ไทยจะไปบอลโลก? เปิดชีวิต’โค้ชเฮง’ วิทยา เลาหกุล

จากเด็กที่ชอบฟุตบอลเป็นชีวิตจิตใจ จนถึงขั้น “บ้า” อาศัยความมุ่งมั่นตั้งใจจนสามารถติดทีมชาติไทย ก่อนก้าวสู่การเป็นนักฟุตบอลอาชีพในสนามญี่ปุ่น และเป็นนักบอลไทยคนแรกที่ลงเล่นในลีกยุโรป ยังเป็นโค้ชผู้ฝึกสอนในสโมสรฟุตบอลในญี่ปุ่น และคุมทีมฟุตบอลชลบุรี สโมสรชั้นนำของประเทศไทย

กำลังพูดถึง “วิทยา เลาหกุล” หรือ “โค้ชเฮง” ประธานฝ่ายเทคนิคสมาคมกีฬาฟุตบอลแห่งประเทศไทยคนปัจจุบัน

อดีตนักกีฬาฟุตบอลผู้มากความสามารถ และเป็นกุนซือลูกหนังอันดับแนวหน้าของประเทศ ที่แฟนฟุตบอลไทยรู้จักเป็นอย่างดี

กว่าจะยืดหยัดได้ในวันนี้ชีวิตของโค้ชเฮง ต้องเจอกับอุปสรรคมากมาย ที่ต้องใช้ทั้งความอดทน ความมุ่งมั่น เพื่อให้ทุกอย่างประสบความสำเร็จอย่างที่ตั้งใจ

Advertisement

โค้ชเฮง เกิดวันที่ 1 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2497 ที่จังหวัดลำพูน ในวัยเด็กพี่น้องและเพื่อนทุกคนในละแวกบ้านเล่นฟุตบอลกันหมด ด้วยสภาพแวดล้อมนั้น ทำให้เขาเริ่มเล่นฟุตบอล เริ่มสนใจและชอบอ่านหนังสือเกี่ยวกับฟุตบอล

จากนั้นเริ่มจริงจังกับฟุตบอลมากขึ้น จนมีความฝันว่าจะเป็นนักบอลอาชีพตั้งแต่เด็ก

“ตอนนั้นผมมีเป้าหมายจะติดทีมชาติ เพราะสมัยก่อนการจะไปเล่นอาชีพแบบในหนังสือที่ผมอ่านจะต้องติดทีมชาติก่อน เลยตั้งหน้าตั้งตาฝึกซ้อมแบบเอาเป็นเอาตาย ซ้อมทุกวัน ทั้งเช้า ทั้งเย็น วันไหนพระจันทร์เต็มดวงฟ้าสว่างก็จะซ้อมตอนกลางคืนด้วย จนคนแถวบ้านคิดว่าผมเป็นคนบ้า

Advertisement

“ที่บ้านเองก็ไม่ใครชอบหรอกครับว่าทำไมถึงเอาแต่ฟุตบอล เวลาไม่สบายยังจำได้เลยว่า แม่บอกว่าเอาฟุตบอลไปต้มน้ำแล้วมากินสิ แล้วพวกดอกไม้ ต้นไม้ แถวบ้านก็พังหมด อย่างกิ่งไม้ผมก็จะเอาลูกฟุตบอลไปแขวนเตะ หรือบางทีก็เลี้ยงลูกฟุตบอลเข้าบ้าน ยิงเข้าประตูบ้านบ้าง ใครๆ ก็เลยว่าผมบ้าทำลายข้าวของ (หัวเราะ)”

แล้วผลจากความมุ่งมั่นของโค้ชเฮงก็เป็นผลสำเร็จ หลังสมัครทดสอบแล้วก็สอบติดเป็นนักกีฬาทีมชาติ

เป็นจุดเริ่มต้นตามความฝัน บนเส้นทางของนักฟุตบอลอาชีพ

มาเป็นนักฟุตบอลอาชีพได้ยังไง?

