90%คนไร้บ้าน ไม่ตกงาน! ถอดประสบการณ์ ค้นทางออก “ภาวะไร้บ้าน”เจาะงานวิจัยกะเทาะมายาคติ

งานวิจัยเผยว่า คนไร้บ้าน 90 % มีงานทำ แต่อยู่ในภาวะไร้บ้าน รายรับไม่เพียงพอ ส่วนใหญ่เป็นผู้ชาย เกาะกลุ่มนอนตามที่สาธารณะเพราะหวาดกลัวการตกเป็นเหยื่ออาชญากรรม ไม่กล้าอาบน้ำเพราะ 1. ต้องเสียเงินค่าอาบตามห้องน้ำ 2. การอาบในคูคลองเสี่ยงข้อหาอนาจาร (ภาพถ่ายที่เชียงใหม่โดย ธีรพล บัวงาม)

..สกปรก น่ากลัว ตกงาน  สิ้นหวัง ไร้ค่า เสี่ยงอาชญากรรม..

นี่อาจเป็นส่วนหนึ่งของภาพจำที่มีต่อ “คนไร้บ้าน”

ทว่า ในความเป็นจริง เป็นเช่นนั้นหรือไม่ ถ้าใช่ มีเหตุผลใดรองรับในการกระทำหรือสภาวะการณ์ดังกล่าว

มาดูผลวิจัยแบบไม่มโนของโครงการสำรวจสถานการณ์คนไร้บ้านและการสร้างการมีส่วนร่วมของภาคีเครือข่ายอย่างเป็นระบบในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ซึ่งมีการสำรวจข้อมูลทางประชากรเชิงลึกของคนไร้บ้านในเขตกรุงเทพมหานครและพื้นที่เกี่ยวเนื่อง

Advertisement

เซอร์ไพรส์ ! คนไร้บ้านส่วนใหญ่ ‘ไม่ตกงาน’

อนรรฆ พิทักษ์ธานิน  หัวหน้าโครงการ เล่าบนเวทีเสวนาสาธารณะ “Human of Street” ที่พิพิธบางลำภู เมื่อเสาร์ที่ 3 มิ.ย.ว่า จากการสำรวจระหว่างปี 2558-2559 พบสิ่งน่า ‘เซอร์ไพรส์’ ว่า คนไร้บ้านที่เราเห็นตามท้องถนนถึง 90 เปอร์เซ็นต์ล้วนมีงานทำ ส่วนใหญ่เป็นลูกจ้างรายวัน ได้แก่ รปภ. แม่บ้าน กรรมกรก่อสร้าง เป็นต้น อย่างไรก็ตาม งานเหล่านี้ ไม่มีสวัสดิการ รายได้ไม่แน่นอน  ครึ่งหนึ่งรับว่าไม่เพียงพอต่อการใช้ชีวิตแต่ละวัน จึงยากที่กลับมามีคุณภาพชีวิตที่ดีได้ วันไหนไม่ทำ ก็ไม่มีเงิน โดยเฉพาะเมื่อขาดงานเพราะ ‘เจ็บป่วย’

“เราเจ็บป่วยเราหาหมอยังได้สวัสดิการ แต่คนเหล่านี้ วันไหนไปหาหมอ วันนั้นขาดรายได้ และยังต้องจ่ายค่าเดินทางไปพบแพทย์ คนไทยยังโชคดี มีโครงการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ใครมีบัตรประชาชนก็รักษาได้ แต่คนไร้บ้านร้อยละ25 ไม่มีบัตรประชาชน บางคนบัตรหายชั่วคราว บางคนหายนาน ต้องพิสูจน์ตัวตน และยังมีกรณีที่พิสูจน์ตัวตนไม่ได้เลย เช่น ไม่มีใครไปแจ้งเกิด

ผลการสำรวจที่น่าสนใจคือแม้ว่าบางคนจะมีบัตรประชาชน แต่ก็ไม่ยอมไปรับบริการสุขภาพ เพราะต้องเสียค่ารถ เสียรายได้ นอกจากนี้ยังมีประเด็นทัศนคติของบุคลากรด้านสุขภาพบางส่วนที่มองคนไร้บ้านในแง่ลบ

Advertisement

ในการทำงานที่ผ่านมาของมูลนิธิพัฒนาที่อยู่อาศัย มูลนิธิกระจกเงา และหน่วยงานอีกหลายแห่ง ก็พยายามผลักดันการช่วยเหลือทั้งเฉพาะหน้า และระยะยาว กลุ่มที่สิทธิการรักษาอยู่ต่างจังหวัด สปสช. ก็เริ่มเปิดช่องทางให้ย้ายสิทธิเข้าเขตกทม.ได้

