เครื่องมือพัฒนาครูไทย ‘Professional Learning Community’ ยกระดับการศึกษาอย่างมีคุณภาพ

“สิงคโปร์” นับเป็นเมืองที่มีความเป็นเลิศทางด้านการศึกษา เป็นแม่แบบและเป็นแหล่งรวมของสถาบันการศึกษาชั้นนำของโลก

รวมทั้งกระบวนการเรียนการสอนที่เรียกกันว่า Professional Learning Community (PLC) หรือ ชุมชนการเรียนรู้ทางวิชาชีพ ซึ่ง นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ มีแนวคิดการนำกระบวนการสอนดังกล่าวมาใช้ในการพัฒนาครูและผู้บริหารสถานศึกษา

อีกทั้งยังมีความคิดจัดตั้ง “สถาบันคุรุพัฒนา” สังกัดสำนักงานเลขาธิการคุรุสภา ทำหน้าที่พิจารณาหลักสูตรที่จะใช้อบรม “พีแอลซี” โดยหน่วยงานทุกภาคส่วนสามารถร่วมเสนอหลักสูตรการอบรมให้ทางสถาบันพิจารณาได้

“ชุมชนการเรียนรู้ทางวิชาชีพ” หรือ “พีแอลซี” คืออะไร?

Advertisement

แนวคิดหลักของ “พีแอลซี” คือ การนำคนมาอยู่รวมกัน เกิดการเรียนรู้ และแบ่งปันความรู้แก่กัน กระทั่งเกิดการสะท้อนความคิดเห็นด้านต่างๆ ที่จะเป็นแนวทางสำหรับการพัฒนาการเรียนการสอนให้ดีขึ้น

หนึ่งในสถาบันการศึกษาที่นำ “พีแอลซี” มาเป็นกลยุทธ์ในการพัฒนาครูและระบบการเรียนการสอน สร้างโรงเรียนให้เป็นชุมชนแห่งการเรียนรู้ และมีการพัฒนามาอย่างต่อเนื่องกว่า 3 ปี คือ โรงเรียนสาธิตพัฒนา โรงเรียนเอกชนที่จัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน ตั้งแต่ระดับปฐมวัยถึงมัธยมศึกษาตอนปลาย ให้ความสำคัญกับการพัฒนาครู ส่งเสริมให้ครูมีความรู้ความสามารถเพื่อพัฒนานักเรียนให้เป็นคนดีและเก่ง

โดยเริ่มต้นพัฒนาครูผ่านกระบวนการพัฒนาบทเรียนร่วมกัน (Lesson Study) หรือ “แอลเอส” ผนวกกับกระบวนการเรียนรู้ 5 ขั้นตอน คือ ตั้งคำถาม แสวงหาสารสนเทศ สร้างความรู้ สื่อสาร และตอบแทนสังคม มาใช้ในการเรียนการสอน ภายใต้กระบวนการ “พีแอลซี”

Advertisement

“หลังจากใช้กระบวนการนี้แล้วระบบการเรียนการสอนดีขึ้น เด็กสนุกขึ้น นี่คือกระบวนการพัฒนาครูของโรงเรียนสาธิตพัฒนาที่เราพยายามทำอยู่ ในประเทศญี่ปุ่นมีการให้ผู้ปกครองเข้ามามีส่วนร่วม ถ้าเราทำส่วนนี้สำเร็จ สาธิตพัฒนาจะกลายเป็นโรงเรียนเป็นชุมชนแห่งการเรียนรู้ทางวิชาชีพทันที” เสียงยืนยันหนักแน่นจาก รศ.ลัดดา ภู่เกียรติ ผู้อำนวยการโรงเรียนสาธิตพัฒนา

โรงเรียน : ชุมชนแห่งการเรียนรู้ทางวิชาชีพ

เพื่อเป็นการเพิ่มศักยภาพการทำงานแก่ผู้บริหารและครู โรงเรียนสาธิตพัฒนา คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้รับผิดชอบโครงการ ได้จัดอบรมเชิงปฏิบัติการเรื่อง “โรงเรียนชุมชนแห่งการเรียนรู้ทางวิชาชีพ” ที่สถาบันการศึกษาแห่งชาติ (NIE) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีหนานหยาง สาธารณรัฐสิงคโปร์