พอติดทีมชาติ มีโอกาสได้ไปแข่งขันฟุตบอลเมอร์เดกาคัพกับประเทศญี่ปุ่น กัปตันทีมญี่ปุ่นเขาชื่นชอบเลยมาชวนผมไปเล่นบอลฟุตบอลที่ญี่ปุ่นก็ตัดสินใจไปเลยอยู่ที่นั่น 2 ปี เขาจะให้ต่อสัญญาอีก 5 ปี แต่ผมตัดสินใจไม่ต่อเพราะตอนเป็นเด็กเราอยากเป็นนักฟุตบอลอาชีพ และวาดภาพตัวเองยืนในสนามที่คนดูเป็นแสน แต่ที่ญี่ปุ่นเป็นกึ่งบอลอาชีพ มีคนดูไม่เกิน 3,000 คน ไม่เหมือนที่เราจินตนาการไว้เลยกลับประเทศไทย

กลับมาสักพักมีแมวมองมาดูการแข่งขัน พอจบเกมเขาก็มาชวนไปอยู่เยอรมนี มาตามตื๊ออยู่หลายอาทิตย์ เอาผ้าพันคอเอาเสื้อทีมแฮร์ธาเบอร์ลินและโปรแกรมแข่งขันประจำสัปดาห์มาให้ดู ก็ไม่ได้คิดมากอะไรเเล้วตามเขาไปเล่นฟุตบอลที่แฮร์ธาเบอร์ลิน 3 ปี แล้วก็ไปเล่นที่ ซาร์บรุคเคนอีก 3 ปี ระหว่างนั้นก็เรียนโค้ชไปด้วย

ไปเล่นในลีกต่างประเทศต้องปรับตัวอย่างไรบ้าง?

ที่ญี่ปุ่นทำให้ผมได้ปรับตัวเยอะมาก เพราะที่นั่นรูปแบบการฝึกซ้อม อุปกรณ์ อาหารการกิน อากาศ โดยเฉพาะภาษาแตกต่างจากบ้านเรามาก อย่างบ้านเราโครงสร้างการฝึกแต่ละวันไม่มีอะไรเลย คือมาเล่นกันเฮฮา ลงทีมแล้วกลับบ้าน แต่ที่ญี่ปุ่นจะมีการอบอุ่นร่างกาย การวอร์มอัพ ยืดเส้น มันเป็นสิ่งที่ผมได้เจอครั้งแรก และมีการฝึกที่จริงจัง ทั้งการมาร์กตัวต่อตัว การดีเฟนด์ การปฏิบัติตัวทั้งวินัยในเกมและวินัยนอกสนาม

ซึ่งโชคดีมากที่ผมได้มาอยู่ญี่ปุ่น 2 ปี พอไปที่เยอรมนีแล้วเราแทบไม่ต้องปรับตัวอะไรเลย เพราะรูปแบบการฝึกของญี่ปุ่นและเยอรมนีในสมัยนั้นมันเป็นสากลอยู่แล้ว แต่ถ้าไม่ได้มาที่นี่ก่อนแล้วไปเยอรมนีเลย คงปรับตัวลำบากมาก

กดดันไหมเป็นคนไทยคนแรกที่ไปเล่นในลีกยุโรป?

แน่นอนครับ การเซ็นสัญญาครั้งแรกเราจะต้องลงเล่นกับทีมสำรองก่อน แล้วจะมีผู้เล่นขึ้นๆ ลงๆ ระหว่างชุดใหญ่กับชุดสำรอง ถ้าเราโชว์ฟอร์มดีก็จะได้เซ็นสัญญากับทีมชุดใหญ่ ดังนั้นเรื่องการแข่งขันในทีมจะมีสูงมาก แล้วในการแข่งขันแต่ละเกมจะมีผู้เล่นไปแข่ง 18 คน แต่ในทีมจะมีคนประมาณ 22-23 คน การจะได้เป็น 1 ใน 18 ก็มีการแข่งขันสูงมากอีก

