คอลัมน์ แปดหมื่นหกพันก้าว : ภาวะเขาควาย

ภาพจาก Shutterstock

เวลาพูดถึงอุตสาหกรรมยุคที่ 4 ที่ใช้หุ่นยนต์อัตโนมัติที่กำลังจะมาทดแทนแรงงานมนุษย์ในอนาคต เป็นการอธิบายภาพความทันสมัยและยุคใหม่ของโลกที่เข้าสู่ระบบ Robotic และ Automation

ในวงการอุตสาหกรรมการผลิตต่างแดน มีผู้เล่นตัวหลัก ตั้งแต่ จีน ญี่ปุ่น เยอรมนี เกาหลีใต้ และสหรัฐอเมริกา เป็นต้น

หากนึกภาพไม่ออกว่าระบบโรโบติกและนวัตกรรมใหม่ช่วยให้ภาคการผลิตเปลี่ยนไปอย่างไร “มอร์แกน สแตนลีย์” ระบุว่า โรงงานผลิตรองเท้ากีฬาดังอย่างไนกี้ และอาดิดาส หากอยู่ในยุคการผลิตดั้งเดิม การออกแบบกระทั่งเข้าสู่กระบวนการผลิตจนวางขายได้ใช้เวลา 18 เดือน ต่อรองเท้า 1 รุ่น แต่ปัจจุบัน เมื่อใช้เทคโนโลยีเข้าช่วย หากทำเต็มร้อยเปอร์เซ็นต์จะลดเวลาลงมาเหลือ 4 เดือน…แน่นอน ในแง่ธุรกิจคือการลดต้นทุน

สำหรับประเทศไทย การผลักดันไปสู่อุตสาหกรรมเป้าหมาย (S-Curve) และการเดินหน้าในระเบียงเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) หากจะ “เปลี่ยน” ให้ทันโลก หนึ่งในนั้นคือ ต้องเข้าสู่ยุคโรโบติกเช่นกัน

Advertisement

…แต่เราคืบหน้าช้ามาก

อุตสาหกรรมไทยส่วนใหญ่ยังใช้ระบบ Manual (ไม่มีระบบอัตโนมัติ) มากถึง 85% ของโรงงานที่สำรวจ และแม้มีแผนจะลงทุนเปลี่ยนเป็นหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติภายใน 3 ปี แต่ข้อเท็จจริงคือ โรงงานขนาดใหญ่จะทำได้ก่อน ตามด้วยโรงงานขนาดกลาง ขณะที่โรงงานขนาดเล็กยังเป็นเรื่องลำบาก

ด้านหนึ่งประเด็นนี้ก็นำไปสู่ “ภาวะเขาควาย” (dilemma) คือหากภาคอุตสาหกรรมไทยไม่ปรับเปลี่ยน ภาพรวมประเทศจะเติบโตชะลอตัว ขีดความสามารถการแข่งขันระดับโลกตกลง แต่ด้านหนึ่งก็ห่วงว่าจะกระทบต่อภาค “แรงงาน”

ไปถึงขั้นที่ว่า ไม่จ้างแรงงานแล้วโรงงานจะผลิตสินค้าขายให้ใคร เพราะไม่มีกำลังซื้อ…

คำตอบที่ได้ยินกันตลอดคือ ฝึกทักษะแรงงานให้ปรับตัวไปสู่การรองรับเทคโนโลยีใหม่ หรือสร้างแรงงานทักษะเพื่อผันไปสู่สาขาอาชีพอื่นด้วยนั่นเอง

นักวิเคราะห์วิจัยหลายคนบอกถึงสภาพ “โลกอยู่ยาก” ขึ้นในอนาคต ที่มนุษย์คนหนึ่งอาจจะมีอายุยืนยาวขึ้นจากเทคโนโลยีทางการแพทย์ที่ดีขึ้น แต่ในช่วงอายุที่ยืนยาวขึ้น ชีวิตหนึ่งก็อาจต้อง “เปลี่ยนอาชีพ” บ่อยขึ้น เพราะจะมีทักษะใหม่ของความอัตโนมัติถูกพัฒนามาทดแทนทักษะเก่ามากขึ้นเรื่อยๆ

แรงงานของโลกจะกลายเป็นหุ่นยนต์มากขึ้น??

การหวั่นวิตกต่อยุคหุ่นยนต์ทำงานแทนแรงงานมนุษย์ ไม่ใช่เรื่องใหม่ ในยุคปฏิวัติอุตสาหกรรมในอดีต ผู้คนต่างหวาดกลัวเครื่องจักรจะเข้ามาแย่งอาชีพการงาน

แต่ในที่สุดมนุษย์ก็ปรับตัวผ่านยุคเครื่องจักรมาได้

หากจะมองบวกอาจเกิดนวัตกรรมใหม่ที่ราคาถูกมากขึ้น สินค้าที่ผลิตโดยระบบออโตเมชั่นระยะยาวต้นทุนจะถูกลงทำให้ขายสินค้าราคาถูกลงได้?

มนุษย์จะมีเวลาคิดค้นนวัตกรรมที่ล้ำหน้าขึ้นไปอีก…?

หรือตรงกันข้าม มนุษย์กำลังเข้าสู่ภาวะเสี่ยง?

วันนี้จึงเป็นช่วงเปลี่ยนผ่านของโลกอย่างน้อย 5-10 ปี นับจากนี้

ในอุตสาหกรรมยุคที่ 4 กำลัง “ปฏิรูปแรงงาน” มนุษย์อีกครั้ง

อาชีพใหม่ๆ อาจเกิดขึ้น

และไม่ว่าเช่นไร…วัฏจักรของทุนก็ยังคงดำเนินต่อไป

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image