เรื่องราวของความกล้าหาญ (Profiles in courage)โดย:โกวิท วงศ์สุรวัฒน์

ปธน.จอห์น เอฟ เคนเนด
ประธานาธิบดีโอบามารับรางวัลจากแคโรไลน์ เคนเนดี

อดีตประธานาธิบดีบารัค โอบามา ได้รับรางวัล The 2017 John F. Kennedy Profile in Courage Award เมื่อเดือนพฤษภาคมนี้ ซึ่งตรงกับการฉลอง 100 ปี ชาตกาลของอดีตประธานาธิบดีจอห์น เอฟ เคนเนดี พอดี ซึ่งรางวัลนี้เป็นรางวัลที่มอบให้กับบุคคลที่แสดงความกล้าหาญที่คล้ายคลึงกับเหล่าบุคคลที่จอห์น เอฟ เคนเนดี ได้อธิบายไว้ในหนังสือ “เรื่องราวของความกล้าหาญ (Profiles in courage)” คือบรรดาบุคคลที่เป็นนักการเมืองได้รับการเลือกตั้งจากประชาชนได้แสดงความกล้าหาญที่ตัดสินใจกระทำในสิ่งที่ถูกต้องเพื่อประโยชน์ต่อส่วนรวมด้วยความรับผิดชอบ ทั้งๆ ที่รู้อยู่แก่ใจว่าการกระทำของตนนั้นจะส่งผลร้ายให้กับตนเนื่องจากเป็นการกระทำที่ถูกเกลียดชังจากประชาชนผู้เลือกตั้งโดยเฉพาะอย่างยิ่งคือชีวิตทางการเมืองต้องจบสิ้นลงอย่างแน่นอน กล่าวคือเขาจะไม่ได้รับการเลือกตั้งจากประชาชนอีกเลย

การที่โอบามาได้รับรางวัลในครั้งนี้ก็เนื่องจากค่ารักษาพยาบาลในสหรัฐอเมริกามีราคาแพงที่สุดในโลก ทำให้คนยากคนจนชาวอเมริกันเข้าไม่ถึงการรักษาพยาบาล ในสมัยที่โอบามาเป็นประธานาธิบดีเขาได้ผลักดันให้รัฐสภาอเมริกันผ่านกฎหมายสวัสดิการการรักษาทางการแพทย์ให้แก่ชาวอเมริกันทำนองเดียวกันกับ “สามสิบบาทรักษาทุกโรคของไทย” ซึ่งทำให้ผู้คนจำนวนไม่น้อยเสียประโยชน์จากค่ารักษาพยาบาลที่แพงลิบ จึงเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้โดนัลด์ ทรัมป์ได้ขึ้นดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีและดำเนินการรื้อกฎหมายสวัสดิการการรักษาพยาบาลของโอบามาแทบจะทันทีเลยทีเดียว

ตะเกียงเงินจำลองจากเรือรบชื่อรัฐธรรมนูญ

จอห์น เอฟ เคนเนดี ได้แรงบันดาลใจในการเขียนหนังสือเล่มนี้จากหนังสือของนายเฮอร์เบิร์ต เอการ์ เรื่อง “The Price of Union -ราคาของสหภาพ” ที่เขียนถึงความกล้าหาญของนายจอห์น ควินซี อดัมส์ ผู้แทนราษฎรจากมลรัฐแมสซาชูเซตส์ (จอห์น ควินซี อดัมส์ เคยเป็นประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาก่อนที่จะเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร) ผู้อภิปรายและลงคะแนนเสียงในรัฐสภาอย่างตรงไปตรงมาตามที่คิดว่าถูกต้องโดยไม่คำนึงถึงผู้ใดแม้แต่ประชาชนที่เลือกเขามาก็ตาม ทำให้เคนเนดีผู้เป็นวุฒิสมาชิกในขณะนั้นได้ความคิดที่จะเขียนบทความเกี่ยวกับเรื่องความกล้าหาญของนักการเมืองในระบอบประชาธิปไตย เขาจึงปรึกษากับนายเท็ด ซอเรนเซ็น ผู้เขียนสุนทรพจน์ประจำตัวของเขาให้ช่วยหาข้อมูลเพิ่มเติมให้ ปรากฏว่านายซอเรนเซ็นได้หาข้อมูลมาจนมากพอที่จะเขียนเป็นหนังสือได้เลยทีเดียว

เคนเนดีได้เขียนหนังสือเล่มนี้กับผู้ช่วยนักวิจัยที่ไปหาข้อมูลจากหอสมุดแห่งรัฐสภาอเมริกันระหว่าง พ.ศ.2497-2498 ในช่วงที่เขาต้องพักฟื้นจากการผ่าตัดหลังซึ่งบาดเจ็บเรื้อรังจากสงครามมาตั้งแต่เคนเนดียังประจำการเป็นทหารเรือเมื่อครั้งสงครามโลกครั้งที่สอง

