บก.ฟอรั่ม ฉบับวันที่ 28 พฤษภาคม 2560

ชี้แจง

เรื่อง ชี้แจงข่าวกรณี ‘ชาวกันตังร้องแนวเขตทับที่ดินทำกิน’

เรียน บรรณาธิการหนังสือพิมพ์มติชน

ตามที่หนังสือพิมพ์มติชน กรอบบ่าย ฉบับวันที่ 13 พฤษภาคม 2560 เสนอข่าว “ชาวกันตังร้องแนวเขตทับที่ดินทำกิน” ชาวบ้านบ้านควงตุ้งกู หมู่ 3 ต.บางสัก อ.กันตัง จ.ตรัง กว่า 150 ครัวเรือน นำโดยนายสมยศ จันทร์เมือง ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 3 รวมตัวเรียกร้องหลังได้รับความเดือดร้อน จากการปรับปรุงแผนที่แนวเขตที่ดินของรัฐในเขตปฏิรูปที่ดินตามเอกสารสิทธิ ส.ป.ก.4-01 พื้นที่หมู่ 3 ที่ชาวบ้านถือครองอยู่กลายเป็นพื้นที่ทับซ้อนกันระหว่างเขตอุทยานหาดเจ้าไหม และเขตปฏิรูปที่ดินฯ ส่งผลให้ชาวบ้านเสียสิทธิในการครอบครองที่ดินทำกินเดิมไปนั้น

Advertisement

ในการนี้ สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมได้ตรวจสอบข้อเท็จจริงแล้ว พบว่า

1.พระราชกฤษฎีกากำหนดเขตในท้องที่ ต.ไม้ฝาด ต.นาเมืองเพชร อ.สะเกา และ ต.โคกยาง ต.คลองลุ ต.บ่อน้ำร้อน ต.บางสัก อ.กันตัง จ.ตรัง ให้เป็นเขตปฏิรูปที่ดินเมื่อ พ.ศ.2523 ประกาศในราชกิจจานุเบกษา ฉบับที่ 111 ตอน 60 ก ลงวันที่ 23 ธันวาคม 2537

2.เดิมรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้มีประกาศกระทรวง ฉบับที่ 247 (พ.ศ.2510) ออกตามความในพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ.2507 กำหนดพื้นที่ดังกล่าวเป็นป่าสงวนแห่งชาติ

Advertisement

3.รัฐบาลมีนโยบายปรับปรุงแผนที่แนวเขตมาตราส่วน 1:4000 เพื่อแสดงเส้นแนวเขตที่ดินของรัฐ (One Map) ขณะประชุมระดับจังหวัด กลุ่มงานช่างและแผนที่ได้ทักท้วงเรื่องเส้นแนวเขตกับกรมอุทยานแห่งชาติว่ามีการทับซ้อน และได้รับมอบพื้นที่ดังกล่าวจากกรมป่าไม้แล้ว

4.หลังจากการประชุมเกษตรกรในพื้นที่ได้ขอตรวจสอบแผนที่กับ ส.ป.ก.ตรัง เนื่องจากเกษตรกรจำนวนหลายรายมีความประสงค์จะทำการสงเคราะห์การทำสวนยาง โดยเจ้าหน้าที่กรมอุทยานแห่งชาติได้เข้าแจ้งกับเกษตรกรผู้ถือครองว่าห้ามทำการสงเคราะห์ยางพาราดังกล่าว

5.อำเภอกันตังได้มีหนังสือขอให้ ส.ป.ก.ตรังร่วมชี้แจงข้อเท็จจริงกรณีดังกล่าว ซึ่งเมื่อวันที่ 10 เมษายน 2560 กรมอุทยานแห่งชาติได้ยืนยันว่าพื้นที่ดังกล่าวมีการประกาศเป็นเขตอุทยานแห่งชาติเจ้าไหม ไม่สามารถให้ราษฎรเข้าไปโค่นไม้ยางพาราในเขตพื้นที่ดังกล่าวได้ หากฝ่าฝืนจำเป็นต้องดำเนินการตามกฎหมาย

