วิกฤตเกาหลีเหนือ เหลือบ่ากว่าแรง(จีน)? โดย:ปรีชาญาณ วงศ์อรุณ

ในช่วง (วัน) สุดท้ายก่อนก้าวลงจากตำแหน่งประธานาธิบดี ว่ากันว่าบารัค โอบามา ได้ฝากฝังและย้ำเตือนโดนัลด์ ทรัมป์ ว่าเกาหลีเหนือคือภัยคุกคามร้ายแรงที่สุดสำหรับสหรัฐอเมริกา

ดูเหมือนคำเตือนนี้มีส่วนถูกต้องไม่น้อย เพราะนับตั้งแต่โดนัลด์ ทรัมป์ สาบานตนเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีคนที่ 45 ของสหรัฐอย่างเป็นทางการในเดือนมกราคมที่ผ่านมา ปรากฏว่าเกาหลีเหนือทดลองขีปนาวุธมากถึงเก้าครั้ง จนถูกตีความว่านี่คือการท้าทายท้ารบผู้นำคนใหม่

ตลอดเดือนเมษายนที่ผ่านมา วิกฤตเกาหลีเหนือกลายเป็นปัญหาที่น่าหวั่นวิตกที่สุดสำหรับสหรัฐ จนบดบังวิกฤตซีเรียที่ยืดเยื้อมานานถึงหกปี ดูเหมือนว่าโดนัลด์ ทรัมป์ พยายามสื่อสารบอกกล่าวผู้นำจีนและชาวโลกว่า

ปัญหาเกาหลีเหนือเกิดขึ้นเพราะจีน? การที่เกาหลีเหนือก้าวร้าวหรือท้าทายถึงขนาดนี้ก็เพราะจีนเอาหูไปนาเอาตาไปไร่ไม่คิดจะห้ามปราม ผู้นำสหรัฐปักใจเชื่อว่าจีนอยู่ในฐานะที่สามารถสั่งขวาหันซ้ายหันให้เกาหลีเหนือทำตามได้ทุกเมื่อ เรียกว่าจะบีบก็ตายจะคลายก็รอด โดยเฉพาะอย่างยิ่งเกาหลีเหนือจำเป็นต้องพึ่งพา “ออกซิเจน” ทางเศรษฐกิจจากจีนเป็นหลักถึง 90 เปอร์เซ็นต์ หากผู้นำจีนออกแรงลงมือจัดการหรือสั่งสอนเกาหลีเหนือจริงๆ แล้ว เชื่อว่าเกาหลีเหนือก็คงจะหมดฤทธิ์หรือสิ้นพิษเป็นแน่

Advertisement

ดังนั้น หากจีนไม่คิดจะทำ ไม่คิดจะแก้หรือไม่สามารถทำได้ สหรัฐก็พร้อมจะแก้ปัญหานี้ด้วยตัวเองโดยไม่ต้องหวังพึ่งพาจีน?

แต่หากพิจารณาเงื่อนไขความเป็นจริงต่างๆ ที่เกิดขึ้นในช่วงระยะเวลาสี่ห้าปีที่ผ่านมาแล้ว ก็จะเห็นและเข้าใจหัวอกจีนได้มากขึ้นว่า ถึงแม้จะปรารถนามากแค่ไหนก็ตาม แต่จีนก็มีข้อจำกัดที่ทำให้ไม่สามารถช่วยแก้ปัญหาเกาหลีเหนือได้อย่างที่ถูกสหรัฐและชาวโลกคาดหวังก็เป็นได้ จนอาจถึงขั้นเรียกว่าเหลือบ่ากว่าแรง (?)

ประการแรกสุด ว่ากันว่าจุดเริ่มต้นหรือหน่อเชื้อของความไม่พอใจที่ผู้นำจีนยุคปัจจุบันมีต่อผู้นำเกาหลีเหนือเกิดขึ้นหลังจากที่เกาหลีเหนือทดลองอาวุธนิวเคลียร์ในเดือนกุมภาพันธ์ 2013 เป็นการทดลองระเบิดนิวเคลียร์ครั้งที่ 3 ของประเทศ แต่เป็นครั้งแรกในยุคผู้นำคนใหม่ที่ชื่อคิม จอง อึน

เงื่อนไขของเวลามีส่วนสำคัญที่ทำให้การทดลองระเบิดนิวเคลียร์ครั้งนี้แตกต่างจากสองครั้งแรก (ปี 2006 และ 2009) อย่างมีนัยสำคัญ ถึงแม้ว่าเกาหลีเหนืออาจจะมีเจตนาที่ต้องการท้าทายปาร์ค กึน เฮ ผู้นำหญิงคนแรกของเกาหลีใต้ซึ่งกำหนดจะเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีอย่างเป็นทางการในอีกสองสัปดาห์ต่อมา แต่โชคไม่ดีว่าการทดลองอาวุธนิวเคลียร์ของเกาหลีเหนือเกิดขึ้น (12 กุมภาพันธ์ 2013) ในช่วงวันตรุษจีนซึ่งเป็นเทศกาลมงคลที่สำคัญที่สุดสำหรับชาวจีน ยิ่งไปกว่านั้น สี จิ้นผิง มีกำหนดที่จะก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งประธานาธิบดีอย่างเป็นทางการในเดือนมีนาคมหรือในอีกหนึ่งเดือนต่อมา

