนคงยังไม่รู้สึกถึงกลิ่นของความเปลี่ยนแปลงอย่างใหญ่หลวงที่จะตามมาในอนาคต ขณะที่ชาวประชาชนคนไทยกำลังเตรียมตัวจะฉลองสงกรานต์ ท่านหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ก็ได้ใช้อำนาจตามมาตรา 44 แห่งรัฐธรรมนูญฯ ปี 2557 ออกคำสั่ง คสช.ที่ 19/2560 เรื่องการปฏิรูปการศึกษาในภูมิภาคของกระทรวงศึกษาธิการ ลงวันที่ 3 เมษายน 2560 ซึ่งถือเป็นการปฏิวัติเงียบทางการศึกษา ที่จะเกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ที่จะตามมา

เหตุผลสำคัญที่อ้างในการออกคำสั่งนี้ เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในการเตรียมความพร้อมที่จะปฏิรูปการศึกษาตามยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ตัวปัญหาที่ตกเป็นจำเลยในการออกคำสั่งครั้งนี้คือ สภาพปัญหาในการจัดการศึกษาของประเทศไทยในส่วนภูมิภาค ใน 3 ด้านได้แก่ ด้านโครงสร้างขององค์กร ด้านระบบบริหารจัดการ และด้านบุคลากรที่มีความซับซ้อนและสะสมมานาน เป็นต้นเหตุที่ทำให้คุณภาพของการศึกษาไทยตกต่ำและการพัฒนาเยาวชนไม่ก้าวหน้า และยังเป็นอุปสรรคในการขับเคลื่อนและการพัฒนาด้านการศึกษาของประเทศให้มีประสิทธิภาพทัดเทียมนานาประเทศ จำเลยหลัก คือโครงสร้างของกระทรวงศึกษาฯทั้งในระดับกระทรวงและระดับภูมิภาค

วิธีแก้ปัญหาของรัฐในครั้งนี้ ทำให้คิดถึงนิทานเรื่องผีจัดหัวจัดขา ที่เล่ากันมาในสมัยโบราณ ที่ว่า คนที่เดินทางไกลรอนแรมไปตามเส้นทางกลางป่า ในระหว่างเส้นทางจะมีการสร้างศาลาที่พักให้ไว้สำหรับคนเดินทางได้พักนอน ในศาลาจะมีวิญญาณสิ่งศักดิ์สิทธิ์ประจำศาลาเฝ้าดูแลคุ้มครองคนเดินอยู่ประจำ พอถึงเวลาคนเดินทางมานอนหลับเรียงกันเป็นแถว เทวดาประจำศาลาที่เฝ้าดูแลความเรียบร้อย ก็จะออกเดินสำรวจดูความเป็นระเบียบของผู้ที่มาอาศัยพักนอน ต่อไปจะขอเรียก เทวดาประจำศาลาว่า “ผี” ก็แล้วกัน เพื่อให้มันสอดคล้องกับนิทานเรื่องเดิม

ถึงเวลาคนเดินทางนอนหลับ ผีก็จะออกเดินสำรวจการนอนของคนเดินทาง รอบแรกเมื่อผีเดินสำรวจทางด้านปลายเท้า หากพบว่าปลายเท้าของคนเดินทางที่นอนหลับไม่เสมอกัน ผีก็จะกล่าวโทษตำหนิคนเดินทางว่านอนไม่เป็นระเบียบ ปลายเท้าไม่อยู่ในแนวเดียวกัน ผีจึงแก้ปัญหาโดยดึงขาผู้เดินทางให้มาอยู่ในระดับที่เสมอกัน หลังจากนั้น ผีก็จะออกเดินสำรวจทางด้านศีรษะ หากพบว่าศีรษะของผู้เดินทางไม่อยู่ในระดับที่เสมอกันอีก ผีก็จะ “ตำหนิ’ คนเดินทางว่าไม่มีระเบียบ (ผีชอบมองหาคนผิด) ผีก็จะดึงหัวของคนที่นอนหลับให้ขึ้นมาอยู่ในระดับเดียวกัน