6.ส.ป.ก.ตรังไม่สามารถดำเนินการตามความประสงค์ของเกษตรกรได้ เนื่องจากในที่ประชุมระดับจังหวัดได้สรุปข้อเท็จจริงตามแผนที่ที่กรมอุทยานแห่งชาติได้อ้างว่ามีการประกาศให้เป็นเขตอุทยานฯตั้งแต่ปี พ.ศ.2524 แล้ว

7.ในการประชุมชี้แจงเกษตรกรผู้ถือครองที่ดินไม่ได้ข้อสรุปในการดำเนินการ เนื่องจากกรมอุทยานแห่งชาติจัดส่งตัวแทนไปร่วมประชุมชี้แจงแทน

8.ในการประชุมผู้ปกครองท้องที่หมู่ 3 ต.บางสัก อ.กันตัง จ.ตรัง ได้ขอให้อำเภอกันตังจัดทำหนังสือถึงผู้ว่าราชการจังหวัดตรังเพื่อหาแนวทางแก้ไขปัญหาต่อไป

ส.ป.ก.จึงใคร่ขอความอนุเคราะห์บรรณาธิการหนังสือพิมพ์มติชนชี้แจงข้อเท็จจริงดังกล่าวให้ประชาชนได้รับทราบ เพื่อสร้างความเข้าใจให้ถูกต้อง หากความคืบหน้าเป็นประการใดจะแจ้งให้ทราบต่อไป

จึงเรียนมาเพื่อทราบ

ขอแสดงความนับถือ
นายบพิตร อมราภิบาล
รองเลขาธิการปฏิบัติราชการแทน
เลขาธิการสำนักงานปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม

ปัญหาแท็กซี่

เรื่อง แนวทางการพัฒนาและยกระดับการให้บริการของรถแท็กซี่ให้เกิดความปลอดภัย

เรียน บรรณาธิการหนังสือพิมพ์มติชน

อ้างถึง หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับวันที่ 3 พฤษภาคม 2560 หน้า 4 คอลัมน์ เรียงคนมาเป็นข่าว เรื่องความปลอดภัยรถแท็กซี่

ตามหนังสือพิมพ์มติชนที่อ้างถึง ได้ลงบทความเรื่องความปลอดภัยของรถแท็กซี่ที่เป็นปัญหาของเมืองกรุง เมื่อรถแท็กซี่ซึ่งมีอาชีพใกล้ชิดประชาชนกลายเป็นคนร้าย ขับพาผู้โดยสารสาวไปข่มขืน และหน่วยราชการที่เกี่ยวข้องทำอะไรไม่ได้ ถ้าไร้ความสามารถในการดูแลก็ควรเปิดทางให้คนอื่นมาลองแก้ เพื่อรักษาความศรัทธาของรถรับจ้างสาธารณะ ซึ่งมีสุจริตชนประกอบอาชีพนี้อีกมากไม่ให้เสื่อมทรุดไปนั้น

กรมการขนส่งทางบกขอเรียนว่า กรณีผู้ขับรถแท็กซี่กระทำผิดตามกฎหมายได้มีการติดตามตัวมาลงโทษขั้นสูงสุดทุกราย และกำลังดำเนินการพัฒนาและยกระดับการให้บริการของรถแท็กซี่

โดยกำหนดให้รถแท็กซี่ต้องติดตั้ง GPS Tracking ซึ่งมีระบบบ่งชี้ข้อมูลคนขับรถที่ใช้กับใบขับขี่ กล้อง CCTV (Snap Shot) ระบบการเรียกใช้บริการด้วย Application ผ่านโทรศัพท์มือถือ เพื่อเพิ่มความสะดวกและปลอดภัยในการให้บริการ ป้องกันปัญหาการปฏิเสธผู้โดยสาร การไม่เปิดมาตรค่าโดยสาร ติดตามพฤติกรรมคนขับรถตลอดการให้บริการ ซึ่งจะเกิดความเป็นธรรมทั้งสองฝ่าย