เสวนา “Human of Street” จากซ้าย อนรรฆ พิทักษ์ธานิน, วินัย ดิษฐจร, ชนัฐ วุฒิวิกัย

อีกหนึ่งประเด็นน่าขบคิดคือพัฒนาการของคนเหล่านี้ ก่อนจะกลายเป็นคนไร้บ้านโดยสมบูรณ์ นักวิจัยท่านนี้ อธิบายว่า  คนไร้บ้านส่วนใหญ่ในกรุงเทพฯ คือคนทำงานทั่วไปที่หอบกระเป๋ามุ่งหน้าเข้าเมืองกรุง เริ่มต้นอาจเช่าห้องเช่าราคาถูก เมื่อมีปัญหาความไม่มั่นคงในการทำงาน ก็ถูกบีบคั้นให้ต้องใช้พื้นที่สาธารณะในการกินอยู่หลับนอน จากข้อมูลการสำรวจจึงพบว่า คนไร้บ้านส่วนใหญ่ในกรุงเทพฯ เป็นชายชาวอีสาน โดยเฉพาะอีสานตอนใต้

มาถึงตรงนี้ หลายคนอาจแปลกใจหากลองเดินไปถามคนไร้บ้านสักรายตามท้องถนนว่าต้องการความช่วยเหลือหรือไม่ ? แล้วได้รับการปฏิเสธ

“ขนมปังโฮมเลสเมด” อีกหนึ่งกิจกรรมเพื่อเป็นทุนในการสร้างอาชีพให้คนไร้บ้าน

อนรรฆบอกว่า ส่วนตัวแล้วเชื่อว่าคนเหล่านี้ต้องการความช้วยเหลือ แต่ยังมีความหวาดระแวงว่าจะช่วยเขาจริงหรือไม่ และช่วยถึงจุดไหน ซึ่งจริงๆแล้วก็มีองค์กรไม่แสวงผลกำไร หรือเอ็นจีโอช่วยเหลืออยู่ กรณีที่มีลูก หรืออยู่เป็นครอบครัว ก็มี ศูนย์พักอาศัยคนไร้บ้าน ของ เครือข่ายคนไร้บ้าน

เมื่อถามว่า ศูนย์ของภาครัฐกับภาคประชาสังคมแตกต่างกันอย่างไร ทำไมจึงมักได้ยินกันว่าคนไร้บ้านที่เข้าไปอยู่ในศูนย์ของรัฐ พักพิงได้ไม่นาน ก็สมัครใจออกมาเป็นคนไร้บ้านดังเดิม ในขณะที่ศูนย์ภาคประชาสังคม สามารถสร้างแรงบันดาลใจให้ออกมา ‘ตั้งตัว’ ได้อีกครั้ง

“อันนี้ตอบลำบาก หลักๆคิดว่าศูนย์ของรัฐและภาคประชาสังคม เหมาะกับคนไร้บ้านในกลุ่มที่แตกต่างกัน อย่างของกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.)  จะคล้ายๆกับโรงแรม คือต้องเช็คอิน เช็คเอ้าท์ เหมือนในต่างประเทศ ซึ่งอาจเป็นข้อจำกัดด้วยความที่เป็นสถานที่ราชการ และมีการแยกชาย-หญิงด้วย ในขณะที่ของเอกชน มีกระบวนการฟื้นฟู มีข้อตกลงร่วมกันในการใช้ชีวิต ตอนหลังบางคนก็ออกไปตั้งหลักชีวิต ไปเช่าบ้านอยู่เอง หรือไปอยู่ในโครงการชุมชนใหม่คนไร้บ้าน”

แน่นอนว่า ไม่ใช่ทุกคนที่จะมีแรงบันดาลใจหรือศักยภาพในการออกไปตั้งตัว เริ่มต้นชีวิตใหม่ หรือกลับไปสู่สังคมของคนมีบ้าน เพราะทีมวิจัยเห็นชัดถึงข้อแตกต่างอย่างชัดเจนว่าคนไร้บ้าน ‘หน้าใหม่’ ที่ออกมาใช้ชีวิตข้างนอกแค่ 1-2ปี ยังมีความหวังที่จะกลับไปใช้ชีวิตแบบเดิม ต่างจากกลุ่มที่อยู่มานาน ซึ่งมีดีกรีความรันทดท้อต่อชีวิตสูงกว่า การทำงานของเอ็นจีโอจึงอาจต้องโฟกัสไปที่กลุ่มหน้าใหม่