Advertisement

โชคร้ายที่ศาลาแห่งนี้ ผีที่ได้รับแต่งตั้งขาดองค์ความรู้ ไม่รู้ว่าคนเดินทางมานอนพักที่ศาลาแต่ละคืนมีความสูงต่ำไม่เท่ากัน คนที่มาพักนอนจึงตกเป็นจำเลย ถูกผีกล่าวหาว่านอนไม่เป็นระเบียบ ผีไม่เคยโทษตนเอง ผีมีหน้าที่ต้องแก้ปัญหา ผีจึงจัดขาให้เสมอกันแล้วก็กลับไปจัดหัวให้เสมอกัน ผีต้องทำงานทั้งคืน มันจึงเป็นโชคร้ายของผี ของศาลา ของคนเดินทางกันแน่ หรือของการศึกษาไทยกันแน่ ผีขาดองค์ความรู้ในความสูงต่ำต่างกันของคนเดินทาง การแก้ปัญหาแบบผีๆ นี้ ผีคงต้องทำงานจนผีตายไปก็ไม่เสร็จ

แต่ถ้ายุคใหม่โชคดีมีผีเฝ้าศาลาที่มีองค์ความรู้ มีความฉลาดเลือกใช้ยุทธศาสตร์ในการจะแก้ไขปัญหาที่ถูกต้องคือ ต้องใช้ศาสตร์พระราชา เข้าใจ เข้าถึง และพัฒนา ปัญหาการศึกษาของประเทศชาติคงไม่ตกอยู่ในห่วงวังวนเช่นนี้

คำตอบที่ถูก ผีฉลาดใช้แก้ปัญหาก็น่าจะมีหลายวิธี แต่ก็มีวิธีหนึ่งที่ง่ายๆ ได้ผลเร็วคือ เพียงแค่ผียกเอาคนนอนหลับที่มีตัวสูงสุดไว้ทางด้านหัวแถว เอาคนต่ำสุดไปวางไว้ด้านท้ายแถว แล้วจัดยกเอาคนนอนหลับที่มีความสูงต่ำเรียงตามลำดับลดหลั่นกันไป ศีรษะของคนเดินทางและขาของคนเดินทางก็จะมาเรียงในแนวเดียวกัน ผีไม่ต้องไปดึงหัวดึงขาตลอดทั้งคืนอีกเลย ผีก็จะได้ไม่ไปโทษคน คนก็จะไม่ได้ตกเป็นจำเลย

Advertisement

กลับมาย้อนดูการศึกษาไทย จำเลยที่ถูกกล่าวหา คือ โครงสร้างของกระทรวงศึกษาธิการทั้ง 3 ด้านได้ตกเป็นจำเลยมาโดยตลอดทุกรัฐบาล จะรัฐมนตรีท่านใดที่เป็นคนเฝ้าจัดระเบียบหัวขาที่ศาลา เมื่อผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาตกต่ำหรือ เกิดปัญหาการทุจริตคอร์รัปชั่นทั่วประเทศ ผู้ถูกกล่าวหา ก็คือ โครงสร้างทั้ง 3 ด้านที่กล่าวมาแล้ว เป็นตัวปัญหาในการพัฒนาเยาวชน เป็นอุปสรรคในการขับเคลื่อน และการพัฒนาประสิทธิภาพการศึกษาของประเทศให้ทันนานาชาติ

ดังนั้นจำเลยทั้ง 3 จะต้องถูกลงโทษ ต้องถูกนำมาจัดระเบียบใหม่ ทุกครั้ง

ผลกระทบจากคำสั่งฟ้าผ่ากลางฤดูแล้งครั้งนี้ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเงียบๆ มีการดึงอำนาจจากองค์กรการบริหารงานในระดับกระทรวง สำนักงานเลขาธิการคณะกรรมการทั้ง 4 แท่ง ไปยังสำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ โดยจัดให้เลขาธิการคณะกรรมการทั้ง 4 แท่งเป็นคณะกรรมการร่วมในคณะกรรมการขับเคลื่อนการปฏิรูปการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการในส่วนภูมิภาคเท่านั้น แล้วให้ดึงอำนาจทั้ง 4 ด้านของสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา ไปไว้ที่ศึกษาธิการจังหวัดและคณะกรรมการการศึกษาจังหวัด เกิดองค์กรใหม่ขึ้นมาแทนดังนี้