Advertisement

หนังสือ “เรื่องราวของความกล้าหาญ (Profiles in courage)” เริ่มด้วยข้อความที่ยกมาจากคำอภิปรายในรัฐสภาอังกฤษของเอ็ดมันด์ เบิร์ก นักปรัชญาและสมาชิกผู้แทนราษฎรอังกฤษที่กล่าวในรัฐสภาอังกฤษสรรเสริญแด่รัฐบุรุษชาร์ลส์ เจมส์ ฟอกส์ ผู้ต่อสู้เพื่อที่จะควบคุมบริษัทอินเดียตะวันออกของอังกฤษที่ทรงอิทธิพลซึ่งโหดร้ายและเลวร้าย ทั้งๆ ที่รู้อยู่แก่ใจว่าต้องพ่ายแพ้และต้องหลุดออกจากตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของอังกฤษอย่างแน่นอน ต่อจากนั้นก็เป็นเรื่องความกล้าหาญและความสุจริตของนักการเมืองอเมริกัน 8 คนสมัยก่อนสงครามกลางเมืองในสหรัฐอเมริกา (ในช่วงสมัยรัชกาลที่ 4 แห่งราชวงศ์จักรี) ที่กล้าที่จะกระทำในสิ่งที่ขัดแย้งกับความเห็นส่วนรวมของพรรคการเมืองที่ตนสังกัดและตรงข้ามกับความต้องการของประชาชนผู้ที่เลือกตั้งพวกเขาเข้ามา ซึ่งถือว่าเป็นการฆ่าตัวตายทางการเมืองอย่างแท้จริง

เรื่องหนึ่งที่ผู้เขียนประทับใจที่สุดในหนังสือ “เรื่องราวของความกล้าหาญ (Profiles in courage)” คือเรื่องของแซม ฮิวสตัน ผู้เป็นรัฐบุรุษ นักการเมือง และทหารชาวอเมริกันในคริสต์ศตวรรษที่ 19 เขาได้รับเลือกตั้งเป็นผู้ว่าการมลรัฐเทนเนสซีเมื่ออายุ 34 ปีขณะที่ยังเป็นโสดอยู่ เมื่อเขาแต่งงานในระหว่างดำรงตำแหน่งเป็นผู้ว่าการรัฐอยู่นั้น เขาได้ทราบว่าภรรยาของเขาถูกบังคับให้แต่งงานกับเขาโดยบิดาของเธอทั้งๆ ที่เธอมีคนรักอยู่ก่อนแล้ว ฮิวสตันจึงอนุญาตให้ภรรยาของเขากลับไปแต่งงานอยู่กินกับคนรักเดิม และฮิวสตันก็ลาออกจากตำแหน่งผู้ว่าการรัฐเทนเนสซีและย้ายไปยังดินแดนอาร์คันซอ

หลังจากนั้นฮิวสตันย้ายต่อไปยังรัฐโกอะวีลาและเท็กซัส ซึ่งขณะนั้นเป็นรัฐหนึ่งของเม็กซิโก และกลายเป็นผู้นำแห่งการปฏิวัติเท็กซัสที่เรารู้จักในภาพยนตร์เรื่อง “อลาโม” นั่นแหละครับ ทำให้ฮิวสตันกลายเป็นบุคคลสำคัญในประวัติศาสตร์เท็กซัส ภายหลังที่เท็กซัสได้รับเอกราชด้วยการเอาชัยชนะต่อเม็กซิโกได้สำเร็จ

Advertisement

ฮิวสตันรับเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐเท็กซัสคนแรก และสมาชิกวุฒิสภารัฐเท็กซัสภายหลังเท็กซัสเข้าร่วมกับสหรัฐอเมริกา และเป็นผู้ว่าการรัฐเท็กซัสทำให้เขาเป็นผู้เดียวในประวัติศาสตร์ที่ดำรงตำแหน่งผู้ว่าการมลรัฐถึง 2 มลรัฐ

ฮิวสตันปฏิเสธที่จะสาบานความจงรักภักดีต่อฝ่ายสมาพันธรัฐเมื่อเท็กซัสแยกตัวออกจากฝ่ายสหภาพ จึงถูกรัฐสภาเท็กซัสปลดออกจากตำแหน่งผู้ว่าการรัฐ และเพื่อหลีกเลี่ยงการหลั่งเลือดระหว่างคนอเมริกันด้วยกัน
ฮิวสตันปฏิเสธข้อเสนอของกองทัพฝ่ายสหภาพเพื่อปราบปรามกบฏสมาพันธรัฐ และเขาได้ย้ายไปอาศัยอยู่ในเมืองฮันท์สวิลล์ เท็กซัส ที่ซึ่งเขาถึงแก่อนิจกรรมก่อนสงครามกลางเมืองอเมริกันยุติลง

เรื่องของแซม ฮิวสตัน นี่โรแมนติกเป็นบ้าเลยนะครับ และเรื่องประวัติชีวิตของเรื่องราวแห่งความกล้าหาญอีก 7 คนก็อ่านสนุกและโรแมนติกจนทำให้หนังสือเล่มนี้ได้รับรางวัลพูลิตเซอร์ ซึ่งเป็นรางวัลที่มอบแก่ผู้ได้รับเกียรติสูงสุดระดับชาติในวงการสิ่งพิมพ์ วรรณกรรมและการประพันธ์เพลง บริหารจัดการโดยมหาวิทยาลัยโคลัมเบียในนครนิวยอร์กซึ่งเป็นคนละรางวัลกับรางวัล The 2017 John F. Kennedy Profile in Courage Award นะครับ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image