ศาสตร์จากฟ้า‘ศาสตร์พระราชา’ คือความหวังและพลังใจเพื่อคุณภาพการศึกษา ผ่าน Active Learning+P.L.C.สู่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ โดย ณรงค์ ขุ้มทอง

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ทรงมีพระบรมราโชวาทเกี่ยวกับการศึกษาไว้ว่า 1.ให้ครูรักเด็กและให้เด็กรักครู 2.ให้สอนเด็กให้มีน้ำใจต่อเพื่อนไม่ให้แข่งขันแต่ให้แข่งกับตัวเอง 3.ให้เด็กที่เรียนเก่งกว่าช่วยเหลือเด็กที่เรียนช้ากว่า 4.ให้ครูจัดกิจกรรมให้ทำร่วมกัน เพื่อให้เห็นคุณค่าของความสามัคคี

พร้อมด้วยเสริม 11 หลักการที่มุ่งเน้นให้ผู้เรียน 1) พึ่งตนเองได้ 2) คำนึงถึงภูมิสังคม 3) ทำตามลำดับขั้นตอน 4) ประหยัดและเรียบง่าย 5) บริการเพียงจุดเดียว 6) มุ่งประโยชน์ต่อคนส่วนใหญ่ 7) แก้ปัญหาจากจุดเล็ก 8)ใช้ธรรมชาติร่วมธรรมชาติ 9)ไม่ติดตำรา 10) เน้นการมีส่วนร่วม 11) รู้รักสามัคคี

หลักคิดและหลักการที่พระองค์ทรงให้ไว้จะเห็นได้ว่าพระองค์ท่านทรงมีความลึกซึ้งและมีสายพระเนตรที่ยาวไกล สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของภูมิสังคมโลกในศตวรรษที่ 21 และพระองค์ทรงมีความห่วงใยคนไทย ลูกหลานไทยอยู่ตลอดเวลา พระองค์ทรงทุ่มเทพระวรกายเพื่อคนไทยร่วม 70 ปี แต่ละปีพระองค์เสด็จฯไปทรงเยี่ยมพสกนิกรของพระองค์ ตามภูมิภาคต่างๆ 8-10 เดือน ทรงเหนื่อยยากลำบากและอดทน ยอมเสียสละความสุขส่วนพระองค์ที่จะเกษมสำราญ ประทับในเมืองหลวงแค่ 3-4 เดือนต่อปีเท่านั้น

จากภารกิจที่ล้นฟ้าล้นแผ่นดินสยามของพระองค์ รัฐบาลท่านประยุทธ์ จันทร์โอชา โดยกระทรวงศึกษาธิการ มีท่าน รมว.ธีระเกียรติ/รมช.สุรเชษฐ์ ชัยวงศ์/รมช.ปนัดดา/เลขาฯ สพฐ. ท่านการุณ สกุลประดิษฐ์ และท่านรองเลขาฯบุญรักษ์ ยอดเพชร ได้น้อมนำพระบรมราโชวาทของพระองค์ท่านเข้าสู่ยุทธศาสตร์การปฏิรูปการศึกษาภายใต้ “ศาสตร์พระราชา” ผ่านโครงการ Active Learning และ P.L.C. (Professional Learning Community)

Advertisement

กระทรวงศึกษาธิการมีโจทย์วางอยู่เบื้องหน้า คือ คุณภาพทางการศึกษาของประเทศ โดยภาพรวม ถึงแม้ว่าการปฏิรูปการศึกษามีคนมองว่ายังไม่ถึงเด็ก เพราะการปฏิรูปแต่ละครั้งย่อมหนีไม่พ้นเรื่องโครงสร้างและกำลังคน และช่วงนี้กระทรวงศึกษาฯโดนโจมตีอย่างหนัก ปรับโครงสร้างกระทบกับคน กระทบกับอำนาจ กระทบกับตำแหน่ง ปฏิรูปปี 42 มีคนได้ซี 11 มา 5 คน ปฏิรูปปี 60 ได้ซี 10 มา 18 คน ได้ซี 9 ศธ.จังหวัด 77 คน รอง ศธ.ภาค 18 คน ถ้ารวม ผอ.เขตด้วยแล้ว 200 กว่าตำแหน่ง ได้ดิบได้ดีจากการปฏิรูปการศึกษา แต่ความเป็นจริง ต่างคนต่างทำ ขาดการบูรณาการและเชื่อมโยงตามภูมิสังคม ภูมิต้านทาน บ้าน วัด และโรงเรียน ล่มสลายจากสังคมทางการศึกษา ติดยึดกับกฎหมาย ระเบียบ และตำรา จนเดินหน้าไม่ได้