1.ระดับกระทรวง เกิดคณะกรรมการขับเคลื่อนการปฏิรูปการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการในส่วนภูมิภาค ขึ้นมาหนึ่งคณะกรรมการ คณะนี้มีตำแหน่งบุคคลที่เข้าร่วมเป็นคณะกรรมการอยู่ 9 ตำแหน่ง แต่มีผู้ปฏิบัติหน้าที่อยู่ 10 คน มี รมว.ศึกษาธิการเป็นประธานคณะกรรมการ มีรัฐมนตรีช่วยว่าการ 2 ท่านเป็นกรรมการ จึงมีคนเพิ่มอีก 1 คนมีบุคคลภายนอกกระทรวงศึกษาธิการ 2 ตำแหน่ง คือ ประธานหอการค้าแห่งประเทศไทยและประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย มีเลขาธิการคณะกรรมการ 4 แท่งเป็นกรรมการ และมีปลัดกระทรวงศึกษาธิการเป็นกรรมการและเลขานุการ คณะกรรมการชุดนี้ยังโชคดีที่คณะกรรมการชุดนี้ได้บุคคลที่มีอำนาจหน้าที่รับผิดชอบโดยตรงต่อการศึกษาของชาติมาเป็นประธานคณะกรรมการ คือ ได้ รมว.ศึกษาธิการมาเป็นประธาน มีอำนาจหน้าที่อยู่ 9 ประการ

2.ให้มีสำนักงานศึกษาธิการภาค 18 ภาคและให้มีศึกษาธิการภาค เป็นผู้บังคับบัญชา เพื่อปฏิบัติภารกิจของกระทรวงศึกษาธิการในระดับพื้นที่

3.ให้มีคณะกรรมการศึกษาธิการจังหวัด เรียกชื่อย่อว่า (กศจ.) ให้ผู้ว่าฯหรือรองผู้ว่าฯที่ได้รับมอบหมายเป็นประธานกรรมการ มีศึกษาธิการภาคในเขตพื้นที่เป็นรองประธานกรรมการ ให้ศึกษาธิการจังหวัดเป็นกรรมการและเลขานุการ มีกรรมการจากผู้แทนสำนักต่างๆ 6 คน และผู้ทรงคุณวุฒิ 6 คน รวมแล้วในกรรมการชุดนี้มีจำนวนทั้งสิ้นไม่เกิน 16 คน จะโชคดีหรือโชคร้ายก็ยังไม่รู้ที่เอาบุคคลที่ไม่มีหน้าที่ ไม่มีอำนาจ ไม่มีภาระงานโดยตรงของกระทรวงศึกษาธิการ มาเป็นประธานคณะกรรมการ มีอำนาจหน้าที่ จำนวน 10 ข้อ

เราเคยมีบทเรียนในประวัติศาสตร์มาแล้วว่า คนที่ไม่มีหน้าที่รับผิดชอบจัดการศึกษาโดยตรงให้มากุมบังเหียนการศึกษา เป็นประธานคณะกรรมการบริหารงานได้สร้างปัญหาเพิ่มขึ้น เช่น ประธานคณะ อ.ก.ค.ศ. ที่ตั้งคนที่ไม่มีหน้าที่โดยตรงมาเป็นประธานคณะกรรมการ แล้วให้ผู้มีหน้าที่ความรับผิดชอบโดยตรง คือให้ ผอ.เขตเป็นกรรมการและเลขานุการ จึงเกิดปัญหาการทุจริตคอร์รัปชั่นขึ้นทั่วประเทศ มีการย้ายครูที่ไม่เป็นธรรม มีการบรรจุไม่โปร่งใส

โชคร้ายกว่านั้นเขตพื้นที่ฯ ได้นักเลือกตั้ง ได้นักเคลื่อนไหวหรือได้นักกฎหมายทนายความมาเป็นประธานคณะกรรมการ จนมีการงัดข้อระหว่าง ผอ.เขตและประธานคณะกรรมการ อ.ก.ค.ศ.มาแล้ว มีการย้ายคนของตนเองไปอยู่ในสถานที่ดีกว่าโดยไม่มีลำดับอาวุโสจึงเกิดขึ้น

4.ให้คณะอนุกรรมการศึกษาธิการจังหวัด เขียนชื่อย่อว่า อกศจ.ให้เลือกกันเองจากคนใน กศจ. มาเป็นประธานคณะกรรมการ ให้ศึกษาธิการจังหวัดเป็นอนุกรรมการและเลขานุการ มีกรรมการรวม 9 คน มีอำนาจหน้าที่ ช่วยเหลือหรือกลั่นกรองงานให้แก่ กศจ. ที่น่าเป็นกังวลคือ ประธานคณะกรรมการชุดนี้ที่เลือกมา ไม่รู้ว่าจะได้คนที่มีตำแหน่งหน้าที่ในกระทรวงศึกษาธิการหรือไม่ และที่แปลกใจก็คือทำไมคนที่เป็นผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาในสังกัดจังหวัดไม่ได้เป็นกรรมการโดยตำแหน่งครบทุกคน ถ้าไม่ให้เขาเป็นจะให้เขาดูแลลูกน้องผู้ใต้บังคับบัญชาได้อย่างไร