“การพูดคุยฟื้นฟูคุณภาพชีวิตไม่ได้ใช้เวลาแค่ 1-2 วัน เขามีอะไรฝังอยู่ในใจเยอะ และบางทีการกลับบ้าน อาจไม่ใช่คำตอบ เพราะคนไร้บ้าน มีความหลากหลายในสถานการณ์และปัญหา”

อนรรฆ ยังปิดท้ายว่า คนไร้บ้านเหล่านี้ก็เหมือนๆกับพวกเรา ต่างกันที่การมีแต้มต่อละเครือข่ายทางสังคมดีกว่าเท่านั้น

เขายังเป็นมนุษย์ที่มีศักดิ์ศรี

ภาพย้อนแย้งในเมืองกรุง

จากมุมมองของนักวิจัย มาฟังผู้คลุกวงในด้วยประสบการณ์จริงอย่าง วินัย ดิษฐจร ช่างภาพและนักเขียนผู้เคยมีชีวิตวัยรุ่นเป็น กระเป๋ารถเมล์ ทำให้เข้าใจในวิถีคนไร้บ้านอย่างลึกลงไปใน *ความรู้สึก* มิหนำซ้ำ เจ้าตัวยังสารภาพว่า เคยอยู่ใน “ภาวะไร้บ้าน” ในห้วงเวลาหนึ่ง

“ตอนอายุ 15 ถึง 20 กว่าๆ ผมเคยเป็นกระเป๋ารถเมล์ มีคนไร้บ้านขอขึ้นฟรีประจำ ขึ้นมาแล้วก็รู้กันว่าอยากนั่งวนไปเรื่อยๆ นั่งๆนอนๆจนเช้า บางคนก็อาศัยที่อู่รถเมล์ ช่วงเป็นวัยรุ่น อยากเป็นช่างภาพสารคดี แต่ไม่มีทุนชีวิต เคยไปถ่ายรูปที่เชียงราย แม่ฮ่องสอน อาศัยนอนวัด ป้อมยาม สถานีตำรวจ ก็เหมือนเป็นคนไร้บ้านอยู่ช่วงสั้นๆ ความสนใจส่วนตัว ก็ชอบถ่ายภาพคนบนท้องถนน

ช่วงหนึ่งทำเรื่องกรุงเทพฯตอนกลางคืน ดูว่าคนไม่นอนทำอะไรบ้าง คนไร้บ้านคือหนึ่งในนั้น เลยปลอมตัวเป็นคนเก็บขวด ได้เห็นบรรยากาศย่านคลองหลอดซึ่งเป็นชุมชนยามค่ำคืนเห็นภาพชีวิตคนไร้บ้านแถบเสาชิงช้า ลานคนเมือง แถวนั้นมีย่านหล่อพระพุทธรูป ก็เห็นคนที่พยายามเอาร่างกายซุกเข้าไปในช่องระหว่างพระพุทธรูป มีเท้าโผล่ออกมา ทุกวันนี้เห็นคนโบกธงตามรถไฟฟ้า ถือป้ายโฆษณาคอนโด รู้สึกว่าเป็นภาพที่ขัดแย้งกันมาก เขาชวนคนซื้อบ้านแต่ตัวเองไม่มีบ้าน เป็นภาพที่น่าเศร้า” วินัยเล่าด้วยแววตาสื่ออารมณ์ลึกซึ้ง

สายตาของ ‘คนนอก’ กับ มุมมองจาก ‘คนใน’

ไม่ใช่คนไร้บ้านเท่านั้น ที่ถูกช่างภาพตามบันทึกห้วงเวลาของชีวิต แต่พวกเขาก็มีโอกาสในการบันทึกภาพชีวิตของตัวเองเช่นกัน โดยล่าสุดมีโครงการ “My Everyday Life” ไอเดียของ จ๋วน-ณัฐวุฒิ พิมพ์สำราญ นักศึกษาหนุ่มจากรั้วศิลปากร ที่มอบกล้องให้คนไร้บ้านไปถ่ายรูปอะไรก็ได้ อย่างไม่ต้องสนใจองค์ประกอบศิลป์

จ๋วนบอกว่า นี่เป็นการมอบให้คนไร้บ้านเลือกมุมมองการนำเสนอ เป็นเสียงของ ‘คนใน’ ที่เล่าเรื่องของตัวเอง