“การพาครูทั้งหมด ซึ่งล้วนเป็นครูที่ใช้กระบวนการพัฒนาบทเรียนร่วมกันในการสอนมาแล้วทุกคน ไปอบรมเชิงปฏิบัติการและศึกษาดูงานในสถานที่ผลิตครูของสิงคโปร์ เพื่อให้เห็นว่าประเทศที่ประสบความสำเร็จด้านการศึกษามีแนวทางอย่างไร และทำอย่างไรถึงประสบความสำเร็จ”

ชุมชนการเรียนรู้ทางวิชาชีพ หรือ “พีแอลซี” คือ การรวมตัวทำงานด้านการศึกษาร่วมกัน สำหรับใช้พัฒนาเด็ก และมีส่วนร่วมในการเก็บเกี่ยวความรู้อย่างต่อเนื่อง โดยกระบวนการสอนแบบ “พีแอลซี” มีฐานความคิดอยู่ 3 เรื่อง คือ 1.การทำงานร่วมกัน 2.รับรองว่าเด็กเกิดการเรียนรู้ และ 3.ให้ความสำคัญกับผลลัพธ์

“ผลลัพธ์ที่เกิดจาก ‘พีแอลซี’ นั้น ตัวผู้สอนต้องมีการดำเนินงานอย่างต่อเนื่อง มีการเก็บเกี่ยวความรู้ เข้าใจในงาน และมุ่งไปสู่ผลดี”

ส่วน “การพัฒนาบทเรียนร่วมกัน” นั้น ผู้อำนวยการโรงเรียนสาธิตพัฒนาอธิบายว่า เป็นกระบวนการที่ครูทำงานร่วมกัน ประกอบด้วย 5 ขั้นตอน คือ 1.Analyze 2.Plan 3.Do+See 4.Reflect 5.Redesign

“การพัฒนาบทเรียนร่วมกันมีขั้นตอนการดำเนินการ เริ่มจากการวางแผน มีวัตถุประสงค์ สร้างกิจกรรม เตรียมสื่อและอุปกรณ์ มีการวัดประเมินผลเด็กว่าเรียนรู้ไหม โดยมีผู้สังเกตการณ์ เข้ามาช่วยครูผู้สอนสังเกตการเรียนรู้ของเด็กว่าเป็นอย่างไร

Analyze หรือ Analysis คือการวิเคราะห์หลักสูตร วิเคราะห์ตัวชี้วัด ครูผู้สอนต้องแม่นยำในเนื้อหาว่าจะสอนอะไร เช่น เศษส่วน คุณจะสอนอะไร ความหมาย ชนิด ประโยชน์ หรือการบวกลบเศษส่วน วัตถุประสงค์ต้องชัด ไม่อย่างนั้นเด็กจะไม่ได้อะไรเลย

“อย่าคาดหวังสูง หรือหวังว่าเด็กต้องได้ทุกอย่าง คุณต้องให้เด็กเข้าใจสักอย่างที่คุณต้องการ เช่น ต้องเข้าใจความหมายของเศษส่วนก่อน รู้จักชนิดเศษส่วน สองอย่างนี้พอแล้ว เรื่องบวกลบเอาไว้ชั่วโมงถัดไป แต่ครูไทยสอนตามหนังสือ เราเลยไม่รู้ว่าเด็กเข้าใจหรือเปล่า”

Plan เป็นขั้นที่ครูนำแผนการสอนมาเล่าให้คนในกลุ่มฟัง เพื่อรับฟังคำแนะนำจากสมาชิกไปปรับใช้ในการสอน

“ขั้น Do+See โดย Do หมายถึงครูผู้สอนไปทำการสอน และ See หมายถึงผู้สังเกตการณ์เข้าไปสังเกตการสอน ซึ่งหลักของการสังเกตการสอน คือ ห้ามรบกวนเด็ก ห้ามยืนบังเด็ก ห้ามนั่งหลังเด็ก แต่ต้องยืนข้างๆ เด็ก”

