“อาจารย์น้ำฝน” แนะเนติวิทย์ ลดความทางการ ชี้ถ้าต้อง “แปลในแปล” เสี่ยงผู้ฟังเกิดอคติ

เมื่อวันที่ 15 มิ.ย. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เฟซบุ๊กแฟนเพจ “อาจารย์น้ำฝน ภักดี” ครูสอนบุคลิกภาพชื่อดัง มีการเผยแพร่ความเห็นหลังการรับชมคลิปดีเบตนิสิตจุฬาฯ กรณีการรับน้องใหม่ ซึ่งกำลังเป็นประเด็นถกเถียงอยู่ในขณะนี้

ครูน้ำฝน  แสดงความเห็นในประเด็นของเทคนิคการพูด ทั้งฝั่งของตัวแทนคณะศิลปกรรมศาสตร์ และนายเนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล

เนื้อหาทั้งหมดมีดังนี้

จากเรื่องที่กำลังเป็นประเด็นตอนนี้….
ครูขอออกความเห็น แค่เรื่อง เทคนิคการพูด หน่อยนะคะ เพราะเห็นว่า “เป็นประโยชน์”

Advertisement

ตัดเรื่องเจตนาออกไปก่อน ครูเชื่อว่า ทุกคนมีเจตนาดีหมด แต่ต่างกันที่ “วิธีการ” ซึ่งเจตนา มันเป็นนามธรรม ความเป็นจริงคือ มันสร้างความน่าเชื่อถือ ณ จุดนั้นไม่ได้ เพราะมันไม่เห็นภาพ

แต่ภาพที่สามารถเห็นได้ด้วยตา ณ ตรงนั้น คือ ภาษากาย น้ำเสียง และการเลือกใช้คำพูดค่ะ

ท่านั่ง ของตัวแทนคณะศิลปกรรม ไม่สร้างความมั่นคงให้ร่างกาย เพราะนั่งหลังค่อม ท้าวข้อศอก มือสะเปะสะปะ ไม่ล็อคกล้ามเนื้อ มากไปกว่านั้น คือไม่สบตาผู้ฟัง ซึ่งตรงนี้ กลายมาเป็น จุดอ่อนทันที ให้ฝั่งตรงข้าม ถอดรหัสเราไปว่า เราวุฒิภาวะไม่พอ ตอบเอาแต่ใจตัว และไม่เปิดใจฟังความคิดเห็นคนรอบข้าง

Advertisement

การไม่ล็อคกล้ามเนื้อ จะบอกว่าเราไม่จริงจัง ไม่ใส่ใจที่จะพูด พูดแบบขอไปที ซึ่งตรงนี้ ส่งผลโดยตรงต่อความน่าเชื่อถือเลยค่ะ เราอย่าลืมนะคะ ว่านี่คือ “ที่ประชุม” บรรยากาศ แตกต่างจากการพูดคุย ใต้ถุนคณะแน่นอน และคนภายนอกคณะ ไม่มีทางเข้าใจ วัฒนธรรมภายในของเราแน่ สิ่งที่ผู้นำคณะ ควรมีเป็นอันดับแรก คือ ความพยายามจะสื่อสาร เพื่อให้คนภายนอกเข้าใจ ไม่ใช่ตัดบทเลยว่า “ถ้าไม่มาอยู่ ก็ไม่มีทางเข้าใจ อยากรู้ ต้องซิ่วมาดู” ซึ่งการเลือกใช้ประโยคเหล่านี้ คือเป็นการฝังกลบตัวเองทันทีเลยค่ะ คนฟังจะคิดในใจว่า “หมดอันจะพูด” เพราะเราขาดอะไรคะ? เราขาดความพยายามในการจะสื่อสาร พยายามอธิบาย ซึ่งนี่คือคุณสมบัติ ที่ผู้นำควรมี

