คอลัมน์ เดือนหงายที่ชายโขง : นโยบายภาษีมีผล ลาวได้ดุลการค้าครั้งแรก

การค้าระหว่างประเทศของลาวที่ผ่านมาประสบกับภาวะขาดดุลการค้าอย่างต่อเนื่อง เพราะลาวเป็นประเทศเล็กที่ไม่สามารถผลิตสินค้าอุปโภคบริโภคด้วยตัวเอง จำเป็นต้องนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศทั้งในระบบและนอกระบบเพื่อนำมาใช้สอยภายในประเทศเสมอ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเครื่องจักร น้ำมันเชื้อเพลิง และวัตถุดิบอาหาร เครื่องใช้ในชีวิตประจำวัน ทำให้ต้องสูญเสียเงินตราต่างประเทศในการซื้อหาของจำเป็นเหล่านี้มาหล่อเลี้ยงชีวิตของผู้คน อีกทั้งการซื้อสินค้าฟุ่มเฟือยต่างๆ ก็ยิ่งทำให้เกิดการขาดดุลมากขึ้นตามลำดับ

นับแต่เดือนพฤศจิกายน 2016 ที่ผ่านมา ทางรัฐบาลลาวจึงบังคับใช้นโยบายเรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม 10% จากมูลค่าสินค้าที่เกินกว่า 50 ดอลลาร์สหรัฐ หรือ 4 แสนกีบ จากสินค้าที่ทั้งคนลาวและคนต่างประเทศซื้อเข้ามายังประเทศลาวที่ด่านสากลต่างๆ เพื่อชะลอการซื้อสินค้าที่ไม่ผ่านพิธีการทางศุลกากร และเข้าออกด้วยรถส่วนตัว อีกทั้งเร่งอุดหนุนการพัฒนาการผลิตสินค้าอุปโภคบริโภคด้วยการลดภาษีและส่งเสริมการลดต้นทุนการผลิตให้แข่งขันด้านราคากับสินค้าจากต่างประเทศได้

ทำให้เมื่อสิ้นสุดปี 2016 และประมวลข้อมูลสถิติแล้ว กระทรวงแผนการและการลงทุนของ สปป.ลาว พบว่า ปี 2016 เป็นปีแรกที่ สปป.ลาวได้ดุลการค้า เกิดขึ้นจากมูลค่ารวมการค้าระหว่างประเทศ 8,739.1 ล้านดอลลาร์ โดยมูลค่าการส่งออก 4,523.9 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้นจากคาดการณ์ 22.2% จากมูลค่าการส่งออกไฟฟ้า และสินค้าอุตสาหกรรมที่เพิ่มมากขึ้น และการนำเข้าลดลงที่ 4,512.2 ล้านดอลลาร์ ต่ำกว่าที่ประมาณการไว้ 20% จากผลของการสิ้นสุดโครงการก่อสร้างขนาดใหญ่ต่างๆ ที่เข้าสู่ช่วงแล้วเสร็จ การนำเข้าเครื่องจักรและน้ำมันเชื้อเพลิงจึงลดลง รวมถึงการนำเข้าสินค้าฟุ่มเฟือยต่างๆ ได้รับผลกระทบ ส่งผลให้ลาวได้เปรียบดุลการค้า 308 ล้านดอลลาร์ ซึ่งเป็นครั้งแรกในรอบทศวรรษนับแต่ลาวเข้าสู่ระบบการค้าระหว่างประเทศสมัยใหม่เต็มตัว

การได้เปรียบดุลการค้าจากมูลค่าส่งออกที่เพิ่มขึ้น และการนำเข้าที่ลดลง ในขณะที่สภาพเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศยังเติบโตอย่างแข็งแรงที่ 6.8% ในปี 2016 แสดงให้เห็นว่ารัฐบาลชุดใหม่ของลาวที่นำโดย ฯพณฯ ทองลุน สีสุลิด มาถูกทางแล้วในการปฏิรูประบบเศรษฐกิจที่ส่งเสริมการพึ่งพาตนเองภายในประเทศให้แข็งแกร่ง ดัชนีชี้วัดอีกดัชนีหนึ่งคืออัตราดอกเบี้ยเงินฝากภายในประเทศในสกุลเงินกีบลดต่ำลงอยู่ในระดับไล่เลี่ยกับสกุลเงินบาทและดอลลาร์ จากอัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำที่เคยสูงถึง 12-14% มาอยู่ที่ 4-6% และดอกเบี้ยเงินฝากออมทรัพย์ที่ 4-5% เหลือ 1.5% หมายความว่าค่าเงินกีบมีเสถียรภาพสูง และความต้องการเงินกีบในระบบสถาบันการเงินไม่มากถึงขนาดต้องใช้อัตราดอกเบี้ยสูงเข้าจูงใจอีกต่อไป

Advertisement

ดุลการค้าที่ได้เปรียบนี้ยังหมายถึงธนาคารแห่งประเทศลาวและรัฐบาลลาว สามารถลดภาระต้นทุนในการแสวงหาเงินตราต่างประเทศเพื่อมาชำระหนี้ในสกุลเงินต่างประเทศลง ทำให้กรอบเงินงบประมาณและดุลการคลังยืดหยุ่นมากขึ้นในการดำเนินนโยบายด้านต่างๆ ในอนาคต นับเป็นเรื่องดีต่อระบบเศรษฐกิจของลาวโดยรวมที่ประสบกับภาวะขาดดุลมายาวนาน

ในปี 2017 รัฐบาลลาวตั้งเป้าจำกัดการขาดดุลการค้าให้อยู่ไม่เกิน 23 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยแนวทางคือการเร่งส่งเสริมการผลิตภายในประเทศทดแทนการนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศ ซึ่งแนวทางดังกล่าวย่อมส่งผลกระทบต่อประเทศไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะประเทศไทยเป็นคู่ค้ารายใหญ่ที่สุดต่อ สปป.ลาว โดยมูลค่าการค้าระหว่างลาว-ไทยนั้นมากถึง 4,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือนับเป็นครึ่งหนึ่งของมูลค้าการค้าระหว่างประเทศทั้งหมดของลาว และไทยได้เปรียบดุลการค้าต่อลาวมากถึง 1,500 ล้านดอลลาร์ต่อปี

หากลาวลดการนำเข้าสินค้าลง ผู้ประกอบการไทยที่ดำเนินกิจการต่างๆ ด้านการส่งออกและนำเข้าไปยัง สปป.ลาวต้องเผชิญภาวะยากลำบากอย่างเลี่ยงไม่ได้ตั้งแต่ขนาดใหญ่จนถึงผู้ขายสินค้าปลีกย่อยตามเมืองชายแดน ซึ่งทางภาครัฐของไทยควรเข้ามาให้ความสำคัญในส่วนนี้

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image