ดังนั้น การทดลองอาวุธนิวเคลียร์ของเกาหลีเหนือในครั้งนั้นไม่อาจตีความว่าเป็นการยิงพลุขนาดยักษ์เพื่อร่วมแสดงความยินดีกับผู้นำจีนคนใหม่อย่างแน่นอน แต่ในความเป็นจริง ถูกมองว่านี่คือการท้าทาย?

ประการที่สอง อย่างน้อยที่สุด ประธา นาธิบดีสี จิ้นผิง วาดหวังว่า first impression ข้างต้นสามารถเยียวยาและให้อภัยกันได้ หากผู้นำรุ่นที่ 3 แห่งเกาหลีเหนือเดินทางมาเยือนปักกิ่งตามธรรมเนียมที่รุ่นปู่รุ่นพ่อปฏิบัติสืบต่อกันมากว่าหกทศวรรษเพื่อ “คารวะ” และทำความรู้จักมักคุ้นกับผู้นำจีนที่มีศักดิ์อาวุโสกว่า

แต่ผู้นำคิมน้อยแห่งเกาหลีเหนือได้ทำลายโอกาสนั้นด้วยตนเอง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการปฏิเสธคำเชิญอย่างเป็นทางการของรัฐบาลจีนให้มาร่วมในโอกาสฉลองครบรอบ 70 ปีแห่งชัยชนะที่ (จีน) มีเหนือญี่ปุ่นหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 สิ้นสุดลงแบบไม่หลงเหลือเยื่อใยใดๆ

ว่ากันว่า มูลเหตุสำคัญที่ทำให้ผู้นำเกาหลีเหนือหาญกล้าปฏิเสธคำเชิญของรัฐบาลจีนจนถึงขั้นท้าทายและไม่ยอมรับผู้นำจีน ก็เนื่องมาจากไม่พอใจที่ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง เจตนาเลือกเดินทางไปเยือนเกาหลีใต้ในเดือนกรกฎาคมปี 2014 ก่อนเกาหลีเหนือ ซึ่งผิดธรรมเนียมปฏิบัติของผู้นำจีนคนก่อน และการที่ผู้นำเกาหลีใต้ได้รับเชิญให้เข้าร่วมโอกาสฉลอง 70 ปีนี้ด้วย

ทั้งๆ ที่จีนและเกาหลีเหนือมีพรมแดนชิดกันเป็นทางยาวเกือบ 1,500 กิโลเมตร และมีความผูกพันกันทั้งทางประวัติศาสตร์และทางอุดมการณ์ (คอมมิวนิสต์) แต่ช่องว่างระหว่างสองผู้นำนับวันยิ่งจะห่างกันมากขึ้นๆ จนแทบจะไม่เห็นแววแห่งความหวัง เพราะนับตั้งแต่คิม จอง อึน ขึ้นครองอำนาจปกครองเกาหลีเหนือในช่วงต้นปี 2012 และนับตั้งแต่สี จิ้นผิง เข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีจีนอย่างเป็นทางการในปีถัดมา ปรากฏว่าการพบปะระหว่างสองผู้นำและการเดินทางไปเยือนระหว่างกันยังไม่เกิดขึ้น และไม่มีแนวโน้มว่าจะเกิดขึ้นในเร็วๆ นี้ โดยเฉพาะภายใต้สถานการณ์ปัจจุบันที่ตึงเครียดอย่างสูงสุด

หากพิจารณาเทียบเคียงกับยุคของผู้นำคนก่อนหน้านี้ ปรากฏว่ารัฐบาลจีนต้องรอนานถึง 6 ปีกว่าที่คิม จอง อิล ผู้นำเกาหลีเหนือคนที่ 2 จะตัดสินใจเดินทางไปเยือนปักกิ่งเป็นครั้งแรกนับจากขึ้นครองตำแหน่งผู้นำประเทศในปี 1994 (แต่หลังจากนั้นก็เดินทางไปเมืองจีนอีก 6 ครั้ง รวมทั้งสิ้น 7 ครั้ง โดยเฉพาะครั้งที่ 6 ในเดือนสิงหาคม 2010 ที่คิม จอง อิล เดินทางไปเพื่อแนะนำและฝากฝังคิม จอง อึน ลูกชายคนเล็กต่อผู้นำจีนในฐานะผู้นำคนต่อไปของเกาหลีเหนือ)

