เพชฌฆาตเงียบคนทำงาน ‘โรคเอ็มเอส’ รู้ช้า-อัมพาต

ปรากฏการณ์โรคความจำเสื่อมหรืออัลไซเมอร์ที่เกิดขึ้นกับคนไทยและยังเป็นปัญหาสุขภาพที่คุกคามคนไทยมานานแล้ว เกิดจากความผิดปกติของเซลล์สมองที่ถูกทำลายด้วยหลายสาเหตุ เช่น การเสื่อมที่เกิดขึ้นตามวัย พันธุกรรม อุบัติเหตุทางสมอง โรคหลอดเลือดสมอง เป็นต้น

จากการศึกษาพบว่าผู้ป่วยด้วยโรคอัลไซเมอร์ทั่วโลกมีเกือบ 50 ล้านคน และในเมืองไทยคาดว่าจะมีผู้ป่วยโรคอัลไซเมอร์เพิ่มขึ้นอย่างมากในช่วงระยะเวลาใน 10 ปีข้างหน้า

ปัจจุบันแม้ว่าจะยังไม่มีวิธีการรักษาโรคสมองเสื่อมอัลไซเมอร์ให้หายขาดได้ แต่จากการศึกษาวิจัย ถ้ามีการตรวจพบว่าเป็นโรคความจำถดถอยในกลุ่มที่จะเสี่ยงเป็นโรคสมองเสื่อมอัลไซเมอร์ตั้งแต่เนิ่นๆ ก่อนจะเกิดโรค สามารถที่จะชะลอตัวโรคได้ การตรวจคัดกรอง ว่ามีความเสี่ยงหรือไม่ตั้งแต่อายุ 50 ปี ถือว่าเป็นวิธีการรักษาป้องกันที่มีประสิทธิภาพสูงที่สุด

นั่นเป็นโรคทางสมองที่ถือได้ว่าเกิดขึ้นกับผู้ที่ค่อนข้างมีอายุไปจนถึงสูงวัย แต่มีโรคทางสมองอีกโรคที่ผู้ป่วยอยู่ในวัยทำงาน

Advertisement

หากปล่อยไว้ไม่ได้รับการรักษา มากกว่าร้อยละ 30 ของผู้ป่วยจะเกิดภาวะทุพพลภาพภายใน 20-25 ปี หลังเริ่มมีอาการครั้งแรก

โรคดังกล่าวมีชื่อเรียกกันว่า “โรคเอ็มเอส” (MS) หรือ Multiple Sclerosis

พญ.จันจิรา สาธุกิจชัย อายุรแพทย์ด้านสมองและระบบประสาท โรงพยาบาลกรุงเทพ อธิบายว่า โรคเอ็มเอสเป็นโรคที่เกิดจากการอักเสบของปลอกประสาทในระบบประสาทส่วนกลาง ซึ่งได้แก่ สมอง ไขสันหลัง และเส้นประสาทตา

Advertisement

ปัจจุบันยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัดของการเกิดโรค แต่เชื่อว่าโรคนี้อาจเกิดจากปัจจัยหลายอย่าง ทั้งปัจจัยทางสิ่งแวดล้อม พันธุกรรม การติดเชื้อไวรัสบางชนิด การที่มีระดับวิตามินดีในร่างกายต่ำ หรือมีความผิดปกติของระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย

“ร้อยละ 70 ของผู้ป่วยโรคเอ็มเอสจะเกิดอาการขึ้นในช่วงอายุระหว่าง 20-40 ปี ซึ่งเป็นประชากรที่อยู่ในวัยทำงาน จากการสำรวจพบว่า 3 ใน 4 ของผู้ป่วยเอ็มเอสได้รับผลกระทบต่อการทำงาน

ทั้งนี้ พบว่าหากปล่อยไว้ไม่ได้รับการรักษา มากกว่าร้อยละ 30 ของผู้ป่วยเอ็มเอสจะเกิดภาวะทุพพลภาพภายใน 20-25 ปี หลังเริ่มมีอาการครั้งแรก และพบในผู้หญิงมากกว่าผู้ชายประมาณ 2 เท่า รวมไปถึงมีโอกาสถ่ายทอดทางพันธุกรรมหากพบมีพ่อ-แม่หรือพี่น้องเป็นประมาณ 1%