แล้วสมัยก่อนยังมีเรื่องการเหยียดผิว เหยียดเชื้อชาติ อย่างในสนามฝึกซ้อม เวลาแบ่งข้างตอนแรกๆ เขาแทบจะไม่เอาเราเข้าทีมเลย เราต้องแสดงความเชื่อใจ ความไว้ใจกับเพื่อนร่วมทีมกับโค้ช เป็นเรื่องต้องใช้เวลา

ขณะที่ในเกมการแข่งขันที่มีเรื่องการเหยียดผิวจากคู่ต่อสู้ การเหยียดผิวจากคนดู เช่น เราส่งบอลผิดเขาก็จะตะโกนว่าเราว่า ฟุตบอลประเทศนายเล่นแบบนี้เหรอ แล้วถ้าเราครองบอลอยู่เขาจะเล่นแรงมาก แล้วก็จะตะโกนด่าเราไปด้วยว่า ไอ้คนจีนสกปรกบ้าง เป็นหมูสกปรกบ้าง

เพราะฉะนั้นจึงมีความกดดันเยอะมากในการเป็นนักฟุตบอลอาชีพ เราจะต้องแสดงความอดทน และทำให้เขาเห็นว่าเรามีความสามารถ ต้องมีวินัยให้กับตัวเอง มีการฝึกซ้อมที่หนัก และพัฒนาตัวเองอยู่ตลอดเวลา ที่สำคัญคือ สภาพจิตใจเราจะต้องเข้มแข็งด้วย

จำเป็นแค่ไหนที่นักบอลไทยไปค้าแข้งในต่างประเทศ?

ตรงนี้เป็นสิ่งสำคัญสำหรับบ้านเรามาก นักเตะที่ไปเล่นเมืองนอกเยอะๆ จะมีประสบการณ์เยอะกว่าทั้งแนวทางการฝึก แนวทางการเล่น และสภาพจิตใจ ซึ่งสามารถนำกลับมาช่วยพัฒนาทีมชาติในประเทศได้ ยกตัวอย่างเช่น ในประเทศญี่ปุ่น เกาหลี ปัจจุบันมีความแข็งแกร่งขึ้นเพราะนักบอลของเขาส่วนใหญ่ไปเล่นในยุโรป แต่บ้านเราในอนาคตอาจจะมี ชนาธิป สรงกระสินธ์ หรือสิทธิโชค ภาโส ที่ไปอยู่ในลีกเมืองนอกและกลับมาเป็นกำลังสำคัญของทีมชาติในอนาคต

ผมว่าสิ่งสำคัญที่สุดของฟุตบอลในปัจจุบันคือ การตัดสินใจในเกม ซึ่งจะดีขึ้นได้เมื่อผู้เล่นแต่ละคนมีประสบการณ์การเล่นในระดับสูง แต่การเล่นและการแข่งขันระดับสูงในบ้านเรายังมีน้อยอยู่

นักบอลที่ไปเล่นลีกเมืองนอกต้องมีมาตรฐานแค่ไหนเพราะบางคนก็ไม่ประสบความสำเร็จ?

ไม่ใช่แค่มีความสามารถอย่างเดียว ยังมีเรื่องของสภาวะทางจิตใจ บอกตรงๆ ว่าคนไทยไม่ค่อยมีภูมิคุ้มกันเรื่องของจิตใจ พอไปเมืองนอกแล้วเจอปัญหานิดหน่อย เช่น การฝึกซ้อมที่หนักเกินไป แล้วไม่ค่อยได้ลงเล่นก็ไม่สู้แล้ว ยังมีเรื่องของภาษา อาหาร อากาศ วัฒนธรรม ซึ่งทั้งหมดถ้าเราไม่รู้จักปรับตัว และไม่มีเป้าหมายในชีวิตก็เป็นไปได้ยากที่จะอยู่สู้ได้

เเล้วทำไมถึงตัดสินใจกลับประเทศไทย?