งานทั้ง 4 งานของกระทรวงศึกษาธิการ คือ งานบุคคล งานวิชาการ งานบริหารทั่วไป งานงบประมาณและทรัพย์สิน ให้ท่านที่มีตำแหน่งต่อไปนี้โอนไปให้ศึกษาธิการจังหวัดปฏิบัติราชการแทน คือ 1.เลขาธิการคณะกรรมการ สพฐ. 2.เลขาธิการคณะกรรมการอาชีวะฯ 3.เลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา 4.เลขาธิการคณะกรรมการ กคศ. และ 5.เลขาธิการ สช. ถามว่าแล้วจะยังเหลืองานอะไรให้ท่านที่มีตำแหน่งซี 11 เหล่านี้ได้ทำงานให้สมกับเงินเดือนบ้าง น่าจะยุบไปเลยในอนาคตนะ

6.อำนาจที่เหลืออยู่ของบรรดาบทบัญญัติแห่งกฎหมาย กฎ ระเบียบ ข้อบังคับประกาศ คำสั่ง หรือมติคณะรัฐมนตรี ที่อ้างถึงทั้งในกฎหมายว่าด้วยการศึกษาแห่งชาติ และกฎหมายว่าด้วยระเบียบบริหารราชการกระทรวงศึกษาธิการ…ให้บทบัญญัติดังกล่าวยังคงมีผลใช้บังคับได้ต่อไปเท่าที่ไม่ขัดแย้งกับคำสั่งนี้ ครับยังเหลืออยู่บ้าง

จัดไปแล้วก็จัดไป สั่งไปแล้วก็ทำกันไปไม่ว่ากัน เอาใจช่วยครับ แต่มีอุทาหรณ์ที่จะสะท้อนภาพให้เกิดชวนคิดคือ ปรากฏการณ์แบบนี้เคยเกิดมาแล้วในสมัยประวัติศาสตร์การศึกษาไทย เมื่อก่อนปี พ.ศ.2521 ข้าราชการครูสังกัดประถมศึกษาทั่วประเทศ สังกัดกระทรวงมหาดไทย ครูมัธยมศึกษาทั่วประเทศสังกัดกระทรวงศึกษาธิการ ปัญหาเล็กๆ เท่านี้ ได้กลายมาเป็นปัญหาใหญ่ เมื่อครูประถมศึกษารู้สึกว่าผู้ว่าราชการจังหวัดไม่ได้เติบโตมาจากสายครู ศึกษาธิการจังหวัดไม่ได้เติบโตมาจากสายโรงเรียน และครูเองก็ไม่สามารถจะเติบโตไปเป็นผู้ว่าราชการจังหวัดหรือศึกษาธิการจังหวัดได้ จึงเกิดการต่อต้านทั่วประเทศ ทำให้เกิดการแบ่งแยกส่วนราชการในสำนักงานศึกษาธิการจังหวัด ออกมาเป็นการประถมศึกษาจังหวัด และเป็นสามัญศึกษาจังหวัด

การแก้ไขปัญหาในครั้งนี้อาจกลายเป็นการสร้างปัญหาใหม่ขึ้นมาอีก วันนี้ ปี 2560 เรากลับคืนมายังโครงสร้างเดิม ในปี 2521 อีก ที่วังเวงที่สุดคือ ชาวสามัญศึกษาและชาวประถมศึกษาในระดับจังหวัดต้องการองค์กรในระดับจังหวัดที่มาดูแลตัวเอง แต่ท่านเอาคณะกรรมการที่มีผู้ว่าฯ หรือรองผู้ว่าฯ ที่ได้รับมอบหมายมาให้เป็นประธานคณะกรรมการแทน งานในภาระหน้าที่ของท่านมากอยู่แล้ว งานการศึกษาก็เป็นได้แค่งานฝาก หากท่านมารบกับคุณภาพการศึกษาที่ตกต่ำ มารบกับครูที่มีหนี้สินมากมายก็เหนื่อยแล้วครับ

เพชร เหมือนพันธุ์

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image