Eye contact การพูดแบบล็อคสายตาที่ผู้ฟัง และพูดจนจบแล้วค่อยเปลี่ยนโฟกัส จะให้ความแข็งแรงของ message ได้มากกว่าการพูดแบบ กลอกตาไปมาแน่นอนค่ะ ซึ่งตรงนี้ เนติวิทย์ทำได้ดี ประโยชน์ของมันคืออะไรรู้ไหม? มันมีพลัง ดึงให้คู่สนทนา อยู่กับเรา และช่วยลดความประหม่าได้อีกด้วย เพราะเราจะเห็น ทุกๆ อิริยาบทของผู้ฟัง เราสามารถ เลือกใช้คำพูด ได้มากกว่าที่เราคิดไว้ เพราะเรา เห็น re – action ของผู้ฟังตลอด การสื่อสารจึงจะออกมาดู real ตอบชัด ตรงประเด็นมากกว่า

โทนเสียง ครูเคยสอนไว้แล้ว หากใครเคยได้ยินนะคะ… ว่าเสียงต่ำ เป็นโทนแห่งอำนาจ ความน่าเชื่อถือ ทำให้ดูมีมิติ หากเราใช้เสียงต่ำในท่อนที่ต้องการเน้น และต้องการให้เห็นความสำคัญ ซีเรียส หรือมีประเด็น ก็จะทำให้ ดูหนักเเน่น น่าเชื่อถือยิ่งขึ้น ซึ่งตรงนี้ หากทางตัวแทนคณะศิลปกรรม นำมาใช้ ครูว่า จะเกิดประโยชน์มากๆ

หากจะแนะนำด้วยความเอ็นดู ครูอยากให้ตัวแทน คณะศิลปกรรม เพิ่มเทคนิคเหล่านี้เข้าไป ลองดูวีดิโอที่ตัวเองพูด เราจะเห็นภาพได้ชัด ซึ่งจะส่งผลดีในการพูดนำเสนอของเรา ไม่ว่าเราจะเติบโต ไปทำอาชีพอะไร ในอนาคต

ส่วนเนติวิทย์ หากลดความเป็นทางการลงนิด ใช้คำพูด ที่อาจจะต้องคำนึงถึงว่า เพื่อนๆ ในระดับเดียวกัน คนที่ไม่ได้ศึกษาตำราเยอะเท่าเรา เขาจะเข้าใจได้ในวินาทีแรกเลยหรือไม่ หรือต้องแปลในแปลอีกที 555 ซึ่งตรงนี้ อาจจะกลายมาเป็นอคติ ที่เราควรระวัง จะดีกว่าไหมคะ ที่เราจะใช้ความรู้ ความสามารถที่เรามี สื่อสารสารให้ทุกกลุ่ม เข้าใจได้ง่ายๆ ครูว่า ตรงนี้คือความเจ๋ง ของ “ผู้รู้” นะคะ

นอกเหนือไปจากเทคนิคการพูดแล้ว การเตรียมตัว สำคัญมากกกกกก ค่ะ โดยเฉพาะในเรื่องการวางโครงสร้าง วางประเด็น ให้ดูแข็งแรง เหมือนสร้างบ้านไปก่อนน่ะค่ะ หลังคาต้องมี เสาต้องแน่นก่อน … ทาสี เดี๋ยวค่อยไปทาได้ แต่โครงสร้างต้องมี ไม่งั้น จะพังเอานะคะ

และอีกเคล็ดลับ ที่อยากให้ทุกคนลองนำไปใช้คือ … เก็งคำถามค่ะ คือ คิดว่าตัวเองเป็นฝั่งตรงข้าม เขาน่าจะถามอะไรแน่ๆ ลิสต์มาให้หมดค่ะ และต้องมีคำตอบมาจากบ้าน อย่าคาดหวังว่า เราจะตอบได้ ณ ที่ตรงนั้น ความหวังเป็น 0 ค่ะ ครูพูดเลย เพราะจะมีปัจจัยอื่นๆ พร้อมที่จะรบกวนสมาธิเราตลอดเวลา อย่างที่เราอาจจะควบคุมไม่ได้อีกด้วย

หวังว่าคงจะได้ประโยชน์กันนะคะ

ครูฝน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image