ตอนผมเรียนจบโค้ช รู้สึกร้อนวิชาเลยบอกกับตัวเองว่าที่ฝึกมาในประเทศไทยยังไม่ถูกต้องนัก เลยอยากกลับมาสอน แต่พอกลับมาแล้วบ้านเราสมัยก่อนยังไม่ใช่บอลอาชีพ ยังไม่มีทีมฟุตบอลที่มีโครงสร้างเป็นบอลอาชีพ ก็เลยรู้สึกผิดหวัง

แต่โชคดีทีมที่เคยเล่นที่ญี่ปุ่น ทราบข่าวว่าผมกลับจากเยอรมนีและเรียนโค้ชมาเลยเสนอให้ไปเป็นโค้ชที่ญี่ปุ่นและทำอยู่ประมาณ 10 ปี

ระหว่างเป็นผู้เล่นกับโค้ชต่างกันยังไง?

เป็นนักเตะง่ายกว่าครับ เพราะแค่พักผ่อนและฝึกซ้อมให้ดี แต่การเป็นโค้ชแทบไม่ได้พักผ่อนเลยต้องคิดตลอดเวลาเรื่องของผู้เล่นแต่ละคน ระบบการเล่นของทีม ทั้งพัฒนาจุดแข็งและจุดอ่อนของทีม แล้วประเมินการฝึกซ้อม ประเมินการแข่งขัน ยังต้องวิเคราะห์คู่ต่อสู้ด้วยว่าเล่นยังไง เป็นงานที่ต้องใช้ความละเอียดและมีความกดดันจะเยอะกว่ามาก

โดยเฉพาะการทำทีมอาชีพที่ญี่ปุ่น สิ่งแรกที่เขาประเมินคือ ผลงาน ซึ่งมีการประเมินเราแทบทุกอาทิตย์ ขณะที่นักเตะเขาประเมินกันปีต่อปี

“…ผมไม่ยอมรับและไม่คุ้นเคยกับการลงไปฝึกซ้อมหรือการเล่นที่ไม่ให้เกียรติกับฟุตบอล คนที่คลุกคลีกับผมจะรู้ว่าผมเป็นคนยังไง แต่ถ้าคนคนนั้นแก้ตัวว่าฟังไม่รู้เรื่อง ก็เป็นเรื่องปกติของเขา…”

มองว่าอะไรคือปัญหาของการพัฒนาฟุตบอลในประเทศไทย?

มีปัจจัยเยอะมาก ถ้าเรื่องการบริหารจัดการในประเทศไทยดีขึ้นเยอะ แต่งบประมาณยังเป็นปัญหาอยู่ ผู้เล่นก็มีปัญหาเรื่องการฝึกซ้อมจริงๆ จังๆ ความเป็นมืออาชีพยังน้อย ส่วนโค้ชก็ยังมีปัญหาเรื่องความรู้ความสามารถที่ยังต้องมีการพัฒนาด้วย รวมถึงเรื่องโครงสร้างในการแข่งขัน ที่ต้องปรับอีกเยอะ

มองแนวทางพัฒนาลีกไทยอย่างไร?

ถ้าเรียนรู้หลักการของฟุตบอลอาชีพ ช่วงสำคัญจะอยู่ระหว่างอายุ 13-15 ปี จะเห็นว่านักบอลถ้าอายุ 16 ปีแล้วทักษะพื้นฐานยังขาด ยังไม่สมบูรณ์แบบก็ยากที่จะตามใครทัน เพราะฉะนั้นตรงนี้เราต้องมองลึกลงไปว่าจะพัฒนาเด็กอย่างไร ตัวโค้ชจะต้องมีความรู้ความสามารถ รวมถึงเงินลงทุนซึ่งเป็นเงินลงทุนระยะยาวที่ใครๆ ก็ไม่ค่อยชอบ ตรงนี้ถ้าเรามีการวางแผนที่ดีการลงทุนก็จะคุ้มค่า เพราะต่อไปในอนาคตจะเป็นสงครามแย่งนักเตะที่มีพรสวรรค์

บอลไทยจะไปบอลโลกได้จริงไหม?

