‘เครือข่ายสุขภาพภาคเหนือ’ วอล์กเอาต์อีก! ค้านเวทีประชาพิจารณ์ ‘แก้กม.บัตรทอง’

จากกระแสกลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพและเครือข่ายภาคประชาชนต่างๆ ออกมาคัดค้านการยกร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (ฉบับที่..) พ.ศ… ซึ่งเป็นฉบับปรับปรุงแก้ไข พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2545 หรือกฎหมายบัตรทอง โดยในเวทีการประชาพิจารณ์ ซึ่งจัดโดยคณะอนุกรรมการดำเนินการประชาพิจารณ์พิจารณา ร่างพ.ร.บ.ฯ โดยมี นพ.พลเดช ปิ่นประทีป เลขาธิการ คณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) เป็นประธานคณะอนุกรรมการฯ ซึ่งปรากฎว่าเวทีประชาพิจารณ์ครั้งแรกภาคใต้ ที่โรงแรมลีการ์เดนส์พลาซ่า อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา  ตัวแทนภาคประชาชนในนำเครือข่ายหลักประกันสุขภาพประชาชนภาคใต้ ไม่เห็นด้วย และวอล์กเอาต์ไม่ร่วมเวทีดังกล่าวนั้น

เมื่อวันที่ 11 มิถุนายน ที่โรงแรมเชียงใหม่แกรนด์วิว อ.เมือง  จ.เชียงใหม่ คณะอนุกรรมการดำเนินการ ประชาพิจารณ์พิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (ฉบับที่..) พ.ศ…ที่มี นพ.พลเดช ปิ่นประทีป เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) เป็นประธาน ซึ่งมีผู้เข้าร่วมกว่า 300 คน ในจำนวนนี้ มีกลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพภาคเหนือได้ชูป้าย เพื่อคัดค้านการแก้กฏหมายดังกล่าว เนื่องจากส่งผลกระทบต่อสิทธิการรักษาพยาบาลของผู้ป่วย หรือผู้ใช้บริการ ก่อนเดินออกจากห้องประชุม เพื่อแถลงข่าวจุดยืนคัดค้านกระบวนการแก้กฏหมายที่ทำลายหลักการของระบบหลักประกันสุขภาพถ้วยหน้า หรือบัตรทอง พร้อมออกแถลงการณ์ แสดงจุดยืนการแก้ไขกฏหมาย “ถ้าทำแล้วแย่ อย่าแก้ดีกว่า” เพื่อเรียกร้องรัฐบาล พิจารณาทบทวนยกเลิกแก้กฏหมายดังกล่าว

นางสุภาพร ถิ่นวัฒนากูล ตัวแทนกลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพภาคเหนือ กล่าวว่า กระบวนแก้กฏหมายบัตรทอง ไม่มีความชอบธรรมตั้งแตเริ่มต้น เป็นการทำลายหลักประกันสุขภาพ และลิดลอนสิทธิประชาชนอย่างมาก ส่วนการเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นจำกัดเวลา เพียงคนละ 3 นาที ซึ่งไม่ได้ให้ความสำคัญเรื่องรายละเอียด เป็นเพียงพิธีกรรมที่ทำให้ครบตามกระบวนกฏหมายเท่านั้น ที่สำคัญขาด
การมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน ดังนั้นควรรับฟังความคิดเห็นทุกกลุ่ม หรือทุกภาคส่วน ที่มีส่วนได้ส่วนเสียกฏหมายฉบับนี้ เพื่อหลักประกันสุขภาพไม่ถูกทำลายหรือกลายเป็นเครื่องมือ ผลประโยชน์ ของกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งเท่านั้น

