คอลัมน์ ฟิสิกส์ธรรมดาสาระมันส์ : การสังเกตการณ์ทางช้างเผือก

เราสามารถสังเกตเห็นทางช้างเผือกปรากฏเป็นแถบแสงจางๆ บนท้องฟ้าในค่ำคืนที่มืดสนิทได้ โดยทางช้างเผือกจะพาดผ่านท้องฟ้าเป็นทางยาว สถานที่ที่เราสามารถมองเห็นทางช้างเผือกได้จะต้องมืดมากพอ แสงจากเมืองเพียงเล็กน้อยก็ทำให้เราไม่สามารถมองเห็นทางช้างเผือกได้แล้ว (อย่างไรก็ตาม ภาพถ่ายทางช้างเผือกส่วนมากเกิดจากการเปิดรูรับแสงของกล้องถ่ายรูปไว้นานราว 20-30 วินาที เพื่อเก็บแสงให้ได้มากที่สุด ดังนั้น ทางช้างเผือกที่ปรากฏในภาพถ่ายจึงชัดเจนกว่าที่ตามองเห็นได้จริงอยู่มาก)

เนื่องจากกาแล็กซีทางช้างเผือกเป็นกาแล็กซีรูปกังหันแบบมีแกนซึ่งมีลักษณะเป็นแผ่นกลมรัศมีอย่างน้อยราวๆ 5หมื่นปีแสง และระบบสุริยะของเราอยู่บริเวณขอบด้านหนึ่งของทรงกลมห่างจากศูนย์กลางราวๆ 26,000 ปีแสง ดังนั้น หากเรามองไปทางศูนย์กลางทางช้างเผือกเราย่อมสังเกตเห็นทางช้างเผือกบนท้องฟ้าสว่างกว่าการมองออกไปบริเวณด้านนอกของทางช้างเผือก เนื่องจากทิศทางของศูนย์กลางทางช้างเผือกมีดาวฤกษ์อยู่อย่างหนาแน่นนั่นเอง

Advertisement

ดวงดาวบนท้องฟ้าที่เราเห็นได้ด้วยตาเปล่าทุกดวงล้วนอยู่ในกาแล็กซีทางช้างเผือกทั้งสิ้น ส่วนบริเวณแถบทางช้างเผือกที่เราสังเกตเห็นได้นั้นเป็นระนาบกาแล็กซีทางช้างเผือกซึ่งมีสสารและดาวฤกษ์อยู่อย่างหนาแน่น แต่ตาของมนุษย์เราไม่สามารถแยกดาวฤกษ์เหล่านั้นออกจากกันได้ เราจึงเห็นเป็นผ้ามัวๆ ติดกันเป็นแถบ

บริเวณในท้องฟ้าที่ถูกทางช้างเผือกบังไว้เรียกว่า Zone of Avoidance แถบทางช้างเผือกนั้นแม้จะดูสวยงามแต่ก็บดบังแสงจากวัตถุท้องฟ้าที่อยู่เบื้องหลังไปจนเกือบหมด

Advertisement

ศูนย์กลางทางช้างเผือก (Galactic Center) อยู่ในกลุ่มดาวคนยิงธนู (Constellation Sagittarius) และกลุ่มดาวแมงป่อง (Constellation Scorpius) ดังนั้น หากต้องการสังเกตทางช้างเผือกให้ชัดเจนที่สุดจึงต้องระบุตำแหน่งของกลุ่มดาวคนยิงธนูและกลุ่มดาวแมงป่องให้ได้เสียก่อน ซึ่งสามารถหาได้จากแผนที่ดาวหรือแอพพลิเคชั่นในโทรศัพท์มือถือ

Great Rift

ใจกลางทางช้างเผือกจะมีแถบมืดที่เรียกว่า Great Rift ซึ่งแสงจากดาวฤกษ์บริเวณนั้นถูกฝุ่นระหว่างดาวฤกษ์บดบัง ใจกลางของกาแล็กซีทางช้างเผือกจึงเป็นบริเวณที่ลึกลับที่สุดแห่งหนึ่งในเอกภพเลยทีเดียว แสงที่ถูกปลดปล่อยออกมาจากใจกลางกาแล็กซีมีโอกาสเดินทางมาถึงโลกเราเพียงหนึ่งในล้านล้านส่วนเท่านั้น เนื่องจากฝุ่นที่กระจายตัวอยู่ การศึกษาใจกลางของกาแล็กซีดูดกลืนแสงไปเกือบทั้งหมด ดังนั้น การศึกษาบริเวณใจกลางกาแล็กซีทางช้างเผือกจึงใช้การตรวจจับคลื่นอินฟราเรดและคลื่นวิทยุซึ่งสามารถเดินทางผ่านฝุ่นได้

บริเวณศูนย์กลางทางช้างเผือกบนท้องฟ้ามีวัตถุที่เรียกว่า Sagittarius A ซึ่งนักดาราศาสตร์พบว่ามันคือหลุมดำมวลยิ่งยวดซึ่งมีมวลมากกว่าดวงอาทิตย์ราวๆ 4 พันล้านเท่า

กล่าวได้ว่ากาแล็กซีทางช้างเผือกนั้นเป็นหมู่บ้านดาวฤกษ์ที่ดวงอาทิตย์เราอาศัยอยู่ซึ่งการทำความเข้าใจกาแล็กซีของเราน่าจะเป็นก้าวสำคัญก้าวหนึ่งของการทำความเข้าใจเอกภพที่เราอาศัยอยู่ในอนาคต

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image