แน่นอนครับ แต่ก่อนที่จะไปบอลโลกต้องถามก่อนว่าเรามีการพัฒนาโค้ชผู้ฝึกสอนเยอะไหม เรามีการพัฒนาเยาวชนให้มีรูปแบบให้เป็นระบบไหม ซึ่งมันเพิ่งจะเริ่มจริงๆ เมื่อปีที่แล้ว เช่น ฟุตบอลลีกเยาวชนยูธลีก แต่ผมเชื่อว่าภาย 3-4 ปีข้างหน้าเราตั้งเป้าหมายเพื่อไปฟุตบอลโลกให้ได้ในชุดอายุ 17 ปี ทั้งบอลหญิงและบอลชาย

ส่วนโควต้าที่เพิ่มขึ้นในปี 2020 นั้นอย่าเพิ่งคิดว่าโควต้าเพิ่มขึ้นแล้วเราจะได้ไปแน่นอนเพราะประเทศอื่นเขาก็คิดเหมือนกัน เพราะฉะนั้นเราจะต้องเร่งพัฒนา ซึ่งตรงนี้สมาคมวางแผนไว้อยู่แล้ว โดยเฉพาะโครงสร้างระดับเยาวชน ซึ่งผมเองก็มีหน้าที่ติดตามและประเมินผลโค้ชในระดับเยาวชนในทุกชุด ผมเชื่อว่าเรามีโอกาสแน่นอนครับ

คิดว่าอะไรเป็นความผิดพลาดในชีวิต?

ความผิดพลาดแรกคือตอนตัดสินใจกลับจากญี่ปุ่นแบบไร้จุดหมายปลายทาง แต่ยังโชคดีที่ได้ไปเล่นที่เยอรมนี ส่วนความผิดพลาดครั้งที่ 2 คือตอนกลับมาจากเยอรมนีหลังเรียนจบโค้ช ทั้งที่เรายังมีสัญญาอยู่กับซาร์บรุคเคน และกำลังจะก้าวขึ้นเป็นนักบอลที่ขึ้นทำเนียบนักเตะอินเตอร์เนชั่นแนลที่น่าจับตามอง แต่เราก็กลับมาเฉยเลย

ความผิดพลาดครั้งที่ 3 การพาทีมชาติไปเล่นไทเกอร์คัพ หรือ เอเอฟเอฟ ซูซูกิ คัพ แล้วอินโดนีเซีย ซึ่งเป็นคู่ต่อสู้ยิงเข้าประตูตัวเองแล้วล้มบอล ทั้งที่เราไม่มีส่วนเกี่ยวข้องเลยแต่เราก็โดนหางเลขไปด้วย ก็ถูกห้ามคุมทีมไป 2-3 ปี แต่การถูกห้ามก็เป็นผลดีอย่างหนึ่งคือ ได้ใช้เวลาช่วงนั้นเขียนหนังสือฟุตบอล 4-5 เล่ม ปัจจุบันเขียนมาอีก 10 เล่มแล้ว น่าจะเป็นนักบอลไทยคนเดียวที่เขียนหนังสือเยอะมาก

ทำไมถึงเลือกเขียนหนังสือฟุตบอล?