สิ่งเหล่านี้คือการสังเกตพฤติกรรมการเรียนรู้ของเด็ก โดยระหว่างสังเกตการสอนผู้สังเกตการณ์ต้องทำบันทึกไว้ด้วย เมื่อเสร็จจากนั้นแล้วต้องกลับมา Reflect ให้ครูทราบ โดยสะท้อนสิ่งที่เห็นผ่านวิดีโอที่ถ่ายเก็บไว้ เพื่อให้เกิดการ Redesign หรือปรับปรุง แก้ไขต่อไป

รศ.ลัดดา ภู่เกียรติ

ตั้งเป้าสู่ Care & Share

ผลจากการศึกษาดูงานครั้งนี้ทำให้ผู้บริหารสถานศึกษาอย่าง รศ.ลัดดา ตระหนักถึงวิธีการสอนแบบเดิมของโรงเรียนที่ควรเพิ่มเติม แก้ไข เปลี่ยนแปลง โดยก่อนหน้านี้โรงเรียนสาธิตพัฒนาเองใช้วิธีสังเกตการเรียนรู้เด็กทุกคนในห้อง แต่มีหลักการ คือ ต้องสังเกตว่าเด็กทุกคนได้เรียนรู้หรือไม่ ถ้ามีเด็กคนใดคนหนึ่งในห้องเรียนไม่ได้เรียนรู้ หรือเด็กไม่ตั้งใจเรียน ครูจะแก้ไขปัญหาอย่างไร

“ฉะนั้น กระบวนการ ‘พัฒนาบทเรียนร่วมกัน’ ไม่ใช่การจับผิดครู แต่เป็นการสังเกตการเรียนของนักเรียน เพื่อสะท้อนให้ครูรู้ว่าคนภายนอกเห็นอย่างไร เป็นการช่วยครูไม่ให้อยู่คนเดียว ไม่ทิ้งครูไว้คนเดียว”

รศ.ลัดดาเล่าต่อว่า ระดับอนุบาลจะไม่มีวิชาเรียน มีแต่หน่วยการเรียนรู้ ดังนั้น ครูจึงทำงานเป็นกลุ่ม คือ “พีแอลซี” ตามความเข้าใจแล้วคือกลุ่มคน มีองค์ประกอบคือครูผู้สอน อาจเป็นครูในระดับเดียวกันหรือต่างระดับกันก็ได้ เป็นครูในสาขาวิชาเดียวกันหรือคนละวิชาก็ได้

“ทุกคนคือเพื่อนร่วมงานกัน แต่จะให้ดีเราควรมีผู้เชี่ยวชาญ เช่น เชิญอาจารย์จากมหาวิทยาลัยที่มีความเชี่ยวชาญทางด้านนั้นๆ มาให้คำแนะนำ”

ถ้าไม่ปฏิบัติตามคำแนะนำได้ไหม?

“ได้เช่นกัน” รศ.ลัดดาบอกว่า ครูจะไม่เชื่อใน “พีแอลซี” หรือไม่ปฏิบัติตามก็ได้

“ตัวครูเองจะได้เจอสถานการณ์เหมือนที่ผู้สังเกตการณ์เป็นคนแนะนำ สิ่งเหล่านี้ครูจะได้เรียนรู้ด้วยตัวเอง แต่ถ้าครูท่านไหนไม่ทำตามคำแนะนำก็ไม่ใช่ปัญหา เรื่องนี้อยู่ที่ความเต็มใจ

“เป้าหมายของ ‘การพัฒนาบทเรียนร่วมกัน’ กับ ‘พีแอลซี’ ต้องดูที่เด็ก พฤติกรรมการเรียนรู้ของเด็กต้องเปลี่ยน เด็กทุกคนต้องได้รับการเอาใจใส่ เด็กทุกคนต้องเป็น Care & Share ไม่ใช่การเอาตัวรอดคนเดียว แล้วทิ้งคนไม่เก่งไว้”

นั่นคือเด็กไทยที่เราต้องการ ถ้าเราทำเช่นนี้ได้ ไทยแลนด์ 4.0 เกิดขึ้นแน่นอน

เปิดใจรับ’ความเปลี่ยนแปลง’