แค่คิดนอกกรอบให้คนที่ไม่เรียนวิชาครูมาเป็นครู ก็ถกเถียงกันไม่รู้จบ ประเทศฟินแลนด์ และสิงค์โปร์ ได้ชื่อว่าเป็นต้นแบบทางการศึกษาที่ก้าวหน้า และประสบความสำเร็จ เขาก็ทำ เขารับคนที่ไม่จบสายครู มาเป็นครู จึงอยากให้กำลังใจท่านนายกฯและหมอธีระเกียรติ ที่คิดว่าอะไรดี อะไรถูกก็ทำเถอะ คิดแบบเดิมๆ ประเทศเราจึงล้าหลัง เห็นทีท่านนายกฯประยุทธ์ และหมอธีระเกียรติต้องเหนื่อยอีกนาน เพราะคนไทยใจแคบยังมีอยู่ การขับเคลื่อนศาสตร์แห่งราชา มิใช่หวังแค่ผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาด้านเดียว 4 พระบรมราโชวาทหลัก เป็นหัวใจสำคัญ คือ สอนและฝึกให้คนเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ ผ่าน Active Learning + P.L.C. เพื่อคุณภาพทางการศึกษา+คุณภาพชีวิตโดยนำร่องในเขตพื้นที่ 3 จังหวัดภาคใต้ คือ ปัตตานี ยะลา นราธิวาส เพราะเป็นพื้นที่พิเศษ และเป็นพื้นที่มีผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาอยู่ในเกณฑ์ค่อนข้างต่ำ

เมื่อดูจากผลการทดสอบ O-Net (โอเน็ต) สพฐ.จัดทีมนิเทศอาสา โดยใช้ครูและผู้บริหารใน 3 จังหวัดเป็นแกนนำโดยยึดหลัก ทำด้วยใจหรือระเบิดจากข้างใน ทดลองใช้ในโรงเรียน 52 โรงเรียน ใช้เวลา 51 วัน ซึ่งเป็นเวลาที่สั้นมาก ประกอบกับช่วงดังกล่าว ภาคใต้เกิดพายุฝน บางพื้นที่น้ำท่วมหนักหนักแต่ผลสัมฤทธิ์ได้ผลเกินความคาดหมายหลังจากใช้กระบวนการ Active Learning + P.L.C.

Advertisement

ส่งผลให้คะแนนของโรงเรียนจำนวน 52 โรงเรียนเพิ่มขึ้น 61% ดังตารางผลสัมฤทธิ์ จากการสอบโอเน็ต และภาพการจัดกิจกรรมการเรียนการสอน ใช้กระบวนการ Active Learning + P.L.C.