ส่วนหนึ่งเพราะสมัยเด็กชอบอ่านหนังสือ ชอบศึกษาศาสตร์เกี่ยวกับฟุตบอล พออ่านเยอะก็ทำให้เราได้ความรู้และมองเห็นสิ่งที่น่าจะเอามาปรับปรุง ซึ่งจะเห็นว่าบ้านเรายังล้าหลังมากในเรื่องความองค์รู้เรื่อง บอกตรงๆ ว่าฟุตบอลไทยยังต้องพัฒนาอีกเยอะมาก

ประกอบกับคนไทยส่วนใหญ่อ่านหนังสือภาษาอังกฤษไม่ค่อยเก่ง แล้วเราไม่มีหนังสือฟุตบอลที่เป็นภาษาไทยเลย ผมเลยพยายามทำหนังสือเป็นการถ่ายทอดและกระจายความรู้ อีกทั้งผมยังรับผิดชอบเป็นประธานฝ่ายเทคนิค ที่ดูแลเรื่องการพัฒนาและวางโครงสร้างของโค้ชผู้ฝึกสอนและเยาวชน รวมถึงการพัฒนาฟุตบอลทีมชาติด้วย คิดว่าหนังสือฟุตบอลที่ทำขึ้นมาจะช่วยเหลือโค้ชทั่วประเทศให้มีความรู้เรื่องรายละเอียดฟุตบอลเพิ่มขึ้น

เคยคิดจะเล่นกีฬาอื่นนอกจากฟุตบอลไหม?

ไม่ครับ คิดอย่างเดียวคือ ต้องเป็นนักฟุตบอล ต้องเล่นแต่ฟุตบอล สมัยก่อนอาจารย์ให้วิ่งระยะไกล ผมก็ไม่วิ่ง จะให้ไปเล่นบาสเกตบอล ผมก็ไม่เล่นจะเล่นบอลอย่างเดียว

เวลาต้องเขียนเรียงความก็จะเขียนว่าเป็นนักบอลอาชีพ ครูก็จะพูดว่านักบอลอาชีพจะเป็นไปได้ยังไง แล้วเวลา เรียนวิชาที่ไม่ชอบก็จะเอาภาษาอังกฤษขึ้นมาอ่าน เพราะหนังสือฟุตบอลส่วนใหญ่เป็นภาษาอังกฤษ ก็จะเรียนเอง ใช้วิธีเปิดดิกชันนารีอ่าน ครูก็จะมาพูดว่า เธอจะไปอยู่เมืองนอกเมืองนาหรือไง

แต่บอกเลยว่าเราอยากจะทำอะไรเราก็ทำได้หมด ถ้าเรามีความมุ่งมั่น ตั้งใจ ทุ่มเทกับสิ่งที่เราทำ และมีความจริงใจ มีความสม่ำเสมอกับมัน

สนใจและให้เวลาแทบทั้งหมดกับฟุตบอลแบบนี้ ครอบครัวว่าอย่างไรบ้าง?

แน่นอนว่านักบอลอาชีพ จะคลุกคลีกับฟุตบอล สนามบอล และสนามบิน ช่วงเวลาที่จะได้อยู่กับครอบครัวมีน้อยมาก โชคดีที่แฟนเข้าใจตรงนี้ ว่าเราทุ่มเทตรงนี้ เลยไม่มีปัญหาอะไร มีบางครั้งผมพาแฟนกับลูกไปสนามฟุตบอลแล้วขับรถกลับโดยลืมลูกลืมแฟนไว้ที่สนามบอล มันก็เป็นเรื่องปกติที่ครอบครัวรับได้ตั้งแต่แรก

ตอนจีบกัน คือผมสนใจแต่ฟุตบอล เป็นคนบ้าฟุตบอล มักจะโดนว่าบ่อยๆ เพราะสมัยก่อนฟุตบอลไม่ใช่อาชีพและเขาไม่รู้ว่าที่ต่างประเทศมันเป็นอาชีพ เวลาเราจะไปจีบใครสักคนจะถูกว่า ว่าจะเอาอะไรมาเลี้ยงลูกเขา ถึงขนาดเอาปืนมาไล่ยิงเพราะไปจีบลูกสาวเขา แต่เราก็แสดงให้เขาเห็นว่าเราสามารถเลี้ยงลูกสาวเขาได้

มีคนติงว่าเป็นคนเก่งแต่ถ่ายทอดความรู้ยังไม่ดี?

