ปัจจัย การเมือง นับแต่ เมษายน 2560 ใครรุก ใคร’รับ’

ประหนึ่งว่าการโยน 4 คำถามว่าด้วยการเลือกตั้ง ว่าด้วยธรรมาภิบาล มาจากรายการ “ศาสตร์พระราชาสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน” เมื่อตอนค่ำของวันศุกร์ที่ 26 พฤษภาคม

จะเป็น “การรุก” ในทาง “การเมือง”

เห็นได้จากการเคลื่อนไหวสำนองรับอย่างทันท่วงทีจากกระทรวงมหาดไทย เห็นได้จากการออกมาอธิบายของโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี

และรวมถึงการเล่นบทของรองประธาน สปท.คนที่ 1

Advertisement

แต่ภายใน “การรุก” ของ 4 คำถามก็ประสบกับการออกมาของนักการเมือง ไม่ว่าจะจากพรรคเพื่อไทย ไม่ว่าจะจากพรรคประชาธิปัตย์ ไม่ว่าจะจากพรรคชาติไทยพัฒนา อย่างคึกคัก

เป็นการ “ชูธง” โต้กระแส “การรุก”

น้ำเสียงอันมาจากพรรคเพื่อไทยนั้นช่างเถิด ไม่ว่าจะเป็น นายจาตุรนต์ ฉายแสง ไม่ว่าจะเป็น นายภูมิธรรม เวชยชัย ไม่ว่าจะเป็น นายวัฒนา เมืองสุข เพราะยืนอยู่คนละฟากอยู่แล้วในทางการเมือง

แต่ที่มาจากพรรคประชาธิปัตย์ ที่มาจากพรรคชาติไทยพัฒนา ต่างหาก

“น้ำเสียง” ของนักการเมืองเหล่านี้มิได้ประหวั่นพรั่นพรึงแม้แต่น้อย

ลองไปฟัง นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ ดู ลองไปฟัง นายสาธิต ปิตุเดชะ ดู ลองไปฟัง นายนิกร จำนง ดู ลองไปฟัง นายสมศักดิ์ ปริศนานันทกุล ดู

ไม่เพียงแต่ “รู้เท่าทัน” หาก “ชำแหละ” เกลี้ยงเกลา

ชำแหละให้ประจักษ์ในลักษณะ “ชี้นำ” อันดำรงอยู่ภายใน 4 คำถาม ชำแหละให้ประจักษ์ใน “เป้าหมาย’ อย่างแท้จริงอันดำรงอยู่ภายใน 4 คำถาม

ยิ่งหากตระหนักในความต้องการจะต่อท่อแห่ง “อำนาจ”

ยิ่งชี้ให้เห็นว่า ไส้กี่ขดต่อกี่ขดของ คสช.มิได้หลุดพ้นและรอดไปจากความรับรู้และความเข้าใจของ “นักการเมือง” เลย

4 คำถามจึงเท่ากับ “ยิ้มเห็นแก้ม แย้มเห็นไรฟัน”

2 ปีแรก “นักการเมือง” อาจเกรงใจและเปี่ยมด้วยมารยาท แต่เมื่อผ่านปีที่ 3 เข้าสู่ปีที่ 4 โรคเลื่อนอันมาจาก คสช.ก็มิได้เป็นความลี้ลับอีกแล้ว

เวลาจึงเป็นเครื่องมือในการตรวจสอบที่เที่ยงธรรมที่สุด

นับจากเดือนเมษายน 2560 เป็นต้นมา สภาพการณ์ทางการเมืองของสังคมประเทศไทยได้ก้าวเข้าสู่มิติใหม่ที่สำคัญอย่างน้อยก็จาก 3 ปัจจัย

ปัจจัย 1 คือ รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560

ปัจจัย 1 ก็อย่างที่หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ได้นำเสนอ นั่นก็คือ เท่ากับเป็นการนับ 1 ไปสู่โหมดของ “การเลือกตั้ง”

หลังจาก “เลื่อน” โรดแมปมาครั้งแล้วครั้งเล่า

นั่นก็คือ ขอเวลาอีกไม่นาน ในเบื้องต้นคาดว่าจะเป็นปี 2559 ตาม “ปฏิญญาโตเกียว” ต่อมาก็เป็นปี 2560 ตาม “ปฏิญญานิวยอร์ก” และก็เป็นปลายปี 2561

ปัจจัย 1 คือ 3 ปีของ “รัฐประหาร”

ความหมายที่สำคัญเป็นอย่างมากก็คือ 3 ปีของรัฐประหารได้สร้าง “ผลงาน” อะไรอันเป็นที่ชื่นอกชื่นใจให้กับ “ประชาชน” เพราะหากมี “ผลงาน” อย่างเห็นเด่นชัดเป็นรูปธรรมก็แทบไม่ต้องตั้ง “คำถาม”

3 ปีจึงเป็น “มาตร” ชี้อนาคตและ “ชะตากรรม”

ดัชนีจาก “โพล” เกือบทุกสำนัก ดัชนีจากน้ำเสียงของ “นักการเมือง” ล้วนสะท้อนถึง “ผลงาน” และความสำเร็จได้เป็นอย่างดี

ใครก็ตามที่ประเมินว่า 4 คำถามว่าด้วยการเลือกตั้งและธรรมาภิบาลเท่ากับเป็น “การรุก” ทางการเมือง

จำเป็นต้องมองและวิเคราะห์ใหม่ ยึดกุมหลักการอันดำรงอยู่ภายในคำสั่งที่ 66/2523 ที่ได้รับการเน้นย้ำในปี 2524 และปี 2525 ใหม่

ที่คิดว่า “รุก” อาจเป็น “รับ”

ที่คิดว่า “กำกับ” และ “ควบคุม” ได้ อาจกลายเป็นตรงกันข้าม

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image