Advertisement

ด้าน รศ.วรากรณ์ สามโกเศศ ประธานคณะกรรมการพิจารณา (ร่าง) พ.ร.บ. หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (ฉบับที่…) พ.ศ. กล่าวว่า ร่างพ.ร.บ.ใหม่ของหลักประกันสุขภาพฯ จำเป็นต้องจัดทำขึ้น โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ได้แต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นมาชุดหนึ่งจากทุกภาคส่วน สิ่งสำคัญที่ต้องร่างกฎหมายนี้ก็เพราะกฎหมายเก่าร่างมากว่าสิบปี ยังมีหลายจุดที่ไม่ชัดเจนในการจ่ายเงินออกไป ม.44 ของคสช.ก็ออกมาช่วยแก้ไขในเรื่องการใช้จ่ายของกองทุนฯ ให้สามารถจ่ายได้ในบางกรณีที่ติดปัญหา เพื่อให้ทำงานได้ ดังนั้น กฎหมายฉบับนี้จึงออกตามนัยยะของ ม.44 เมื่อร่างกฎหมายฉบับนี้เสร็จแล้วก็มีประชาพิจารณา 4 ภาค ซึ่งแตกต่างกว่าที่เคยทำมา โดยมีกติกาให้แสดงความคิดเห็นอย่างกว้างขวาง และยังสามารถแสดงความเห็นผ่านเว็บไซต์ รวมไปถึงยังมีช่องทางให้เขียนเสนออีกมากมาย

“คณะกรรมการฯ พร้อมรับความคิดเห็นของทุกฝ่ายจริงๆ ซึ่งกฎหมายนี้ยังเป็นเพียงร่าง พ.ร.บ.ฯ เท่านั้น เพื่อเสนอต่อรัฐมนตรีว่าการ สธ.และต้องนำเสนอเข้าครม. หากเห็นชอบก็จะส่งไปยัง คณะกรรมการกฤษฎีกา และสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ซึ่งกระบวนการยังอีกไกล แต่เราต้องการรับฟังความคิดเห็นเพื่อให้กฎหมายสมบูรณ์ที่สุด ซึ่งขอย้ำว่าหลักการของการพิจารณากฎหมาย ไม่ได้ต้องการให้ใครเสียสิทธิ จึงขอยืนยันว่าเหมือนเดิมทุกอย่าง ใครได้สิทธิอะไรเหมือนเดิม มีแต่จะเพิ่มสิทธิมากขึ้น และทำให้กฎหมายมีความคล่องตัวมากขึ้น และชัดเจนขึ้น” รศ.วรากรณ์กล่าว

ผู้สื่อข่าวถามว่า  ภาคประชาชนไม่มั่นใจว่าการจัดเวทีประชาพิจารณ์ 4 ภาค จะเป็นเพียงพิธีกรรมหรือไม่ รศ.วรากรณ์ กล่าวว่า  ทุกอย่างในโลกก็ต้องมีความเชื่อใจ ก็ต้องมาดูว่าเราจะเอาความคิดเห็นเหล่านี้ประมวลในกฎหมายใหม่หรือไม่ แต่เราก็แสดงความจริงใจ เราเปิดเวที 4 ภาค ซึ่งเราจะรวบรวมทั้งหมดเสนอต่อรัฐมนตรีว่าการ สธ.ในช่วงกลางเดือนกรกฎาคมนี้ อย่างไรก็ตาม สำหรับความคิดเห็นต่างๆทีเกิดขึ้นนั้น คณะกรรมการฯเข้าใจดี พวกตนมาเพื่อรับฟังความคิดเห็นทั้งหมด แต่ต้องย้ำว่าเรื่องของระบบหลักประกันสุขภาพฯ เป็นเรื่องอ่อนไหว และเกี่ยวพันกับประชาชน ซึ่งอาจกังวลเรื่องกระทบสิทธิ ขอยืนยันอีกครั้งว่า ไม่มีทางเสียสิทธิ มีแต่ดีขึ้น แต่จะดีภายใต้ขอบเขตการคลังของประเทศไทย ซึ่งไทยเป็นประเด็นเดียวในอาเซียนที่มีระบบหลักประกันสุขภาพเช่นนี้ ดังนั้น เงินแสนกว่าล้านในกองทุนฯ จะต้องไม่ทำให้ทุกคนคิดว่าเสียประโยชน์ แต่ทั้งหมดต้องเป็นไปตามระเบียบการคลัง