ผมเป็นคนคิดไกลกว่าคนอื่นไป 10 ปี เป็นคนที่จริงจัง ทำงานก็เอาจริงเอาจัง แล้วผมไม่ยอมรับและไม่คุ้นเคยกับการลงไปฝึกซ้อมหรือการเล่นที่ไม่ให้เกียรติกับฟุตบอล คนที่คลุกคลีกับผมจะรู้ว่าผมเป็นคนยังไง แต่ถ้าคนคนนั้นแก้ตัวว่าฟังไม่รู้เรื่องก็เป็นเรื่องปกติของเขา คนที่รู้จักผมจะรู้ว่าผมเป็นคนที่ชอบถ่ายทอดความรู้ แล้วเด็กที่ผมสอนทุกคนจะมีการพัฒนาที่เหนือกว่าเด็กทุกคน

มองการเปลี่ยนโค้ชทีมชาติอย่างไร?

การเปลี่ยนโค้ชทีมชาติเป็นเรื่องที่เราต้องการสร้างความแข็งแกร่งในระดับชาติ ซึ่งจริงๆ แล้วนักบอลของเรามีความรู้ความสามารถแต่รูปแบบการเล่นยังไม่ชัดเจน ซึ่งเราจะเห็นว่าการมีโค้ชคนใหม่เข้ามานักเตะจะได้เรียนรู้เทคนิกใหม่ๆ ได้เรียนรู้บรรยากาศใหม่ๆ รวมถึงได้เรียนรู้การถูกฝึกและวินัยในการแข่งขัน ซึ่งจะช่วยให้มีการพัฒนาความสามารถ ซึ่งเราคงจะเห็นความเปลี่ยนแปลงในผลการแข่งขัน

กับ “ซิโก้” มีปัญหากันหรือเปล่า?

ไม่มีครับ จริงๆ แล้วผมก็มีหน้าที่สนับสนุนเขาอยู่แล้วในเรื่องของรายละเอียดและเทคนิคต่างๆ เราช่วยสนับสนุนมาตลอด เพียงแต่ฟุตบอลในระดับชาติมันต้องการผลงานการแข่งขัน ในเมื่อผลงานไม่ออกมาก็เป็นเรื่องธรรมดาสำหรับการเปลี่ยนแปลง แล้วต้องดูด้วยว่าการที่ผลงานไม่ออกมาการทำงานมีคุณภาพหรือไม่ ซึ่งเป็นองค์ประกอบที่ต้องพิจารณาประกอบกัน

ส่วนของโค้ชคนใหม่ที่เข้ามาก็ต้องมาเจอสถานการณ์แบบเดียวกัน นั่นคือการสร้างทีมให้มีคุณภาพและให้ผลงาน ถ้าไม่มีผลงานก็ต้องมีการเปลี่ยนแปลง

ถ้าไม่ได้เป็นประธานเทคนิคแล้วระบบที่วางรากฐานไว้จะหายไปหรือเปล่า?

ระบบที่วางไว้เป็นมาตรฐานสากลอยู่แล้วครับ ผมเองถึงไม่ได้ทำงานนี้แล้ว แต่ก็ภูมิใจมากที่ได้ทำงานที่ผมตั้งเป้าหมายไว้ ซึ่งผมใจทำงานของตัวเองและรับผิดชอบงานของตัวเองให้ดีที่สุด สิ่งที่ทำอยู่มันก็แสดงออกมาอยู่แล้วทั้งการพัฒนาโค้ช

การเขียนหนังสือมาถ่ายทอด รวมถึงการสร้างลีกเยาวชน รวมทั้งการดูแลเรื่องระบบต่างๆ

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image