กรณีที่มีปัญหาร้องเรียน เพื่อสร้างความเชื่อมั่น มั่นใจเกิดความสะดวกและปลอดภัยในการเดินทางของผู้ใช้บริการรถแท็กซี่และผู้ขับรถแท็กซี่ และการเข้าถึงการให้บริการรถแท็กซี่ และยังมีการกำหนดให้รถแท็กซี่ที่มีขนาดใหญ่จัดทำใบอนุญาตประกอบการขนส่ง จัดทำแผนการให้บริการ และมีการกำหนดเงื่อนไขที่ต้องปฏิบัติไว้ในใบอนุญาตประกอบการขนส่ง หากฝ่าฝืนจะมีโทษถึงเพิกถอนใบอนุญาตประกอบการขนส่ง

ซึ่งคาดว่าจะเริ่มดำเนินการได้ภายในปี พ.ศ.2560 นี้

จึงเรียนมาเพื่อโปรดทราบ

ขอแสดงความนับถือ
นายณันทพงศ์ เชิดชู
รองอธิบดี ปฏิบัติราชการแทน
อธิบดีกรมการขนส่งทางบก

 

แรงงาน

เรื่อง ชี้แจงข้อเท็จจริง

เรียน บก.ฟอรั่ม

ตามข่าวมติชนออนไลน์ ที่เว็บไซต์ www.matichon.co.th/news/552738 เผยแพร่ข่าววันที่ 7 พฤษภาคม 2560 หัวข้อข่าว “เพจหางานอุตรดิตถ์แฉ แรงงานค่าจ้างเดือนละไม่ถึง 5,000 ถูกนายจ้างกดขี่ข่มเหง” โดยในเนื้อหาข่าวบางส่วน มีนายมรุเดช ไทยดิตถ์ เจ้าของเพจ UTT JOB บริษัทจัดหางานอุตรดิตถ์ได้กล่าวถึงหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องต่อการจัดหางานไม่เอื้อต่อการหางานของคนภายใน จ.อุตรดิถ์ยังคงใช้วิธีการเดิมๆ คือ การให้คนหางานไปลงชื่อไว้แล้วก็ไม่มีการติดต่อกลับหา ฐานข้อมูลถ้าอยากได้เบอร์โทรศัพท์สถานประกอบการ เพื่อติดต่อก็ต้องไปที่สำนักงานจัดหางาน แทนที่จะทำในรูปแบบโซเชียลมีเดียแต่กลับไม่มีให้บริการแต่อย่างใด หรือมีแต่ไม่มีการจัดการให้น่าสนใจและน่าเชื่อถือ ตามรายละเอียดสิ่งที่ส่งมาด้วย คือ

สำนักงานจัดหางานจังหวัดอุตรดิตถ์ ซึ่งเป็นหน่วยงานราชการส่วนภูมิภาค สังกัดกรมการจัดหางานกระทรวงแรงงาน จึงขอชี้แจงข้อเท็จจริงในภารกิจที่เกี่ยวข้องกับเนื้อหาในข่าวข้างต้น ดังนี้

1.การขึ้นทะเบียนหางาน สืบค้นตำแหน่งงานว่าง และสมัครงาน คนหางานทำได้ 2 กรณี คือ

1) ดำเนินการด้วยตนเอง ณ สำนักงานจัดหางานจังหวัดฯ ทางเอกสารแบบขึ้นทะเบียนหางานหรือทางเครื่องคอมพิวเตอร์ ซึ่งมีให้บริการ จำนวน 6 เครื่อง

2) ดำเนินการทางออนไลน์ได้ที่เว็บไซต์ smartjob.doe.go.th ได้ตลอด 24 ชั่วโมง

2.การติดต่อกลับคนหางาน มี 2 กรณี คือ

1) นายจ้างมาคัดรายชื่อคนหางาน ณ สำนักงานจัดหางาน แล้วมีคุณสมบัติตรงตามตำแหน่ง

2) นายจ้างและคนหางานสามารถติดต่อกันโดยตรง ผ่านทางเว็บไซต์ smartjob.doe.go.th ทั้งนี้ คนหางานและนายจ้างต้องลงทะเบียนใช้งานระบบก่อน