“ภายหลังจากมีการพัฒนาบทเรียนร่วมกันเข้ามา ทำให้ครูต้องวางแผน ออกแบบกิจกรรมให้ครอบคลุม เพื่อให้เด็กลงมือทำแล้วผลเกิดขึ้นกับเด็ก เมื่อสอนแล้วไม่เกิดผลสำเร็จ ทำให้ครูต้องย้อนกลับไปมองว่าตัวเองทำผิดมาตลอด เราไม่ได้นึกถึงตัวเด็กเลย แค่สอนตามวัตถุประสงค์แล้วจบ” เสียงบอกเล่าจาก บุศรา เอี่ยมปี หรือ ครูอุ๋ม รองผู้อำนวยการฝ่ายวิชาการ ด้านอนุบาล และครูประจำชั้นอนุบาล 3

 

บุศรา เอี่ยมปี

ถามว่าเด็กไม่ตั้งใจไหม คงไม่ใช่ แต่ดูที่พัฒนาการของเด็ก เขาอาจมีวิธีการเรียนรู้หลากหลาย แต่เรามีวิธีการสอนแบบเดียว ซึ่งไม่พัฒนาในองค์รวมของเด็กได้ เด็กมีหลายแบบ เราต้องออกแบบกิจกรรมให้หลากหลายมากขึ้น

“เช่น สร้างเป็นฐานกิจกรรมมากขึ้น กิจกรรมที่เด็กทำเป็นกลุ่มได้ ทำเดี่ยวได้ หรือจับคู่ได้ เด็กบางคนไม่สามารถเรียนรู้ด้วยตัวคนเดียว แต่พอรวมกลุ่มเขาสามารถทำได้”

ด้าน ณัฐนันท์ ชาติสกุลศักดิ์ หรือ ครูพลอย ระดับอนุบาล 1 ช่วยเสริมเรื่องกระบวนการสอนแบบ “การพัฒนาบทเรียนร่วมกัน” ว่า ฝ่ายอนุบาลดำเนินการสอนแบบการพัฒนาบทเรียนร่วมกันครบ 100% แล้ว กำลังไปสู่กระบวนการสอนแบบ “พีแอลซี” ต่อไป ซึ่งเมื่อเทียบกับสิงคโปร์แล้ว เขาเคยชินกับการที่มีผู้สังเกตการณ์เข้ามาตลอดเวลา แต่ของเราในระยะแรกครูผู้สอนยังไม่ชิน ต้องเปิดใจรับฟังความเห็นจากผู้อื่น

“คนสอนก็โฟกัสแค่สิ่งที่ตัวเองสอน เพื่อให้ได้ตามเป้าหมายที่วางไว้ แต่ผู้สังเกตการณ์จะเห็นชัดเจนว่าเด็กคนไหนไม่สนใจ สามารถให้คำแนะนำที่จะช่วยอุดช่องโหว่ให้”

ณัฐนันท์ ชาติสกุลศักดิ์

ส่วนระดับประถมศึกษาที่ดำเนินการสอนด้วยกระบวนการ “พีแอลซี” หรือชุมชนแห่งการเรียนรู้ทางวิชาชีพไปแล้วนั้น วัลยา ซอเสียงดี หรือ ครูหนูนา รายวิชาภาษาอังกฤษ เล่าให้ฟังว่า แต่เดิมนั้นสอนแบบปกติ เพียงแต่มองภาพไม่เห็นว่าจะทำอย่างไรกับเด็กที่เรียนกับเราแล้วมีปัญหา

แต่กระบวนการ “พีแอลซี” จะมีอาจารย์ พี่เลี้ยง หรือเพื่อน คอยให้คำแนะนำว่าควรทำอย่างไร อยากให้เด็กทำงานเป็นกลุ่มไหม เพื่อให้เด็กที่ไม่เข้าใจสามารถมีส่วนร่วมด้วย

“การให้เด็กทำงานเป็นกลุ่ม โดยจับกลุ่มให้คละกันทั้งเด็กเก่งและเด็กเรียนอ่อน เด็กจะได้ช่วยเหลือกันมากขึ้น ส่วนครูผู้สอนเองก็ได้รับคำแนะนำจากครูผู้ใหญ่มากขึ้นด้วย”