นั่นคือผลของ Active Learning + P.L.C. เฟสแรก แต่ก็ส่งผลดีด้านกำลังใจของครู+นักเรียนผู้ปกครอง+ชุมชน และทีมงาน Active Learning + P.L.C. สพฐ.ไม่รอช้า เริ่มขับเคลื่อนเฟส 2 ทันที คราวนี้ระดมผู้บริหารและครูอาจารย์จากทั่วประเทศร่วม 200-300 คน ที่มีใจอาสาอยากช่วยเหลือลูกหลาน 3 จังหวัดภาคใต้ โดยจัดประชุมสัมมนา เพื่อสร้างหน่วยการเรียนรู้ และ My Course Design มีเทคนิคและกิจกรรมใหม่ๆ เมื่อวันที่ 28-29 พฤษภาคม 2560 ที่โรงแรมเดอะพาลาสโซรัชดา กทม. กำหนดเป้าหมายยกระดับโรงเรียนที่มีผลโอเน็ตต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของประเทศจำนวน 157 โรงเรียน ระดับชั้น ป.6 มี 41โรงเรียน ชั้น ม.3 มี 35 โรงเรียน และระดับ ชั้น ม.6 มี 81 โรงเรียน และยังพบว่าในชั้น ป.6 จังหวัดนราธิวาส มี 21 โรงเรียน ที่คะแนนโอเน็ตต่ำกว่าค่าเฉลี่ย รองลงมา คือ จังหวัดปัตตานี 10 โรงเรียน และในชั้น ม.3 จังหวัดนราธิวาส มีคะแนนโอเน็ตต่ำกว่าค่าเฉลี่ยโอเน็ตถึง 18 โรงเรียน รองลงมา คือ จังหวัดปัตตานี มี 13 โรงเรียน ในชั้น ม.6 จังหวัดที่คะแนนต่ำกว่าค่าเฉลี่ย คือ ปัตตานี 29 โรง รองลงมาจังหวัดนราธิวาส 28 โรงเรียนและจังหวัดยะลา 16 โรงเรียน และในระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 มีข้อน่าสังเกต เป็นโรงเรียนในสังกัดการศึกษาเอกชนเกือบทั้งหมด ซึ่งมาจากคุณภาพของครูผู้สอน อุปกรณ์การสอน สื่อการสอน ข้อมูลเหล่านี้ ผู้เขียนมองว่าเป็นประโยชน์แก่ผู้เกี่ยวข้อง คือ ภาครัฐจะต้องรีบลงไปสนับสนุน ดูแลช่วยเหลือ โดยเฉพาะการดูแลสนับสนุนด้านการศึกษา เป็นสิ่งสำคัญ ให้เด็กสามารถคิดวิเคราะห์ได้ มีเหตุมีผล รู้จักแยกแยะผิดถูก จะไม่ตกไปเป็นเครื่องมือของใครในการโฆษณาชวนเชื่อ หรือบิดเบือน ซึ่งมีข่าวอยู่บ่อยๆ เช่นกัน ที่ผู้ไม่หวังดีนำมาใช้อยู่ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ และที่สำคัญยิ่ง ครูและบุคลากรของโรงเรียนเอกชนเหล่านี้จะต้องปรับวิธีคิด เปลี่ยนวิธีบริหารจัดการ เช่น ผล

โอเน็ตที่กล่าวมาข้างต้น เป็นตัวอย่าง บอกทิศทางและอนาคตของลูกหลาน จึงอยากเรียกร้องให้ผู้ปกครองหันหน้าเข้าหากัน ลืมความขัดแย้งหมองใจ มาร่วมกันพัฒนาบุตรหลานของเรา ให้มีคุณภาพด้านการเรียน ด้านทักษะ ด้านการใช้ชีวิตที่สงบสุข ปราศจากความหวาดกลัวและขัดแย้งกัน มาเพิ่มความรู้ เพิ่มทักษะ ให้กับบุตรหลาน สุดท้ายเขาจะเป็นกำลังหลักดูแลพ่อแม่และครอบครัว สังคม ต่อไป Active Learning + P.L.C. คือ ช่องทางเพื่ออนาคตของลูกหลานสามจังหวัดชายแดนใต้ คือ แสงสว่างที่ไม่ไกลเกินฝัน ที่ผู้ปกครองใน 3 จังหวัดควรมอบให้กับบุตรหลาน โดยมี สพฐ. กระทรวงศึกษาธิการ ขับเคลื่อนและผลักดัน ภายใต้ ดร.เกศทิพย์ ศุภวานิธ ผอ.การพัฒนาครูและบุคลากรทางการศึกษา สพฐ. เป็นแม่งานที่มุ่งมั่นและตั้งใจ ท่านครรชิต มนูญผล ทีมงานผู้ร่วมผลักดัน และที่ไม่ควรลืม คือ ท่านนราพร จันทร์โอชา แม่พระ P.L.C. ทางการศึกษาของไทยที่เป็นผู้อยู่เบื้องหลัง และคอยให้กำลังใจทีมงานอยู่เสมอ โดยมิได้หวังผลตอบแทนใดๆ Active Learning + P.L.C. ไกลกว่าคุณภาพที่คาดหวัง และทรงคุณค่ายิ่ง เพราะมาจากแรงกาย แรงใจ ของชาว ศธ. สพฐ. คณะผู้บริหาร ครู เกือบทั้งประเทศที่รักและห่วงใยบุตรหลานของพี่น้อง 3 จังหวัดชายแดนใต้

สุดท้ายสันติสุขจะกลับมาอีกไม่นานเกินที่ชาวไทยรอคอย ศาสตร์ของพระราชาคือ น้ำทิพย์ชโลมสายใยของคนในชาติ ผ่าน Active Learning + P.L.C.

ณรงค์ ขุ้มทอง
ประธานกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน
โรงเรียนนวมินทราชูทิศทักษิณ โรงเรียนดาวนายร้อย
และกรรมการสถานศึกษาโรงเรียนวรนารีเฉลิม

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image