3.การประชาสัมพันธ์ตำแหน่งงานว่าง

1)สำนักงานจัดหางานฯ ประชาสัมพันธ์ให้เฉพาะนายจ้างที่มาขึ้นทะเบียนนายจ้างไว้กับสำนักงานฯเท่านั้น ส่วนตำแหน่งงานว่างที่นายจ้างไม่ได้มาแจ้งไว้กับสำนักงานฯ ไม่สามารถประชาสัมพันธ์ให้ได้ ทั้งนี้เพื่อเป็นการป้องกันการหลอกลวงคนหางาน

2)สำนักงานจัดหางานฯ ประชาสัมพันธ์ทางเว็บไซต์ www.doe.go.th/uttaradit ซึ่งมีรายละเอียดตำแหน่งงาน ที่อยู่และเบอร์โทรศัพท์ของสถานประกอบการ หรือที่เว็บไซต์ smartjob.doe.go.th ซึ่งคนหางานจะต้องลงทะเบียนก่อนจึงจะเห็นรายละเอียดของสถานประกอบการ และประชาสัมพันธ์ทางเฟซบุ๊ก www.facebook.com/uttaraditpeo หรือเพจ www.facebook.com/DOEUTT ซึ่งปัจจุบันมีเพื่อนจำนวน 4,969 คน

3)นายจ้างสามารถประชาสัมพันธ์ตำแหน่งงานว่าง และคัดรายชื่อคนหางานได้ด้วยตนเองที่เว็บไซต์ smartjob.doe.go.th ทั้งนี้นายจ้างต้องลงทะเบียนขอใช้งานระบบก่อน

4.การประสานงานกับนายจ้าง/สถานประกอบการ

1)สำนักงานจัดหางานฯได้ตั้งโปรแกรม Line กลุ่มของนายจ้าง/สถานประกอบการใน จ.อุตรดิตถ์ ซึ่งปัจจุบันมีจำนวน 110 แห่ง กำลังเชิญอีกจำนวน 85 แห่ง เพื่อเพิ่ม ลบ แก้ไข ตำแหน่งงานว่างให้เป็นปัจจุบัน

2)ออกปฏิบัติการเยี่ยมเยือนนายจ้าง/สถานประกอบการเชิงรุก โดยเจ้าหน้าที่ออกพื้นที่เพื่อสอบถามความต้องการแรงงานของนายจ้าง และทราบลักษณะของตำแหน่งงานที่นายจ้างต้องการ

3)โทรศัพท์สอบถามตำแหน่งงานว่างปัจจุบันของนายจ้าง/สถานประกอบการ ทุกสัปดาห์ที่ 3 ของเดือน

อนึ่ง จ.อุตรดิตถ์ไม่มีบริษัทจัดหางานที่ได้รับอนุญาตให้จัดหางานตามกฎหมาย ซึ่งผู้ที่เป็นเจ้าของเพจ UTT JOB บริษัทจัดหางานอุตรดิตถ์ก็ไม่ได้รับอนุญาตให้จัดหางานใน จ.อุตรดิตถ์ อีกทั้งเป็นการตั้งชื่อที่ขัดต่อพระราชบัญญัติจัดหางานและคุ้มครองคนหางาน พ.ศ.2528

ทั้งนี้ สำนักงานจัดหางานจังหวัดอุตรดิตถ์จึงใคร่ขอให้บริษัท มติชน จำกัด (มหาชน) พิจารณาตรวจสอบข้อมูลและให้ข่าวตามความเป็นจริงด้วย จักขอบคุณยิ่ง

จึงเรียนมาเพื่อโปรดพิจารณา

ขอแสดงความนับถือ
นางวาสนา รักสกุล
จัดหางานจังหวัดอุตรดิตถ์

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image