ภาพที่ถูกจัดแสดงทั้ง 50 ภาพ ปรากฏกิจกรรมหลากหลาย เช่น ภาพการไปต่อคิวรับแจกอาหารบนถนนราชดำเนินและย่านท่าช้าง รวมถึงการไปทำงานในที่ต่างๆ ซึ่งสะท้อน *เครือข่ายทางสังคม*

“คนชอบคิดว่าพวกเขาโดดเดี่ยว แต่จริงๆแล้ว คนไร้บ้านมีเพื่อนในเครือข่าย เช่น คนที่ทำงานด้วยกัน เราได้เห็นเห็นความสัมพันธ์ของคนไร้บ้านกับคนในสังคม ชีวิตประจำวันเป็นสิ่งเรียบง่าย ธรรมดา เกิดขึ้นทุกครั้งที่ตื่นขึ้นมา คนอาจมองข้าม แต่ซ่อนบางอย่างที่สำคัญ”

นิทรรศการภาพถ่ายฝีมือคนไร้บ้านกรุงเทพฯ สะท้อนมุมมองของ ‘คนใน’ บอกเล่า ‘เครือข่ายทางสัมคม’ ของตนเอง

คน(ไทย)ไร้บ้าน กับ ฝรั่งโฮมเลส

ปิดท้ายด้วยประสบการณ์ของ ก้อง-ชณัฐ วุฒิวิกัยการ ผู้ผลิตรายการสารคดี “ยักษ์คิ้วท์ in New York”  ซึ่งไม่เพียงได้สัมผัสกับฝรั่งไร้บ้าน หรือ โฮมเลส  แต่ยังทดลองเป็นโฮมเลสเองด้วย นั่นทำให้เขาสังเกตถึงความแตกต่างระหว่างคนไทยไร้บ้าน และฝรั่งโฮมเลสอย่างมีนัยยะสำคัญ

“ที่นิวยอร์กมีโฮมเลสเยอะมาก เจอตามถนนหนทาง สถานีรถไฟ และในรถไฟใต้ดิน ซึ่งปลอดภัยสำหรับพวกเขา เพราะทั้งสว่าง และอุ่น วิ่งตลอด 24 ชม. ถ้าเจ็บป่วย รัฐบาลอเมริกัน มีนโยบายช่วยเบื้องต้น มีศูนย์อนุเคราะห์ และยังมีศูนย์ที่ตอนแรกเข้าใจว่าให้คนเข้าไปนอน แต่จริงๆให้ที่อาบน้ำ อาหาร ยา และฝึกอาชีพ ส่วนที่พักพิงแยกเป็นอีกแห่งหนึ่ง โฮมเลสในนิวยอร์กค่อนข้างถูกกันให้ห่างจากสังคมมากกว่าในเมืองไทย ทัศนคติของคนอเมริกันก็มองพวกเขาอย่างมีระยะห่างมากกว่าคนไทยที่ยังเรียกคนไร้บ้านว่า ลุง ป้า ผมว่าคนไร้บ้านของเราเป็นมิตรกว่า ฝรั่งก้าวร้าวกว่า อาจเพราะสิ่งที่เขาเจอมา”

สำหรับมุมมองเกี่ยวกับ “บ้าน” ของนักสร้างสรรค์สารคดีท่านนี้ เชื่อว่าคนไร้บ้านทุกคนมีบ้าน แต่เลือกที่จะไม่กลับ เพราะบ้านเป็นมากกว่าสถานที่ เพราะต้องประกอบด้วยความรัก และมีความหมายต่อชีวิต

“ถ้าตีความว่าบ้านคือที่อยู่อาศัย หลับนอน สังกะสีที่เอามามุงกันแดดฝน ก็เป็นบ้าน ผมคิดว่าคนไร้บ้านส่วนใหญ่มีบ้าน เขาเริ่มต้นชีวิตที่นึง มาอยู่อีกที่นึง สุดท้ายไม่ได้กลับบ้าน โดยเลือกที่จะไม่กลับ”  

การมองคนไร้บ้านด้วยสายตาแห่งความเข้าใจ เป็นจุดเริ่มต้นที่จะแก้ปัญหาของภาวะไร้บ้านได้อย่างแท้จริง อาจถึงเวลาแล้วที่จะต้องทลายมายาคติและภาพจำบางอย่างในแง่ลบที่สั่งสม เพื่อนำไปสู่การป้องกัน โอบอุ้ม ช่วยเหลือคนเหล่านี้ที่มีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ไม่ต่างจากเรา.

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image