เพราะฉะนั้น ในด้านหนึ่ง ระยะเวลา 4 ปีที่ผู้นำจีนเฝ้ารอการเดินทางมาเยือนของผู้นำคิมน้อยคนปัจจุบันจึงไม่ถือว่าเป็นเรื่องผิดปกติมากนัก แต่ในอีกด้านหนึ่ง หลายๆ เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นระหว่างทาง บ่งบอกว่าความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศในวันนี้แตกต่างจากเหตุการณ์เมื่อสองทศวรรษที่แล้วอย่างแน่นอน

อย่างน้อยที่สุด มีสองเหตุการณ์สำคัญที่บ่งบอกว่าผู้นำเกาหลีเหนือพร้อม “แตกหัก” กับผู้นำจีนอย่างชนิดตัดบัวไม่เหลือใย นั่นคือการสังหารบุคคลสำคัญมากๆ ของเกาหลีเหนือ 2 คน ที่มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับจีนอย่างแนบแน่น

หนึ่ง การสั่งประหารชีวิตนายพลจาง ซอง แต๊ก เมื่อปลายปี 2013 ไม่เพียงแต่มีศักดิ์เป็นอาเขยแท้ๆ ของผู้นำคิมน้อย และเคยทำหน้าที่บริหารประเทศในช่วงเวลาที่คิม อิล ซุง มีปัญหาสุขภาพอย่างหนัก แต่นายพลจาง ซอง แต๊ก คือคอนเน็กชั่นที่สามารถประสานเชื่อมโยงปักกิ่งและเปียงยางได้ดีที่สุด หรือจะเรียกว่าคือระดับผู้นำของเกาหลีเหนือที่จีนไว้วางใจมากที่สุด เท่ากับว่าผู้นำเกาหลีเหนือได้ปิดทางตัวเองไม่ต้องการลิงก์ที่จะทำหน้าที่ประสานเยียวยาระหว่างผู้นำ 2 ประเทศ (ที่จำเป็นในอนาคต)

สอง การเสียชีวิตอย่างมีเงื่อนงำของคิม จอง นัม พี่ชายต่างมารดาของท่านผู้นำคิม จอง อึน ที่สนามบินกัวลาลัมเปอร์ มาเลเซีย เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ในฐานะลูกชายคนโตของคิม จอง อิล ผู้นำคนก่อน คิม จอง นัม ย่อมอยู่ในข่ายที่จะเป็นทายาทสืบทอดอำนาจต่อ แต่สุดท้ายกลายเป็นคิม จอง อึน ที่ถูกเลือก

หลังจากน้องชายคนเล็กสุดขึ้นครองอำนาจต่อจากบิดาแล้ว คิม จอง นัม ต้องเดินทางออกนอกประเทศและลี้ภัยไปอาศัยในจีนและมาเก๊าเป็นหลัก ภายใต้การคุ้มครองของทางการจีน เชื่อกันว่าหากวันใดเกิดการเปลี่ยนแปลงในเกาหลีเหนือ คิม จอง นัม ก็จะเป็นตัวเลือกที่จีนจะสนับสนุนให้เป็นผู้นำคนต่อไป เพราะฉะนั้นแล้ว ภายใต้ทฤษฎีสมคบคิด การสังหารคิม จอง นัม ก็คือการดิสเครดิตและดับความหวังของจีนโดยตรง?

ในอดีตที่ผ่านมา จีนเคยมีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งในฐานะผู้ริเริ่มและผลักดันให้เกาหลีเหนือยอมรับเข้าสู่การเจรจาหกฝ่ายเพื่อแก้ปัญหาอย่างสันติวิธี แต่เงื่อนไขของสถานการณ์ในวันนี้ โดยเฉพาะความห่างเหินระหว่างผู้นำเกาหลีเหนือและผู้นำจีน ดูเหมือนจะไม่เอื้ออำนวยให้จีนสามารถแสดงบทบาท “พี่ใหญ่” ต่อวิกฤตเกาหลีเหนือได้มากในระดับเดียวกับที่รัสเซียได้รับเครดิตหลังจากเข้าไปร่วมแก้ปัญหาวิกฤตซีเรีย

ตราบใดที่ผู้นำคิมน้อยแห่งเกาหลีเหนือยังพยายามท้าทายและทิ้งระยะห่างแบบไม่เห็นหัวผู้นำจีนที่อาวุโสกว่ามาก โดยเฉพาะการทำให้โลกเห็นว่าจีนต้องการเกาหลีเหนือมากกว่าที่เกาหลีเหนือต้องการจีนแล้ว บางที จีนอาจหลงเหลือเพียงทางเลือกเดียวเท่านั้น นั่นคือ สนับสนุนให้มีการเปลี่ยนแปลงผู้นำเกาหลีเหนือคนใหม่

คนที่พร้อมเจรจาพูดคุยและเปิดรับพัฒนาประเทศในแบบฉบับจีน ที่สามารถก้าวขึ้นมาเป็นประเทศมหาอำนาจทางเศรษฐกิจหมายเลข 2 ของโลกในปัจจุบันนี

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image