Advertisement

เมื่อถามว่าจะขยายการรับฟังอีกหรือไม่ รศ.วรากรณ์กล่าวอีกว่า ทุกอย่างมีขั้นตอน เรามีกรอบระยะเวลาแล้ว และทุกอย่างทำตาม ม.77 ในรัฐธรรมนูญฉบับใหม่

นพ.มารุต จิรเศรษฐสิริ เลขานุการของคณะกรรมการ และเป็นโฆษกคณะกรรมการชุดดังกล่าว กล่าวว่า สำหรับทุกความเห็นที่ได้แสดงความคิดเห็นมาก โดยจะมีการรวบรวมทั้งหมด มีประเด็นเห็นด้วยเห็นต่างอย่างไร และมีข้อเสนอแนะอย่างไร รวมทั้งความคิดเห็นที่อยู่ภายนอกจากเวทีเราก็ต้องขออนุญาตเก็บไว้เช่นกัน เพราะทุกอย่างเราต้องเปิดเผยแน่นอน ไม่ต้องกังวลว่า ทุกคำพูดจะหายไปไหน เป็นไปตาม ม.77 ของรัฐธรรมนูญใหม่ อย่างไรก็ตาม สำหรับประเด็นแก้กฎหมาย 14 ประเด็นนั้น หลายประเด็นก็ไม่ได้แก้ไข

นพ.พลเดช ปิ่นประทีป เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ ในฐานะ ประธานคณะอนุกรรมการประชาพิจารณ์ (Public Hearing)เรื่อง การแก้ไขเพิ่มเติม (ร่าง) พ.ร.บ. หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. กล่าวว่าในการจัดเวทีประชาพิจารณ์ที่ 2 ที่จังหวัดเชียงใหม่นี้ มีประชาชนเข้าร่วมจำนวนมาก โดยมีการศึกษาข้อกฎหมายมาอย่างดี นำเสนอความเห็นได้ตรงประเด็นครบถ้วน แม้ตัวแทนจากเครือข่ายหลักประกันสุขภาพจะแสดงท่าทีไม่เห็นด้วยกับการแก้กฏหมายและวอล์กเอ้าท์ออกจากห้องประชุมประชาพิจารณ์เหมือนที่จังหวัดสงขลา แต่ก็ได้มีต้วแทนนำเสนอความเห็นทั้งในเวทีและเป็นเอกสารจำนวนมาก ความคิดเห็นของทุกคนจะถูกนำไปพิจารณาอย่างแน่นอน เพราะการรับฟังความเห็น 4 ภาคครั้งนี้ทำขึ้นอย่างจริงจังไม่ได้เป็นเพียงพิธีกรรม ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติในฐานะคนกลางได้รับมอบหมายให้จัดรับฟังความเห็น

ทั้งนี้ ในเวทีรับฟังความเห็นที่จังหวัดเชียงใหม่มีประชาชนจากทุกภาคส่วนเข้าร่วมจำนวนมาก โดยมีทั้งผู้เห็นด้วยให้มีกฎหมายหลักประกันฉบับใหม่ และมีข้อเสนอแนะต่อการร่างกฎหมายใหม่เพิ่มเติม รวมถึงมีกลุ่มคัดค้านจากเครือข่ายหลักประกันสุขภาพประชาชนภาคเหนือเข้าร่วมก่อนจะมีการวอล์กเอ้าท์ออกไปในเวลา 11.00 น. โดยยืนยันจุดยืนเช่นเดียวกับเครือข่ายฯ ภาคใต้ในการให้ล้มการแก้ไขร่าง พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพ และให้มีการยกร่างใหม่โดยมีภาคประชาชนเข้ามีส่วนร่วมมากขึ้น

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image