วัลยา ซอเสียงดี

หลังจากมีการใช้กระบวนการสอนแบบ “พีแอลซี” แล้ว ครูหนูนาบอกว่ามีความเปลี่ยนแปลง เด็กเกิดการเรียนรู้ มีความพยายามต่อส่วนรวมมากขึ้น แต่ทั้งหมดนั้นต้องอาศัยเวลาเช่นกัน

“ครั้งแรกๆ อาจไม่ประสบความสำเร็จ ด้วยตัวเราเองไม่เปิดใจ เพราะยังอยากสอนตามแนวทางเดิมของตัวเองอยู่ พอได้ไอเดียจากเพื่อนๆ เราก็จะปรับ เหมือนได้ความคิดใหม่ๆ เราปรับไปเรื่อยๆ รวมถึงปรับตัวเราเองด้วย”

 

ภัทรพล ลาภเกียรติพร

ภัทรพล ลาภเกียรติพร หรือ ครูบอล รายวิชาวิทยาศาสตร์ ที่มีโอกาสเป็นทั้งครูผู้สอนและผู้สังเกตการสอน ให้ความเห็นในมุมแตกต่างของ 2 หน้าที่นี้ว่า ถ้าเป็นครูผู้สอน จะได้คำแนะนำหรือเครื่องมือต่างๆ ที่เขาแนะนำมา โดยไม่จำเป็นต้องใช้เครื่องมือทุกอย่างที่ได้รับมา เลือกใช้เพียงบางส่วน หรือไม่นำมาใช้เลยก็ได้

“ส่วนผู้สังเกตการณ์คือการสังเกตการเรียนรู้ของเด็ก ไม่ได้ดูที่ครูผู้สอน ในแต่ละวิชาเด็กจะมีพฤติกรรมการเรียนรู้ที่คล้ายคลึงกัน เช่น เวลาครูถามนักเรียน เราสังเกตว่าคนนี้ตอบได้ไหม เวลาเข้ากลุ่ม เขาให้ความร่วมมือไหม สิ่งเหล่านี้เป็นตัวบ่งชี้ว่าเด็กเข้าใจรึเปล่า”

 

เวทีแสดงศักยภาพ
‘World Association of Lesson Studies’

อีกบทบาทสำคัญของครูบอล ภัทรพล คือผู้นำเสนอผลการทำวิจัยภายหลังดำเนินการสอนรูปแบบ “การพัฒนาบทเรียนร่วมกัน” บนเวที World Association of Lesson Studies (WALS)

เวที WALS คือ การจัดประชุมครูทั่วโลกที่ดำเนินการสอนแบบ “การพัฒนาบทเรียนร่วมกัน” ภายหลังการทำวิจัย แต่ละท่านจะร่วมแชร์กันว่านำ “การพัฒนาบทเรียนร่วมกัน” ไปใช้ในบริบทของประเทศตัวเองอย่างไร ในวิชาตัวเองเป็นอย่างไรบ้าง

“อย่างของผมนำไปปรับใช้กับวิชาคณิตศาสตร์ ใช้ “การพัฒนาบทเรียนร่วมกัน” ประกอบกับ “พีแอลซี” เรื่องการแก้โจทย์ปัญหา เด็กค่อนข้างมีปัญหาอาจวิเคราะห์ไม่ได้ จึงนำ “การพัฒนาบทเรียนร่วมกัน” กับ “พีแอลซี” เข้ามาช่วย ทำให้เด็กเกิดความสนุกสนาน และเกิดความกล้ามากขึ้น

“แนวทางของแต่ละประเทศขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย เช่น วิชานี้จะออกแบบอย่างไร ถ้าวิชาทางภาษาอาจเน้นด้านการฟัง พูด อ่าน เขียน ขึ้นอยู่กับบริบทของเนื้อหาที่จะสอน แต่แนวทางในการดำเนินงานเหมือนๆ กัน” ครูบอลกล่าวปิดท้ายด้วยความภูมิใจ

สำหรับการประชุม WALS ปีนี้จัดขึ้นเป็นครั้งที่ 11 ณ มหาวิทยาลัยนาโกย่า ประเทศญี่ปุ่น หัวข้อ “Bridging Research and Practice through Lesson Study” ในวันที่ 24-27 พฤศจิกายน 2560

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image