คอลัมน์ เดือนหงายที่ชายโขง : โรงแรมที่พัก ปัจจัยหลักของการท่องเที่ยว

ช่วงที่เศรษฐกิจยอบแยบอืดเป็นเรือเกลือเช่นนี้ ธนาคารทั้งหลายต่างระมัดระวังตัวไม่พิจารณาปล่อยกู้ให้แก่ลูกค้าสินเชื่อรายย่อย ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ก็พลอยติดขัดชะงักตามไปด้วย

แต่จากการสอบถามฝ่ายประเมินสินเชื่อของธนาคารใหญ่หลายแห่งในต่างจังหวัด ยังมีการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ประเภทหนึ่งซึ่งยังพอไปได้ในสภาพเศรษฐกิจแบบนี้ โดยอนุมัติสินเชื่อเป็นรายกรณีมากกว่าแบบอื่น คือธุรกิจโรงแรม รีสอร์ต และที่พักเพื่อการท่องเที่ยว

สาเหตุดังกล่าวมาจากแนวโน้มการท่องเที่ยวที่เพิ่มมากขึ้นทั้งนักท่องเที่ยวภายในประเทศและนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งนักท่องเที่ยวจากประเทศเพื่อนบ้านและประเทศจีน

ซึ่งจากสถิติล่าสุด จำนวนนักท่องเที่ยวในปี 2016 ที่เข้ามาประเทศไทยมีมากถึง 32 ล้านคน เพิ่มขึ้นจากปี 2558 ถึง 8.91% และใช้จ่ายเงินหมุนเวียนในประเทศมากกว่าสองแสนล้านบาท และยังมีแนวโน้มเติบโตขึ้นทุกปี

Advertisement

การเพิ่มขึ้นต่อเนื่องของนักท่องเที่ยวดังกล่าว ส่งผลต่อการตอบรับด้านที่พักโรงแรมและสาธารณูปโภค

ต่างๆ เนื่องจากนักท่องเที่ยวต้องหาที่พักตามแต่งบประมาณและระดับการพักผ่อนที่จ่ายได้ ทำให้ธุรกิจโรงแรมที่พักเพื่อการท่องเที่ยวผุดขึ้นมามากมายตามไปด้วย และธนาคารก็ยังเปิดช่องปล่อยสินเชื่อให้ธุรกิจประเภทนี้อยู่

โรงแรมที่จัดสร้างขึ้นเพื่อรองรับนักท่องเที่ยวนั้นมีหลายประเภทเพื่อตอบสนองระดับของนักท่องเที่ยวที่ต่างกัน การคิดสร้างโรงแรมจึงต้องสำรวจประเภทของนักท่องเที่ยวที่เข้ามาในแหล่งท่องเที่ยวและขอบเขตการเดินทางให้ชัดเจนด้วย เช่น

Advertisement

นักท่องเที่ยวที่เข้ามาเพื่อธุรกิจหรือการประชุมงาน (MICE) ก็จำเป็นต้องมีโรงแรมมาตรฐานเพื่อการประชุมและสนับสนุนส่วนธุรกิจ (Conference and business support center) นักท่องเที่ยวแบบอนุรักษ์ธรรมชาติก็แสวงหาที่พักแบบธรรมชาติที่มีการบริการได้มาตรฐาน

นักท่องเที่ยวสายศิลปวัฒนธรรมก็ต้องการที่พักที่แตกต่างและให้ความรู้สึกเป็นเอกลักษณ์แบบบูติกโฮเต็ล

ปัจจุบันธุรกิจโรงแรมที่พักในต่างจังหวัดของไทยยังขาดการวิเคราะห์ข้อมูลสถิติอย่างเป็นระบบ เพื่อสร้างและพัฒนาโรงแรมให้ตรงกับอุปสงค์ของกลุ่มลูกค้า ทำให้ที่พักบางประเภทยังขาดแคลนแต่ที่พักแบบทั่วไปกลับมีห้องว่างไม่สามารถทำกำไรได้และต้องประสบภาวะขาดทุน

การใช้ข้อมูลสถิติที่เก็บได้จริงจึงต้องทำอย่างเป็นระบบ โดยอาจขอความร่วมมือจากทั้งกรมการท่องเที่ยว ธนาคารพาณิชย์และหอการค้าจังหวัด เพื่อดูตัวเลขการใช้จ่ายเงินของนักท่องเที่ยวที่เข้ามาในแต่ละพื้นที่ และลงทุนตามข้อมูลที่เก็บได้จริงเหล่านั้น

อีกประเด็นหนึ่งคือการตลาดและประชาสัมพันธ์ โดยปัจจุบันพบว่าการจองโรงแรมที่พักในประเทศไทย มาจากการจองผ่านเอเยนซี่ท่องเที่ยวแบบออนไลน์ (Online Travel Agency:OTA) มากถึง 90% ของการจองโรงแรมทั้งหมด โดยเป็นเว็บไซต์ booking.com ประมาณ 40% agoda.com 25% และ expedia.com 35% ซึ่งทั้งหมดมีสัดส่วนการเรียกเก็บค่าคอมมิสชั่นค่อนข้างสูงถึง 30% ทำให้รายได้จากการท่องเที่ยวส่วนหนึ่งไม่อยู่ในประเทศไทย แต่ถูกส่งออกไปนอกประเทศ

อย่างไรก็ดี เว็บไซต์เอเยนซี่ดังกล่าวมีงบประมาณประชาสัมพันธ์และการจัดโปรโมชั่นที่สูงมาก โรงแรมที่พักที่เข้าร่วมสามารถเข้าถึงตลาดนักท่องเที่ยวทั่วโลกได้โดยไม่ต้องทำการตลาดโฆษณาเอง จึงเป็นทั้งข้อดีและข้อเสียในตัว

การมีโรงแรมที่พักที่เพียงพอ และการประสานงานที่ดีระหว่างระบบขนส่ง-โรงแรม-สถานที่ท่องเที่ยว จะช่วยให้การท่องเที่ยวสร้างความประทับใจแก่นักท่องเที่ยวผู้บริโภค สร้างงาน สร้างรายได้ และชวนให้อยากมาเที่ยวซ้ำอีกครั้ง รวมถึงอาจเพิ่มจำนวนนักท่องเที่ยวจากการบอกต่อโดยไม่ผ่านเอเยนซี่เว็บไซต์ ธุรกิจโรงแรมที่ดีจะช่วยเหลืออุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจของชาติไปพร้อมกัน

ผู้สนใจริเริ่มทำธุรกิจโรงแรม จึงต้องใช้ทั้งศาสตร์ในการวิเคราะห์สถิติการท่องเที่ยว ตัวเลขทางการเงิน และเป้าหมายความคุ้มทุน ไปพร้อมกับศิลปะของการตลาดและการบริการโดยมีหัวใจที่แขกผู้มาพักให้เกิดความประทับใจสูงสุด เพื่อบรรลุเป้าหมายทั้งด้านรายได้และด้านความพึงพอใจ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image