“ลักษณะเฉพาะของโรคเอ็มเอสคือ มักพบอาการผิดปกติของระบบประสาทเกิดขึ้นเป็นครั้งคราว ซึ่งเป็นผลมาจากการอักเสบของระบบประสาทส่วนกลาง ได้แก่ สมอง ไขสันหลัง รวมถึงเส้นประสาทที่เกี่ยวกับการมองเห็น ความเสียหายที่เกิดจากการทำลายปลอกหุ้มประสาทจะทำให้การส่งสัญญาณระหว่างเซลล์ประสาทช้าลง หรือขัดขวางการส่งสัญญาณระหว่างเซลล์ประสาทส่วนกลางไปตำแหน่งต่างๆ ของร่างกาย”

 

พญ.จันจิรา สาธุกิจชัย


อย่างไรก็ตาม อาการที่เกิดจากการกำเริบของโรคมีได้หลากหลายแตกต่างกันไปในผู้ป่วยแต่ละราย ที่พบได้บ่อยได้แก่ ปัญหาเกี่ยวกับการเดิน มีอาการเกร็งปวด ขากระตุก ปัสสาวะไม่ออก อาการชาแน่นๆ รอบอก อ่อนแรง หรือรู้สึกเหมือนมีเข็มแทง ปวดร้าวที่คอและกลางหลัง ปัญหาเรื่องการมองเห็น ตามัวกึ่งเฉียบพลัน เห็นภาพซ้อน สีผิดเพี้ยน

ถ้ามี ปัญหาเรื่องการทรงตัว ทรงตัวลำบาก มีลักษณะเฉพาะคือ มักเป็นและดีขึ้นเอง จากนั้นจะมีอาการกำเริบซ้ำในตำแหน่งเดิมหรือตำแหน่งใหม่ ดังนั้น จึงต้องหมั่นสังเกตตนเอง เพราะอาการเหล่านี้อาจเป็นสัญญาณของโรคเอ็มเอส

การวินิจฉัยโรค หากสังเกตอาการและพบแพทย์ทางระบบประสาท ร่วมกับการตรวจ MRI สมองและไขสันหลัง รวมทั้งการตรวจเลือดและน้ำไขสันหลังได้ตั้งแต่ในระยะแรกและได้รับการดูแลที่ถูกต้อง สามารถลดภาวะทุพพลภาพและป้องกันการเกิดอาการกำเริบและภาวะสมองเสื่อมถอยในอนาคตได้

พญ.จันจิราชี้ว่า ปัจจุบันยังไม่มีวิธีการรักษาโรคเอ็มเอสให้หายขาด แต่สามารถชะลอการเกิดความพิการหรือลดจำนวนครั้งการกำเริบของอาการโรคเอ็มเอสได้ด้วยยา ทั้งยาฉีดและยาเม็ด ซึ่งจะรักษาเมื่อโรคกำเริบ และการป้องกันภาวะโรคกำเริบด้วยยาบางกลุ่มเพื่อปรับเปลี่ยนการดำเนินของโรค รวมถึงรักษาตามอาการที่แสดงอีกด้วย ทำให้การรักษาสะดวกขึ้นและมีประสิทธิภาพดีกว่าสมัยก่อน

“ด้วยโรคเอ็มเอสนั้นยังไม่ทราบสาเหตุของโรคอย่างแน่ชัด ไม่สามารถป้องกันได้ จึงควรดูแลสุขภาพของตน ไม่ว่าจะเป็นการออกกำลังกายสม่ำเสมอ รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ลด-ละ-เลิกสุราและบุหรี่ พักผ่อนให้เพียงพอ และไม่เครียด

“เมื่อพบความผิดปกติที่เกิดขึ้นกับร่างกายให้รีบไปพบแพทย์ทันที จึงน่าจะเป็นวิธีป้องกันที่ดีที่สุดให้ห่างไกลจากโรคเอ็มเอสและโรคร้ายแรงอื่นๆ อีกด้วย” พญ.จันจิราทิ้งท้าย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image